Skip to main content
sharethis
  • ‘โรม’ ชี้ นโยบายปราบทุจริตคอร์รัปชัน เป็นบทพิสูจน์การทำงานรัฐบาลเศรษฐา ติงคำแถลงไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม เหตุรัฐบาลผสมหลายขั้ว มองไม่เห็นประเทศจะหลุดพ้นวงจรอุบาทว์  จี้ถาม ‘เศรษฐา’ แก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ของตำรวจอย่างไร หวังรัฐบาลนี้ ตำรวจน้ำดีมีที่ยืน ปลอดตั๋วช้าง-ตั๋วแมมมอธ
  • ‘ปิยรัฐ’ ขอคำตอบ มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมยุครัฐบาลเศรษฐา จะเป็นอย่างไร ชี้ก่อนพูดก้าวข้ามความขัดแย้ง ต้องสร้างความยุติธรรมก่อน เชื่อประชาชนให้โอกาส แต่ต้องทำทุกอย่างตรงไปตรงมา อย่าให้ใครว่ารัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น

13 ก.ย.2566 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า วานนี้ (12 ก.ย.) รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา ถึงนโยบายการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยระบุว่า หลังจากได้ฟังนโยบายของนายกฯ เศรษฐาที่แถลงต่อรัฐสภา พบว่านโยบายของท่านมีการกล่าวถึงปัญหาของประเทศชาติไว้หลากหลาย แต่ละปัญหาล้วนเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ แต่เมื่อกลับมาพิจารณาถึงวิธีการที่ท่านได้นำเสนอเพื่อแก้ปัญหาที่ใหญ่ยิ่งเทียมฟ้านั้น กลับขาดความชัดเจน ว่าตกลงท่านต้องการทำอะไร

ตนเข้าใจว่าการตั้งรัฐบาลของนายกฯ มีหลายกลุ่มหลายขั้ว จะทำอะไรก็ต้องเกรงใจ นโยบายที่ออกมาจึงเป็นนโยบายที่เกรงใจพวกพ้อง ไม่สามารถใช้นโยบายเดิมที่ดุดันไม่ต้องเกรงใจใครเหมือนตอนหาเสียง วันนี้พรรคแกนนำจึงไม่ต่างอะไรกับพรรคการเมืองที่ไม่เหลือนโยบาย แล้วแต่ว่าพรรคร่วมจะจูงจมูกไปทางใด สุดท้าย รัฐบาลนี้จะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงเพื่อความผาสุกของประชาชน หรือความผาสุกของคนในระบอบประยุทธ์กันแน่ เป็นคำถามสำคัญที่ต้องรอการพิสูจน์

ที่ผ่านมามีการทุจริตคอร์รัปชันภายในระบบราชการอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เรื่องตั๋วช้าง ซึ่งเป็นความท้าทายของระบบคุณธรรมในระบบราชการ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตำรวจต้องทุจริต เพื่อหาเงินมาซื้อตำแหน่ง ไม่ว่าจะทำโดยการตั้งด่านรีดไถ หรือการขู่เข็ญให้ประชาชนจ่ายส่วยสินบน รวมทั้งสร้างเครือข่ายอำนาจนิยมที่ทำให้ตำรวจต้องอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของผู้มีอำนาจ

จี้ถาม ‘เศรษฐา’ แก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ของตำรวจอย่างไร 

ถามกันอย่างตรงไปตรงมา ตกลงว่าในยุคของนายกฯ เศรษฐา จะแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ของตำรวจอย่างไร จะยังมีตั๋วช้างอีกหรือไม่ หรือนอกจากกรณีตั๋วตำรวจที่เป็นปัญหา ยังมีกรณีตำรวจราบ ที่เป็นช่องทางให้มีการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจให้ย้ายข้ามหน่วยงาน ไปในที่ที่เขาไม่รู้จักและไม่อยากจะไป ใครที่ไม่ยอมรับกระบวนการแบบนี้จะถูกสั่งธำรงวินัยนานถึง 9 เดือน นี่คือความเน่าเฟะของระบบอุปถัมภ์ที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้มีอำนาจในรัฐบาลมาเป็นเวลานาน

กรณีการทุจริตในกองบินตำรวจ จนสร้างหนี้ให้กับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกือบ 1 พันล้านบาท ปรากฎว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ได้มีการอนุมัติงบกลางไปใช้หนี้ดังกล่าว ขัดต่อกฎหมาย สร้างความเสียหายต่อภาษีของประชาชนและประเทศชาติ ท่านนายกฯ เศรษฐา จะมีนโยบายจัดการกับการทุจริตเหล่านี้อย่างไร ท่านนายกฯ จะมีความกล้าหาญเพียงพอกับการดำเนินคดีกับคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ หรือท่านจะเกรงอกเกรงใจพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคจนไม่กล้าทำอะไร

หรือเรื่องการค้ามนุษย์ ที่ส่งผลให้ตำรวจดีๆ ยศพลตำรวจตรี ผู้มีผลงานปราบปรามเครือข่ายการค้ามนุษย์ กลับต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ ประสบวิบากกรรมภายหลังจับนายทหารยศ พล.ท. และถูกคุกคามอย่างหนักจากอำนาจมืดที่มองไม่เห็น

จนมาถึงวันนี้ การทุจริตทั้งหลาย ทำให้โครงสร้างตำรวจของเราอ่อนแอ เกิดบรรดาผู้มีอิทธิพลต่างๆ ดังเช่นเหตุการณ์กรณีกำนันนก ซึ่งมีตำรวจถูกยิงเสียชีวิตโดยที่ตำรวจที่เหลือ 21 คนได้แต่นั่งมองตาปริบๆ มากไปกว่านั้น ความอ่อนแอนี้ยังได้ทำให้อาชญากรข้ามชาติเข้ามาเสวยสุขในประเทศของเราได้อย่างปลอดภัย ยาเสพติดและทุนจีนสีเทาจึงไหลทะลักเข้ามาในประเทศ เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการก่ออาชญากรรม

วันนี้ท่านนายกฯ วาดฝันว่า 5 ปีข้างหน้า นโยบายเช่นนี้จะทำให้ประเทศมีหลักนิติธรรมที่เข้มแข็งและน่าเชื่อถือ แต่สำหรับตน เมื่ออ่านนโยบาย กลับมองไม่เห็นว่าประเทศไทยจะหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์ที่กัดกินไปได้อย่างไร นึกไม่ออกว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันที่กำลังเกิด จะยุติด้วยวิธีการใด อะไรคือขั้นตอนที่เป็นรูปธรรม ไม่ปรากฎในคำแถลงเลยแม้แต่น้อย

ตนอยากพิสูจน์ความจริงใจในการแก้ปัญหาของนายกฯ ว่าท่านต้องการจะแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันและยาเสพติดหรือไม่ สมกับที่ท่านได้เขียนลงไปในคำแถลงนโยบายว่า ให้ผู้ผลิตผู้ค้าได้รับโทษทางกฎหมาย ปราบปรามอย่างจริงจัง และ “ยึดทรัพย์” เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด มันจะเป็นแบบนั้นจริงๆหรือไม่ ด้วยข้อเท็จจริงที่ตนเพิ่งได้รับรายงาน มาพิสูจน์ให้ประชาชนได้เห็นว่าท่านจะเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามยาเสพติด ไม่ใช่ลมปากที่พูดแล้วไม่ทำ

“ข้อมูลที่ผมมี เป็นคลิปเสียงของนักการเมืองระดับ สว. 2 คน ได้แก่ สว.ทรงเอ และ สว.พ. พูดคุยกับนักธุรกิจชื่อนายดี้ เมื่อปี 2564 เพื่อวางแผนเคลียร์คดีหลังจากที่เรื่องราวยาเสพติดของ สว. ทรงเอ มันแดงขึ้นมา” รังสิมันต์กล่าว

เริ่มต้นจากนาย ออ ทรง เอ เดิมทีเป็นเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศเพื่อนบ้าน ได้ใช้โรงแรมนั้นเป็นบ่อนการพนัน และดำเนินธุรกิจไฟฟ้าควบคู่กันไป แต่เมื่อนาย ออ ทรง เอ ได้รับเลือกเป็น สว.แล้ว การทำธุรกิจของ สว. ทรงเอ ก็ได้ดำเนินผ่านการใช้นอมินี ซึ่งนอมินีคนล่าสุดคือ ลูกเขยของตัวเอง ก่อนที่ สว.พ. จะได้สานสัมพันธ์ให้ สว.ทรงเอกับนายดี้รู้จักกัน นำมาสู่การตัดสินใจขายธุรกิจบ่อนการพนันให้กับนายดี้ ที่มีชื่อเสียงในการทำพนันออนไลน์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และหลังจากที่ได้รับมอบธุรกิจมาจาก สว.ทรงเอแล้ว ปรากฏว่า นายดี้ถูก บช.ปส. เข้ามาตรวจสอบตรวจค้น ด้วยความตกใจที่โดนตรวจสอบ ทำให้นายดี้ต้องกลับมาหา สว.ทรงเอ เพื่อให้ สว.ทรงเอ เข้ามาเคลียร์ปัญหาให้

มาถึงจุดนี้ ธุรกิจบ่อนการพนัน และธุรกิจไฟฟ้านี้ มีความเกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างไร จากที่ ส.ว. ทรงเอ คุยกับนายดี้ ว่าธุรกิจไฟฟ้านี้ มีขึ้นเพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าไปในบ่อนการพนัน ในอดีต เมืองท่าขี้เหล็กนั้นไม่มีไฟใช้กันทั้งเมือง จึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมียนมา โดยรัฐบาลของ พล.อ. เต็งเส่ง ให้ สว. ทรงเอ คนนี้เป็นตัวแทนในการขายไฟ เพื่อให้เอาไฟฟ้ามาใช้ในธุรกิจบ่อนการพนัน แต่เนื่องจากจะให้เอาไฟมาใช้เฉพาะในบ่อนอย่างเดียว มันคงดูไม่ดี จึงเป็นที่มาของการจำหน่ายไฟจากฝั่งไทยไปยังฝั่งเมียนมา

เมื่อได้ฟังคลิปเสียง ตนสะดุดใจกับชื่อบริษัท “หงปัง” คุ้นๆ หรือไม่ ว่ามีความสำคัญอย่างไรกับเรื่องนี้ บริษัทหงปังนี้เอง เป็นบริษัทของนายเหว่ย เซียะ กัง ที่เกี่ยวข้องกับพวกว้าแดง หนึ่งในขบวนการยาเสพติดระดับโลก ดังนั้นเมื่อนายดี้รับช่วงธุรกิจบ่อนการพนันไปจาก สว.ทรงเอ จึงไม่แปลกเลยที่จะถูก บช.ปส. ติดตามตัวจนเป็นต้นเหตุของคลิปนี้

ทำให้นอกจากไฟฟ้าของบ้านเราจะถูกนำไปหล่อเลี้ยงบ่อนการพนันแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ส่งไฟไปยังขบวนการยาเสพติดผ่านเครือข่ายของ สว.ทรงเอ ใช่หรือไม่ และยาเสพติดเหล่านี้ก็ถูกส่งกลับมาขายให้กับคนไทย ทำลายชีวิต และอนาคตของคนไทย เอาเงินจากคนไทยที่ได้จากการขายยา ส่งกลับไปเมียนมาเพื่อนำมาจ่ายค่าไฟ แล้วนำมาผลิตยาบ้าต่อไป วนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้ไม่รู้จบไม่รู้สิ้น

นอกจากนี้ ในคลิปเสียงนี้ ยังปรากฎว่ามีการพูดถึงนายตำรวจสำคัญอีก 2 คน ที่เป็นถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในประเทศ ซึ่งในที่นี้ขอใช้ชื่อย่อ ป.1 และชื่อย่อ ป.2 ซึ่งเป็นระดับผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติด้วยกันทั้งคู่ แต่คนละช่วงเวลา ทั้ง 2 คนถูกอ้างถึงเพื่อช่วยเหลือในการวิ่งคดี และเคลียร์คดียาเสพติด นอกจากนี้ ตนมีภาพหลักฐานว่า สว. ทรงเอ ได้ปรากฎตัว ในห้องของผู้บัญชาการ บช.ปส. แสดงให้เห็นว่า นี่ไม่ใช่การพูดคุยกันธรรมดา แต่เป็นการวิ่งคดีกัน โดยมีตำรวจผู้ใหญ่รู้เห็นเป็นใจด้วย

การรู้จักกับบรรดาบิ๊กเนมเหล่านั้น ใช้เส้นสายที่มีเพื่อวิ่งเต้นคดี มันได้ผลจริงๆ เพราะ ตั้งหลายเดือนที่มีการปิดสมัยประชุม สว. คนดังคนนี้ก็อยู่รอดปลอดภัย อาจจะมีการแจ้งข้อหาบางข้อหาไปบ้าง เช่น ฟอกเงิน หรืออาชญากรรมข้ามชาติ แต่ข้อหาสำคัญอย่างสมคบค้ายากลับไม่ถูกแจ้ง และเมื่อเทียบกับ นายทุนมินลัต  คนสนิทของผู้นำเผด็จการทหารในเมียนมาร์ และเป็นเพื่อนคู่ขาของ สว.ทรงเอ ที่ถูกจับกุมไปก่อนหน้านี้ ที่ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำ ช่างแตกต่างกับ สว.ทรงเอ ที่แม้แต่จะออกหมายจับ ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีการถอนหมายจับตามคำสั่งของอธิบดี และรองอธิบดีศาลอาญา ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันรองอธิบดีคนนี้จะถูกตั้งกรรมการสอบวินัยร้ายแรง แต่ สว. ทรงเอ ก็ยังใช้ชีวิตทรงเอ อย่างปรกติสุขได้ต่อไป ขณะที่ตำรวจที่พยายามทำคดีนี้กลับถูกสั่งย้ายเพราะการปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ขัดกับประโยชน์ของ สว.ทรงเอ

“ทั้งหมดนี้ เพื่อชี้ให้ท่านนายกรัฐมนตรีเห็น ว่าปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย มันหยั่งรากลึกและไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะว่าเบื้องลึกเบื้องหลังคือเครือข่ายของนักการเมืองบางกลุ่ม ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐได้มารู้จักกัน และพัฒนาเป็นเครือข่ายอุปถัมภ์ค้ำจุน และทอดสะพานไปสู่ผู้นำเผด็จการให้เข้ามาเป็นคู่สัญญากับการไฟฟ้า ผ่านการใช้ สว.ทรงเอ เป็นนอมีนี” รังสิมันต์กล่าว

ขบวนการที่มีเผด็จการเมียนมาหนุนหลังเหล่านี้ ยังมีส่วนพัวพันการไล่ที่ชาวบ้าน เพื่อเอามาให้แก่พวกว้าแดงทางฝั่งเมียนมาอีกด้วย ดังนั้นความเสียหายนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น ยังกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และทั่วโลกในฐานะผู้เสียหายจากขบวนการยาเสพติดที่มีเครือข่ายซึ่ง สว. ทรงเอ คนนี้รวมอยู่ด้วย

วันนี้ปัญหาธุรกิจผิดกฎหมายในบริเวณชายแดนหนักหนาขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นยาเสพติด การฟอกเงิน แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ เงินจำนวนมากที่ขบวนการเหล่านี้ได้รับมาจากเงินของคนไทย ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นสินบน เพื่อซื้อตำรวจ สร้างเครือข่ายพรรคพวก เพื่อทำลายความยุติธรรมของประเทศของเรา ตนหวังว่านายกฯ จะใช้อำนาจที่มี เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น อย่าปล่อยทิ้งไว้เหมือนที่ผ่านมา

ดังนั้น ถ้านายกรัฐมนตรี มีความจริงใจต่อการปราบการทุจริตคอร์รัปชันและยาเสพติด สิ่งที่ต้องทำเป็นลำดับแรก คือ การสั่งการ ให้ ป.ป.ง. ทำหน้าที่ของตัวเอง เพราะ สว. ทรงเอคนนี้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาอาชญากรรมข้ามชาติ และฟอกเงิน ดังนั้น ป.ป.ง. จะต้องยึดอายัดทรัพย์สินทั้งหมดของ สว. ทรงเอ รวมไปถึง ที่ทำการพรรคร่วมรัฐบาลพรรคหนึ่ง เพื่อมาตรวจสอบว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิดหรือไม่ และได้โปรดสั่ง ผบ.ตร. ให้ดำเนินส่งเรื่องมาที่สภาเพื่อขอตัว สว. ทรงเอ ไปแจ้งข้อหาสบคบค้ายาได้แล้ว เพราะตนทราบว่าทางอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งให้แจ้งข้อหาสบคบค้ายาแล้ว ไม่ทราบว่า ผบ.ตร. จะประวิงเวลาไปทำไม 

“ดังนั้น ถ้าท่านอยากฟื้นฟูหลักนิติธรรมของประเทศ ยึดอาคารหลังดังกล่าวเลยครับ พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า ท่านจะไม่มีทางก้มหัวให้กับอำนาจใด พิสูจน์ให้ประชาชนเห็น ว่าท่านจะไม่ยอมจำนนต่อผู้มีอิทธิพล พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่าท่านจะเอาจริงเอาจังกับการทลายเครือข่ายคอร์รัปชันยาเสพติด หาไม่แล้ว ประชาชนจะตราหน้าท่านว่าเป็นแค่เพียงทายาทอสูรสืบทอดวิญญาณร้ายของระบอบการเมืองเดิม คือทายาทคนต่อไปของ พล.อ.ประยุทธ์” รังสิมันต์กล่าว

หวังรัฐบาลนี้ ตำรวจน้ำดีมีที่ยืน ปลอดตั๋วช้าง-ตั๋วแมมมอธ

รังสิมันต์ระบุอีกว่า ในแวดวงราชการ เราคงต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าตลอด 1 ทศวรรษที่ผ่านมา คือความเลวร้ายที่เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน ข้าราชการน้ำดีที่ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ยากเหลือเกินที่จะเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เขาเหล่านี้ดำรงชีพด้วยอัตราเงินเดือนเท่าที่ได้รับจากแผ่นดิน ยอมกัดฟันก้มหน้าก้มตาทำงาน หวังว่าผู้บังคับบัญชาจะเห็นในความดี แต่สุดท้าย เพื่อนรอบข้างที่เดินสายทุจริตกลับได้ดิบได้ดี มีเงินเหลือเฟือเหลือใช้ มีชีวิตสุขสบาย แต่ราคาของข้าราชการน้ำดีที่ต้องจ่ายนับวันมันยิ่งมากเหลือเกิน หลายคนที่รับไม่ไหว ก็ลาออก หลายคนที่โดนกดดันมากๆ สุดท้ายกลายเป็นพวกสีเทาก็มี และบางคนที่พอจะรักษาความดีไว้ได้ อาจจะต้องสูญเสียชีวิตจากอำนาจมืด

อย่างที่เราพอจะเห็นข่าวในไม่กี่วันมานี้ และตำรวจบางคน อย่าง พล.ต.ต. ปวีณ ตำรวจน้ำดี ผู้สร้างผลงานปราบการค้ามนุษย์ ทลายการค้าทาสยุคใหม่ วันนี้กลายเป็นผู้ลี้ภัย ต้องทำงานหนักหาเลี้ยงชีพในต่างประเทศ แทนที่จะได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอยู่กับลูกหลานเฉกเช่นตำรวจที่เกษียณราชการทั่วไป

“ผมคิดว่าท่านนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ซึ่งมาจากพรรคเพื่อไทย น่าจะเข้าใจความรู้สึกของผู้ลี้ภัยได้ดีที่สุด มันช่างน่าเศร้านะครับ ที่เราต้องเฝ้ามองประเทศที่เรารักอยู่ข้างนอก ตำรวจน้ำดีอย่างคุณปวีณก็คงอยากกลับมาที่ประเทศไทยได้ใช้ชีวิตกับคนในครอบครัว คงไม่ต้องถึงขนาดได้รับสิทธิพิเศษ เหมือนใครบางคนที่ได้รับการลดโทษ ได้พักในโรงพยาบาลที่มีคุณภาพเหมือนโรงแรมห้าดาว ตำรวจธรรมดาแบบคุณปวีณ ตำรวจที่ไม่มีตั๋วช้าง ไม่มีตั๋วแมมมอธโครตเทพ VVVIP อย่าง พ.ต.ท. คนหนึ่งที่ได้รับตั๋วนี้ จึงไม่อาจที่จะได้รับสิทธิพิเศษใดๆ หากกลับมาประเทศไทย ก็อาจจะถูกลงโทษ ถูกอำนาจมืดเล่นงาน ขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้าลิขิต ผมก็ขอฝากตำรวจน้ำดีอย่างคุณปวีณให้สามารถกลับบ้านได้บ้าง และผมหวังว่าในรัฐบาลนี้ ตำรวจน้ำดีจะมีที่ยืน ไม่เหมือนรัฐบาลที่แล้ว” รังสิมันต์กล่าว

‘ปิยรัฐ’ ขอคำตอบ มาตรฐานกระบวนการยุติธรรมยุครัฐบาลเศรษฐา จะเป็นอย่างไร 

ขณะที่ ปิยรัฐ จงเทพ สส.กรุงเทพฯ (เขตพระโขนง บางนา) พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายแถลงนโยบายของรัฐบาล โดยระบุว่า เรื่องหลักการยุติธรรม กระบวนการปฏิรูปกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน การเสริมสร้างหลักนิติธรรม และการพัฒนาประชาธิปไตย คำแถลงของรัฐบาลนี้มีมาตรฐานต่ำกว่านโยบายของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เคยแถลงต่อรัฐสภา เมื่อปี 2562 เสียอีก ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ มีอยู่สั้นๆ ประโยคเดียวในหน้าที่ 13 เท่านั้น 

และเมื่อลองไปดูนโยบายหน้า 3 ระบุสั้นๆ ว่าประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมาย การเมือง และการปกครอง ที่ความเห็นต่าง การแบ่งแยกทางความคิด การไม่เคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้สังคมอยู่ในจุดที่น่ากังวล หรือหน้า 12 ระบุว่า “จะสนับสนุนให้มีความร่วมมือ ระหว่างรัฐกับประชาชน ประชาชนกับประชาชนที่มีความแตกต่างทางความคิด ศาสนา และอุดมการณ์ ให้สามารถอาศัยอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุขภายใต้หลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง” 

จึงขอถามนายกรัฐมนตรีว่า เมื่อในเอกสารระบุไว้แค่นี้ ท่านจะมีวิธีแก้ไขหรือรับมือต่อเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายที่อยุติธรรม ไม่เสมอภาค เลือกปฏิบัติ หรือสรุปสั้นๆ ว่าขาดหลักนิติธรรม ไม่เป็นประชาธิปไตย

ปัจจุบันต้องยอมรับความจริงว่าประเทศของเรา ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยที่ไม่สมประกอบเช่นนี้ เปิดโอกาสให้กลุ่มอำนาจทุน อำนาจรัฐ อำนาจปืน และอำนาจกฎหมายรวมหัวกันมาเป็นผู้กำกับทิศทางความเป็นไปของประเทศ  ซึ่งแน่นอนว่า อำนาจที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือบ่อยครั้งที่สุดคือ อำนาจของกฎหมาย หรือที่นิยามปรากฎการณ์นี้ว่า ตุลาการภิวัฒน์

ซึ่งผู้ถืออำนาจนี้ สามารถให้คุณหรือให้โทษกับใครก็ได้ ถือว่าชอบด้วยกฎหมาย แต่จะชอบด้วยธรรมหรือไม่นั้นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็หาหลักหาเกณฑ์อะไรไม่ได้เลย อยู่ที่ว่าคนๆ นั้นเป็นใคร คนๆ นั้นกำลังเป็นภัยคุกคามต่อสถานะทางอำนาจของพวกเขาหรือไม่ และหากพรรคการเมืองไหนไม่เชื่อฟัง ไม่ศิโรราบก็ตัดสิทธิยุบพรรค เป็นเรื่องที่เห็นได้บ่อยครั้ง 

ปัญหาก็จะวนเวียนซ้ำซากเช่นนี้ มีการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเพื่อทำร้ายทำลายกัน หรือบีบให้ยอมจำนน ตามแบบที่ปิยบุตร แสงกนกกุล ได้นิยามว่านี้คือการใช้นิติสงคราม เป็นยุทธศาสตร์ของฝ่ายอำนาจนิยม 

ตนคิดว่าเรื่องนี้ พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล น่าจะเข้าใจและรู้สึกถึงสิ่งที่ตนกล่าวมาได้ดีที่สุด หลายคนที่นั่งเป็นรัฐมนตรีตอนนี้จึงจำเป็นต้องกลายเป็นคนไม่ตรงไปตรงมาเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยภายใต้ระบบการเมือง ระบบกฎหมายที่ขาดหลักนิติธรรม

ชี้ก่อนพูดก้าวข้ามความขัดแย้ง ต้องสร้างความยุติธรรมก่อน

ปิยรัฐ อภิปรายต่อว่า หากเราลองพิจารณาดู จะเห็นว่าไม่มียุคไหนสมัยไหนที่สังคมต่างพูดถึงเรื่องความยุติธรรม พูดถึงเรื่องเสรีภาพการแสดงออกและสิทธิมนุษยชนมากมายขยายวงกว้างเท่ากับยุคสมัยนี้อีกแล้ว ตนจึงจำเป็นต้องเน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้รัฐบาลได้ชี้แจงให้เกิดความกระจ่าง เพราะเรื่องนี้คือหัวใจสำคัญที่จะสร้างความปรองดองของคนในชาติได้อย่างแท้จริง ดังคำที่ว่า “ความยุติธรรมไม่มี ความสามัคคีไม่เกิด” 

หากจำได้ เหตุผลที่รัฐบาลบอกกับประชาชนในวันจัดตั้งรัฐบาล ท่านบอกกับประชาชนว่า “เพื่อความสามัคคี ปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ตนขอถามว่า ได้เห็นถ้อยคำนี้ในเอกสารนโยบายสักกี่ประโยค หรือรัฐบาลได้ระบุวิธีการใดที่เป็นรูปธรรมว่าเขาจะสร้างความสามัคคีปรองดอง 

“นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ ผมไม่มีทางเชื่อ ว่ารัฐบาลของนายกฯ เศรษฐาจะกล้าหาญพอที่จะดำเนินโยบายตามที่แถลงได้ หากเราจำกันได้ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ไปนั่งเป็นรัฐมนตรีอยู่ในเวลานี้ก็เคยโกหกจนต้องลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เพื่อเปิดทางไปผสมข้ามขั้วจับมือกันตั้งรัฐบาล จากนั้นไม่นานก็ได้ปูนบำเหน็จได้เป็นรัฐมนตรีอยู่ในครม.นี้” ปิยรัฐกล่าว

ปิยรัฐกล่าวว่า ตนเสียดายกับหลายๆ คนที่เคยอยู่บนเส้นทางการต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมและประชาธิปไตย แต่มาวันนี้ได้นั่งเป็นรัฐมนตรี และ สส. หลายคนกลับบอกว่าสิ่งที่พรรคก้าวไกลเรียกร้องและนำเสนอนั้นเป็นสิ่งเพ้อฝัน ทำไม่ได้จริง ถึงทำก็ไม่มีใครคบ ไม่มีใครเอาด้วย

“นี่กำลังแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลของคุณเศรษฐา ไม่ได้เชื่อในประชาชน จึงไม่ให้ความสำคัญกับกระบวนการส่งเสริมเรื่องสิทธิมนุษยชน เรื่องกฎหมายที่เป็นธรรม หรือแม้แต่เรื่องกระบวนการส่งเสริมประชาธิปไตย มันเพราะเหตุผลอะไรกันแน่ หรือเพราะรัฐบาลของท่านไม่ได้จริงใจที่จะแตะต้องปัญหานี้ตั้งแต่ต้น ยอมอยู่เป็น เลยไม่ยอมที่จะไปแตะต้องเรื่องใดๆ ก็ตาม ที่กลุ่มผู้มีอำนาจตัวจริงในประเทศนี้ไม่ยินยอม”  

ปิยรัฐกล่าวว่า เรื่องนิติธรรม และกระบวนการยุติธรรม เป็นเรื่องสำคัญ ก่อนที่เราจะพูดเรื่องสามัคคีปรองดอง ควรมาคุยเรื่องนี้ก่อน เพราะที่ผ่านมาประชาชนต่างพูดถึงกระบวนการสองมาตรฐาน สามมาตรฐาน หรือหนักกว่านั้นคือไร้มาตรฐาน ซึ่งหลายคนเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาทั้งปวง  

ตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรม เราจะพบว่านับตั้งแต่มีการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  มาจนถึงกลุ่ม นปช.  กปปส. และ กลุ่มของเยาวชนคนหนุ่มสาวในนามกลุ่มราษฎร  ซึ่งการชุมนุมที่ว่ามานี้มีมาตลอดเกือบยี่สิบปีที่ผ่านมา เห็นประชาชนถูกดำเนินคดี ติดคุก บาดเจ็บ พิกลพิการ จนถึงล้มตายกันไปมากมาย โดยเฉพาะเหตุการณ์การล้อมปราบคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552-2553

ขอถามว่าวันนี้ความยุติธรรมอยู่ที่ไหน มาตรฐานการอำนวยความยุติธรรม หลักนิติรัฐ นิติธรรม ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง และนั่นนำมาซึ่งรอยร้าวบาดลึกไปยังความรู้สึกของคนในสังคม ยากที่จะประสานกลับคืนได้ ประชาชนคนตัวเล็กตัวน้อยจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบต่อเรื่องนี้ เช่น การใช้กฎหมายปิดปาก และละเมิดสิทธิของประชาชน ไม่ว่าจะเป็น กฎหมายอาญา หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ กฎอัยการศึก ที่ประกาศใช้ในบางโอกาส

อีกทั้งในช่วง 3 ปีหลังที่ผ่านมาตัวเลขผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกดำเนินคดีอยู่ในเวลานี้รวมมากกว่า 1,000 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีแล้ว 1,890 คน มีเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 คน  ซึ่งทั้งหมดคือคนที่ออกมาเรียกร้องสิทธิทางการเมืองตามความเชื่อของพวกเขาโดยบริสุทธิ์ และปัจจุบันมีผู้ต้องขัง รวมถึงนักโทษคดีการเมืองและความคิด ยังคงถูกจองจำในเรือนจำทั่วประเทศทั้งที่คดีถึงที่สุด และถูกฝากขังโดยยังมิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจำนวนรวมมากกว่า 20 คน 

หากนับรวมเฉพาะคดีที่เกิดจากมูลเหตุทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2548 จนถึง ปัจจุบัน คาดว่ามีประชาชนถูกดำเนินคดีมากกว่า 5,000 คน ซึ่งในจำนวนนี้เกินครึ่งมีส่วนมาจากผลพวงของการรัฐประหารทั้ง 2 ครั้งล่าสุด ตนจึงจำเป็นต้องถามไปยังนายกรัฐมนตรีว่าจะมีวิธีแก้ไข หรืออำนวยการเพื่อความยุติธรรมให้กับประชาชนที่ว่ามานี้อย่างไร หรือจะมีนโยบายปรับปรุง หรือ แก้ไขกฎหมายที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพ และรวมถึงกฎหมายที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่น กฎหมายอาญามาตรา 112 , กฎหมายอาญามาตรา 116 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560  หรือไม่อย่างไร

และอีกคำถามหนึ่ง รัฐบาลของเศรษฐา ทวีสิน พร้อมที่จะให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) เพื่อวัตถุประสงค์ให้รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ ให้สามารถเปิดทางเอาผิดต่อผู้ที่ก่อให้เกิดการอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และยุติการลอยนวลพ้นผิดของผู้ก่อการ หรือไม่

ปิยรัฐ ยังย้ำว่า รัฐบาลไม่ควรจัดกลุ่มคนคิดต่างว่าเป็นปัญหา หรือเป็นภัยคุกคามของรัฐ  อีกทั้งไม่ควรใช้กฎหมายพิเศษ หรือกฎหมายความมั่นคงเข้าดำเนินการกับพวกเขาอย่างเอาเป็นเอาตาย เพื่อสร้างปัญหาใหม่ ย้ำปัญหาเดิมให้ยากที่จะแก้ไขพร้อมยกตัวอย่าง กรณีที่มีประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการประกาศใช้คำสั่งของ คสช. เกี่ยวกับนโยบายทวงคืนผืนป่า ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงขอถามว่า รัฐบาลนี้จะมีนโยบายอย่างไรต่อการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคง และการใช้ประกาศหรือระเบียบที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน กับประชาชน

นอกจากนี้ยังมีคนไทยจำนวนมากที่ต้องเดินทางหลบลี้หนีภัยทางการเมืองไปเจ็บ ไปตาย และถูกบังคับให้สูญหายยังต่างประเทศ ซึ่งจำนวนไม่น้อยก็เคยมีสถานะเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ของรัฐมนตรีและ สส. หลายคนในสภาฯ ตนมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะหากเรานำข้อมูลมาดูกันจริงๆจะเห็นว่า หลังการรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 มีคนไทยต้องลี้ภัยทางการเมือง เป็นจำนวนมากที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ที่ผ่านมา

จึงขอถามไปยังนายกฯ ว่าเหตุใดการจะคืนความยุติธรรม หรืออย่างน้อยคืนกระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ที่เที่ยงธรรมให้พวกเขา จึงไม่ถูกบรรจุเป็นนโยบายด้านกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน หรือพวกเขาหน้าตาไม่เหมือนเทวดาบนสวรรค์ชั้น 14 จึงทำให้ถูกมองข้าม ปล่อยให้เป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองตามยถากรรมในต่างประเทศ 

เมื่อเป็นเช่นนี้ตนขอถามว่า  นายกรัฐมนตรีพร้อมหรือไม่กับการลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยการบังคับ ตามคำแนะนำของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แม้จะบอกว่าพรรคเพื่อไทยไม่เคยมีนโยบายเรื่องนี้ตอนหาเสียง แต่ประเทศไทยได้เคยแสดงเจตนารมณ์เข้าเป็นภาคีในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อหลายปีก่อน รอเพียงการลงนามอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่น่าเสียดายที่รัฐบาลถูกรัฐประหารไปเสียก่อน 

ปิยรัฐยังได้แสดงความกังวลต่อเชื้อปะทุระลอกใหม่ที่กำลังตอกย้ำความไม่เสมอภาคทางกฎหมายในประเทศ จากเหตุเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ได้มีอดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยลี้ภัยทางการเมืองกลับมารับโทษในประเทศไทย ผู้คนต่างสรรเสริญว่าท่านคือสุภาพบุรุษยอดนักสู้  ยอมเผชิญหน้ากับโทษทัณฑ์ที่ถูกใส่ร้ายป้ายสี ไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น ซึ่งตนเห็นด้วย ที่ว่าอดีตนายกฯ ท่านนี้ไม่ได้รับความเป็นธรรมตั้งแต่ต้น และอดเห็นอกเห็นใจท่านไม่ได้ในฐานะเพื่อนมนุษย์ และในฐานะผู้ถูกกระทำเช่นกัน ตนก็เป็นหนึ่งคน ที่เรียกร้องให้มีการรื้อฟื้นกระบวนการพิจารณาคดีของอดีตนายกฯ ท่านนี้ขึ้นใหม่ภายใต้กระบวนการที่เป็นธรรม ภายใต้หลักนิติธรรมในรัฐบาลปกติที่มาโดยระบอบประชาธิปไตย

แต่แล้วกลับมีการหันหลังต่อทางเลือกที่ยากลำบากในข้างต้น ตัดสินใจไปเลือกที่จะยอมรับ และก้มหน้ารับชะตากรรมที่พ่วงด้วยโปรโมชั่นสุดพิเศษอย่างที่ประชาชนทั่วไปรับรู้กันอยู่ในเวลานี้ ที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า นี่จะเป็นจุดกำเนิดลูกใหม่ของความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรมกับอีกหลายชีวิตที่ไม่มีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ และเอกสิทธิ์พิเศษบางอย่างเฉกเช่นอดีตนายกฯ ท่านนี้ ตามมาด้วยคำถามจากสังคมมากมายว่า หลักหลักนิติธรรม หลักความโปร่งใส และมีมาตรฐานของรัฐบาล อยู่ที่ไหน

ในฐานะปากเสียงของประชาชนจึงขอถามว่า เรื่องนี้จะได้รับการแก้ไข หรือดำเนินการอย่างไร เพื่อให้เกิดกระบวนการอันเป็นที่ยอมรับว่า ยุติด้วยธรรมแล้ว และขอถามไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่ามีแนวทางในการปฏิบัติต่อผู้ต้องหา ผู้ต้องขัง หรือนักโทษ คดีทางการเมืองอย่างไร ที่มั่นใจได้ว่า จะไม่มีการเลือกปฏิบัติ  ไม่ว่าจะเรื่องสิทธิในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม สิทธิการประกันตัว และสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องขัง

หากเวลานี้รัฐบาลไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี ขอเสนอว่าแนวทางที่จะให้มีการออก กฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชน ที่ถูกดำเนินคดีจากผลพวงของการแสดงออกทางการเมือง การชุมนุม การเรียกร้อง การวิพากษ์วิจารณ์ และการต่อต้านอำนาจรัฐ ยกเว้นคดีทุจริต และคดีจากเหตุมุ่งหมายเอาชีวิตผู้อื่น  ตนคิดว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ที่รัฐบาลควรเป็นผู้ผลักดันให้สำเร็จ

ปิยรัฐสรุปว่า ปัจจุบันประเทศไทยเคยมีการใช้กฎหมายนิรโทษกรรมมาแล้ว 23 ครั้ง หากวันนี้สังคมเห็นตรงกันว่าปัญหานี้ถึงเวลาที่ทุกฝ่ายต้องมาทบทวนกันอย่างจริงจัง ว่าต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริงอยู่ตรงไหน ใช่อยู่ที่ประชาชนคนธรรมดาหรือไม่ ในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นสากล ประเทศเหล่านั้นต่างเปิดพื้นที่ และสนับสนุนให้ผู้คนภายในประเทศได้คิดต่าง วิพากษ์วิจารณ์หรือเรียกร้องเรื่องการเมืองการปกครอง ได้โดยสุจริตและเปิดเผย 

เชื่อประชาชนให้โอกาส แต่ต้องทำทุกอย่างตรงไปตรงมา อย่าให้ใครว่ารัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหาตั้งแต่ต้น

ปิยรัฐ ยืนยันว่า ตนเชื่อว่ามาถึงวันนี้ ประชาชนพร้อมจะให้โอกาสรัฐบาลเศรษฐาได้บริหารบ้านเมือง และขอให้รัฐบาลได้ใช้โอกาสนี้ ได้ลองทำสิ่งที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ทำทุกอย่างให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา อย่าทำให้ใครต่อใครต้องมาตั้งคำถามเพิ่มเติมมากมาย จากเหตุความไม่เชื่อมั่นว่าสิ่งที่นายกรัฐมนตรีนำมาแถลงต่อรัฐสภาในวันนี้ คือความไม่จริงใจที่มีต่อการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติ และประชาชน 

ตนไม่ขออะไรมาก เพียงส่งเสียงนี้ไปยังนายกฯ โปรดตอบคำถามข้างต้น เพื่อให้เกิดความกระจ่างชัด ไม่ว่านายกฯ จะเห็นด้วยหรือเห็นต่างอย่างไร พี่น้องประชาชนเจ้าของอำนาจตัวจริงจะเป็นผู้ตัดสินเหตุและผลของท่านเอง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net