Skip to main content
sharethis

'วิรไท-ธาริษา' 2 อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติร่วม นักวิชาการ-อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ ลงชื่อเรียกร้องให้ยกเลิก นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ชี้ ได้ไม่คุ้มเสีย - 'วิรไท' โพสต์เฟสบุ๊คระบุการบริหารบ้านเมืองด้วยความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้มีอำนาจรัฐ  - ‘เศรษฐา’ ระบุพร้อมรับฟัง แต่ยืนยันไม่ทบทวนนโยบาย มีเสียงจากประชาชนถามว่าเมื่อไหร่จะมาเสียที

6 ต.ค. 2566 หลายสื่อ อาทิ PPTV ผู้จัดการออนไลน์ และ ประชาชาติธุรกิจ รายงานตรงกันว่ามีเอกสารแถลงการณ์ที่ระบุว่าเป็นความเห็นของ 99 นักวิชาการและนักเศรษฐศาสตร์ ประกอบด้วยอาจารย์คณะเศรษศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมถึง ดร.วิรไท สันติประภพ และนางธาริษา วัฒนเกส สองอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยนางอัจนา ไวความดี และนายบัณฑิต นิจถาวร รองผู้ว่าการ ธปท. รวมทั้งนายนิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) นายวรากรณ์ สามโกเศศ นายพรายพล คุ้มทรัพย์ เป็นต้น ที่ออกมาแสดงความเห็นให้ “ยกเลิก” นโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ที่มองนโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย” ด้วย 8 เหตุผล

โดยเอกสารระบุว่าเป็นแถลงการณ์ของ 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ ดังนี้

1) เศรษฐกิจไทยกําลังค่อย ๆ ฟื้นตัวตามศักยภาพจากวิกฤตโรคระบาด และเงินเฟ้อในช่วงปี 2562-2565 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้คาดการณ์ว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 2.8 ในปีนี้ และร้อยละ 4.4 ในปีหน้า จึงไม่มีความจําเป็นที่รัฐจะต้องใช้จ่ายเงินจํานวนมากเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เพราะที่ผ่านมาการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับการส่งออก

นอกจากนี้การกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศยังอาจจะเป็นปัจจัยให้เกิดเงินเฟ้อสูงขึ้นมาอีก หลังจากที่เงินเฟ้อได้ลดลงจากร้อยละ 6.1 มาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ในปีนี้ ท่ามกลางราคาพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ในระยะหลังการกระตุ้นการบริโภคในช่วงเวลานี้จะทำใหเงินเฟ้อคาดการณ์ (inflation expectation) สูงขึ้น และอาจนําไปสู่สภาวะที่ต้องขึ้นดอกเบี้ยในที่สุด

เงินเฟ้อหรือสภาวะที่ข้าวของราคาแพงทั่วไปอันจะเกิดจากนโยบายนี้ จะทำให้เงินรายได้และเงินในกระเป๋าของประชาชนทุกคนมีค่าลดลง หากรวมมูลค่าที่ลดลงของประชาชนทุกคนอาจจะมีมูลค่าสูงกว่า 560,000
ล้านบาทก็ได้

2) เงินงบประมาณของรัฐที่มีจำกัดย่อมมีค่าเสียโอกาสเสมอ เงินจำนวนมากถึงประมาณนี้ 560,000 ล้านบาทนี้ ทำให้รัฐเสียโอกาสที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในการสร้าง digital infrastructure หรือในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่จะสร้างศักยภาพในการเจริญเติบโตในระยะยาวแทนการใช้เงินเพื่อการกระตุ้นการบริโภคระยะสั้น ๆ ซึ่งไม่สมเหตุสมผลต่อการสร้างภาระหนี้สาธารณะให้เป็นภาระแก่คนรุ่นต่อไป

3) การกระตุ้นเศรษฐกิจให้รายได้ประชาชาติ (GDP) ขยายตัวโดยรัฐแจกเงินจำนวน 560,000 ล้านบาท เข้าไปในระบบเป็นการคาดหวังที่เกินจริง เพราะปัจจุบันมีข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยที่ทําให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าตัวทวีคูณทางการคลัง (fiscal multiplier) ที่เกิดจากการใช้จ่ายของรัฐในลักษณะเงินโอนหรือการแจกเงินมีค่าน้อยกว่า 1 ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับตัวทวีคูณของการใช้จ่ายของรัฐโดยตรง การที่ผู้กําหนดนโยบายหวังว่านโยบายนี้จะกระตุ้นเศรษฐกิจจึงเป็นสิ่งที่เลื่อนลอย

4) เราอยู่ในวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565 เพราะเงินเฟ้อสูงขึ้นมาก การก่อหนี้จำนวนมาก ไม่ว่ารัฐบาลจะออกพันธบัตรหรือกู้เงินจากรัฐวิสาหกิจหรือกู้สถาบันการเงินของภาครัฐ ก็ล้วนแต่จะทำให้รัฐบาลและคนทั้งประเทศต้องเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทั้งสิ้น หนี้สาธารณะของรัฐที่ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 10.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 61.6 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) จะต้องมีภาระที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้นในยามที่ต้องจ่ายคืนหรือกู้ใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อภาระเงินงบประมาณของรัฐในแต่ละปี นี่ยังไม่นับจำนวนเงินค่าดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากการแจกเงิน digital คนละ 10,000 บาทนี้ด้วย

5) ในช่วงที่โลกเผชิญกับวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลแทบทุกประเทศต่างก็จำเป็นที่จะต้องมีการขาดดุลการคลังและสร้างหนี้จำนวนมากเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และรายจ่ายทางด้านสาธารณสุข แต่หลังจากวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจถดถอยผ่านไป หลายประเทศได้แสดงเจตนารมย์ที่ฉลาดรอบคอบ โดยลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะลง (fiscal consolidation)

ทั้งนี้เพื่อสร้าง “ที่ว่างทางการคลัง” (fiscal space) ไว้รองรับวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาทนี้ ดูจะสวนทางกับสิ่งที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่มีอัตราส่วนรายรับจากภาษีเพียงร้อยละ 13.7 ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ๆ มาก

6) การแจกเงินคนละ 10,000 บาท ให้ทุกคนที่อายุเกิน 16 ปี เป็นนโยบายที่สร้างความไม่เป็นธรรมในสังคมอย่างยิ่ง เศรษฐีและมหาเศรษฐีที่อายุเกิน 16 ปี ล้วนได้รับเงินช่วยเหลือ ทั้ง ๆ ที่ไม่มีความจำเป็น

7) สำหรับประเทศที่เข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นประเทศไทย การเตรียมตัวทางด้านการคลังเป็นสิ่งจำเป็น ขณะที่จำนวนคนในวัยทำงานลดลง แต่สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ภาระการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการและสาธารณสุขจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้บริหารประเทศที่มองไกลจึงควรใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและรักษาวินัยและเสถียรภาพทางด้านการคลังอย่างเคร่งครัด

8) ระบบ blockchain ปกติจะต้องทำการตรวจสอบความถูกต้องของทุกธุรกรรม โดยผู้ใช้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ข้อดีคือทำให้ไม่สามารถฉ้อฉลข้อมูลได้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นจุดตายของระบบด้วย เพราะแต่ละธุรกรรมจะต้องใช้เวลาเฉลี่ยในการตรวจสอบประมาณ 1-1.5 ชั่วโมงต่อธุรกรรม และจะยิ่งใช้เวลามากขึ้นเมื่อจำนวนธุรกรรมและผู้ใช้เพิ่มขึ้น เวลาที่ใช้ก็จะยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่จะเอามาใช้กับระบบซื้อขายตามปกติ

ทั้งนี้ ยังไม่นับถึงความสิ้นเปลืองของเวลาและพลังงานในการทำการตรวจสอบข้อมูลของผู้ใช้ทุกคนด้วย หากรัฐบาลยังดึงดันจะแจกเงิน ก็ควรที่จะทำผ่านระบบเป๋าตังที่มีต้นทุนธุรกรรมที่ต่ำกว่า และประชาชนคุ้นเคยอยู่แล้วด้วยเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น บรรดานักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์จึงขอให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท” แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะประโยชน์ที่ประเทศจะได้น้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก

นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้มีการแจกเงินเพื่อกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอยในระยะสั้น ๆ โดยไม่คำนึงถึงวินัยและเสถียรภาพการคลังในระยะยาว และยังเป็นการสร้างพฤติกรรมการรอรับการแจกในระบบอุปถัมภ์อีกด้วย

'วิรไท' โพสต์เฟสบุ๊คระบุการบริหารบ้านเมืองด้วยความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้มีอำนาจรัฐ

นายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัว Veerathai Santiprabhob ระบุถึงโครงการ แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ระบุว่า 

การบริหารบ้านเมืองด้วยความรับผิดชอบเป็นหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้มีอำนาจรัฐ 

อาจารย์ป๋วยเคยกล่าวไว้ทำนองว่า

ถ้าแพทย์รักษาผู้ป่วยผิดพลาด อาจจะสร้างผลกระทบให้กับชีวิตของผู้ป่วยหนึ่งคนและครอบครัว

ถ้าวิศวกรสร้างตึก หรือสะพานผิดพลาด อาจจะหมายถึงชีวิตคนหลายสิบหรือหลายร้อยคนที่ใช้งาน

แต่ถ้านักเศรษฐศาสตร์ทำนโยบายเศรษฐกิจผิดพลาดแล้ว อาจจะกระทบต่อชีวิตของคนหลายสิบล้านคนทั้งประเทศ

วันนี้ ด้วยพลังของตลาดที่รู้ว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี แค่ผู้มีอำนาจรัฐเริ่มคิดจะทำนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่รับผิดชอบ ก็ส่งผลเสียต่อชีวิตคนได้ทั้งประเทศแล้ว ผ่านกลไกของตลาดเงินและตลาดทุน

เรามีตัวอย่างนโยบายภาครัฐจากอดีตหลายอันที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงสั้นๆ แต่สร้างความบิดเบือนให้กับกลไกตลาด และโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ สร้างภาระทางการคลังแบบได้ไม่คุ้มเสีย และส่งผลกระทบต่อผลิตภาพยาวนานไปอีกหลายปี ไม่ว่าจะเป็นโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด หรือโครงการรถคันแรก 

ถ้าเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยการทำนโยบายที่หวังผลต่อ GDP แค่ช่วงสั้นๆ ผลที่จะเกิดขึ้นกับฐานเสียงในการเลือกตั้งสี่ปีข้างหน้าอาจจะกลับทิศได้อีกด้วย ถึงเวลาใกล้เลือกตั้งรอบหน้าเศรษฐกิจที่โดนกระตุ้นด้วยยาโด๊บเงินดิจิตัลก็คงหมดพลังลงพอดี นอกจากนี้โครงการภาครัฐดีๆ อีกนับสิบนับร้อยโครงการที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนในวันนี้และวันหน้าอาจโดนถูกตัดงบประมาณลง

ผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดว่าประชาชนจำนวนมากต้องการการเปลี่ยนแปลง การปฏิรูป มากกว่านโยบายประชานิยม เชื่อว่าในอีกสี่ปีข้างหน้า กระแสเรียกร้องเรื่องการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปจะยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก ในขณะที่ทรัพยากรด้านการคลังจะยิ่งจำกัดมากขึ้น

นอกจากนี้ ถ้าผู้มีอำนาจรัฐเริ่มต้นบริหารประเทศด้วยนโยบายที่ไม่รับผิดชอบแล้ว ความน่าเชื่อถือจะไหลลงเร็ว ทั้งจากในและต่างประเทศ จะทำอะไรต่อไปก็จะยากไปหมด มีแต่ความไม่เชื่อมั่น ความแคลงใจกัน นโยบายที่จะสนับสนุนการปฏิรูปและการเปลี่ยนแปลงสำหรับอนาคตของประเทศจะยิ่งเกิดได้ยากมาก

โจทย์ในวันนี้น่าจะเป็นว่าจะช่วยกันหาทางลงให้กับนโยบายที่หาเสียงไว้แล้วแต่ไม่ควรทำได้อย่างไร มากกว่าที่จะเดินหน้าต่อทั้งที่รู้ว่าจะสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย

ขอบคุณ Nat Luengnaruemitchai ที่นำข้อมูลมาแสดงครับ

‘เศรษฐา’ ระบุพร้อมรับฟังแต่ยืนยันไม่ทบทวนนโยบาย มีประชาชนถามเยอะว่าเมื่อไหร่จะแจกด้วย

สำนักข่าวอิศรา รายงานว่าที่จังหวัดอุบลราชธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายวิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดิจิทัลวอลเลต ว่าถือเป็นความคิดเห็นซึ่งรัฐบาลก็ต้องฟัง แต่เรื่องนี้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ทั้งนี้ จะรับฟังความคิดเห็นจากทุกท่าน แต่ก็มีเสียงจากประชาชนที่ถามว่าเมื่อไหร่จะมาเสียที ซึ่งก็ต้องรับฟัง

เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะทบทวนไม่แจกทั้งหมด นายกฯ กล่าวทันทีว่า “ไม่ เป็นไปไม่ได้”

เมื่อถามย้ำว่าแต่ก็มีเสียงของอดีตที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย รวมถึงผู้มีเครดิตทางเศรษฐกิจออกมาคัดค้านเรื่องดังกล่าว นายเศรษฐากล่าวว่า คนที่มีเครดิตทางเศรษฐกิจเห็นด้วยก็มีเยอะ ต้องให้เกียรติทุกคน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net