Skip to main content
sharethis

เครือข่ายแรงงานฯ ยื่นหนังสือถึง รมว. แรงงาน เรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาททั่วประเทศ ยกระดับสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน จี้เร่งจัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม โละมรดก คสช. แก้ระเบียบสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง ไม่กีดกันแรงงานข้ามชาติ

 

21 ก.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (21 ก.ย.) เวลา 10.00 น. ที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานหลากหลายคน ประกอบด้วย ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน สมยศ พฤกษาเกษมสุข สมาชิก 24มิถุนาประชาธิปไตย เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) และธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน จากกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง เดินทางมายื่นหนังสือถึง พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 450 บาทต่อวัน ยกระดับสิทธิผู้ประโยชน์ผู้ประกันตน และเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตาม เครือข่ายแรงงานฯ ได้รับทราบว่า รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานคนใหม่ พิพัฒน์ รัชกิจประการ เข้ามาถึงกระทรวงแรงงานแล้ว แต่ปฏิเสธไม่ให้เข้าพบโดยอ้างว่า "ติดภารกิจอื่น" ทำให้นักกิจกรรมแรงงานรวมตัวเดินทางขึ้นไปบนชั้นที่ 6 ของอาคารสำนักงานกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อขอเข้าพบรัฐมนตรี แต่เมื่อถึงชั้น 6 ก็ถูกเจ้าหน้าที่กันไว้ และเจรจาว่า พิพัฒน์ จะมาหารือกับเครือข่ายฯ ที่ห้องประชุม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานชั้นโถงแทน

ดันค่าแรง 450 บ.ขั้นต่ำทั่วประเทศ-หน้าที่รัฐช่วยผู้ประกอบการ 

ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ให้สัมภาษณ์สื่อ ก่อนยื่นหนังสือ ระบุว่า ข้อเรียกร้องหลักคือปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 450 บาททั่วประเทศ

ธนพร วิจันทร์

ธนพร ระบุต่อว่า ก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ออกมาแถลงนโยบายเมื่อต้นเดือน ก.ย.ว่า ต้นปีหน้าจะมีการปรับค่าจ้างเป็น 400 บาท ซึ่งเรากังวลว่า 400 บาท กว่ามันจะขึ้นเป็น 600 บาท ในปี 2570 มันจะเป็นจริงได้รึเปล่า และต้องการทราบความชัดเจนว่า แต่ละปีจะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่าไร และอย่างไรบ้าง ให้สอดคล้องกับนโยบายค่าแรงของพรรคแกนนำรัฐบาล

ธนพร เน้นย้ำว่า ต้องให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือคนงาน และทำให้เศรษฐกิจเดินหน้า และสอดคล้องกับค่าครองชีพ ซึ่งในต่างจังหวัดราคาน้ำมันแพงกว่าใน กทม. ด้วย ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ 450 บาททั่วประเทศ 

ต่อกรณีที่ผู้ประกอบการออกมาแสดงความกังวลต่อนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ธนพร ระบุว่า ถ้าธุรกิจกังวลว่าจะได้รับผลกระทบ เราเชื่อมั่นว่ารัฐจะมีบทบาทการเข้ามาช่วยภาคธุรกิจด้วย

จี้เลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม โละมรดก คสช. 

สมาชิกเครือข่ายแรงงานฯ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องต่อมา คือการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม เพราะบอร์ดชุดนี้แต่งตั้งโดยคณะ คสช. จนถึงปัจจุบัน และเนื่องด้วยมันไม่มีการมีส่วนร่วมจากประชาชนโดยแท้จริง ทำให้สิทธิประโยชน์ที่มี ไม่ได้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน เราคิดว่าเรื่องนี้ต้องมีการเร่งรัดบอร์ดประกันสังคมให้เร็วที่สุด ซึ่งสำนักงานประกันสังคมบอกว่าจะจัดเลือกตั้ง ธ.ค. 2566 แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นความชัดเจนแต่อย่างใด จึงอยากให้ กระทรวงแรงงานชี้แจงว่าจะจัดเลือกตั้งบอร์ดฯ เมื่อไร จะเลือกตั้งแบบไหน หรือกระบวนการเป็นแบบใด

แก้ระเบียบล้นเกิน ให้คนไทยเข้าถึงสิทธิเลือกตั้ง

เครือข่ายแรงงานฯ ยังมีข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขระเบียบสำหรับการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม 3 ประเด็น คือ 1. ระเบียบผู้มีสิทธิเลือกตั้งเฉพาะผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น 2. ระเบียบผู้ลงสมัครเลือกตั้งฝ่ายผู้ประกันตน ต้องจ่ายสมทบติดต่อกัน ไม่น้อยกว่า 12 เดือนจนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง และ 3. และผู้มีสิทธิลงคะแนนต้องส่งเงินสมทบติดต่อกัน อย่างน้อย 36 เดือน จนถึงวันเลือกตั้ง

ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ที่มาร่วมยื่นหนังสือวันนี้ ระบุว่า การกำหนดระเบียบแบบนี้อาจจะทำให้ไม่เข้าถึงทั้งแรงงานไทย และแรงงานข้ามชาติ ยกตัวอย่าง ผู้มีสิทธิลงคะแนนต้องส่งเงินสมทบติดต่อกัน อย่างน้อย 36 เดือน หรือเท่ากับ 3 ปี จนถึงวันเลือกตั้ง สมมติมีคนที่โดนเลิกจ้างในตอนโควิด-19 (2563-2565) เขาจะโดนตัดสิทธิตรงนี้ และมีลูกจ้างในระบบประกันสังคม มาตรา 40 ถ้าไม่ส่งเงินสมทบต่อเนื่อง ก็โดนตัดสิทธิเช่นกัน

ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน

ธนพงษ์ ระบุต่อว่า เราเรียกร้องให้มีการแก้ระเบียบเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ผู้มีสิทธิลงคะแนนต้องส่งเงินสมทบติดต่อกัน อย่างน้อย 36 เดือน จนถึงวันเลือกตั้ง ลดลงเหลือ ส่งเงินสมทบติดต่อกัน 3 เดือน จนถึงวันเลือกตั้ง ซึ่งทุกคนจะได้เข้าถึงสิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะมีการจัดเลือกตั้ง ภายในเดือน ธ.ค. 2566

นอกจากนี้ ธนพงษ์ ระบุต่อว่า เราอยากเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคม ยกระดับสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตน เนื่องจากสวัสดิการตรงนี้ไม่ได้รับการปรับปรุงมานานแล้ว โดยเฉพาะสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งมีความล่าช้า และสิทธิยาเข้าถึงแค่บัญชียา ระดับ 3 เท่านั้น ต้องการแก้ให้เข้าถึงยาแผนปัจจุบันและการรักษาทุกชนิด

แก้ระเบียบกีดกันแรงงานข้ามชาติ 

ต่อมา ธนพร เน้นย้ำข้อเรียกร้องเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติให้มีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมฝ่ายผู้ประกันสังคมนั้น เนื่องจากปัจจุบันในไทย ไม่ได้มีแค่ผู้ประกันตนชาวไทย แต่มีรงงานข้ามชาติด้วย แต่ก็ออกระเบียบเกินกฎหมาย ตัดสิทธิ์ไม่ให้เขาเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม 

ธนพร ระบุว่า จริงๆ กฎหมายไม่ได้จำกัดสัญชาติ แต่ระบุว่า ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกบอร์ดประกันสังคม 1 สิทธิ์ เท่ากับ 1 เสียง ดังนั้น ผู้ใช้แรงงานข้ามชาติส่งเงินสมทบ และเขาควรจะมีสิทธิ์เลือกผู้แทนของเขาไปดูแลสิทธิประกันสังคม

ธนพร ระบุว่า จริงๆ มีการส่งหนังสือมายังกระทรวงแรงงานตั้งแต่วานนี้แล้ว และตั้งใจแค่มายื่นหนังสือ และจะไปมอบหมายหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อ

"อยากให้มาพบพี่น้องผู้ใช้แรงงาน เพราะเราต้องมาพูดคุยกันในการทำงาน และมันไม่ใช่เรามาถึงที่แล้ว มันไม่ถึง ท่านบอกว่าท่านติดประชุมอยู่ " ธนพร ทิ้งท้าย

เมื่อเวลาประมาณ 11.26 น. พิพัฒน์ ลงมาพบผู้ใช้แรงงานที่ห้องประชุมกรมสวัสดิการฯ และมารับหนังสือ โดยเบื้องต้น พิพัฒน์ ยืนยันว่า จะรับเรื่องทุกข้อของเครือข่ายแรงงานฯ ไปหารือกับฝ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

บรรยากาศการยื่นหนังสือ

รายละเอียดหนังสือเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

เรื่อง ขอเรียกร้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และ การจัดเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมและเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม 

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ

ในนามของเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนขอแสดงความยินดีต่อนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ ในการเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา โดยที่รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาในการสร้างชีวิตของคนไทย ให้มีเกียรติมีเงินเดือน และค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นธรรม สอดคล้องและเพียงพอ ต่อปัจจัยด้านการดำรงชีวิต อย่างมีศักดิ์ศรีรวมทั้ง การมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมสามารถเข้าถึงสวัสดิการที่เหมาะสม 

เนื่องจากในช่วง 9 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ด้วยการกดค่าจ้างให้ต่ำ ไม่มีการจัดสวัสดิการที่ดีพอ ทำให้ผู้ใช้แรงงานทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัส  ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าว เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน จึงขอเรียกร้องต่อกระทรวงแรงงาน เพื่อดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการยกระดับรายได้ และสร้างหลักประกันความมั่นคงการทำงานและคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้ดีขึ้น ดังต่อไปนี้ 

1. เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 450 บาท เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับภาวะครองชีพในปัจจุบันและให้เป็นไปตามนโยบายหาเสียงกรณีจะปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600 บาทในปี 2570  

2. ยกระดับสิทธิประโยชน์ในระบบประกันสังคมให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล คือ 

2.1 ปรับปรุงคุณภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมให้ดีขึ้นเนื่องจากมีจำนวนผู้เข้ารับการรักษาพยาบาลจำนวนมาก โดยให้ขยายพื้นที่ และเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้เหมาะสมกับสัดส่วนผู้ประกันตนที่เข้าใช้บริการ  ขยายบัญชียาจากที่จำกัดให้เฉพาะบัญชี3ให้เข้าถึงยาแผนปัจจุบันและการรักษาทุกชนิด

2.2 ยกระดับสิทธิประโยชน์ค่าทำฟันจากเดิมปีละ 900 บาทเป็นปีละ 1,500 บาท และค่าคลอดบุตรเหมาจ่ายจาก 15,000 บาทเป็น 20,000 บาท ต่อครั้ง เพิ่มเงินสงเคราะห์เพื่อเลี้ยงดูบุตร จาก 800 บาทต่อเดือน เป็น 1,200 บาทต่อเดือน ตั้งแต่เกิดจนถึงอายุ 15 ปี 

2.3 ประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานถูกเลิกจ้าง ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ครั้งละไม่เกิน 180 วันต่อปีปฏิทิน ในอัตราร้อยละ 80 ของค่าจ้าง กรณีลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ตามกำหนดระยะเวลา ได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ครั้งละไม่เกิน 90 วันต่อปีปฏิทิน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย

2.4 เพิ่มประโยชน์ทดแทนกรณีบำนาญชราภาพ รายเดือนใน อัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบก่อนความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง

3. จัดการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคมให้เป็นตามกฎหมายภายในเดือนธันวาคม 2566 โดย

3.1  ให้แก้ไขระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ในส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากเดิมที่กำหนดให้ต้องมีสัญชาติไทยนั้น ให้เปลี่ยนเป็นผู้ประกันตนทุกคน 

3.2 ให้แก้ไขระเบียบเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้งส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน ก่อนเดือนที่มีการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม

3.3  ให้แก้ระเบียบในส่วนของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนต้องมีการส่งเงินสมทบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 12 เดือนนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง 

จึงเรียนมายังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนมีความยินดีในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้บรรลุข้อเรียกร้อง

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

นางสาวธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน                

นายบุญยืน สุขใหม่ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก

นายธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง        

นางสาวลักษมี สุวรรณภักดี สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอการตัดเย็บเครื่องหนังแห่งประเทศไทย

นายศิววงษ์ สุขทวี เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG)

นายษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นายชลิต รัษฐปานะ สหภาพคนทำงาน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net