Skip to main content
sharethis

นิทรรศการ "Beyond the Headline" ส่องความท้าท้ายของการรายงานข่าว ผ่านการชุมนุมครั้งใหญ่ ตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา ด้าน 'พรรษาศิริ' อ.นิเทศฯ จุฬาฯ หนึ่งในผู้จัดงาน มองสื่อควรได้รับความคุ้มครอง ซึ่งจะทำให้การรายงานข่าวทำได้อย่างอิสระ และสร้างความเข้าใจการชุมนุมทางการเมืองได้ครบถ้วน

 

เมื่อ 15 ก.ย. 2566 เวลา 20.00 น. ที่ 1559 Space (ข้าง ART4C Gallery) สามย่าน โครงการงานวิจัยการรายงานข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุม จัดงาน "Beyond the Headline" นิทรรศการความท้าทายของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุมตั้งแต่ปี 2535

ภายในนิทรรศการมีการจัดแสดง ผู้เข้าร่วมจะได้เห็นข้อมูลเชิงสถิติการสลายการชุมนุมและการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐต่อสื่อมวลชนตั้งแต่พฤษภาทมิฬ 2535 เป็นต้นมา มุมมองของสื่อแต่ละคนต่อความท้าท้ายการรายงานข่าวสถานการณ์การชุมนุม ไปจนถึงให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมช่วยกันโหวตข้อเสนอในประเด็นสิทธิเสรีภาพของสื่อต่อภาครัฐ

สื่อได้รับผลกระทบมากสุดช่วงม็อบราษฎร 

ระหว่างการชมงาน ผู้สื่อข่าวได้ร่วมพูดคุยกับ พรรษาศิริ กุหลาบ อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหนึ่งในผู้จัดงาน กล่าวถึงนิทรรศการนี้ต้องการพูดถึงบทบาทของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุม โดยจะมีกรณีศึกษาทั้งหมด 5 ครั้ง คือ 1. การชุมนุมพฤษภาประชาธรรม เมื่อปี 2535 (ช่วงพฤษภาทมิฬ) 2. การชุมนุมที่นำโดยพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (ปี 2548-2553) 3. การชุมนุมของ นปช. หรือคนเสื้อแดง 4. ม็อบ กปปส. (ปี 2556-2557) และ 4. ม็อบราษฎร (2563-2565) โดยเราจะไปดูผลกระทบที่เกิดขึ้นสื่อมวลชนว่าได้รับความรุนแรงโดยรัฐอย่างไรบ้าง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการกดดันจากผู้ชุมนุมก็มีผลต่อการทำงานของสื่อมวลชน ทำให้ปิดกั้นอิสระในการทำงาน 

พรรษาศิริ กุหลาบ

ถ้าเดินเข้าไปในงาน จะพบป้ายผ้าไวนิลแสดงให้เห็นสถิติผลกระทบต่อสื่อในรูปแบบต่างๆ โดยพรรษาศิริ ระบุต่อว่า ข้อน่าสังเกตอย่างแรก หากเราดูการชุมนุมตั้งแต่พฤษภาทมิฬ หรือปี 2535 จนถึงพันธมิตร กปปส. และ นปช. สื่อมวลชนจะยังไม่ได้รับผลกระทบในวงกว้างมากนัก และแม้ว่าการชุมนุม นปช. จะมีผู้สื่อข่าวเสียชีวิต อย่างน้อย 2 ราย เป็นผู้สื่อข่าวต่างชาติ และได้รับความรุนแรงจากอาวุธทหาร

ส่วนในการชุมนุมของม็อบราษฎร ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา พบว่า สื่อมวลชนได้รับความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ใช้ระหว่างการสลายการชุมนุมเยอะมาก และหลากหลายรูปแบบ แม้ว่าจะไม่รุนแรงจนเสียชีวิตเช่นเดียวกับ นปช. แต่ก็ไม่ควรจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างการปฏิบัติงานในการรายงานข้อเท็จจริง และเป็นช่องทางในการสื่อสารความคับข้องใจของผู้ที่มาชุมนุม ข้อเรียกร้องของเขาในการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้มีการถกเถียงกันในสังคมไทย 

การายงานข่าวต้องได้รับการคุ้มครอง 

พรรษาศิริ กุหลาบ กล่าวต่อถึงการถอดบทเรียน และข้อเสนอว่า ประการแรกคือการรายงานการชุมนุม ข้อสังเกตหนึ่งก็คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมในแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบที่มีต่อในเชิงกายภาพ การถูกข่มขู่คุกคาม ไปจนถึงการที่เสียชีวิต มันทำให้สื่อมวลชนทำงานไม่เป็นอิสระ และทำหน้าที่ด้วยความหวาดระแวง และด้วยความเกร็ง ซึ่งถ้าสื่อมวลชนได้รับความปลอดภัย และอิสระในการทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมทางการเมืองที่มีผู้คนมารวมตัวค่อนข้างมาก และเจ้าหน้าที่รัฐมีวิธีคิดที่จะต้องใช้มาตรการบางอย่างไปจนถึงความรุนแรงขั้นต่างๆ ในการปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งมันไม่เป็นผลดีในการที่จะทำให้สื่อมวลชนทำงานเล่าเรื่องได้ 

ประเด็นที่ 2 ที่อยากจะชวนคิดก็คือการชุมนุมมันเป็นสิทธิในการสื่อสารของประชาชน สิทธิในการมีสื่อร่วมทางการเมือง ดังนั้น สื่อมวลชนควรจะมีอิสระในการทำหน้าที่ตรงนั้นด้วยเหมือนกัน สืบเนื่องไปถึงว่า การชุมนุมเป็นผลของความขัดแย้งของผู้ชุมนุมจะสื่อสารบางเรื่องที่เขาเห็นว่ามันไม่เป็นธรรม ต้องการจะเรียกร้องให้รัฐบาลเห็นปัญหาตรงนี้ สื่อมวลชนจึงควรจะทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ และในขณะเดียวกัน มันไม่ใช่เฉพาะเหตุการการชุมนุม และความขัดแย้งที่สื่อมวลชนไม่ควรจะถูกปิดกั้น และควรจะได้รับความคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงในเชิงกายภาพ หรือมาตรการทุกประการ

ทั้งนี้ "Beyond the Headline" นิทรรศการความท้าทายของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุม จัดโดยโครงการงานวิจัยการรายข่าวการประท้วง: บทบาทของสื่อมวลชนไทยในการชุมนุม โดยระยะเวลาการจัดงานมีทุกวันตั้งแต่วันที่ 15-20 กันยายน 2566 เวลา 12.00-20.00 น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net