Skip to main content
sharethis

‘พริษฐ์' อภิปรายหารือกรณีกราดยิงที่พารากอน เสนอสี่มาตรการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง แนะเร่งพัฒนาระบบเตือนภัยแบบ cell broadcasting-ทบทวนมาตรการครอบครองปืนทั้งระบบ-สร้างความเข้าใจงดเผยแพร่ข้อมูลคนร้าย กันพฤติกรรมเลียนแบบในอนาคต-เพิ่มช่องทางฟื้นฟูสภาพจิตใจผู้อยู่ในเหตุการณ์

 

4 ต.ค.2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายปรึกษาหารือในประเด็นเหตุกราดยิงที่ห้างสยามพารากอนเมื่อวานนี้ (3 ตุลาคม) โดยระบุว่าตนขอแสดงความเสียใจต่อผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ทุกคน และขอปรึกษาหารือต่อประธานสภาฯ ถึงข้อเสนอ 4 ประการให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นอีกในอนาคต และบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้า

1) ระบบแจ้งเตือนภัย - เหตุการณ์เมื่อวานนี้ ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือนผ่านข้อความจากหน่วยงานรัฐ โดยต้องใช้การแจ้งเตือนจากเอกชนหรือติดตามข่าวจากโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ดังนั้น ตนจึงขอหารือผ่านไปยังกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กสทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งรัดแผนการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยของรัฐแบบ cell broadcasting ที่จะเป็นการส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือทุกเครื่องบริเวณพื้นที่เกิดเหตุ

2) การครอบครองอาวุธปืน - แม้ปืนที่ถูกใช้ก่อเหตุจะเป็นปืนดัดแปลง แต่การที่ประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตจากอาชญากรรมปืนสูงสุดเป็นอันดับ 3 ของทวีปเอเชีย เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าควรมีการศึกษาทบทวนเรื่องการครอบครองปืนทั้งระบบ จึงขอหารือผ่านไปยังกระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้หาแนวทางปรับปรุงกฎหมายขออนุญาตปืนในระบบให้ครอบคลุมประเภทอาวุธมากขึ้นและมีกระบวนการที่รอบคอบมากขึ้น (เช่น การให้ใบอนุญาตมีวันหมดอายุเพื่อต่ออายุ การเพิ่มเกณฑ์เรื่องสุขภาพจิต) และปรับปรุงมาตรการปิดช่องทางค้าขายปืนนอกระบบให้มีประสิทธิภาพขึ้น

3) พฤติกรรมเลียนแบบ - ตั้งแต่เกิดเหตุ มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนและประวัติผู้ก่อเหตุอย่างกว้างขวาง แม้ผู้เชี่ยวชาญและงานวิจัยจะชี้ชัดว่าการประโคมข่าวลักษณะนี้มีความเสี่ยงจะก่อให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ จึงขอหารือผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้สร้างความเข้าใจกับสังคมในการงดเผยแพร่เรื่องราวของผู้ก่อเหตุ เพื่อส่งสัญญาณว่าการกระทำอันอำมหิตต่อเพื่อนมนุษย์แบบนี้ จะไม่มีวันทำให้ใครก็ตาม ได้แสงหรือความสนใจ แม้แต่นิดเดียว

4) สุขภาพจิตของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ - หลังเกิดเหตุ ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หลายคนอาจยังคงมีสภาพจิตใจที่ไม่เหมือนเดิม หรือมีอาการผวา ตนจึงขอหารือผ่านไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ในการเข้าถึงช่องทางการฟื้นฟูและบำบัดสภาพจิตใจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net