Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน ออกบทวิเคราะห์สังคมและการเมืองไทยต่อสถานการณ์สังคมและการเมืองไทยในเวลานี้กำลังตกอยู่ในสถานการณ์การปฏิวัติเงียบ เพื่อสืบทอดอำนาจ

6 ต.ค. 2566 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน เผยแพร่ บทวิเคราะห์สังคมและการเมืองไทยต่อสถานการณ์สังคมและการเมืองไทยในเวลานี้กำลังตกอยู่ในสถานการณ์การปฏิวัติเงียบ เพื่อสืบทอดอำนาจ โดยระบุว่านับตั้งแต่รัฐประหาร 2557 เรื่อยมา  รัฐไทยโดยการนำของเผด็จการทหาร คสช. ที่ใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของบ้านเมืองเพื่อหวังสืบทอดอำนาจระยะยาว ล่วงเลยมาจนถึงการนำของรัฐบาลประยุทธ์หลังเลือกตั้งปี 2562  ไม่สามารถยึดกุมพื้นที่ทางความคิดของผู้คนในสังคมได้อย่างเป็นปกติ  พวกเขาได้แต่อำนาจบังคับโดยกำลังทหาร  ตำรวจ  ระบบราชการ  กฎหมาย  และรวบอำนาจบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการเข้าไว้ด้วยกันเพื่อรับใช้การสืบทอดอำนาจ  แต่อำนาจบังคับนั้นก็ไม่สามารถบังคับให้ประชาชนเกิดความสวามิภักดิ์หรือยินยอมพร้อมใจได้  จึงส่งผลทำให้เกิดความบกพร่องต่ออำนาจนำที่ซึ่งอำนาจทางอุดมการณ์ ความคิดและวัฒนธรรมไม่สามารถครอบงำผู้คนในสังคมได้อย่างเป็นปกติ  เกิดการต่อต้านต่ออำนาจบังคับด้วยปฏิบัติการที่ทะลุเพดานจากการชุมนุมบนท้องถนนตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมาด้วยข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอสูงสุดต่อสังคมให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  จนทำให้อำนาจนำย้ายข้างมาอยู่ฝั่งประชาชน  ซึ่งดอกผลของการชุมนุมบนท้องถนนตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมาได้วางรากฐานที่แน่นหนาแก่สังคมไทยจนทำให้รัฐไม่สามารถกอบกู้ศรัทธาและฟื้นคืนอำนาจนำกลับไปได้โดยง่าย 

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงทำให้อำนาจรัฐไม่สมบูรณ์  ได้แต่อำนาจบังคับ  แต่ไม่ได้อำนาจนำทางอุดมการณ์ ความคิดและวัฒนธรรม  จนเกิดเป็นวิกฤติการณ์ของอำนาจนำที่ประชาชนสูญเสียศรัทธาต่อรัฐ  รัฐจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อกอบกู้วิกฤตินี้ให้ได้  ทั้งพยายามช่วงชิงพื้นที่ทางความคิดของมวลชนกลับคืนมาให้ได้  เพื่อลดทอน  สกัด  ขัดขวาง  ทำลายพลังของประชาชน  และทั้งพยายามรักษาการสืบทอดอำนาจเอาไว้ให้ได้ด้วยการปรับแต่งโครงสร้างอำนาจของรัฐเพียงเล็กน้อยเท่าที่พวกเขาพอยอมรับได้  เพื่อให้อำนาจนำย้ายกลับไปอยู่ฝั่งพวกเขามากขึ้น  รูปธรรมที่เห็นได้ชัด  ก็คือ  การเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลของเพื่อไทยโดยผสมพันธุ์กับพรรคสองลุง  และผลักก้าวไกลไปเป็นฝ่ายค้าน

เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งของการปฏิวัติเงียบที่ส่งผลให้เพื่อไทยขึ้นมาเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลแทนก้าวไกล  ก็คือ  การพิพากษาคดี 112 จำนวนมากในปีนี้  ดังนั้น  พวกเขาต้องคิดว่าควรมีหน้าตารัฐบาลแบบใดในปีที่มีการพิพากษาคดี 112 จำนวนมาก

และรวมถึงเรื่องสำคัญอื่น ๆ ด้วย  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  การแก้ไข ม.112  การยกเลิกเกณฑ์ทหาร  ลดงบประมาณกองทัพ  ต่อต้านทุนผูกขาด  สร้างรัฐ/สังคมสวัสดิการ  ฯลฯ  ที่พวกเขายอมให้ก้าวไกลขึ้นมาเป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้  

ประชาชนอย่างเราจึงต้องใคร่ครวญให้หนัก  ปักหลักให้มั่น  ด้วยการยึดกุมความคิดไปที่จุดสูงสุดที่ทำให้อำนาจนำเปลี่ยนข้างมาอยู่ฝั่งประชาชนเอาไว้ให้ได้  นั่นก็คือ  ข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ (เหตุสำคัญที่สุดที่อำนาจนำย้ายข้างมาอยู่ฝั่งประชาชนคือข้อเรียกร้องหรือข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์)

เพราะฉะนั้น  หากว่าสถานการณ์ในเวลานี้ของรัฐคือการปฏิวัติเงียบ  ดังนั้น  สถานการณ์ของเราคือการต่อสู้ที่สืบเนื่องมา  หรือต่อต้านการปฏิวัติเงียบ  มิใช่ยินดีปรีดากับพรรคเพื่อไทยที่ได้เป็นผู้นำจัดตั้งรัฐบาล  เหตุเพราะว่า  อำนาจนำของฝ่ายประชาชนกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤติ

หรือถ้ามองด้านของรัฐ  พวกเขาทำการปฏิวัติเงียบ  โดยสืบทอดอำนาจจากประยุทธ์มาเศรษฐา  ถ้ามองที่ด้านของเรา, ประชาชน  เราสืบทอดอะไร ?

หรือในรัฐแบบประยุทธ์  เพดานจิตสำนึก อุดมการณ์ คุณค่า วัฒนธรรมของสังคมและการเมืองของประชาชนทะลุทะลวงถึงขั้นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์  ในรัฐแบบเศรษฐา  เพดานจิตสำนึก  อุดมการณ์  คุณค่า  วัฒนธรรมของสังคมและการเมืองของประชาชนควรเป็นอะไร ?

ซึ่งฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยว่ารัฐบาลเศรษฐาเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจ  หรือส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์  เพราะเห็นว่าเป็นกล่าวหาที่เร็วไป  และรัฐบาลเศรษฐาไม่ได้เป็นฝ่ายสร้างระบอบประยุทธ์  และไม่ได้มีส่วนร่วมสร้างกลไกและเครื่องมือต่าง ๆ ของระบอบประยุทธ์ขึ้นมา  จึงควรให้เวลารัฐบาลเศรษฐาทำงานมากกว่านี้  แต่ข้อเท็จจริงก็เห็นอยู่อย่างชัดแจ้งว่ารัฐบาลเศรษฐาแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยไม่แก้ไขทุกหมวดทุกมาตรา  ซึ่งสวนทางกับการร่วมลงชื่อกว่าสองแสนรายชื่อของภาคประชาชนที่รณรงค์ให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและ สสร. ต้องได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด  ดังนั้น  กลไกและเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจหรือเป็นส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์ยังปรากฎอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการแก้ไขใหม่ในอนาคตอย่างแน่นอน  นั่นก็หมายความว่าการถูกกล่าวหาว่าเป็นรัฐบาลสืบทอดอำนาจหรือเป็นส่วนต่อขยายของระบอบประยุทธ์จึงเป็นการกล่าวหาที่ไม่เกินเลยไปจากข้อเท็จจริง

สภาวการณ์ของบ้านเมืองในเวลานี้  ทำให้กลุ่ม/องค์กร/ขบวนประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ  โดยเฉพาะภาคอีสาน  ต้องปะทะกับภัยคุกคามสามด้าน  ดังนี้

หนึ่ง  ด้านประชาธิปไตย  หรือโครงสร้างทางการเมือง  หรือระบบการปกครอง  ที่ปัญหาทั้งมวลของด้านนี้ติดขัดอยู่ที่รัฐธรรมนูญ 2560  ซึ่งพี่น้องประชาชนที่ร่วมลงชื่อกว่าสองแสนรายชื่อมีความปรารถนาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับและ สสร. ต้องได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด  แต่รัฐบาลเศรษฐากลับแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ 2560 โดยไม่แก้ไขทุกหมวดทุกมาตราแทน

สอง  ด้านการพัฒนา  ที่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่  นโยบายและกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมทั้งหลายที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศและคุณภาพชีวิตของประชาชน  ซึ่งสานต่อมาจากรัฐบาลประยุทธ์  กำลังถูกผลักดันอย่างเร่งรัดเข้ามาในพื้นที่  อาทิเช่น  โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล  การแย่งยึดที่ดินทำกินของประชาชนเอาไปให้นายทุนสัมปทานปลูกป่าค้าคาร์บอนเครดิตตามนโยบายทวงคืนผืนป่า  การเพิ่มโรงงานน้ำตาลทรายและโรงไฟฟ้าชีวมวลใหม่  ไม่ต่ำกว่า 25 โรงงาน  และขยายกำลังการผลิตโรงงานเดิม  เพื่อต่อยอดไปที่อุตสาหกรรมพลังงานและชีวภาพตามนโยบายเศรษฐกิจชีวภาพ-หมุนเวียน-สีเขียว หรือ BCG  ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวจะต้องถูกเปลี่ยนเป็นปลูกอ้อยไม่ต่ำกว่า 6 ล้านไร่  เขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดชายแดนที่เป็นเมืองคู่แฝดกับประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง  เป็นต้น    

สาม  ด้านอำนาจนำ  ที่พวกมือไม้  กลไกหรือส่วนขยายของรัฐ  เช่น  ประชาสังคม  กำลังทำงานเพื่อแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดของฝ่ายประชาชน  เพื่อรักษา ปกป้อง ตรึงและขยายพื้นที่ทางความคิดของรัฐเอาไว้ให้มั่นคงแข็งแรง  ด้วยความพยายามที่จะมีกฎหมายส่งเสริมประชาสังคมเพื่อให้รัฐสนับสนุนทรัพยากรทางการเงินและอื่น ๆ  ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการควบคุมและทำลายการรวมกลุ่มของประชาชนอย่างรุนแรง  และจะส่งผลกระทบเป็นทอด ๆ ไปที่สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม  และสิทธิและเสรีภาพการแสดงออก/แสดงความคิดเห็น  เนื่องจากกฎหมายชุมนุมสาธารณะพยายามควบคุม กำกับและจำกัดสิทธิและเสรีภาพการชุมนุม  การแสดงออก/แสดงความคิดเห็นและการรวมกลุ่มเอาไว้ในระดับหนึ่ง  แต่ยังไม่เป็นที่พอใจของรัฐ  ดังนั้น  ถ้ากฎหมายส่งเสริมประชาสังคมเกิดขึ้นได้จริง  ก็จะทำให้สิทธิและเสรีภาพทั้งสามด้านถูกควบคุม กำกับและจำกัดอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น

ในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาที่พี่น้องประชาชนสามารถทำสงครามแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดกับรัฐได้อย่างมีพลัง  จนทำให้อำนาจนำทางอุดมการณ์ ความคิดและวัฒนธรรมของสังคมย้ายข้างจากการยึดกุมและครอบงำของรัฐมาอยู่ฝั่งประชาชนได้  ก็ด้วยการที่สิทธิและเสรีภาพทั้งสามด้านยังไม่ถูกทำลายไปจากการควบคุม กำกับและจำกัดจากรัฐได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด  ซึ่งสิทธิและเสรีภาพทั้งสามด้านนี้ล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน  ขาดอันใดอันหนึ่งมิได้

ดังนั้น  สิ่งสำคัญในเวลานี้ที่กลุ่ม/องค์กร/ขบวนประชาชนควรทำ  ก็คือ  สร้างการเคลื่อนไหวขึ้นมาให้ได้โดยเร็ว  เพื่อต่อต้านการปฏิวัติเงียบ  และเพื่อรักษาอำนาจนำของฝ่ายประชาชนที่เป็นดอกผลของการชุมนุมตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมาให้กระเตื้องขึ้น  ทั้งการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตย  หรือโครงสร้างทางการเมือง  หรือระบบการปกครอง  เช่น  การเรียกร้องให้เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ  สสร. ต้องได้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด  เป็นต้น  และการชุมนุมที่ประสบปัญหาจากโครงการพัฒนา นโยบายหรือกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ  เช่น  การชุมนุมของพีมูฟ  สมัชชาคนจน  เป็นต้น  ล้วนสำคัญทั้งสิ้นที่จะหล่อเลี้ยงหรือรักษาอำนาจนำของฝ่ายประชาชนที่เป็นดอกผลของการชุมนุมตลอดสามสี่ปีที่ผ่านมาให้กระเตื้องขึ้นและดำรงอยู่สืบไปอย่างยาวนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net