Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชน ยื่นรายชื่อประชาชน 12,165 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (ร่างกฎหมาย PRTR) ขอให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พิจารณาผ่านร่างกฎหมาย เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร


ที่มาภาพ: มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2567 ตัวแทนจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม มูลนิธิบูรณะนิเวศ กรีนพีซ ประเทศไทย และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน  ยื่นรายชื่อประชาชน 12,165 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติการรายงาน และเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (ร่างกฎหมาย PRTR) พร้อมมอบป้ายผ้าลายจิ๊กซอว์ที่มีข้อความว่า “สิ่งแวดล้อมจะดีต้องมี PRTR” ให้กับนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่สัปปายะสภาสถาน และขอให้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน พิจารณาผ่านร่างกฎหมาย เพื่อเข้าสู่การพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

ลายจิ๊กซอว์บนป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “สิ่งแวดล้อมจะดีต้องมี PRTR” เปรียบเสมือนตัวแทนสัญลักษณ์ของภาครัฐและประชาชนที่ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ หรือ PRTR มาบังคับใช้ในประเทศไทย เพราะกฎหมาย PRTR จะเป็นกลไกเชื่อมความรับรู้ข้อมูลมลพิษให้กับประชาชน ในขณะที่ภาครัฐสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแล และกำหนดบทลงโทษกับผู้ที่ก่อมลพิษได้ และเป็นการช่วยภาคเอกชนให้มีระบบการจัดการสารเคมีที่ดีขึ้นและมีระบบการรายงานได้ตามมาตรฐานสากลด้วย

รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับสิทธิในการมีชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีของประชาชน ด้วยการจัดสรรงบประมาณดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคน กฎหมาย PRTR คือ สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน (Community Right-to-Know)  ที่กำหนดให้มีการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนเกี่ยวกับชนิดและปริมาณของสารเคมีหรือมลพิษที่มีการปลดปล่อยจากแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม หากประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR จะช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงข้อมูลมลพิษ ช่วยกันติดตามตรวจสอบ ไปจนถึงจัดการเบื้องต้นกับปัญหามลพิษที่อยู่ใกล้ตัวเองได้

เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า “กฎหมาย PRTR ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เริ่มต้นกันมาตั้งแต่ปี 2535 ส่วนประเทศไทยก็มีการเรียกร้องให้มีกฎหมาย PRTR มากว่า 20 ปีแล้วเพื่อใช้เป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับการแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมและลดอุบัติภัยจากสารเคมี นับจากที่ประเทศไทยดำเนินโครงการนำร่อง PRTR เพื่อแก้ปัญหามลพิษอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยองตั้งแต่ปี 2556 ระยะเวลาได้ล่วงเลยมานานสิบปีแล้ว ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องต่างเห็นว่า ระบบ PRTR จะช่วยแก้ปัญหามลพิษได้ดีและจะทำให้หน่วยงานของภาครัฐกำกับดูแลอุตสาหกรรมและแหล่งกำเนิดมลพิษต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ทำไมจนถึงทุกวันนี้กลับยังไม่มีการประกาศออกมาเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ทั่วประเทศสักที”

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “หากประเทศไทยเรามีกฎหมาย PRTR จะทำให้เราสามารถใช้กฎหมายในการกำกับดูแลสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะปัจจุบันเรายังขาดข้อมูลการปล่อยมลพิษขั้นพื้นฐาน (Emission Inventory) ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะไม่มีข้อมูลพื้นฐานเพื่อนำไปประกอบการบังคับใช้กฎหมาย”

อัลลิยา เหมือนอบ นักรณรงค์ด้านมลพิษทางอากาศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “การเข้าถึงข้อมูลการปล่อยมลพิษนี้ คือ การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชน และประชาชน เพราะการเข้าถึงข้อมูลนี้ จะช่วยให้ประชาชนสามารถช่วยกันติดตาม และตรวจสอบได้ว่ามีแหล่งปล่อยมลพิษอยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ ทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ประชาชนจะใช้ในการปกป้องสุขภาพของตนเองและเรียกร้องสิทธิในการเข้าถึงสิ่งแวดล้อมที่ดี”

เครือข่ายภาคประชาชนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน จะพิจารณาผ่านร่างกฎหมาย PRTR เข้าสู่กระบวนการพิจารณาในรัฐสภา โดยไม่ปัดตกด้วยเหตุผลด้านงบประมาณการเงิน เพราะการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน


หมายเหตุ
[1] กฎหมาย PRTR คืออะไร
[2] ศาลปกครองพิพากษาคดี PM2.5 สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดทำ PRTR

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net