Skip to main content
sharethis

รมว.กต. แถลงความคืบหน้าเหตุความรุนแรงในอิสราเอล ข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการเผยมีแรงงานไทยเสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บ 8 ราย ถูกจับเป็นตัวประกัน 11 ราย ยังไม่รู้สภาพ รอทางการอิสราเอลยืนยัน เจ้าตัวระบุไม่ได้ประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ประณามเหตุความรุนแรง และสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวไทย ซึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์

 

8 ต.ค. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "กระทรวงการต่างประเทศ" ถ่ายทอดสดวันนี้ (8 ต.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ปานปรีย์ มหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ แถลงความคืบหน้าสถานการณ์ของคนไทยที่ทำงานในอิสราเอล หลังจากที่วานนี้ (7 ต.ค.) ตามเวลา ณ ประเทศไทย กองกำลังติดอาวุธเพื่อช่วงชิงดินแดนคืนจากอิสราเอล "ฮามาส" ได้ยิงขีปนาวุธจรวดเข้ามาในกรุงเทลอาวีฟ ประเทศอิสราเอล จำนวนกว่า 5,000 ลูก ก่อนส่งนักรบบุกฝ่าพรมแดนความมั่นคงของประเทศอิสราเอล เข้ามายึดหมู่บ้าน และชุมชนหลายแห่งทางตอนใต้ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีแรงงานไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

ปานปรีย์ เปิดเผยว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศไม่ได้นิ่งนอนใจ และกระทรวงการต่างประเทศ ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้อย่างใกล้ชิด มีการสั่งการสถานทูตกรุงเทลอาวีฟ ให้รายงานสถานการณ์เรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ติดต่อประสานงานกับทางการอิสราเอล และติดต่อกับแรงงานไทยทุกคน

สำหรับผลกระทบต่อแรงงานไทย ฝ่ายแรงงานประจำสถานทูต ระบุว่า มีแรงงานไทยได้รับบาดเจ็บรวม 8 คน รอการช่วยเหลือจากทางการไทย 3 คน และเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลโซโรกา (Soroka) จำนวน 5 คน มีผู้เสียชีวิต จำนวน 1 ราย และถูกกลุ่มกองกำลังติดอาวุธจับกุมตัว 11 ราย มีการพยายามติดต่อทางการอิสราเอล เพื่อยืนยันข้อมูลดังกล่าว แต่ทางฝ่ายอิสราเอล ยังเข้าพื้นที่ไม่ได้ จึงยังไม่สามารถยืนยันตัวเลขหรือข้อมูลอย่างเป็นทางการได้ 

ปานปรีย์ ระบุต่อว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ประสงค์เปิดเผยชื่อของแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรงครั้งนี้ เพราะทางการต้องการติดต่อญาติมิตรของแรงงานให้ได้รับทราบก่อน และไม่ได้อยากให้รับทราบข่าวจากสื่อเป็นที่แรก เพื่อไม่ให้ญาติและสมาชิกครอบครัวเกิดความตระหนกตกใจ 

รมว.กต. ระบุต่อว่า เรื่องการช่วยเหลือ และอพยพชาวไทยออกจากอิสราเอล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มีการประสานไปยังกองทัพอากาศ เตรียมความพร้อมในเรื่องเครื่องบิน เพื่อเตรียมอพยพคนไทยในอิสราเอล ออกมา แต่ท่าอากาศยานในอิสราเอลไม่เปิด ประเทศไทยจึงยังไม่สามารถทำการอพยพในตอนนี้ และตอนนี้อิสราเอลได้ประกาศภาวะสงครามแล้ว จึงมีการประกาศแจ้งห้ามประชาชนออกจากเคหะสถาน ประชาชนจะต้องลงหลุมหลบภัยเป็นระยะๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่คนไทยในอิสราเอลได้รับการอบรมและมีความตระหนักรู้ในแนวทางต่างๆ อยู่แล้ว

ทั้งนี้ ในเวลา 13.00 น. ศูนย์ประสานงานสถานการณ์ฉุกเฉิน จะมีการประชุมที่กรมการกงศุล ระหว่างทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายทหาร กองทัพอากาศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน รวมทั้งแพทย์ เพื่อประสานเตรียมการภารกิจต่างๆ ให้มีการดำเนินการได้อย่างราบรื่นเรียบร้อย ขอให้วางใจว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก และจะดำเนินการทุกอย่างอย่างเต็มที่ในการดูแลช่วยเหลือประชาชนไทยในอิสราเอล ทางสถานทูตในอิสราเอล ก็ได้มีการประสานงานกับทางการอิสราเอล และทุกฝ่าย อย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยเหลือชาวไทย

ปานปรีย์ กล่าวว่า ทางการไทยไม่เห็นด้วย และขอประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ กระทรวงการต่างประเทศจะได้ออกแถลงการณ์ตั้งแต่เมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรี และตนเอง ได้แสดงท่าทีเรื่องนี้แล้ว รัฐบาลขอเรียกร้องทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติความรุนแรง และปล่อยตัวผู้บริสุทธิ์ในทันที 

หลังจากนั้น กระทรวงต่างประเทศได้ติดต่อทางไกลไปยังพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อรายงานสถานการณ์ที่ประเทศอิสราเอล โดยพรรณนภา ระบุว่า เบื้องต้น สถานการณ์ในอิสราเอล ยังมีการสู้รบอย่างต่อเนื่อง ทหารอิสราเอลพยายามยึดคืนพื้นที่ แต่ยังคืนมาได้ 2 ส่วน แต่พื้นที่ดังกล่าวยังไม่ใช่พื้นที่ที่แรงงานไทยถูกจับเป็นตัวประกัน และขอยืนยันว่าผู้ถูกจับเป็นตัวประกันไม่ได้มีเฉพาะแรงงานไทย มีทั้งคนอิสราเอล และแรงงานชาติอื่นๆ ตอนนี้สถานทูตไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะเร่งรีบให้ความช่วยเหลือแรงงานไทย 

พรรณนภา ระบุว่า แรงงานไทยไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่ฮามาส จะทำร้ายร่างกาย เพียงแต่อยู่ในพื้นที่ที่กลุ่มฮามาสบุก ทำให้ถูกจับเป็นตัวประกัน 

พรรณนภา จันทรารมย์

พรรณนภา ระบุต่อว่า พยายามติดต่อฝ่ายแรงงาน แต่ติดต่อได้เฉพาะแรงงานที่บาดเจ็บบางราย แต่แรงงานที่ถูกจับเป็นตัวประกันนั้นยังไม่สามารถติดต่อได้ เพราะพวกเขายังอยู่ในพื้นที่ที่กลุ่มกองกำลังติดอาวุธฮามาส ยึดครอง ต้องรอฝ่ายอิสราเอลเข้าไปเคลียร์พื้นที่ก่อน 

พรรณนภา ระบุต่อว่า เรื่องอุปสรรคการประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังมีการติดต่อประสานกับหน่วยงานที่ใกล้ชิด แต่ยังไม่มีใครสามารถยืนยันข้อมูลได้ว่าสถานการณ์จริงๆ เป็นอย่างไร 

ปานปรีย์ กล่าวต่อว่า มีคำถามมาเยอะมากสำหรับสถานการณ์ในอิสราเอล แต่สิ่งที่รัฐบาลเป็นห่วงสูงสุดคือพี่น้องประชาชนชาวไทย และเราจะต้องดูแลผู้เสียชีวิต ในเรื่องการเยียวยา และผู้ที่บาดเจ็บ และจับตัว จะพยายามหาช่องทางอย่างเต็มที่ ในการช่วยเหลือให้ชาวไทยได้รับการปล่อยตัว

นอกจากนี้ กองทัพอากาศ ได้ประสานตั้งแต่เริ่มต้นเหตุการณ์ และทางกองทัพอากาศได้ให้ความร่วมมือเต็มที่ ตอนนี้เหลือเพียงรอสัญญาณว่าจะได้เข้าไปอพยพคนไทยเมื่อไร แต่อย่างที่รายงานข้างต้น ตอนนี้อิสราเอล เข้าสู่ภาวะสงคราม และน่านฟ้ายังปิดอยู่ สำหรับผู้บาดเจ็บ สถานทูต ได้เข้าไปดูแล้ว 

"ย้ำว่ายังไม่ทราบข้อเท็จจริงในทางการเมืองระหว่างประเทศว่าเกิดอะไรขึ้น เรายังไม่ได้ประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เราประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวไทยที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ตรงนี้เราไม่สามารถรับได้" ปานปรีย์ กล่าว 

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ในปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศอิสราเอลรวมทั้งสิ้นประมาณ 29,900 คน โดยเป็นแรงงานที่อยู่อาศัยบริเวณเมือง Netivot, Sderot, Ashkelo และพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 5,000 คน

ย้อนไปเมื่อปี 2564 กลุ่มนักรบฮามาส เคยใช้ยุทธวิธีเดียวกันในการโจมตีอิสราเอล โดยยิงจรวดเข้ามาในพื้นที่อิสราเอล ราว 4,000 ลูก และในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีชาวไทยได้เสียชีวิต 2 ราย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net