Skip to main content
sharethis

'เสียงของแรงงานต้องดังในรัฐสภา' ประชาไทคุยกับมนุษย์ม็อบ: วันแรงงานสากล ในฐานะคนทำงานอยากให้รัฐบาลใหม่มีนโยบายด้านสิทธิแรงงานอย่างไรบ้าง 

 

5 พ.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวร่วมสัมภาษณ์แรงงานที่มาร่วมกิจกรรม "คนทำงานลงถนน วันแรงงานสากล" เดินพาเหรดจากแยกราชประสงค์ ถึงแยกปทุมวัน ในวาระเฉลิมฉลองวันแรงงานสากลเมื่อ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ในฐานะคนทำงาน 99% ของประเทศ อยากให้รัฐบาลใหม่มีนโยบายด้านแรงงานอย่างไรบ้าง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สวัสดิการ-อำนาจรวมตัว 2 สิ่งที่คนทำงานสร้างสรรค์ต้องการ

'อิง' ไชยวัฒน์ วรรณโคตร ผู้ร่วมก่อตั้งสหภาพแรงงานสร้างสรรค์แห่งประเทศไทย (CUT) เผยว่าสิ่งที่เขาอยากให้รัฐบาลใหม่ทำมีอยู่ 2 ประเด็น คือ หนึ่งคือสวัสดิการที่ดี เนื่องจากว่าคนทำงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นแรงงานที่มีความเปราะบาง มีความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานสูง เพราะว่าเป็นฟรีแลนซ์ ได้งานหรือไม่ได้งานอยู่ที่ความสามารถ อยู่ที่ดวง หรือคอนเนกชัน ดังนั้น เรามีความจำเป็นที่จะต้องอยากได้ประกันสังคมที่มันมีผลประโยชน์ (benefit) ที่ดี อยากได้สวัสดิการที่ครอบคลุม บำนาญ เงินเด็กเล็ก หรือ 'Gap Year' อันนี้เป็นสิ่งที่เราอยากได้ และคาดหวัง 

'อิง' ไชยวัฒน์ วรรณโคตร

อิง ระบุต่อว่า อีกประเด็นเป็นเรื่องของ 'อำนาจ' สิทธิในการรวมตัว ในฐานะฟรีแลนซ์หลายคนอาจมองว่าคนทำงานสร้างสรรค์แยกกันทำงาน แต่ว่าสุดท้ายแล้วกระบวนการผลิตของเราก็รวมกันทำงานอยู่ดี แม้จะทำแยกๆ เป็นชิ้น แต่เราอยู่ในไลน์การผลิตเดียวกันอยู่ดี ดังนั้น เรามีความต้องการที่จะรวมตัวเพื่อที่จะต่อรองกับคนที่จ้างงานเรา ไม่ว่าจะเป็นบริษัทหรือรายบุคคลที่จ้างงานเรา ประมาณ 2 ประเด็นที่เราอยากผลักดัน และเสนอต่อพรรคการเมืองต่างๆ 

ปัญหาฟรีแลนซ์กับการรวมตัวต่อรองนายจ้าง 

อิง เสริมถึงปัญหาการรวมตัวต่อรองของคนทำงานสร้างสรรค์ หรือฟรีแลนซ์ เพิ่มว่า แม้ว่าในรัฐธรรมนูญ 2560 จะระบุว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานในการรวมตัว แต่ว่าพอมาดูที่กฎหมายอาญา มาตรา 117 เป็นกฎหมายที่ร้ายแรงในสากล เนื่องจากเป็นกฎหมายที่ห้ามเชิญชวนการนัดหยุดงาน และถ้าใครมาร่วมก็ผิดคดีอาญา นั่นหมายความว่าเราไม่สามารถใช้เครื่องมือนัดหยุดงาน และการต่อรองเราจะไม่มีประสิทธิภาพ 

อิง ระบุต่อว่า ขณะที่ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ระบุว่าคุณต้องเป็นพนักงานโรงงานเดียวกันเท่านั้นถึงจะรวมตัวกันได้ แต่ว่าฟรีแลนซ์นี้รับงานเป็นรายชิ้น รับงานกับใครก็ไม่ทราบ นายจ้างเปลี่ยนทุกวัน เพราะฉะนั้น เราไม่สามารถรวมตัวผ่านกฎหมายของรัฐไทยได้เลย 

สมาชิก CUT กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปลายปีที่แล้ว (2565) ในสังคมไทยคนทำงานสร้างสรรค์มีความพยายามในการรวมตัวเป็นลักษณะสมาคม และเป็นการรวมตัวในรูปแบบเป็นสหภาพแรงงานสากล  เพื่อมารวมตัวพูดถึงปัญหาของกันและกัน ซึ่งนี่นับเป็นความสำเร็จ

"ตอนนี้ผมว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ประการแรกคือ เริ่มมีคนพูดถึงปัญหา อันนี้ผมคิดว่าเป็นชัยชนะแรก ประการที่ 2 เริ่มมีคนหาทางออก และทางออกนั้นคือการรวมตัวรูปแบบสหภาพแรงงานแบบสากล ดังนั้น ผมคิดว่าอนาคตไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะเป็นยังไง แต่ว่าปัจจุบันถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง" สมาชิก CUT กล่าว

รับรองอนุสัญญา ‘ILO’ ทุกฉบับ-ปลดล็อกกฎหมายรวมตัวแรงงาน

ผู้ร่วมก่อตั้ง CUT เผยว่า เขาอยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ รับรองอนุสัญญาของ ILO ทุกฉบับ รวมถึงแก้กฎหมายการรวมตัวของแรงงาน เพื่อนำไปสู่การต่อรองของรัฐและทุนในอนาคต  

"เราทุกคนคือแรงงานไม่ว่าจะทำงานอะไร อาชีพอะไร เราทุกคนคือแรงงาน ไม่ว่าคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไหม ในเมื่อเราทุกคนคือแรงงาน แรงงานต้องได้รับสิทธิการคุ้มครองแรงงานตามหลักสากล ตามหลักองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แรงงานต้องมีอำนาจในการต่อรองผ่านระบบสหภาพแรงงาน ผ่านการรวมตัว

"ดังนั้น ผมคิดว่ารัฐบาลใหม่ที่จะมา ประการแรกต้องรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ให้ครบทุกฉบับ ประการที่สองคือแก้กฎหมายให้พวกเราปลกล็อกสิทธิในการรวมตัว ให้พวกเราสามารถรวมตัวเพื่อไปเจรจาต่อรอง เพื่อไปต่อสู้กับรัฐและทุนได้ ผมคิดว่าเรื่องสวัสดิการต่างๆ จะตามมาทีหลัง หลังจากเรามีอำนาจในการรวมตัวแล้ว แต่เรื่องพวกนี้เราก็ต้องเรียกร้องเหมือนกัน เพราะฉะนั้น ข้อเรียกร้องที่มีอยู่อยากให้รัฐบาลใหม่รับให้หมด" อิง กล่าวทิ้งท้าย

สมาพันธ์แพทย์ฯ ฝากถึงรัฐบาลหน้า ดูแลสุขภาพประชาชนให้ดีขึ้น 

ชุตินาถ ชินอุดมพร และณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร สองสมาชิกสมาพันธ์แพทย์ผู้ปฏิบัติงาน ก่อนหน้านี้สมาพันธ์ เคยออกมาเรียกร้องเรื่องการลดเวลาการทำงานของแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข มาแล้ว เนื่องจากมีรายงานว่า แพทย์และพยาบาลต้องทำงานสัปดาห์ละ 80-120 ชั่วโมง ขณะที่แรงงานปกติทำงานเพียง 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น 

(ซ้าย) ชุตินาถ ชินอุดมพร และ (ขวา) ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร

ชุตินาถ กล่าวว่า เธออยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ช่วยดูแลเรื่องคนไข้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ เนื่องจากการทำงานของแพทย์ที่สูง ปัจจัยหนึ่งมาจากสุขภาพของประชาชนที่ยังไม่ดี และเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ เช่น การจราจรทำยังไงให้ปลอดภัย ทำยังไงให้อากาศบริสุทธิ์ ให้น้ำดื่มได้ทุกที่ไม่ใช่ดื่มแล้วเป็นนิ่ว หรือโรคไตเรื้อรัง ซึ่งเรื่องนี้ต้องเป็นการร่วมมือกันหลายองค์หลายกระทรวง 

"อยากจะเห็นสิ่งแรกคือ อยากจะเห็นการทำงานของกระทรวงที่ทำเพื่อประชาชนจริงๆ และก็ทำงานร่วมกัน ไม่ได้ทำงานต่างคนต่างทำ อย่างที่ผ่านๆ มาที่เราเห็นเรื่อง PM 2.5 ก็หาคนรับผิดชอบไม่ได้ว่า ตกลงกระทรวงหลักที่จะต้องดูแลเรื่องนี้เป็นใคร ไม่มีการจัดการอะไรจริงจัง มันก็เลยกลายเป็นว่าผลลัพธ์มันก็เลยตกอยู่ที่ประชาชน" ชุตินาถ กล่าว

ณัฐ กล่าวเสริมว่า เขาอยากให้รัฐบาลมองเรื่องการสร้างเมืองที่ดี ที่ทำให้คนอยากเดิน อยากออกกำลังกาย อย่างมีสวนใกล้บ้าน เราก็อยากจะออกไปวิ่งและพบปะผู้คนมากกว่า ถ้าได้ออกกำลังกาย ก็จะทำให้หัวใจดีขึ้น ไม่เป็นโรคเบาหวาน ถ้าเรามีอาหารสุขภาพดี ราคาถูก ก็จะช่วยการลดการเป็นโรคหัวใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่สาธารณสุขแบกไว้ได้คนเดียว มันต้องการทุกอย่างทุกภาคส่วน สุขภาพของประชาชนมันเป็นเหมือนตัวสะท้อนของการทำงาน ความร่วมมือกันของประเทศ สุดท้ายมันจะออกมาที่ความแข็งแรง และสุขภาพของประชาชนข้างใน 

ชุตินาถ ระบุต่อว่า เธออยากฝากถึงรัฐบาลช่วยให้สิทธิการรักษาของคนไทยดีเท่าเทียมกัน   อย่างที่ทราบว่าตอนนี้คนไทยมีสิทธิการรักษาหลายสิทธิ อาทิ สิทธิข้าราชการ สิทธิประกันสังคม สิทธิ 30 บาท และยังมีสิทธิย่อยอื่นๆ  กลุ่มข้าราชการจะดีที่สุด แต่จะเป็นไปได้ไหมที่เราอาจจะหาทางร่วมมือกันให้สิทธิการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเท่าเทียมกัน

ชุตินาถ กล่าวต่อว่า สมมติว่าทั้ง 2 อย่างนี้ดีและประชาชนเข้าถึงเรื่องของความรู้และความเข้าใจในการดูแลตัวเองและการดูแลเบื้องต้นได้ สุดท้ายเชื่อว่าภาระงานของแพทย์ และพยาบาล จะเบาลง และพอเบาลง มันจะได้ไปโฟกัส กับคนที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ

ดึงแพทย์ให้อยู่ในระบบ

ณัฐ ระบุว่า  ถ้าเกิดให้คนไข้เข้ามารักษาได้แล้ว ก็จะเป็นเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์ ถ้าเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ น่าจะต้องการแพทย์จำนวนมหาศาลในการดูแลผู้ป่วยในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา และอื่นๆ ระบบพวกนี้ ทั้งสภาพการทำงาน และค่าตอบแทน มันไม่ค่อยมีแรงจูงใจให้คนอยู่ในระบบเพื่อให้รับใช้ประชาชนต่อไปได้เลย ยกตัวอย่างหมอเรียนจบ ไปทำงานเกิน 80-100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ 

ณัฐ ระบุต่อว่า จึงเป็นที่มาที่ทำให้สมาพันธ์ฯ พยายามรณรงค์ควบคุมชั่วโมงการทำงานของแพทย์ เพื่อให้คนอยู่ในระบบมากขึ้น ของพยาบาลตอนนี้มีปัญหาเนื่องจากค่าตอบแทนน้อยเมื่อเทียบกับเวรที่ต้องอยู่ นี่ยังไม่นับของเวรเปล หรือนักเทคนิครังสี เภสัชกร ถ้าเราไม่สามารถดึงพวกเขาเข้ามาในระบบ เพื่อที่จะช่วยรักษาและดูแลประชาชนในอนาคต ต่อให้มีสิทธิการรักษาก็ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ เพราะไม่มีคนดูแล ดังนั้น การทำงานต้องบูรณาการทั้งระบบ เพื่อที่จะดูแลให้ประชาชนให้มีสุขภาพที่ดี และบุคลากรทางสาธารณสุขเองมีความสุขที่จะได้ดูแลประชาชน และอยู่นานๆ 

ชุตินาถ ระบุถึงความคืบหน้าของข้อเสนอเรื่องการลดชั่วโมงการทำงานของแพทย์และพยาบาลว่า ส่วนตัวไม่มีความกังวล เพราะว่าข้อเสนอเข้าสู่ชั้นกรรมาธิการแล้ว และรัฐบาลใหม่สามารถหยิบมาพิจารณาใหม่เมื่อไรก็ได้ ทีนี้ก็ต้องจับตาดูกันต่อว่ากระทรวงสาธารณสุขจะนำข้อเสนอนี้ไปแก้ไขปัญหาอย่างไรบ้าง สธ.เคยกล่าวว่าจะแก้ตามความด่วน โรงพยาบาลไหนแพทย์ทำงานเกิน 100-120 ชม. ก็ทำก่อน แก้ให้ได้ภายใน 1-3 เดือน ก่อนหน้านี้เธอพยายามสอบถามเหมือนกัน แต่ยังไม่ได้เรื่องรายละเอียดความคืบหน้า 

ข้อเสนอเป็นไปได้ ต้องมีรัฐบาลบนฐานประชาธิปไตย

ชุตินาถ ระบุต่อว่า เธอรู้สึกว่ามีเรื่องดีคือตอนนี้พรรคการเมืองเอาปัญหาการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ และค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ไปคุยกันเยอะขึ้น อย่างพรรคก้าวไกล เอาเรื่องนี้มาเป็นนโยบาย และพรรคเพื่อไทย ระบุว่าจะสร้างระบบเรื่องการติดตามการทำงานของแพทย์ เพื่อดูแลเรื่องการดูแลความผิดพลาดจากการดูแลรักษาที่จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องที่ดี หากเราเริ่มต้นเรื่องนี้ได้ 

อย่างไรก็ตาม ชุตินาถ ระบุว่าข้อเสนอที่พูดมาจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากรัฐบาลใหม่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตยที่เอาประโยชน์ของคนไทยเป็นที่ตั้ง 

"คิดว่าทั้งหมดที่พูดมา มันจะไม่เกิดเลย ถ้ามันไม่อยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย การคำนึงสุขภาพของคนในประเทศ ซึ่งอันนี้คือการเอาประชาชนมาเป็นที่ตั้ง และก็เป็นวางแผนนโยบายตอบสนองความต้องการของคนในประเทศจริงๆ ก็อยากให้รัฐบาลใหม่เอาประโยชน์ของคนในประเทศไทยเป็นหลัก" ชุตินาถ ทิ้งท้าย

ลดค่าทำ VISA ช่วยแรงงานข้ามชาติ

สุรัช กีรี จากกลุ่ม Bright Future ได้ออกมาร่วมกิจกรรมวันเมย์เดย์ เดินขบวนจากราชประสงค์ถึงแยกปทุมวัน โดยสุรัช อยากบอกว่า ประเทศไทยกับเผด็จการไทยมา 8 ปี มันไม่โอเค และขอให้พอเถอะ เขาอยากให้ประเทศไทยเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่รัฐบาลเผด็จการ เพราะว่าถ้ารัฐบาลเป็นประชาธิปไตยสิทธิต่างๆ แรงงานข้ามชาติจะได้ได้ไปด้วยโดยปริยาย 

สุรัช กีรี

สุรัช กล่าวถึงปัญหาของแรงงานข้ามชาติว่า ที่ผ่านมาพวกเขาต้องประสบปัญหาเรื่องการทำพาสสปอร์ต หรือ VISA ที่มีราคาแพง ซึ่งต้องจ่ายถึง 2 หมื่นกว่าบาท บางคนอาจจะเสีย 3 หมื่นบาท แม้ว่าราคาจริงๆ ของรัฐบาลไม่แพงอยู่ที่ 7-8 พันบาท แต่ที่แพง เพราะว่าเป็นราคาจ้างนายหน้าคนไทย เพราะคนพม่าพูดไทยไม่ได้ ก็ต้องมาใช้บริการนายหน้าช่วยทำเอกสาร เลยเป็นช่องโหว่ให้ถูกขูดรีด 

สุรัช มองว่า เป็นไปได้เขาอยากให้รัฐบาลไทยให้ทำบัตรทำงานสีชมพูแค่ใบเดียวก็น่าจะพอ เพื่อลดภาระการดำเนินงานของแรงงาน ส่วนเรื่องราคาคนพม่าไม่มีปัญหา เพราะว่าคนพม่าราคาไหนก็ราคานั้น พวกเขาไม่มีสิทธิ์อะไรอยู่แล้ว คนพม่าส่วนมากก็คือเรามาทำงาน มาเก็บเงินส่งกลับบ้าน

"เราก็อยากให้รัฐบาลในอนาคตที่เป็นประชาธิปไตยดูแลแรงงานหน่อย เพราะว่าแรงงานคือส่วนสำคัญของประเทศ อย่าลืมจุดนี้ และมีนโยบายอะไร มันต้องมีนโยบายแรงงานก่อนอันดับแรก เพราะว่าเราสร้างกรุงเทพฯ ให้พวกคุณ พวกคุณต้องดูแลพวกผมบ้าง" สุรัช กล่าว 

สำหรับจุดยืนของรัฐบาลใหม่ของไทยต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับเมียนมา สุรัช ระบุว่า เขาไม่ห่วง เพราะว่าถ้าไทยมีรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตย มินอ่องหล่าย ตายแน่นอน 

ด้านวันดี แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา วันนี้มาเป็นการ์ดอาสาให้แรงงานข้ามชาติที่มาร่วมทำกิจกรรมวันแรงงานสากล ระบุว่า เขาอยากให้ประเทศไทยลดค่าทำ VISA ให้ชาวพม่าหน่อย อยากให้เหลือสัก 15,000 บาท ก็ยังดี 

วันดี กล่าวต่อว่า หากมีการจับกุมชาวพม่าที่เข้ามาทำงานผิดกฎหมายในไทย เขาอยากให้ทางการไทยพิจารณาปรับ และช่วยอำนวยความสะดวกให้ชาวเมียนมาทำใบอนุญาตทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย อย่าส่งกลับประเทศ เพราะว่าตอนนี้ประเทศเมียนมาเป็นเผด็จการ และอยู่ในวิกฤตการเมือง เขายอมตายในประเทศไทยดีกว่า

วันดี

'ไรเดอร์' หวังเป็นแรงงานในระบบประกันสังคม ม.33 

แหม่ม ไรเดอร์วัย 54 ปี และขับไรเดอร์มานาน 5 ปี ระบุว่า สถานการณ์ปัญหาของไรเดอร์ คือเสี่ยงประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน สวัสดิการไม่มีคุ้มครอง เงินทดแทนไม่มี กองทุนชดเชยรายได้ก็ไม่มี และยังมาเจอค่ารอบที่ลดลงตามอำเภอใจจากบริษัทแพลตฟอร์ม

ไรเดอร์หญิง สะท้อนด้วยว่า ไรเดอร์เป็นอาชีพที่เสี่ยงอุบัติเหตุทางจราจรอย่างมาก เช้าออกไปทำงาน เย็นไม่ทราบว่าจะได้กลับมารึเปล่า เพราะอาจจะประสบอุบัติเหตุระหว่างทาง ก็ไม่ได้รับการเยียวยา บางคนเป็นหัวหน้าครอบครัว ลูกๆ ที่อยู่ข้างหลังไม่ทราบว่าใครจะรับผิดชอบ ไม่มีสวัสดิการคุ้มครอง หรือเงินชดเชยระหว่างขาดรายได้ 

แหม่ม ไรเดอร์

แหม่ม อยากเรียกร้องให้ไรเดอร์เป็นแรงงานในระบบ มาตรา 33 ของประกันสังคม ไม่ใช่มาตรา 40 เพราะว่ามาตรา 33 ยังได้ค่าชดเชยเวลาขาดรายได้ ถ้าฝากได้อยากจะฝากรัฐบาลสมัยหน้าให้มองเห็นไรเดอร์ด้วย 

"อย่ารับปากชุ่ยๆ เพราะเรามองเขาอยู่ เรามีความหวังกับเขา เพราะเขาให้ความหวังเรามา จะได้เป็นฝ่ายค้านก็แล้วแต่ แค่บอกว่าจะผลักดันไรเดอร์เข้าสู่กระบวนการจ้างงานตามกฎหมายเท่านี้ก็ชื่นใจแล้ว แต่ก็ไม่ทราบว่าจะเป็นยังไงก็ต้องรอดูกันไป" แหม่ม กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net