Skip to main content
sharethis

สช.ระดมภาคีเครือข่ายร่วมให้ความคิดเห็นนโยบายสาธารณะ ประเด็น “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” หนึ่งในมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 เตรียมเข้าสู่การรับรองร่วมกันปลายปีนี้ มุ่งเป้าลดความรุนแรง สร้างสังคมที่คนมีความสุข เน้นมิติการส่งเสริมป้องกันสุขภาพจิตตั้งแต่ต้นทาง ผ่านกลไกความร่วมมือตั้งแต่ระดับชาติ-ท้องถิ่น-บ้าน

 

21 ก.ย.2566 กลุ่มงานสื่อสารสังคม สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ประเด็น “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” ซึ่งเป็นเวทีในการสื่อสาร รับฟัง รวมทั้งแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นที่จะนำไปพัฒนาเป็นระเบียบวาระภายในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 โดยมีองค์กร หน่วยงาน ภาคีเครือข่าย เข้าร่วมทั้งในห้องประชุมและผ่านระบบออนไลน์ รวมกว่า 300 คน

ชาติวุฒิ วังวล รองประธานคณะทำงานพัฒนาประเด็นระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง เปิดเผยว่า ปัจจุบันสังคมไทยมีความตื่นตัวในเรื่องของสุขภาพจิตกันมากขึ้น และเรากำลังที่จะก้าวข้ามการขับเคลื่อนไปสู่อีกระดับคือเรื่องของสุขภาวะทางจิต ซึ่งจะเป็นการยกระดับทั้งวิธีการทำงาน การสนับสนุนจากทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ รวมถึงองค์ประกอบจากทุกภาคส่วน ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง

ชาติวุฒิ กล่าวว่า เดิมเราอาจเคยเชื่อเรื่องนี้เป็นบทบาทของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่วันนี้แน่นอนแล้วว่าเป็นความเกี่ยวข้องของทุกภาคส่วน ที่จะร่วมกันในการสร้างสังคมที่มีสุขภาวะทางจิต เพื่อมีส่วนคลี่คลายและลดความเจ็บปวดจากหลายเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคม โดยวันนี้เป็นการเปิดรับฟังมุมมองต่างๆ เพื่อร่วมมุ่งเป้าไปสู่อนาคต ใครทำอะไรอยู่ มีบทเรียนความสำเร็จใดที่เราจะสามารถหยิบมาใช้เพื่อที่ทุกอย่างจะไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ พร้อมผลักดันทั้งเชิงนโยบายและการขับเคลื่อนให้เป็นไปได้อย่างรอบด้าน

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะทำงานพัฒนาประเด็นระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง กล่าวว่า สุขภาพจิต (Mental health) กับ สุขภาวะทางจิต (Mental well-being) เป็น 2 คำที่มีนัยยะความหมายแตกต่างกัน โดยเมื่อพูดถึงสุขภาพจิต คนมักจะนึกถึงในมุมที่เป็นส่วนตัว บริการทางการแพทย์ หรืออาการจิตเวช ซึ่งมีความชัดเจนแต่อาจเป็นความหมายที่แคบกว่า

สำหรับคำว่า สุขภาวะทางจิต จะมีขอบเขตกว้างขวางกว่า คือการที่คนจะมีความสุข จากการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถจัดการความรู้สึกทั้งทางบวกและลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคนเราก็สามารถมีสุขภาวะทางจิตที่ดีได้ ถึงแม้ว่าจะมีความเจ็บป่วย หรือมีอาการทางจิตเวชก็ตาม ซึ่งนี่เองเป็นประเด็นที่อยากเปิดให้คนในสังคมเรียนรู้ร่วมกันอย่างกว้างขวาง ผ่านกระบวนการนโยบายสาธารณะที่เข้ามาส่งเสริมเรื่องนี้มากขึ้น

ธีรพัฒน์ กล่าวว่า ในสถานการณ์ปัจจุบันพบว่าความเสี่ยงทางด้านสุขภาพจิต มีส่วนสัมพันธ์กับปัญหาความรุนแรง และไม่ว่ากลุ่มประชากรใดล้วนมีความเสี่ยงจากการเผชิญปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ตั้งแต่เด็กและเยาวชน ผู้ใหญ่วัยทำงาน ไปจนถึงผู้สูงอายุ รวมทั้งกลุ่มเปราะบางต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมีกรอบนโยบายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 ที่ให้น้ำหนักไประบบบริการทางการแพทย์ กับ ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2565 ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมป้องกัน ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ที่สามารถนำมาเชื่อมร้อยและทำให้เกิดความเข้มแข็งมากขึ้น ด้วยการพัฒนานโยบายสาธารณะที่จะเข้าไปตอบโจทย์

ทั้งนี้ ในมติ “ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง” ที่จะร่วมกันพิจารณาในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ มีกรอบทิศทางที่ต้องการสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง ที่ทุกคนมีความสุข มีทักษะด้านสุขภาพจิตส่วนบุคคล ส่งเสริมพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่สอดคล้อง พร้อมส่งเสริมแนวทางการสร้างเสริมป้องกัน การคัดกรองตั้งแต่ต้นทาง ผ่านกลไกที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่ระดับนโยบายทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ในระดับบริการสุขภาพ ระดับชุมชนและสังคม ไปจนถึงระดับบ้าน ที่ขับเคลื่อนด้วยครอบครัวและกลุ่มเพื่อน

ขณะที่  อรุณฉัตร คุรุวาณิชย์ คณะทำงานพัฒนาประเด็นระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง กล่าวว่า สุขภาวะทางจิต ที่เรากำลังดึงขึ้นมาให้ความสำคัญขณะนี้ จะแตกต่างจากความเข้าใจเดิมของคนในสังคมที่คนคุ้นเคยกับ สุขภาพจิต ว่าเท่ากับการรักษาความเจ็บป่วยทางจิต หรืออาการทางจิตเวช ซึ่งเมื่อคนส่วนใหญ่คุ้นเคยเช่นนั้น จึงเกิดกำแพงในการทำงาน ดังนั้นข้อเสนอเชิงนโยบายนี้จึงอยากปรับเปลี่ยนความเข้าใจดังกล่าว ให้มาสู่ความหมายใหม่ที่ครอบคลุมมิติของการส่งเสริมที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในหลายประเทศได้ดำเนินแนวทางในมิตินี้ นั่นคือการใช้เครื่องมือ จิตวิทยาเชิงบวก เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มีวิธีการรองรับ ด้วยการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตของคนที่อยู่ในภาวะต่างๆ ซึ่งอาจมีสุขภาพจิตดีอยู่แล้ว แต่จะพัฒนาให้ดีขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะเราพบว่าเหตุผลส่วนใหญ่ที่คนมีปัญหาจนต้องพบจิตแพทย์ นั่นเพราะเขาไม่มีวิธีการจัดการกับสุขภาพจิตได้ในวันที่เขาแข็งแรง ดังนั้นจิตวิทยาเชิงบวกจึงเน้นในมิตินี้ โดยอาศัยกลไกผ่านชุมชน สังคม และบ้าน เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นหลัก” นายอรุณฉัตร กล่าว

ด้าน นพ.สมชาย พีระปกรณ์ คณะอนุกรรมการกำกับ สนับสนุน และเชื่อมโยงกระบวนการสมัชชาสุขภาพ กล่าวว่า ‘ระบบสุขภาวะทางจิตเพื่อสังคมไทยไร้ความรุนแรง’ จะเป็นหนึ่งในระเบียบวาระในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 16 พ.ศ. 2566 ซึ่งดำเนินอยู่บนแนวคิดหลักคือ ความเป็นธรรมด้านสุขภาพ โอกาสและความหวังอนาคตประเทศไทย ควบคู่กับอีกสองระเบียบวาระที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา คือ ‘การส่งเสริมความเข้มแข็งกลไกการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่’ และ ‘การพัฒนาประชากร: แนวทางส่งเสริมการเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพ’

“ความเห็น ข้อเสนอ และมุมมองที่ได้จากการประชุมครั้งนี้ รวมกับที่ยังเปิดรับความคิดเห็นเพิ่มเติมไปจนถึงวันที่ 24 ก.ย.นี้ ทางคณะทำงานจะนำไปประมวลเพื่อขัดเกลาให้ตัวเอกสารระเบียบวาระฉบับนี้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ก่อนที่จะนำไปพิจารณาร่วมกันในเวทีสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ในช่วงเดือน พ.ย. และเข้าสู่การประกาศพันธสัญญาขับเคลื่อนร่วมกันในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ วันที่ 21-22 ธ.ค. จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันติดตาม และเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนร่วมกัน” นพ.สมชาย กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net