Skip to main content
sharethis

เนื่องในโอกาสวันยุติโทษประหารสากล ครั้งที่ 21 นักเรียนนักศึกษาในเชียงใหม่ร่วมเสวนาวิชาการเส้นทางของประเทศไทยสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิต


 
เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 เนื่องในโอกาสวันยุติโทษประหารสากล ครั้งที่ 21 คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดงานเสวนาวิชาการ เปิดเวทีถกประเด็นเส้นทางประเทศไทยในการรณรงค์ยกเลิกโทษประหารชีวิต

ในโอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นัทมน คงเจริญ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเปิดงาน และนายเรืองศักดิ์  สุวารี อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวปิดงาน ผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ แวดวงวิชาการ และภาคประชาสังคม โดยมีนักเรียนนักศึกษาจำนวนกว่า 50 คนเข้าร่วมงาน ซึ่งมาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โรงเรียนบ้านกาดวิทยาคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยพายัพและมหาวิทยาลัยรามคำแหง และจากหลากหลายสาขาวิชา ได้แก่ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์และการสื่อสารมวลชน โดยกิจกรรมดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้รับรู้เกี่ยวกับสถานการณ์การรณรงค์เพื่อยุติโทษประหารชีวิตทั่วโลกตลอดจนความท้าทายที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกต้องเผชิญ

ในปาฐกถาพิเศษ นางลอร์ บราเชต์ หัวหน้าแผนกการเมือง สื่อและข้อมูลข่าวสาร คณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้อธิบายว่าการรณรงค์เพื่อยุติโทษประหารชีวิตเป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกและถือเป็นหลักการสำคัญของสหภาพยุโรป โดยเน้นย้ำว่า “แผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของสหภาพยุโรปให้ความสำคัญกับการคัดค้านโทษประหารชีวิต สำหรับสหภาพยุโรป โทษประหารชีวิตขัดกับสิทธิในการมีชีวิตและไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าโทษประหารชีวิตมีผลในการยับยั้งอาชญากรรม”

ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นางสาวนรีลักษณ์  แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์และหัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ผู้แทนเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิตจากภาคประชาสังคม

งานเสวนาดังกล่าวดำเนินรายการโดย นางสาวกรรณิกา เพชรแก้ว สื่อมวลชนอิสระ ซึ่งได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุผลทางศีลธรรมของการประหารชีวิต ประสิทธิผลในการยับยั้งการก่ออาชญากรรมและความไม่น่าเชื่อถือของกระบวนการยุติธรรม โดยรองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล นักวิชาการด้านกฎหมาย นำเสนอภาพรวมของการประหารชีวิตในทางปฏิบัติที่เกิดขึ้นในไทยและยกบริบททางศาสนาซึ่งส่งผลต่อการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับโทษประหารชีวิต 

รองศาสตราจารย์ ดร.โคทม อารียา ผู้แทนเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต สนับสนุนให้รัฐบาลขับเคลื่อนการดำเนินการเพื่อยุติโทษประหารชีวิตโดยยกปัญหาความท้าทายที่ประเทศอื่นก้าวข้ามผ่านแล้ว ขณะที่ นางสาวนรีลักษณ์  แพไชยภูมิ ผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ นำเสนอแผนการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรมซึ่งรวมถึงการพักการใช้โทษประหารชีวิตและการนำบทลงโทษประหารชีวิตออกจากบทบัญญัติในฐานความผิดทางอาญาบางฐาน ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมเสวนาเห็นพ้องกันถึงความสำคัญที่ไทยจะดำเนินการเพื่อมุ่งไปสู่การยุติโทษประหารชีวิต ขจัดความเชื่อที่ว่าโทษประหารชีวิตสามารถยับยั้งป้องกันการกระทำผิดได้ นอกจากนี้ ผู้ร่วมเสวนาได้ยกประเด็นการลงโทษผู้กระทำผิดด้วยวิธีอื่นและเน้นย้ำความจำเป็นของกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มากกว่ากระบวนการยุติธรรมเชิงแก้แค้น (Retributive Justice) 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 55 ประเทศทั่วโลกที่ยังคงโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติ ที่ผ่านมาไทยเคยถูกจัดเป็นประเทศที่มีการยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติจนกระทั่งมีการประหารชีวิตในปี 2561 อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะทบทวนและปฏิรูปวิธีการลงโทษประหารชีวิตโดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการยุติโทษประหารชีวิตอย่างเด็ดขาด ในปี 2565 รัฐบาลได้นำบทลงโทษประหารชีวิตออกจากสามฐานความผิด ส่งผลให้จำนวนฐานความผิดที่ยังคงมีบทลงโทษประหารชีวิตลดจาก 63 เหลือ 60 ฐานความผิด

กิจกรรมดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจาก European Union Policy and Outreach Partnership (EUPOP) โดยการสนับสนุนทางการเงินจากสหภาพยุโรป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net