Skip to main content
sharethis

กรีนพีซ ประเทศไทย ส่งสารถึงนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนกรอบท่าทีเจรจา COP28 ซึ่งเอื้ออุตสาหกรรมฟอสซิลและบรรษัทขนาดใหญ่ที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองเข้าแสวงกำไรจากการค้าคาร์บอน

6 ต.ค. 2566 นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทยกางป้ายผ้า “ผืนป่า ≠ คาร์บอนเครดิต หยุดฟอกเขียว” และฉายโปรเจคเตอร์ “หยุดใช้ผืนป่าแลกคาร์บอน Real Zero Not Net Zero” ส่งสารถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐบาลไทยในพิธีเปิดการประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทยครั้งที่ 2 (2nd Thailand Climate Action Conference) ซึ่งจัดโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนโดยอุตสาหกรรมฟอสซิลยักษ์ใหญ่ภายใต้เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย [1] ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกรอบท่าทีเจรจาในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 28 (COP28) ที่จะมีขึ้นช่วงปลายปี 2566 นี้ ที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) กรีนพีซ ประเทศไทยเห็นว่านโยบายสภาพภูมิอากาศของไทยยังคงขาดสมดุล ไม่ได้สัดส่วน โดยทุ่มทรัพยากรทางการเงินส่วนใหญ่ไปกับมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก(mitigation)  ให้ความสำคัญกับการรับมือปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (adaptation) น้อยมาก และแทบไม่พูดถึงความสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) [2] และเปิดช่องให้มีการฟอกเขียว (greenwashing) มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการชดเชยคาร์บอนภาคป่าไม้ (forest carbon offset)

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทยกล่าวว่า “การประชุมภาคีการขับเคลื่อนการปฎิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (Thailand Climate Action Conference) ซึ่งมีต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 คือรูปธรรมที่ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ได้ช่วงชิงนโยบายสภาพภูมิอากาศของไทยเพื่อผลประโยชน์ของตนไปแล้ว แม้ภาครัฐระบุว่าจะจัดทำข้อเสนอสู่ COP28 รวมถึงท่าทีของไทยเรื่องการเงินสีเขียว (green finance) แหล่งดูดซับคาร์บอน(Carbon Sink) และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) แต่ข้อเสนอเหล่านี้ย้อนแย้งกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ทั้งการแย่งยึดที่ดิน การทวงคืนผืนป่า และการจัดสรรที่ดินและป่าไม้จำนวนมหาศาลให้กับกลุ่มทุนเพื่อการค้าคาร์บอน และเปิดทางให้อุตสาหกรรมฟอสซิลผู้ก่อมลพิษยังสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป” 

ธารา กล่าวต่อไปว่า “โครงการชดเชยคาร์บอนที่แปลงธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าคือรูปแบบหนึ่งของการล่าอาณานิคมคาร์บอน(Carbon Colonialism) ซึ่งบรรษัทอุตสาหกรรมและกลุ่มชนชั้นนำทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศ เช่น เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย เป็นต้น ใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เช่น โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) และความช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขเพื่อกำหนดวิธีการรักษาที่ดินและป่าไม้ให้กับชุมชนท้องถิ่นที่ไร้อำนาจต่อรอง รวมถึงกลุ่มคนชายขอบและเปราะบางโดยอ้างว่าเป็นทางออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ”

ตามแผน Net Zero ของประเทศไทย [3] คาดว่าภายในปี 2608 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคพลังงาน(การผลิตไฟฟ้าและการคมนาคมขนส่ง) ภาคเกษตรกรรม กระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ ภาคของเสีย รวมกันเป็น 120 ล้านตัน ภาคที่ดินและป่าไม้ (landuse, landuse change, and forestry) จะต้องมีศักยภาพในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก 120 ล้านตัน จึงจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ พื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว 102.04 ล้านไร่ และ 32.65 ล้านไร่ตามลำดับ นั้นสามารถดูดกลับก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 100 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2564 ดังนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมาย net zero ในปี 2608 ต้องใช้พื้นที่ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจเพิ่มราว 28 ล้านไร่ เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ อีก 20 ล้านตัน

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า เราไม่สามารถทำการชดเชยคาร์บอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความตกลงปารีสที่มุ่งจำกัดมิให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียส [4] คาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่ถูกปลดปล่อยออกมานั้นสามารถคงอยู่ต่อไปได้อีกนับศตวรรษ หรือยาวนานกว่านั้น และต้นไม้ที่ปลูกใหม่นั้นกว่าจะมีศักยภาพเพียงพอในการดูดซับคาร์บอนอาจจะต้องใช้เวลาหลายทศวรรษ [5] และยังมีตัวแปรอื่นๆ อีกที่สามารถทำให้ป่าปลูกใหม่ตายไป เช่น ไม่ใช่พันธุ์ท้องถิ่น ภัยแล้ง ไฟป่า และการทำลายป่าด้วยปัจจัยต่างๆ

ธารา กล่าวเพิ่มเติมว่า “การนำผืนป่ามาชดเชยคาร์บอนไม่ใช่ทางออกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่คือแนวทางที่เปิดโอกาสให้บรรษัทอุตสาหกรรมและกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยแสวงหาผลกำไรโดยการแย่งยึดที่ดินและทรัพยากรป่าไม้ที่ดูแลโดยชุมชนท้องถิ่น ขณะเดียวกัน บรรษัทอุตสาหกรรมและกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยเหล่านั้นก็หลีกเลี่ยงภาระรับผิดต่อความสูญเสียและความเสียหายจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ตนก่อขึ้น”

กรีนพีซ ประเทศไทย เรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนกรอบท่าทีเจรจาที่ COP28 บนพื้นฐานดังต่อไปนี้
จัดตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วย “ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ” โดยมีตัวแทนจากกลุ่มชาติพันธุ์ ชุมชนท้องถิ่น กลุ่มสตรี กลุ่มเยาวชน กลุ่มแรงงาน และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และออกแถลงการณ์ “ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ (Climate Emergency Declaration)” ที่เปรียบดังสัญญาณชีพ (vital signs) ที่เอื้อให้ผู้กำหนดนโยบาย ภาคเอกชน และสาธารณะชน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้าใจถึงขนาดของวิกฤต คณะกรรมาธิการรัฐสภาดังกล่าวนี้จะมีบทบาทในการติดตามตรวจสอบการดำเนินนโยบายสภาพภูมิอากาศของประเทศ และจัดทำข้อเสนอต่อกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในแต่ละภาคส่วน การลดผลกระทบจากหายนะภัยทางธรรมชาติและการสร้างศักยภาพในการฟื้นคืนจากวิกฤต (Resilience) ของชุมชนและสังคมโดยรวม

ให้ความสำคัญและเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นใน การต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมและรับรองว่ามาตรการทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ เพื่อฟื้นฟูผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศนั้นมุ่งส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

กำหนดจุดยืนในเวทีโลกที่ชัดเจนและหนักแน่นในการจัดตั้งและดำเนินการกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อกลุ่มประเทศและชุมชนที่เสี่ยงและเปราะบางมากที่สุดจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

ตระหนักว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อบรรลุเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีสต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ (systemic change) และกลยุทธ์ที่โปร่งใสเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างแท้จริง (real zero) เริ่มจากการปลดระวางถ่านหินและปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล การปฏิวัติระบบอาหาร และลดนโยบายสนับสนุนการผลิตและบริโภคเนื้อสัตว์เชิงอุตสาหกรรม ตลอดจน ยุติโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ก่อมลพิษและเชื่อมโยงกับห่วงโซ่อุปทานของแหล่งสำรองเชื้อเพลิงฟอสซิลแห่งใหม่

ป้องกันการครอบงำของบรรษัทข้ามชาติเหนือสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และสิ่งมีชีวิตซึ่งบ่อนทำลายศักยภาพการปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศของเกษตรกรรายย่อย ชุมชนท้องถิ่น ชนเผ่าพื้นเมืองและกลุ่มชาติพันธุ์

คุ้มครองและสนับสนุนสิทธิชุมชนและประชาชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำและชายฝั่งที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจแบบเกื้อกูล (supportive economy) และแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและประเทศ

สร้างความร่วมมือด้านสภาพภูมิอากาศกับประชาคมโลกในด้านเงินทุน การแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี การแบ่งปันองค์ความรู้ และการสร้างศักยภาพ โดยปฏิเสธแนวทางการชดเชยคาร์บอน (carbon offset) ที่เป็นเรื่องการฟอกเขียว (greenwash) และเปิดโอกาสให้ประเทศร่ำรวยและบรรษัท อุตสาหกรรมใช้ประโยชน์จากวัฏจักรคาร์บอนตามธรรมชาติ แย่งยึดที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติในประเทศให้เป็นสินค้าแสวงผลกำไร แต่กลับหลีกเลี่ยงภาระรับผิดชอบ (accountability) ต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่ตนก่อขึ้น


หมายเหตุ:
[1] เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทยจัดตั้งโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน) โดยหนึ่งในภารกิจคือสร้างมูลค่าเพิ่มจากการรับรองและแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภายในประเทศ คณะผู้บริหารกรรมการเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Council Board)ประกอบด้วยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย  บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เป็นต้น
[2] ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอันดับที่ 9 ของโลกที่จะได้รับผลกระทบระยะยาวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่นโยบายสภาพภูมิอากาศ(Climate Policy)ของไทยไม่ได้สัดส่วน โดยมุ่งให้ความสำคัญกับมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (mitigation) และเน้นการปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ (adaptation) น้อยเกินไปโดยเปรียบเทียบ กรอบท่าทีเจรจาของไทยในเวทีเจรจาโลกไม่พูดถึงประเด็นความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ผลักดันโดยกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา https://www.greenpeace.org/thailand/press/25228/climate-emergency-cop27-thailand-opinion/
[3] https://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/page/thailand-s-long-term-low-greenhouse-gas-emission-development-strategy-lt-leds-revised-version-867
[4] Babiker, M., et al. 2022. Chapter 12: Cross-sectoral perspectives. In IPCC, 2022: Climate Change 2022: Mitigation of Climate Change. Contribution of Working Group III to the Sixth Assessment Report of the Intergovernmental Panel on Climate Change [P.R. Shukla, et al. (eds.)]. Cambridge University Press, Cambridge, UK and New York, NY, USA. doi: 10.1017/9781009157926.005. Page 1262.
[5] https://www.greenpeace.org.uk/news/the-biggest-problem-with-carbon-offsetting-is-that-it-doesnt-really-work/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net