Skip to main content
sharethis

กัณวีร์ สืบแสง เผยประสบการณ์จากต่างประเทศ ชี้ว่ากระบวนการพูดคุยสันติภาพของทหารกับทหารของกลุ่มติดอาวุธ สูงสุดได้แค่หยุดยิง พร้อมเสนอ 3 แนวทางสันติภาพชายแดนใต้ยั่งยืนต่อคณะกรรมาธิการสันติภาพ ออกกฎหมายสร้างสันติภาพ ให้พลเรือนนำการพูดคุยและต้องเจรจาในประเทศ ต้องแก้ไขและยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยุติการฟ้องปิดปากประชาชน พร้อมทั้งกระจายอำนาจ ให้อำนาจประชาชน ลดการทับซ้อนของโครงสร้างราชการ

กัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม กล่าวบรรยายหัวข้อเส้นทางสู่การสร้างสันติภาพชายแดนใต้ ในงานสมัชชาเพื่อนสื่อสารสาธารณะ ภาคใต้ ประจำปี 2566 สภาผู้ชมและผู้ฟังรายการภาคใต้ Thai PBS วันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมปุระนคร จ.นครศรีธรรมราช

การพูดคุยของทหารกับทหารกลุ่มติดอาวุธสูงสุดได้แค่หยุดยิง

กัณวีร์ กล่าวว่า ในเวทีระหว่างประเทศ การสร้างสันติภาพนั้นองค์การสหประชาชาติได้ตั้ง Protection of Civilians หรือ POC คือหน่วยงานให้ความคุ้มครองพลเรือน ในพื้นที่สงครามหรือมีภาวะสงคราม โดยส่งไปรักษาสันติภาพทั่วโลก ซึ่ง POC เป็นฝ่ายพลเรือน มีคนที่ทำงานฝ่ายทหารมาก่อน มีแนวคิดในการให้ความคุ้มครองพลเรือนระหว่างประเทศ มองถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ สิทธิพลเรือนและสิทธิทางด้านการเมืองเป็นหลัก

กัณวีร์ กล่าวว่า POC จะลงพื้นที่ก่อนที่จะเกิดกระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยการพูดคุยสันติภาพในต่างประเทศนั้นจะไม่เอาทหารมาคุยกัน แม้ว่าคนถืออาวุธด้วยกันจะคุยกันได้ แต่การที่ทหารคุยกับทหารได้เต็มที่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับการหยุดยิง การลดจำนวนการปะทะ ลดจำนวนการเผชิญหน้าระหว่างคนที่ถืออาวุธทั้งสองฝ่าย นั่นคือสิ่งที่ทหารคุยกันได้ 

แต่ประเทศไทยถอดแบบการพูดคุยของทหารกับทหารนี้มาใช้ในประเทศ จะเห็นได้ว่ากระบวนการพูดคุยสันติสุข ก็ใช้ทหารไปพูดคุยเจรจากับฝ่ายกองกำลังติดอาวุธ “เพราะฉะนั้นเต็มที่สูงสุดของ กระบวนการพูดคุยสันติสุขตลอด 10 ปีที่ผ่านมาก็จะได้แค่ข้อตกลงหยุดยิง (Ceasefire Agreement) นี่คือประสบการณ์ที่พบ” สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม กล่าว

กัณวีร์ กล่าวต่อไปว่า หลังจากกลับมาจากทำงานต่างประเทศ ตนได้เข้ามาทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2564 ก็ยังพบว่า ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ยังมีการห้ามพูดคำว่าสันติภาพ เพราะสันติภาพจะนำมาซึ่งการแทรกแซงของเวทีระหว่างประเทศ แต่ให้พูดคำว่าสันติสุขแทน

“คิดว่าพูดคุยอย่างมีความสุขก็ได้ แต่ถ้ามีผลลัพธ์ที่ไม่สามารถสะท้อนความมีสันติออกมาได้ มันก็ไม่ใช่สันติภาพ”

เมื่อบริบทต่างๆ ในพื้นที่ยังอยู่กับที่ แม้ไม่มีการลดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) แต่ยังไม่มีมาตรการที่ดีขึ้น ก็ไม่สามารถผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนเกิดขึ้น ถ้ายังใช้กลวิธีเดิมๆ จากรัฐบาลเดิมๆตั้งแต่ปี 2565 

เสนอ 3 แนวทางต่อคณะกรรมาธิการสันติภาพ

กัณวีร์ กล่าวด้วยว่า ตนได้เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการจัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 11 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตนจะเสนอแนวทางการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของพรรคเป็นธรรม ต่อคณะกรรมาธิการชุดนี้ ใน 3 ขาด้วยกันคือ 

ขาที่ 1 ยกระดับการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้และการสร้างสันติภาพให้เป็นวาระแห่งชาติ เพราะปัญหาชายแดนใต้ไม่ใช่ของคนในพื้นที่หรือหน่วยงานในพื้นที่เท่านั้น เพราะการแก้ปัญหาที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณสูงถึง 5 แสนล้านบาท มีผู้เสียชีวิตไป 7,000 คน และอีกหลายหมื่นคนได้รับผลกระทบ จึงไม่สามารถกดทับให้เป็นปัญหาของพื้นที่ได้ จำเป็นต้องยกระดับให้เป็นปัญหาระดับประเทศ 

ออกกฎหมายสร้างสันติภาพ พลเรือนนำการพูดคุยและต้องเจรจาในประเทศ

กัณวีร์ กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาจำเป็นต้องพิจารณาปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำเป็นต้องตรากฎหมายขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นพระราชบัญญัติการสร้างสันติภาพ จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับในการสร้างสันติภาพ จำเป็นต้องมีกฎหมายรองรับในการเจรจาสันติภาพ ไม่ใช่สันติสุข

“ในการเจรจาสันติภาพต้องไม่ใช่ทหารกับทหาร ทุกพื้นที่ที่ผมไปทั่วโลกไม่มีทหารเจรจาแล้วเกิดสันติภาพ ต้องมีพลเรือนจากภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และผู้ได้รับผลกระทบเป็นผู้นำในการเจรจาสันติภาพ คู่เจรจาของทั้งสองฝ่ายต้องนั่งฟังภาควิชาสังคม ภาคประชาชน ผู้ได้รับผลกระทบ” กัณวีร์ กล่าว

สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า ตัวแทนภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และผู้ได้รับผลกระทบนั้นก็ต้องบอกได้ว่า เป็นตัวแทนของคนในพื้นที่ได้จริง และเป็นกลางจริง

กัณวีร์ กล่าวด้วยว่า การเจรจาครั้งนี้ต้องดำเนินการในประเทศไทย ต้องมาพูดคุยในพื้นที่ที่มีปัญหา และให้ประชาชนเห็นสิ่งที่กำลังเจรจานั้น เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ จะไปเจรจาที่อื่นไม่ได้

“เพราะฉะนั้น ประเทศไทยจะต้องมีกฎหมายรองรับคู่เจรจาที่มีคดีความมั่นคง ไม่อย่างนั้น ถ้าเขามาที่นี่แล้วจะโดนจับทันที เพราะฉะนั้นต้องมี Immunity คือการคุ้มครองตามกฎหมาย” กัณวีร์ กล่าว

แก้ไขและยกเลิกกฎหมายพิเศษ ยุติการฟ้องปิดปากประชาชน

ขาที่ 2 เรื่องกฎหมาย กัณวีร์ กล่าวว่า เราต่อสู้กับการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพี่น้องประชาชน ปิดกั้นพื้นที่สาธารณะ ปิดกั้นการแสดงออกทางอัตลักษณ์ ศาสนา วัฒนธรรมและวิธีการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ จนเกิดความรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม รู้สึกว่าอัตลักษณ์ถูกกดทับ รู้สึกไม่มีพื้นที่ นี่คือผลสะท้อนกลับไปถึงการปฏิบัติของภาครัฐที่ไม่ครอบคลุม 

สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า เพราะฉะนั้นกฎหมายต่างๆ ที่ปิดกั้นการแสดงออกถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ สิทธิของพลเรือนและสิทธิทางด้านการเมือง จำเป็นต้องถูกขยายออกไป ต้องแก้ไขกฎหมายพิเศษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ถ้ายกเลิกได้ก็ยกเลิกไป 

“เราไม่มีอริราชศัตรู เรามีแค่คนไทยที่อยู่ในพื้นที่ กฎอัยการศึกไม่จำเป็นต้องมี ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นั้น ถือว่าโชคดีที่รัฐบาลพยายามทำอยู่แล้วก็น่าจะเห็นผลเร็วๆนี้ แต่ถ้ายกเลิกได้ก็ดี ถ้ายกเลิกไม่ได้ก็ต้องมีเหตุผลว่าทำไมไม่ใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง ทำไมไม่ใช้กฎหมายทั่วไป พ.ร.ก.ฉุกเฉินจำเป็นต้องรีบใช้และจำเป็นต้องรีบถอนออกไป แต่เราก็ใช้มา 19 จะ 20 ปีแล้ว ก็ต้องพิจารณาให้ดี กัณวีร์ กล่าว

“มาตราต่าง ๆ (ในประมวลกฎหมายอาญา) ก็เช่นกัน มาตรา 113, 116 และ  215 ที่ใช้ฟ้องปิดปากประชาชน (SLAPP) กฎหมายต่างๆที่ปิดกั้นการรวมกลุ่มของประชาชน ก็ต้องยุติ ไม่อย่างนั้นก็จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกีดกันพี่น้องประชาชนในการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ” กัณวีร์ กล่าว

กระจายอำนาจ ให้อำนาจประชาชน ลดการทับซ้อนของโครงสร้างราชการ

กัณวีร์ กล่าวว่า ขาที่ 3 คือโครงสร้างระบบราชการที่ทับซ้อนกันอย่างยาวนาน กอ.รมน. ศอ.บต . การปกครองส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกมากมายจำเป็นต้อง ปรับใหม่ทั้งหมด ถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องกระจายอำนาจ

“ถ้าเรากระจายอำนาจได้ สามารถทำให้พี่น้องประชาชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่ เป็นคนที่รู้ว่าปัญหาคืออะไร เป็นคนที่กำหนดชะตาชีวิตของตัวเองได้ เป็นคนที่พัฒนาเศรษฐกิจสังคมและการเมืองของตัวเองได้” กัณวีร์ กล่าว

สส.บัญชีรายชื่อพรรคเป็นธรรม กล่าวย้ำว่า ทั้งสามขาต้องเดินไปด้วยกันได้ จะเป็นแนวทางสู่สันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

อนึ่ง กัณวีร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสันติภาพ มนุษยธรรม สิทธิมนุษยชน ผู้ลี้ภัย ความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เคยทำงานสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ปี 2546-2552 โดยเฉพาะเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเคยทำงานภาคสนามใน 8 ประเทศของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ปี 2552-2564 จากนั้นในปี 2565 เริ่มต้นงานการเมืองกับพรรคไทยสร้างไทย แต่ก็ลาออกไปทำงานภาคประชาชนเป็นประธานมูลนิธิสิทธิเพื่อสันติภาพ ก่อนจะร่วมงานกับพรรคเป็นธรรม และได้เป็น ส.ส.ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net