Skip to main content
sharethis

รายงานใหม่กรีนพีซเผยภัยคุกคามมหาสมุทรเพิ่มขึ้น เรียกร้องรัฐบาลเร่งให้สัตยาบันสนธิสัญญาสร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศทะเล 


ที่มาภาพ: Nick Cobbing / Greenpeace

16 ก.ย. 2566 รายงานใหม่จากกรีนพีซ 30x30: From Global Ocean Treaty to Protection at Sea ระบุ ภัยคุกคามทะเลยังคงเพิ่มขึ้นทั้งจากอุตสาหกรรมประมง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และโครงการอุตสาหกรรม แม้รัฐบาลทั่วโลกได้ข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวง ซึ่งจะมีการลงนามอย่างเป็นทางการในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในวันที่ 20 ก.ย. 2566 นี้ 

เมื่อเดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมารัฐบาลทั่วโลกได้บรรลุข้อตกลงสนธิสัญญาทะเลหลวง ซึ่งเป็นสนธิสัญญาประวัติศาสตร์ และจะมีส่วนสำคัญในการนำมาใช้สร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศในมหาสมุทรและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในน่านน้ำสากล 

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับใหม่จากกรีนพีซ ระบุว่ามีการทำประมงในทะเลหลวงมากขึ้น 8.5 เปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 8.5 ล้านชั่วโมง ในปี 2561-2565 และนับเป็น 22.5 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ซึ่งเป็นเป้าหมายในการสร้างเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพของมหาสมุทร ขณะที่เบ็ดราวซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือประมงทำลายล้าง กลับมีการใช้กันถึงสามในสี่ของการทำประมงทั้งหมดในทะเลหลวงทั่วโลก ตัวเลขนี้สวนทางกับความพยายามของหลายฝ่ายที่กำลังมุ่งหน้าสู่การสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเล 

นอกเหนือจากภัยคุกคามจากการทำประมงทำลายล้าง รายงานชิ้นนี้ยังเผยว่า ปัญหาของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลพิษพลาสติก ทะเลกรด และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น เหมืองทะเลลึก หรือการขนส่งน้ำมัน ยังคงคุกคามมหาสมุทรต่อไป การสร้างพื้นที่คุ้มครองทางทะเลให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของมหาสมุทรทั้งหมด จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน และสนธิสัญญาทะเลหลวงจะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมาย

คริส ธอร์น นักรณรงค์แคมเปญ Protect The Oceans กรีนพีซ กล่าวว่า

“แม้การได้สนธิสัญญาทะเลหลวงจะถือเป็นชัยชนะสำคัญ แต่รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นว่าภัยคุกคามมหาสมุทรยังคงเพิ่มมากขึ้น สนธิสัญญาทะเลหลวงจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการปกป้องมหาสมุทร ต่อจากนี้รัฐบาลต่างๆต้องเร่งให้สัตยาบันเพื่อสร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล ให้สิ่งมีชีวิตและมหาสมุทรได้ฟื้นตัวและเติบโต

“การทำประมงทำลายล้างกระทบต่อทั้งอนาคตมหาสมุทรและอนาคตของโลก ถ้าเราอยากให้สิ่งมีชีวิตในทะเลได้มีโอกาสฟื้นฟู  พื้นที่อย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ของมหาสมุทรต้องได้รับการปกป้องภายในปี 2573 ตอนนี้เหลืออีกแค่แปดปี ประเทศต่างๆต้องลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวงอย่างเป็นทางการในการประชุมสหประชาชาติในสัปดาห์นี้แล้ว และต้องให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาก่อนการประชุมสหประชาชาติด้านมหาสมุทรในปี 2568”

เขตคุ้มครองทะเลหลวงจะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้วิกฤตในมหาสมุทร จะช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตในทะเลจากกิจกรรมของมนุษย์ และปล่อยให้ระบบนิเวศได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง เพราะปัจจุบันมีพื้นที่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของมหาสมุทรเท่านั้นที่ได้รับการปกป้อง และเป้าหมายในการกำหนดเขตคุ้มครองทางมหาสมุทรนี้ให้ได้ร้อยละ 30 กินพื้นที่ประมาณ 11 ล้านตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 20 เท่าของประเทศไทย 

ณิชนันท์ ตัณธนาวิทย์ หัวหน้าโครงการรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า

“ขณะนี้ประเทศไทยได้มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการแล้ว จึงขอให้รัฐบาลชุดใหม่ให้พิจารณาลงนามสัตยาบันสนธิสัญญาทะเลหลวงภายในปีนี้ ตามที่ได้ประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนสนธิสัญญาฉบับนี้ไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีน่านน้ำที่เชื่อมต่อกับทะเลหลวงโดยตรง แต่สนธิสัญญาฉบับนี้จะช่วยให้เกิดการปกป้องมหาสมุทรที่ถือเป็นสมบัติร่วมกันของมนุษยชาติอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงไทยยังจะได้ประโยชน์จากการแบ่งปันข้อมูลองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญมาใช้ต่อยอดการศึกษาภายในประเทศ”

เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งให้สัตยาบันและสร้างเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเล กรีนพีซได้ทำแอนิเมชั่นว่าด้วยเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตที่ต้องหนีภัยคุกคามในมหาสมุทร เพื่อออกตามหาเขตคุ้มครองทางทะเล โดยมีนักแสดงฮอลลีวู้ดอย่างเจน ฟอนดา (Jane Fonda) และไซม่อน เพ็กก์ (Simon Pegg) รวมถึงนักร้องนักแต่งเพลง  กามิลา กาเบโย (Camila Cabello) มาร่วมลงเสียงตัวละครในแอนิเมชั่นนี้ด้วย 

อ่านรายงานฉบับเต็ม https://www.greenpeace.org/thailand/publication/28436/from-global-ocean-treaty-to-protection-at-sea/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net