Skip to main content
sharethis

นักกิจกรรมยื่นหนังสือถึงที่ประชุมผู้พิพากษานานาติ สะท้อนปัญหาการดำเนินคดีการเมืองกับ ปชช. และความไม่เป็นกลางของกระบวนการยุติธรรม พร้อมเรียกร้องให้ต่างชาติร่วมส่งเสียงถึงศาลไทยต้องทำหน้าที่อย่างอิสระอย่างแท้จริง หลังช่วงที่ผ่านมาผู้ถูกคุมขังทางการเมืองพุ่งเป็น 35 ราย

 

5 ต.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (5 ต.ค.) ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้นที่ 22 ห้องสูต 1-4 ซึ่งโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้มีการจัดงานประชุมผู้พิพากษานานาชาติ นักกิจกรรมทางการเมืองเพื่อประชาธิปไตยหลายคน เดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้ผู้พิพากษาจากประเทศต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุมดังกล่าวทั้งในอาเซียน และสหรัฐฯ ร่วมกันสนใจปัญหากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย และร่วมเรียกร้องให้ผู้พิพากษาในประเทศไทยเป็นอิสระอย่างแท้จริง โดยวันนี้มี Tomas Kvedaras เป็นตัวแทน UNDP รับหนังสือหน้าห้องประชุม

ทั้งนี้ รายละเอียดในหนังสือได้กล่าวถึงปัญหากระบวนการยุติธรรมว่า ตอนนี้ประชาชนไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่สิทธิมนุษยชนของพวกเขากำลังถูกละเมิดในศาลไทย  มีประชาชนจำนวนมากถูกจับ ถูกกล่าวหา ถูกคุมขัง และเต็มไปด้วยข้อกังขา พวกเขามองว่าศาลไทยตอนนี้ไม่มีความเป็นกลางในตัดสินคดีความ และขาดความเป็นอิสระอย่างแท้จริง พร้อมยกกรณีของผู้พิพากษา คณากร เพียรชนะ ที่พยายามพูดถึงปัญหาเรื่องนี้ และได้ทำการอัตวินิบาตกรรมในที่สุด

หนังสือระบุด้วยว่า ทางกลุ่มขอเรียกร้องให้นานาชาติร่วมเรียกร้องให้ผู้พิพากษาไทยทำหน้าที่อย่างอิสระจากระบบคอรัปชันและพยายามควบคุมพวกเขา ให้พวกเขาได้เป็นอิสระอย่างแท้จริง ให้ประชาชนทุกคนได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ต่อหน้าศาลไทย

“เมื่อไม่มีผู้พิพากษาที่เป็นอิสระ ประเทศไทยก็จะไม่มีวันเป็นอิสระอย่างแท้จริง” หนังสือ ระบุ

สะท้อนปัญหา เหรียญอีกด้านของกระบวนการยุติธรรมไทย

ผู้สื่อข่าว สัมภาษณ์ กรกช แสงเย็นพันธ์ จากกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย หรือ DRG หลังยื่นหนังสือถึง UNDP โดยกรกช กล่าวว่า เขามายื่นหนังสือวันนี้เพราะอยากให้เรื่องของการคุมขัง และการตัดสินคดีที่ไม่เป็นธรรมต่อนักโทษการเมือง ได้เป็นประเด็นที่เวทีนานาชาติได้รับการพูดถึงด้วย และเข้าใจว่าในงานวันนี้มีผู้พิพากษาจากหลายประเทศเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ เราอยากให้ผู้พิพากษาได้เข้าร่วมการประชุมที่มาจากอาเซียน และทวีปอื่นๆ ได้เข้าใจสถานการณ์ทางการเมือง และปัญหาในระบบยุติธรรมไทยด้วย

กรกช แสงเย็นพันธ์ เมื่อ 11 ก.ค. 2566 (ถ่ายโดยสหภาพคนทำงาน)

กรกช กล่าวเสริมว่า ปัญหาสำคัญตอนนี้ ผู้ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองเข้าไม่ถึงสิทธิการประกันตัวระหว่างถูกดำเนินคดี หรือคดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด หลายๆ เคสเป็นคำพิพากษาจากศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตประกันตัวโดยใช้ข้ออ้างว่ามีพฤติการณ์หลบหนี ทั้งที่ตัวศาลระบุเงื่อนไขชัดเจนว่าไม่ให้ออกนอกประเทศ และตัวจำเลยก็มาตามนัดของศาลทุกครั้ง ท้ายที่สุด ศาลอุทธรณ์ก็ลงไม่ให้ประกันตัวหลายคดีที่เกิดขึ้น

สมาชิก DRG ระบุว่า อีกปัญหาที่อยากสะท้อนคือคดีมาตรา 112 ที่เขาต้องตกเป็นจำเลย กรณีอ่านจดหมายหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อปี 2563 เราไม่สามารถเข้าถึงพยาน หรือหลักฐาน ที่โจทก์ฟ้อง อย่างในคดีนี้อัยการฟ้องเรา เนื่องจากเรากล่าวหาพระมหากษัตริย์ใช้อำนาจนอกราชอาณาจักร ซึ่งพอฝ่ายจำเลยจะขอเบิกพยานหลักฐานเรื่องการเดินทางเข้า-ออกของรัชกาลที่ 10 ก็ไม่สามารถนำสืบได้ เพราะว่าศาลจะอ้างตลอดว่าไม่เกี่ยวข้อง

กรกช กล่าวต่อว่า หลังจากไปยื่นหนังสือวันนี้ก็ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างชาติ และทาง UNDP โดยมีการเข้ามารับหนังสือ และบอกกับนักกิจกรรมว่า 'ดีใจที่นักกิจกรรมมาร่วมงานวันนี้ด้วย' นอกจากนี้ ทาง UNDP อยากคุยกับนักกิจกรรมต่อประเด็นที่มายื่นหนังสือวันนี้เพิ่มเติมในอนาคต และมีการแลกช่องทางติดต่อกันไว้

ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม

กรกช กล่าวว่า สำหรับกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) นั้น เขาอยากผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผู้ที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง เพราะตนมองว่าตั้งแต่ปี 2563 มันเป็นนิติสงครามที่ใช้กับประชาชนอย่างตรงไปตรงมา และในเวลาที่เราไม่สามารถพึ่งพาอำนาจตุลาการได้แล้ว เราอยากให้อำนาจนิติบัญญัติรักษาความเป็นธรรมในระบอบประชาธิปไตย ด้วยเช่นกัน

สำหรับวันนี้พรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน ได้ยื่นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่รัฐสภา สมาชิก DRG มองว่าเป็นการทำหน้าที่ที่ดี และอยากเชิญชวนพรรคการเมืองอื่นๆ ในฝากฝ่ายประชาธิปไตยร่วมกันสนับสนุนให้ผ่าน และให้ประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมว่าเราจะนิรโทษกรรมกันอย่างไร ทั้งในเชิงหลักการ หรือขอบเขตการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ให้ชัดเจน นอกจากหน้าที่ของนักการเมืองแล้ว อยากให้สังคม และฝ่ายตุลาการ ได้เข้าไปมีส่วนด้วยกับประเด็นนี้ 

"ผมคิดว่าบางทีอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างเดียวก็ได้ ถ้าฝ่ายตุลาการมีความเห็นมิติอื่นๆ แบบที่มองว่าตัวกฎหมายมีปัญหาในบริบทปัจจุบัน ผมคิดว่าตุลาการสามารถพูดได้เช่นกัน

"ท้ายที่สุดอยากเรียกร้องให้กระบวนการยุติธรรมของไทยใช้หลักสิทธิมนุษยชนสากลมาประกอบการตัดสินใจด้วย ถ้าดูกฎหมายอย่างเดียวจะไม่มีใครมาแสดงออกทางการเมืองได้เลย" กรกช กล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ รายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขังจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงออกทางการเมือง เพิ่มเป็น 35 ราย หรือเพิ่มขึ้น 6 ราย เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น คดีที่สิ้นสุดแล้ว จำนวน 10 ราย และระหว่างสู้คดีอีก 25 ราย

ในจำนวนนี้แบ่งเป็นคดีที่สิ้นสุดแล้ว จำนวน 10 ราย ได้แก่ มาตรา 112 (อัญชัญ ปรีเลิศ ปริทัศน์ และ เมธิน) พ.ร.บ.คอมฯ (ศุภากร และเอกชัย หงส์กังวาน) คดีทะลุแก๊ส (ทัตพงศ์ สุวิทย์ และณัฐชนน) และสหพันธรัฐไท (กฤษณะ และวรรณภา)

ขณะที่คดีที่ยังไม่สิ้นสุด หรืออยู่ในระหว่างชั้นสอบสวน จำนวน 19 ราย โดยแบ่งเป็น คดีมาตรา 112 จำนวน 10 ราย และและที่เหลือเป็นคดีจากการถูกกล่าวหาจากการชุมนุม เผารถตำรวจ ครอบครองวัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) และปาระเบิด (ระเบิดปิงปอง) อีก 15 ราย

รายละเอียดหนังสือ

ถึง ผู้พิพากษาทุกคนในโลกใบนี้

ในวันนี้เรายืนอยู่ต่อหน้าท่านในขณะที่ UNDP กรุงเทพฯ กำลังจัดงานร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรมของประเทศไทย ในงาน  Evolving Justice: ASEAN judge conference ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะพัฒนาเป็นเวทีซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการพูดคุยถกเถียงเป็นสำคัญเกี่ยวกับพลวัตรในกระบวนการทางกฎหมาย เช่น การพัฒนาระบบกระบวนการยุติธรรม บทบาทของผู้พิพากษาในการพัฒนาความเท่าเทียมทางเพศ และบทบาทของผู้พิพากษาในการสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยุติธรรม, เทคโนโลยีที่กำลังเกิดขึ้นในศาล และกระบวนการความเป็นธรรมที่เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเราก็คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการยุติธรรมของอาเซียน

ระหว่างที่เรื่องนี้กำลังเกิดขึ้นในกรุงเทพมหานคร  คนไทยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่สิทธิมนุษยชนของเขากำลังถูกละเมิดในศาลไทย มีประชาชนคนไทยถูกจับ ถูกกล่าวหา และถูกจำคุกกักขัง อย่างรุนแรงและเป็นข้อกังขา โดยปราศจากความโปร่งใสและปราศจากความเป็นกลาง ต่อหน้าบุคคลที่เรียกตนเองว่าเป็นผู้พิพากษา ซึ่งได้สาบานตนว่าจะนำความยุติธรรมมาให้กับสังคมไทย 

ผู้พิพากษาไทย กำลังประสบกับสภาวะที่ขาดความเป็นกลาง และขาดความเป็นอิสระอย่างแท้จริง มีผู้พิพากษาพยายามจะพูดเรื่องนี้ และสุดท้ายได้ยิงตนเองในห้องพิจารณา โดยในที่สุดได้ทำการอัตวินิบาตกรรม เมื่อไม่มีผู้พิพากษาที่เป็นอิสระ ประเทศไทยก็จะไม่มีวันเป็นอิสระอย่างแท้จริง

เพราะฉะนั้นแล้ว เราขอสนับสนุนให้ท่านทุกคนในห้องนี้ซึ่งได้สาบานตนต่อประชาชนของท่าน และได้สาบานตนภายใต้นามแห่งความยุติธรรมว่าจะปกป้องสิทธิ์และศักดิ์ศรี เกียรติยศในฐานะผู้พิทักษ์ความยุติธรรม ให้ไปทำการสนับสนุนและเสนอให้ผู้พิพากษาไทย ทำตนเองให้เป็นอิสระจากระบบที่คอรัปชั่น และพยายามที่จะควบคุมพวกเขา เพื่อให้คนเหล่านี้ เป็นอิสระอย่างแท้จริง และทำให้คนไทยทุกคน เท่าเทียมกัน

เพื่อให้คนทุกคนมีสิทธิ์ในการต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ต่อหน้าศาลไทย

ด้วยความเคารพและด้วยความสัตย์จริง,

จาก เหยื่อของกระบวนการยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net