Skip to main content
sharethis

'ปดิพัทธ์' แถลงชัด เตรียมเข้าพรรคเป็นธรรม เหลือขั้นตอนทางเอกสาร ผลักดันวาระสภาก้าวหน้า-ปฏิรูปสภาโปร่งใส 'ปิติพงศ์' ยืนยันไม่ใช่พรรคสาขาก้าวไกล 'ศรีสุวรรณ' จ่อร้อง กกต. ขับ 'ปดิพัทธ์' พ้นพรรค ขัด พ.ร.ป.พรรคการเมือง หรือไม่ หากพบผิดจริง ถึงขั้นยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมือง

 

10 ต.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก The Reporters ถ่ายทอดสดวันนี้ (10 ต.ค.) ที่รัฐสภา เกียกกาย ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ได้แถลงข่าวว่า หลังพรรคก้าวไกล ยกเลิกสมาชิกภาพตัวเขา เพื่อเข้าสู่การเป็นพรรคฝ่ายค้านเต็มตัว ตนได้หารือ และกล่าวว่าได้ตัดสินใจเข้าพรรคเป็นธรรม ในแนวทางที่ใกล้เคียงกับพรรคอนาคตใหม่ และพรรคก้าวไกล

“ต้องขอบคุณปิติพงศ์ หัวหน้าพรรค และกัณวีร์ เลขาธิการพรรค ที่มีน้ำใจ กระผมรู้ดีว่าการทำงานของผมจะต้องเผชิญแรงเสียดทานมากขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปสภาให้โปร่งใส การผลักดันวาระก้าวหน้า ตามนโยบายที่ผมได้แถลงไว้ในสภาผู้แทนราษฎร ตอนที่เข้าชิงตำแหน่งรองประธานสภาฯ ซึ่งได้หารือกับทั้งหัวหน้าพรรค และเลขาธิการพรรคเป็นธรรมแล้ว ยินดีที่จะสนับสนุนแนวทางนี้ เพื่อให้เห็นความก้าวหน้าของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป”

ปดิพัทธ์ ระบุต่อว่า ตอนนี้ยังไม่มีการสมัครเข้าพรรคในทางกฎหมาย เพราะต้องรอหนังสือยืนยันการพ้นสมาชิกภาพจาก กกต. ก่อน ซึ่งคาดว่าจะมาเร็วๆ นี้และจะมีการสมัครเข้าพรรคเป็นธรรม อย่างเป็นทางการต่อไป

"รองประธานสภาฯ ระบุต่อว่า พรุ่งนี้เมื่อมีความชัดเจนเรื่องนี้จะทำหน้าที่เป็นรองประธานสภาฯ เป็นประธานที่ประชุมบนบัลลังก์ ในนามที่ทุกคนเข้าใจได้เลยว่า ผมมีพรรคที่จะอยู่เรียบร้อยแล้ว และเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยที่แท้จริง" ปดิพัทธ์ กล่าว

ปิติพงศ์ เต็มเจริญ หัวหน้าพรรคเป็นธรรม กล่าวว่า วันนี้ถือว่าเป็นวันนิมิตรหมายอันดี ที่เราภูมิใจและได้รับเกียรติจากรองประธานสภาฯ นพ.ปดิryทธ์ ที่มาร่วมงานกับพรรคเป็นธรรม ซึ่งพรรคเป็นธรรม 

เมื่อทำงานร่วมกัน ห็หวังใจอย่างยิ่งว่าการทำงานของพรรคเป็นธรรมต่อไปจะมีบทบาทบริหารสภาฯ เพิ่มมากขึ้น จากการบริหารของฝ่ายค้าน ประเด็นที่จะแถลง มีด้วยกัน 3 ประเด็น 

ประเด็นแรก อย่างที่บอกไปแล้วว่า พรรคเป็นธรรมมีความภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ปดิryทธ์ รองประธานสภาฯ มาร่วม หลังจากนี้ รองประธานสภาฯ ได้ส่งใบสมัครสมาชิก และตรวจสอบคุณสมบัติตามกฎหมาย หลังจากนั้นจะนำสู่ กรรมการบริหารพรรคฯ 

ต่อประเด็นที่ปดิryทธ์ ถามว่า ทำไมต้องมีกรรมการบริหารพรรคฯ ปิติพงศ์ ระบุต่อว่า เพราะว่าเขาไม่ใช่สมาชิกทั่วไป และมีตำแหน่งรองประธานสภาฯ ต้องให้คณะกรรมการบริหารพรรค รับทราบ คนที่รับเป็นสมาชิก หรือผู้บริหารระดับสูงของประเทศ เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค ตัวเขาเป็นคนประสานงานมากกว่า การรับสมาชิกเป็นงานของนายระเบียนโดยตรง  

ปิติพงศ์ ชี้แจงต่อว่า จุดยืนของพรรค และท่าทีของพรรค ต่อดินแดนปาเลสไตน์ และสุดท้าย ยืนยันว่าจะสนับสนุนการทำงานของปดิryทธ์ ไม่ว่าจะเป็นการทำให้รัฐสภาโปร่งใส หรือตรวจสอบได้ และมีอีกหลายเรื่องทีเดียว และเชื้อเชิญให้เขามาเป็นทีมที่ปรึกษาด้วย ซึ่งทางปิติพงศ์ ตอบรับแล้ว

กัณวีร์ ระบุว่า การทำงานของเราชัดเจนว่าต้องตรงไปตรงมาและไม่บิดเบี้ยว เพราะฉะนั้น เราจะสร้างให้ทุกคนเห็นว่า ประชาธิปไตยปักหลักในประเทศได้ และการทำงานต่างๆ จะไม่มีการเลือกข้าง 

นอกจากนี้ การทำงานของพรรคเป็นธรรมต่อไป จะเป็นการทำงานแบบฝ่ายค้านเชิงรุก เน้นการตรวจสอบและถ่วงดุลบริหารราชการแผ่นดิน แต่จะไม่ใช่การตรวจสอบทุกอย่างที่รัฐบาลทำ และเราจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานบริหารราชการแผ่นดินมากยิ่งขึ้น เราจะเห็นความมุ่งหมายนี้ชัดเจนขึ้น

ตอบข้อครหา ไม่ได้เป็นพรรคสาขา

เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ระบุต่อว่า ในมุมมองของคนนอกผู้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียของพรรคก้าวไกล เพราะว่าเวลาเดินทางหาเสียงตอนแรก พูดตรงๆ พรรคก้าวไกล และพรรคเป็นธรรม ก็ต่อสู้กันมาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชัดเจนว่าเราร่วมอุดมการณ์ก็จริง เวลาทำงานหาเสียง และทำงานด้านการเมืองเรามีจุดยืนของพวกเรา เพราะฉะนั้น อันนี้ประชาชนจะเห็นชัดเจนว่าเราไม่ใช่พรรคสาขา เราทำงานเป็นตัวเลือกให้กับประชาชน ต้องเลือกพรรคการเมืองที่ดีที่สุดเข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะฉะนั้น พรรคสาขาไม่น่าจะเป็นคำถามที่ออกมาโดยสังคม น่าจะเป็นการทำงานที่พรรคร่วมอุดมการณ์ที่จะสร้างระบอบประชาธิปไตยให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ตรงนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนน่าจะภูมิใจในการทำงานของเรา

ปิติพงศ์ กล่าวด้วยว่า ปดิพัทธ์ ไม่สามารถเป็นกรรมการบริหาร หรือตำแหน่งใดๆ ในพรรค แต่ปดิพัทธ์ จะสนับสนุนการทำงานด้านการเมืองในนามของสมาชิกพรรคเป็นธรรมเท่านั้น และอีกประเด็นคือเขาอยากเห็นการเมืองประชาธิปไตยใหม่เกิดขึ้น การย้ายของปดิพัทธ์ ไม่มีเรื่องอมิสสินจ้าง ไม่มีกล้วยเหมือนแต่ก่อน เป็นการย้ายพรรคด้วยอุดมการณ์ ไม่ได้ไปตกปลาในบ่อของพรรคก้าวไกล ดังนั้นคำถามที่บอกว่าจะเป็นสาขาไหม บอกได้เลยว่าเราไม่ได้เป็น เราอยู่หมู่บ้านประชาธิปไตยคนละหลัง และทานข้าวคนละจาน

หลังจากนั้น ปดิพัทธ์ ระบุว่า การทำงานของรองประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง สำหรับแนวทางการทำงานของรองประธานสภาฯ บรรจุในรัฐธรรมนูญชัดเจนว่า ประธานสภาฯ หรือรองประธานสภาต้องทำงานเป็นกลาง ดังนั้น เป็นไปไม่ได้ที่การที่เขาอยู่พรรคใดพรรคหนึ่งแล้ว จะทำให้ได้เปรียบเสียเปรียบ 

“ดังนั้น การบรรจุกฎหมายก็ดี การพิจารณาร่างการเงินก็ดี การที่จะดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผมก็จะอำนวยการให้กับทุกพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน สัดส่วนของฝ่ายค้าน เพิ่มเป็น 2 คนแล้ว คุณกัณวีร์ก็ไม่น่าจะได้อภิปรายมากขนาดนั้น เพราะว่าผมไม่ได้เข้าร่วมการประชุมของพรรค ในการกำหนดแนวทางอภิปราย หรือแม้แต่ว่าวิปฝ่ายค้าน ผมก็ไม่ได้ไปมีส่วนร่วมแต่อย่างใด ก็จะทำงานร่วมกับประธานสภา และรองประธานสภา มากกว่า” ปดิพัทธ์ กล่าวต่อ

ปดิพัทธ์ ระบุต่อว่า กรรมการที่จะพิจารณาเกี่ยวข้องกับเรื่อง ICT อันนี้จะทำงานร่วมกับรองประธานสภาท่านที่ 1 ก็เป็นการทำงานในลักษณะเดิม ไม่ว่าสถานะ สส. จะสังกัดอยู่พรรคใดก็ตาม 

ปัญหาความขัดแย้งจากพรรคเพื่อไทยนั้น ปดิพัทธ์ ระบุว่า บรรยากาศดีขึ้น ประธานวิปฝ่ายรัฐบาล อดิศร เพียงเกษ ระบุว่าเคารพการตัดสินใจ การจับจ้องทางการเมืองเราปฏิเสธไม่ได้ เกิดขึ้นตั้งแต่อยู่พรรคก้าวไกลแล้ว ไม่ได้เกิดจากการย้ายพรรคแต่อย่างใด เขาคิดว่ามันคงจะมีแรงเสียดทานเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจรับสภาฯ และมีอีกหลายเรื่องที่ต้องโปร่งใสมากขึ้น การจัดซื้อจัดจ้าง สัญญาแม่บ้านหรือร้านอาหาร สัญญาการซื้ออุปกรณ์ ICT แรงเสียดทานจะไม่น้อยลง แต่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน 

ส่วนตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคก้าวไกล ปดิพัทธ์ ระบุว่า ลาออกหมดแล้ว 

นอกจากนี้ ปดิพัทธ์ ระบุว่า ประธานทั้ง 3 ท่านควรจะมี 1 เก้าอี้ ที่มาจากฝ่ายค้านนั้น เป็นข้อเสนอตั้งแต่การกรรมการร่างรัฐธรรมนูญของ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผมคิดว่าเรื่องที่เกิดขึ้น มันเป็นบทเรียนทางการเมืองว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มันมีข้อดี ข้อด้อย อย่างไร ผมคิดว่าต้องโยนให้กับกรรมการที่จะศึกษา และสังคม รวมถึง สสร. ในการศึกษาเรื่องนี้ด้วย แต่ผมคิดว่ามันมีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร คงตัดสินใจวันนี้ไม่ได้ ต้องใช้เวลาครบ 4 ปี ครบสมัยในการพิสูจน์ว่ามีข้อดี-เสียอย่างไร

ปดิพัทธ์ ระบุว่า ยังไม่ได้ตัดสินใจในระยะยาว ตอนนี้เป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นก่อน เพราะว่าเขาต้องหาพรรคใหม่ให้ได้ภายใน 30 วัน และพรรคเป็นธรรม จริงใจที่สุด เปิดรับที่สุด และมีแนวทางที่ใกล้เคียงที่สุด และในอนาคตค่อยพิจารณาไป 

ชาวพิษณุโลกสนับสนุน

รองประธานสภาฯ กล่าวต่อว่า เวลาเดินทักทายประชาชนชาวพิษณุโลกตอนนี้ไม่ใช่คำว่า "สวัสดี" แต่เป็นคำว่า "อย่าออก" เพราะว่าชาวพิษณุโลกเองต้องการให้ชาวพิษณุโลกดำรงตำแหน่งรองประธานนี้มาก และสิ่งที่ผมทำมันขับเคลื่อนให้ประเทศก้าวหน้าไปข้างหน้าได้ ตรงนี้ได้รับเสียงตอบรับในพิษณุโลก และมีคนที่เจอที่สนามบิน ก็เข้ามาบอกว่าอย่าออกๆ ดังนั้น แรงสนับสนุนมีแน่นอน คำวิจารณ์ส่วนใหญ่มาจากคนที่ไม่อยากให้เขาอยู่ในตำแหน่งนี้ แต่แรงสนับสนุนมีมากพอสมควร

รองประธานสภาฯ ระบุว่า ส่วนตัวเคารพอดิศร และรับฟังความคำแนะนำเสมอ แต่ท่าทีที่ออกมาเมื่อวานเป็นท่าทีเชิงบวก จึงคาดว่าการทำงานสภาฯ น่าจะราบรื่น

หลังจากนั้น เป็นการแนะนำคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นธรรมขึ้นมาร่วมถ่ายภาพร่วมกับปดิพัทธ์ สันติภาดา  

ศรีสุวรรณ จ่อร้อง กกต. กรณีก้าวไกล ขับ 'ปดิพัทธ์'

ในวันเดียวกัน เว็บไซต์สื่อมติชน ออนไลน์ รายงานว่า ศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า ตามที่พรรคก้าวไกลได้ขับ ปดิพัทธ์ สันติภาดา พ้นจากสมาชิกภาพพรรค โดยอ้างว่าต้องการให้หัวหน้าพรรคได้เป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ซึ่งจะทำให้ สส.จากพรรคก้าวไกล ไม่สามารถดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 แต่ปดิพัทธ์ ได้แสดงความประสงค์ว่าต้องการทำหน้าที่ในฐานะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ศรีสุวรรณ จรรยา

และล่าสุดประกาศจะสมัครเข้าพรรคเป็นธรรม โดยอ้างหลัก 3 ข้อแบบน้ำขุ่นๆ ซึ่งปุถุชนทั่วไปก็รู้ดั่งอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่แล้ว ไม่จำเป็นต้องยกข้ออ้างขึ้นมา เพราะอย่างไรก็ไม่เนียน ซึ่งการกระทำดังกล่าว อาจถือได้ว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ เพราะการที่พรรคก้าวไกลมีมติพรรคให้ ส.ส.ออกจากสมาชิกพรรคนั้น ต้องเป็นเรื่องที่ ส.ส.ทำผิดร้ายแรง หรือขัดแย้งกับพรรคจนอยู่ด้วยกันไม่ได้ เป็นไปตามข้อบังคับพรรคที่เขียนไว้หรือไม่ จะมามีมติให้ออกกันดื้อๆง่ายๆ เพียงเพื่อเปิดทางให้พรรคได้ตำแหน่งอีกตำแหน่งหนึ่งนั้น ชอบด้วยข้อบังคับของพรรคก้าวไกลหรือไม่ ซึ่งการกระทำนี้ สังคมยังอาจมองได้ว่านายปดิพัทธ์ ก็ยังเป็นคนของพรรคก้าวไกลเหมือนเดิม เพียงแต่ใส่เสื้อพรรคเป็นธรรมทับลงไปบนเสื้อพรรคก้าวไกล อีกตัวหนึ่งเท่านั้นหรือไม่

ศรีสุวรรณ กล่าวว่า องค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน จำต้องนำความไปร้องให้นายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตรวจสอบและให้ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ มีโทษถึงขั้นยุบพรรคและตัดสิทธิทางการเมืองกันระนาว โดยจะไปยื่นคำร้องในวันพุธที่ 11 ต.ค. 2566 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงาน กกต.
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net