Skip to main content
sharethis

ผลสำรวจข้อมูลแรงงานนอกระบบทั่วประเทศ 78,750 คน ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 พบส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตร-แรงงานรับจ้างทั่วไป มากกว่า 90% มีอาชีพหลักเพียงอาชีพเดียว 83.90% ไม่ได้ตั้งเป้าหมายความสำเร็จในการทำงานในแต่ละวัน 49.62% มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือน และ 63.76% มีหนี้สิน


ที่มาภาพ: ILO/Thierry Falise (CC BY-NC-ND 2.0)

ข้อมูลจาก รายงานผลการจัดทำดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบและสำรวจข้อมูลแรงงานนอกระบบ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยกองเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน ที่ได้สำรวจข้อมูลแรงงานนอกระบบทั่วประเทศ 76 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร จำนวน 78,750 คน พบข้อค้นพบที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

ข้อมูลทั่วไป

ข้อมูลทั่วไปของแรงงานนอกระบบ พบว่า จำนวนแรงงานนอกระบบที่สำรวจทั้งสิ้น 78,750 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง สถานภาพสมรส มีอายุอยู่ในช่วงวัยแรงงาน อายุ 20 - 59 ปี ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมงน้ำจืดมากที่สุดรองลงมา คือ อาชีพแรงงานรับจ้างทั่วไป มากกว่าร้อยละ 90 มีอาชีพหลักเพียงอาชีพเดียว และไม่เคยทำงานหรือประกอบอาชีพมาก่อน สำหรับผู้ที่เคยทำงาน/ประกอบอาชีพมาก่อนส่วนใหญ่เคยเป็นพนักงานโรงงานเหตุผลสูงสุดที่ทำให้เปลี่ยนงานมาเป็นแรงงานนอกระบบว่าต้องการอิสระสูงสุด รองลงมาคือ ค่าจ้าง/รายได้ไม่คุ้มค่า มากกว่าร้อยละ 50 ไม่ต้องการทำงานในระบบหรืองานองค์กรที่มีระบบสวัสดิการ และส่วนใหญ่ทำงานในฐานะลูกจ้าง

คุณภาพชีวิตของแรงงานนอกระบบ


ที่มาภาพ: ILO/Marcel Crozet (CC BY-NC-ND 2.0)

ด้านเศรษฐกิจ พบว่าแรงงานนอกระบบที่สำรวจมีรายได้รวมเฉลี่ยเท่ากับ 9,595.41 บาทต่อเดือน โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 49.62 มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือน มีคนที่ร่วมใช้จ่าย จำนวน 3 คน ร้อยละ 26.51 ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานนอกระบบที่สำรวจมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ร้อยละ 63.76 และมีภาระหนี้สิน ร้อยละ 52.14 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการกู้ยืมเงินในระบบ ร้อยละ 87.16 จากการสำรวจรายได้จากการทำงาน (เพียงอย่างเดียว) ของแรงงานนอกระบบโดยเฉลี่ย มีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 9,507.46 บาทต่อเดือน ร้อยละ 37.31 ได้รับรายได้เป็นรายวัน โดยร้อยละ 43.08 ระบุว่ารายได้จากการทำงานที่ได้รับไม่มีความคุ้มค่า สาเหตุส่วนใหญ่ระบุว่ากำไรน้อย/รายได้น้อย เมื่อสอบถามถึงเป้าหมายความสำเร็จในการทำงานในแต่ละวัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 83.90 ระบุว่าไม่ได้ตั้งเป้าหมาย มีเพียงร้อยละ 16.10 ที่ตั้งเป้าหมาย และส่วนใหญ่ของผู้ที่ตั้งเป้าหมายระบุว่าทำงานได้สำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

ด้านสังคม พบว่า แรงงานนอกระบบที่สำรวจ ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.83 มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองไม่ต้องผ่อนชำระ รองลงมาอาศัยอยู่กับบิดา มารดา ญาติ พี่น้อง ร้อยละ 18.30 ส่วนใหญ่ ร้อยละ 97.62 ไม่มีปัญหา ทะเลาะ และขัดแย้ง มีเพียงร้อยละ 2.38 เท่านั้น ที่มีปัญหา ทะเลาะ และขัดแย้ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องงาน

ด้านสุขภาพ พบว่า แรงงานนอกระบบที่สำรวจ ร้อยละ 99.00 มีสภาพร่างกายปกติมีเพียง ร้อยละ 1.00 ที่มีความพิการ ซึ่งร้อยละ 51.48 ของผู้พิการเป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหว โดยส่วนใหญ่ของผู้พิการ ร้อยละ 63.09 ไม่มีบัตรประจำตัวผู้พิการ และจากการสำรวจแรงงานนอกระบบ โดยส่วนใหญ่ร้อยละ 92.67 ไม่มีโรคประจำตัว และกลุ่มตัวอย่างมีปัญหาสุขภาพจากการทำงาน ร้อยละ 15.87 ส่วนใหญ่ระบุว่าปัญหาสุขภาพนั้นคือการเกิดความปวดเมื่อยจากการทำงานด้านความปลอดภัย พบว่า แรงงานนอกระบบที่สำรวจ ส่วนใหญ่ร้อยละ 94.32 ไม่เคยได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงาน สำหรับด้านความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน ส่วนใหญ่แล้วไม่เคยประสบเหตุการณ์ไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีเพียงร้อยละ 1.24 ที่เคยประสบเหตุการณ์ โดยผู้ที่เคยประสบเหตุการณ์ส่วนใหญ่เป็นเรื่องอื่น ๆ

ด้านสภาพแวดล้อม พบว่า แรงงานนอกระบบที่สำรวจ ส่วนใหญ่ร้อยละ 62.95 มีที่พักห่างจากที่ทำงาน 0 - 3 กิโลเมตร แรงงานนอกระบบมีความพึงพอใจในสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่อาศัยอยู่ในปัจจุบันในระดับมาก ดังนี้ บริเวณที่อาศัยมีไฟฟ้าใช้เพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้า มีสภาพของถนนที่ดีหรือมีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกต่อการเดินทาง มีความสะดวกในการเข้าถึงบริการสาธารณะ เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ เป็นต้น บริเวณที่อาศัยมีน้ำประปาที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อการอุปโภคและบริโภคมีการจัดการปัญหาขยะ น้ำเสีย และมลพิษทางอากาศอย่างเหมาะสม มีพื้นที่สันทนาการและสวนสาธารณะเพียงพอต่อทุกคนที่อยู่ภายในพื้นที่ และมีความปลอดภัยจากยาเสพติดและอาชญากรรม ตามลำดับ

ด้านการทำงาน พบว่า แรงงานนอกระบบที่สำรวจ ส่วนใหญ่ร้อยละ 81.64 ไม่มีปัญหาจากการประกอบอาชีพ สำหรับผู้ที่ระบุว่ามีปัญหาร้อยละ 18.36 ที่มีปัญหา ระบุว่า มีปัญหาในเรื่องการทำงานที่ไม่ได้รับสวัสดิการมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ไม่สามารถหยุดงานได้ ทั้งนี้ แรงงานนอกระบบมีระยะเวลาทำงาน (รวมทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริมทั้งหมด) โดยเฉลี่ย 7.94 ชั่วโมงต่อวัน

ด้านความพร้อมและศักยภาพ พบว่าแรงงานนอกระบบที่สำรวจมีความพร้อมในการใช้ภาษาไทยในการฟัง พูด อ่าน และเขียน ได้ในระดับมากที่สุด ร้อยละ 35.45 แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้ภาษาต่างประเทศ เพื่อเป็นภาษาที่สองในการฟัง พูด อ่าน และเขียน ร้อยละ 49.68 ไม่สามารถใช้โปรแกรม/แอปพลิเคชันเพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ได้อย่างดี ร้อยละ 39.78 และไม่สามารถใช้อินเทอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลได้อย่างดี ร้อยละ 33.15 ตามลำดับ ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นต้องมีสำหรับการทำงานในปัจจุบันสำหรับด้านทักษะความพร้อมหรือการมีความความชำนาญและมีศักยภาพในการทำงาน

ในสาขาอาชีพ พบว่า แรงงานนอกระบบที่สำรวจ มีทักษะในสาขาอาชีพภาคบริการ ร้อยละ 20.98 ส่วนใหญ่มีความชำนาญในงานขาย มีทักษะในสาขาอาชีพช่าง ร้อยละ 14.38 ส่วนใหญ่มีความชำนาญในงานไม้มีทักษะในสาขาอาชีพเทคโนโลยีสารสนเทศ ร้อยละ 8.47 ส่วนใหญ่มีความชำนาญในการใช้อินเทอร์เน็ตสืบค้นข้อมูลมีทักษะในสาขาอาชีพศิลปะ ร้อยละ 7.45 ส่วนใหญ่ชำนาญในงานตัดเย็บ มีทักษะในสาขาอาชีพไฟฟ้า ร้อยละ 4.17 ส่วนใหญ่มีความชำนาญในงานไฟฟ้า

จากการประมวลผลข้อมูลศักยภาพและความพร้อมของแรงงานนอกระบบ พบว่า แรงงานนอกระบบมีความพร้อมและศักยภาพในการทำงานโดยเฉลี่ยในระดับ “ปานกลาง” ที่คะแนนเฉลี่ย 2.08 และมีความพร้อมและศักยภาพเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ด้านการใช้ภาษาไทยในระดับ “พร้อมมาก” ที่คะแนนเฉลี่ย 3.82 ความพร้อมและศักยภาพในด้านการใช้อินเทอร์เน็ตในการสืบค้นข้อมูลในระดับ “ปานกลาง” ที่คะแนนเฉลี่ย 1.81 ด้านการใช้โปรแกรม/แอปพลิเคชันเพื่อเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ และด้านการใช้ภาษาต่างประเทศ ในระดับ “พร้อมน้อย” ที่คะแนนเฉลี่ย 1.55 และ 1.15 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาข้อมูลศักยภาพและความพร้อมของแรงงานนอกระบบตามกลุ่มอาชีพ พบว่ากลุ่มอาชีพที่มีความพร้อมและศักยภาพมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ กลุ่มอาชีพฟรีแลนซ์/อิสระ (2.57) รองลงมา คือ กลุ่มอาชีพลูกจ้างทั่วไป (2.48) และกลุ่มอาชีพทำงานในภาคบริการ (2.38) ตามลำดับ สำหรับกลุ่มอาชีพที่มีศักยภาพและความพร้อมโดยเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ กลุ่มอาชีพแรงงานรับจ้างทำการเกษตรตามฤดูกาล (1.65)

ด้านอื่น ๆ พบว่า ใน 24 ชั่วโมงหรือ 1 วัน แรงงานนอกระบบที่สำรวจมีเวลางานโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7.38 ชั่วโมง อีก 7.44 ชั่วโมง เป็นเวลาพักผ่อน/นอน ซึ่งเกือบจะทั้งหมด ร้อยละ 88.63 ของแรงงานนอกระบบที่สำรวจ มีเวลาสำหรับพักผ่อนหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ นอกเหนือจากการทำงาน ร้อยละ 93.52 ระบุว่ามีเวลางานกับเวลาส่วนตัวที่เหมาะสมและเพียงพอ ส่วนใหญ่แล้ว ร้อยละ 96.14 ไม่เคยโดนดูถูกหรือไม่ได้รับการยอมรับจากการทำงาน และแรงงานนอกระบบ ร้อยละ 26.20 มองว่าความสำเร็จในชีวิตทำงานในอนาคตคือมีรายได้เพิ่มขึ้น อีกร้อยละ 55.18 ระบุว่าไม่ได้ตั้งเป้าหมายความสำเร็จในชีวิตทำงาน

ปัญหาด้านแรงงาน


ที่มาภาพ: ILO/ Thierry Falise (CC BY-NC-ND 2.0)

ปัญหาด้านแรงงานของแรงงานนอกระบบที่สำรวจ พบว่า ร้อยละ 72.50 ของแรงงานนอกระบบที่สำรวจไม่มีปัญหาด้านแรงงาน ส่วนที่ระบุว่ามีปัญหาด้านแรงงาน พบว่า มีปัญหาการไม่มีงานทำอย่างต่อเนื่องสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ มีปัญหาเรื่องค่าตอบแทน ขาดทักษะฝีมือทั่วไป ขาดทักษะฝีมือด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และไม่รู้สิทธิด้านกฎหมาย ตามลำดับ

ความต้องการการช่วยเหลือจากภาครัฐ

แรงงานนอกระบบที่สำรวจส่วนใหญ่ ร้อยละ 67.54 ไม่เคยใช้บริการหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ผู้ที่เคยใช้บริการ ส่วนใหญ่เคยใช้บริการศูนย์บริการประชาชน กระทรวงแรงงานรองลงมาแก่ สำนักงานประกันสังคม สำนักงานจัดหางาน สถาบัน/ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ตามลำดับ นอกจากนี้ แรงงานนอกระบบที่สำรวจมีความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐมากที่สุดในเรื่องทุนในการประกอบอาชีพ รองลงมาคือ ความต่อเนื่องในการทำงานสนับสนุนอาชีพเกษตรกรรม เรื่องค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น/เป็นธรรม และให้ข้อมูลข่าวสารด้านแรงงาน ตามลำดับ

ผลการวิเคราะห์ด้านสวัสดิการและการมีรายได้ที่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย

ประเด็นสำคัญด้านแรงงานของแรงงานนอกระบบคือรายได้และสวัสดิการ พบว่า แรงงานนอกระบบที่สำรวจมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานนอกระบบที่สำรวจมีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย ร้อยละ 63.76 เมื่อพิจารณาร่วมกับปัจจัยการมีสวัสดิการด้านแรงงานของแรงงานนอกระบบ พบว่า แรงงานนอกระบบที่สำรวจส่วนใหญ่ได้รับความคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ร้อยละ 58.99 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รับเบี้ยสวัสดิการแห่งรัฐ มีเพียงร้อยละ 41.01 ที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง

แรงงานนอกระบบที่สำรวจ ทั้งที่ได้รับสวัสดิการและไม่ได้รับสวัสดิการล้วนมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย พบว่า แรงงานนอกระบบที่ได้รับสวัสดิการมีสัดส่วนของแรงงานที่มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแรงงานที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย (ร้อยละ 23.26 และร้อยละ 61.63 ตามลำดับ) และในกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับสวัสดิการมีสัดส่วนของแรงงานที่มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายน้อยกว่าแรงงานที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน (ร้อยละ 21.41 และ 78.59 ตามลำดับ) พบว่า ผลต่างการมีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่ายของกลุ่มแรงงานที่ได้รับสวัสดิการน้อยกว่ากลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับสวัสดิการ แสดงให้เห็นว่าการที่แรงงานนอกระบบไม่ได้รับสวัสดิการยิ่งเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้น

ดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ

ดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบโดยรวมของทั้ง 8 ด้านเท่ากับ 48.67 คะแนน โดยแรงงานนอกระบบให้น้ำหนักกับคุณภาพชีวิตด้านสภาพแวดล้อมมากที่สุด 51.81 คะแนน รองลงมาคือ ด้านการทำงาน 50.65 คะแนน ด้านสังคม 50.61 คะแนน ด้านความพร้อมและศักยภาพ 50.38 คะแนน ด้านความปลอดภัย 50.30 คะแนน ด้านสุขภาพ 49.88 คะแนน ด้านเศรษฐกิจ 48.04 คะแนน และให้น้ำหนักด้านอื่น ๆ น้อยที่สุด 46.94 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้ ให้น้ำหนักกับคุณภาพชีวิตด้านสภาพแวดล้อมมากที่สุดร้อยละ 23.94 รองลงมาได้แก่ ด้านความพร้อมและศักยภาพร้อยละ 22.99 ด้านอื่น ๆ ร้อยละ 12.48 ด้านเศรษฐกิจร้อยละ 10.40 ด้านสุขภาพร้อยละ 8.80 ด้านความปลอดภัยร้อยละ 7.80 ด้านการทำงานร้อยละ 7.05 และให้น้ำหนักด้านสังคมน้อยที่สุดร้อยละ 6.53 ตามลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบระหว่างปี 2564 และ 2565 พบว่าคุณภาพชีวิตในภาพรวมปี 2565 อยู่ที่ 48.67 คะแนน ลดลงจากปี 2564 ซึ่งอยู่ที่ 54.07 คะแนน โดยที่ดัชนีชี้วัดคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบลดลงในทุกด้าน จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ต้องลดการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ประกอบกับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น เกิดภาวะเงินเฟ้อด้านต้นทุน (Cost put) ค่าครองชีพสูง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวทั้งเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net