Skip to main content
sharethis

'คำนูณ สิทธิสมาน' สมาชิกวุฒิสภา ย้ำรัฐบาลต้องชี้แจงที่มาของงบประมาณดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล 10,000 บาท ให้ชัดเจน และหากจำเป็นต้องใช้เงินนอกงบประมาณปี 2567 ก็ต้องเปิดเผยสัญญาที่จะทำกับธนาคารออมสิน และธนาคาร ธ.ก.ส. ให้ประชาชนรับทราบด้วย

7 ต.ค. 2566 เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา รายงานว่านายคำนูณ  สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ขอปรึกษาหารือปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนผ่านที่ประชุมวุฒิสภาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เรื่อง โครงการ “กระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาท”  ว่า เนื่องจากพรรคเพื่อไทยได้นำนโยบายดังกล่าวใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งเมื่อเดือน เม.ย.66 และได้แจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ว่า นโยบายดังกล่าวจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 560,000 ล้านบาท พร้อมทั้งระบุด้วยว่า จะใช้การบริหารจัดการงบประมาณ และการบริหารจัดการระบบภาษีในการดำเนินการ กล่าวคือ เป็นเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 แต่เนื่องจากปฏิทินงบประมาณเปลี่ยนแปลงไปทำให้ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 อาจประกาศใช้ประมาณปลายเดือน เม.ย.67 ดังนั้น จึงไม่มีความเป็นไปได้ที่โครงการ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” จะปรากฏอยู่ในกฎหมายงบประมาณ ปี 2567 แต่รัฐบาลได้ประกาศว่าจะเริ่มโครงการ “กระเป๋าเงินดิจิทัล” ในปีงบประมาณ 2567 (1 ก.พ.67 หรือ 1 มี.ค.67) ซึ่งหมายความว่าจะมีการจ่ายเงิน จำนวน 560,000 ล้านบาท พร้อมกัน โดยรัฐบาลอาจใช้วิธีเงินนอกงบประมาณ กล่าวคือ ให้ธนาคารของรัฐ อาทิ ธนาคารออมสิน เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวไปก่อนแล้วรัฐบาลจะตั้งงบประมาณคืนให้ในภายหลังโดยทยอยใช้เป็นรายปี เช่นเดียวกับโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งจะทำให้เงินจำนวนดังกล่าวไม่อยู่ในงบประมาณฯ แต่อาจอยู่เฉพาะเงินส่วนที่ต้องคืนให้ในงวดแรก และทยอยคืนในปีต่อไปอีกหลายปี ทั้งนี้ ตนได้ตั้งคำถามไปยังรัฐบาลในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 ก.ย.66 แต่ก็ยังไม่ได้รับคำชี้แจงเกี่ยวกับแนวทางการใช้เงินที่จะให้ธนาคารของรัฐดำเนินการตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561

นายคำนูณ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนขอให้รัฐบาลชี้แจงรายละเอียดของโครงการดังกล่าวว่า ในกรณีที่รัฐบาลใช้ธนาคารออมสินดำเนินการ จะมีการตั้งงบประมาณใช้คืนธนาคารออมสินจำนวนกี่ปี และจ่ายคืนปีละเท่าไร และหากรวมโครงการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งต้องใช้เงินนอกงบประมาณจากจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามมาตรา 28 เช่นเดียวกัน จะตั้งงบประมาณสำหรับการชำระหนี้โดยนำเงินจากโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล มารวมด้วยหรือไม่ และจะทยอยใช้คืนจำนวนกี่ปี ดังนั้น รัฐบาลต้องเปิดเผยสัญญาที่จะทำกับธนาคารออมสิน และธนาคาร ธ.ก.ส. หรือไม่ เพราะประชาชนจำเป็นต้องทราบจำนวนดอกเบี้ยใช้คืน ค่าบริหารจัดการ และค่าบริการของธนาคารว่าเป็นเงินเท่าใด ขณะเดียวกัน ในภาวะดอกเบี้ยสูง รัฐบาลมีต้นทุนสำหรับการตั้งงบประมาณคืนให้ธนาคารของรัฐเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 57 ที่กำหนดให้ทุกนโยบายที่มีการใช้จ่ายเงินต้องทำเป็นรายการชี้แจง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกอบด้วยวงเงินที่ต้องใช้และที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ดังนั้น จึงขอหารือไปยัง กกต. ว่าเมื่อพรรคการเมืองชี้แจงข้อมูลตามที่กำหนดแล้ว เมื่อได้รับเลือกเป็นรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องทำตามที่ชี้แจงไว้ก็ได้ ใช่หรือไม่ หากเป็นเช่นนี้จะมีประโยชน์อันใด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net