Skip to main content
sharethis

‘วรภพ’ ชี้ นโยบายรัฐบาลเศรษฐาให้ความสำคัญ SMEs น้อยเกินไป หวั่น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ แจกเงินหมื่นสุดท้ายเข้าแต่กระเป๋าเจ้าสัว รอดูรัฐบาลกล้าแก้กฎหมายทลายผูกขาด หรือจะปล่อยอำนาจเศรษฐกิจอยู่ในกำมือทุนกลุ่มเดิม

11 ก.ย.2566 ภายหลังจาก เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ที่ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร อาคารรัฐสภา แล้วนั้น ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า หนึ่งในผู้อภิปรายคือ วรภพ วิริยะโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล โดยเน้นที่นโยบายที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการ SMEs โดยกล่าวว่าตนในฐานะตัวแทนของผู้ประกอบการรายย่อย SMEs เมื่อได้อ่านและรับฟังคำแถลงนโยบายรัฐบาลแล้ว คิดว่ารัฐบาลยังให้ความสำคัญกับผู้ประกอบการ SMEs น้อยเกินไป โดยมีเพียงการอธิบายว่า SMEs กำลังฟื้นตัวจากวิกฤตโควิดเท่านั้น 

วรภพ กล่าวต่อไป ว่าในความเป็นจริงแล้ว SMEs พบกับปัญหามานานก่อนวิกฤตโควิด ทำให้ตนมีความกังวลว่าหากรัฐบาลมองวิกฤตเศรษฐกิจนี้แต่ในภาพกว้าง โดยคิดว่าเพียงการกระตุ้นและการแจกเงินเพียงครั้งเดียวจะช่วยฟื้นเศรษฐกิจได้ รัฐบาลจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจครั้งนี้ได้ หรือจะแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด

ประการแรก สิ่งที่ SMEs คาดหวังจากนโยบายรัฐบาลคือแต้มต่อเพื่อช่วยแข่งขันกับกลุ่มทุนใหญ่ที่มีทรัพยากรที่ได้เปรียบมากกว่า SMEs มาก และมีแนวโน้มจะกินรวบในเศรษฐกิจไทยมากขึ้นทุกวัน ตนจึงอยากให้รัฐบาลทบทวนเงื่อนไข โดยเฉพาะในโครงการเติมเงินดิจิทัล จากที่กำหนดให้สามารถใช้เงินดิจิทัลได้ในรัศมี 4 กม. มาเป็นการกำหนดให้เงินดิจิทัล ใช้ได้เฉพาะกับร้านค้ารายย่อย หรือ SMEs เท่านั้น หรืออย่างน้อยรัฐบาลควรจะกำหนดแต้มต่อให้ร้านค้า SMEs เป็นโบนัส 20% - 30% สำหรับเงินดิจิทัล ดีกว่าที่จะใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อสุดท้ายจะไหลเข้ากระเป๋ากลุ่มทุนใหญ่ทั้งหมด

เพราะผู้ประกอบการรายย่อยฐานราก คือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจนี้มากที่สุด และการกำหนดเฉพาะร้านค้ารายย่อย จึงจะทำเกิดการกระจายเม็ดเงินไปยังทุกพื้นที่ได้จริงตามวัตถุประสงค์ของนโยบายรัฐบาล หรือถ้าวัตถุประสงค์ของโครงการคือต้องการเห็นเม็ดเงินสะพัด เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายรอบมากที่สุดเพื่อฟื้นเศรษฐกิจได้เร็วๆ การกำหนดเงื่อนไขให้มีการหมุนเงินกันเฉพาะร้านค้ารายย่อย ก็ย่อมจะตอบโจทย์วัตถุประสงค์นี้มากกว่า และนี่เป็นสาเหตุที่พรรคก้าวไกลเสนอนโยบาย ‘หวยใบเสร็จ SMEs’ ให้รายย่อย SMEs ได้มีแต้มต่อ เพื่อจูงใจให้คนหันมาอุดหนุนร้านรายย่อยมากขึ้น 

ประการที่สอง คือโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบ ของ SMEs เพราะปีที่แล้วสินเชื่อในระบบทั้งหมดที่อนุมัติให้ SMEs ลดลง 2% ขณะที่สินเชื่อที่ปล่อยให้กลุ่มทุนใหญ่กลับเพิ่มขึ้นถึง 5% ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมา 6 ปีติดต่อกันแล้ว นี่คือความไม่เท่าเทียมในการแข่งขันที่เกิดขึ้นชัดเจน เมื่อเงินทุนจากสินเชื่อในระบบไหลไปกองอยู่ที่กลุ่มทุนขนาดใหญ่หมด เงินทุนสำหรับ SMEs น้อยลงเรื่อยๆ ยังไม่นับว่าดอกเบี้ยระหว่างรายเล็กกับรายใหญ่ก็ถ่างขึ้นเรื่อยๆ 

ดังนั้น สิ่งที่ SMEs คาดหวังจากนโยบายรัฐบาล คือการเพิ่มวงเงินสำหรับค้ำประกันสินเชื่อ ให้ SMEs โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายย่อยที่ปกติมีความเสี่ยงสูง สถาบันการเงินไม่ค่อยอยากจะอนุมัติสินเชื่อให้ถ้ารัฐบาลไม่มีนโยบายค้ำประกันช่วย ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลจะใช้กลไก บสย. เป็นหน่วยงานหลักในการช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs แต่งบประมาณที่รัฐบาลก่อนหน้าจัดสรรให้ยังไม่มากพอ ที่จะทำให้สถาบันการเงินอนุมัติสินเชื่อให้แก่ SMEs

วรภพกล่าวต่อไป ว่าที่จริงแล้ว นโยบายการเพิ่มงบประมาณให้ บสย. 30,000 ล้านบาท ก็เป็นนโยบายเดียวกัน ที่ทั้งพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลได้เคยหาเสียงไว้ตรงกัน แต่วันนี้กลับไม่เห็นในคำแถลงนโยบายแล้ว ตนจึงต้องถามว่าเราจะได้เห็นการสนับสนุน SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ 

เพราะการที่ SMEs กู้สินเชื่อในระบบไม่ได้ ทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบและปัญหาสังคมเกิดขึ้นตามมา และตราบที่ SMEs เข้าถึงสินเชื่อในระบบไม่ได้ ต่อให้รัฐบาลจะเติมเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากเท่าไหร่ โอกาสที่รายย่อยจะเข้าถึงทุนก็จะไม่เกิดขึ้น และจะกลายเป็นว่าประชาชนได้แค่ 10,000 บาทมาใช้ แต่มูลค่าเศรษฐกิจก็จะเข้ากระเป๋าทุนใหญ่เหมือนเดิม  

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาว่าด้วยหนี้ ซึ่งตนขอเสนอ 3 มาตรการต่อรัฐบาลเพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการ SMEs ต้องหันไปกู้หนี้นอกระบบแทน คือ 1) รัฐบาลมีโครงการช่วยค้ำประกันหนี้เสียให้ผู้ประกอบการแยกตามขนาดตามประเภทตามความเสี่ยงที่แตกต่างกัน 2) ข้อมูลที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำค่าไฟ ยอดขายจากเงินดิจิทัล สามารถเอามาอำนวยความสะดวกให้ยื่นขอกู้ได้สะดวกขึ้น และ 3) ขอให้มีธนาคารรัฐช่วยอนุมัติให้ผู้ที่มีประวัติบูโร โดยกำหนดให้ต้องหักบัญชีจ่ายคืนค่างวดเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ก็ได้

ส่วนลูกหนี้ที่อยู่ในวงจรหนี้นอกระบบไปแล้ว รัฐบาลเองก็จำเป็นที่จะต้องเข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้เจรจากับเจ้าหนี้นอกระบบเพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ที่เป็นธรรม โดยต้องทำควบคู่กันทั้งมาตรการไม้แข็งและไม้อ่อน คือมีกฎหมายนิรโทษกรรมเจ้าหนี้นอกระบบที่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ให้เป็นธรรม โดยไม่รอการดำเนินการของตำรวจอย่างเดียว แต่ต้องใช้กระทรวงยุติธรรมและกรมสรรพากรเข้ามาดำเนินการต่อเจ้าหนี้ที่ไม่ยอมปรับโครงสร้างหนี้ บังคับใช้กฎหมายไปพร้อมกันด้วย

ส่วนประเด็นหนี้ในระบบ ตนเข้าใจจากคำแถลงนโยบายรัฐบาล ว่าจะเกิดการพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ที่ติดบูโรรหัส 21 หรือ ลูกหนี้ที่มีปัญหาในช่วงโควิด ซึ่งตนอยากเสนอว่าการพักชำระหนี้ ถึงแม้จะช่วยบรรเทา แต่จะไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินได้ และมีความเสี่ยงว่าจะเป็นการละลายงบประมาณไปกับการพักชำระหนี้โดยที่ไม่ช่วยลูกหนี้หลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินได้อยู่ดี ตนจึงอยากให้รัฐบาลมุ่งเป้าไปที่การปลดหนี้มากกว่า เช่น การแก้ไขกฎหมาย ให้ลูกหนี้ SMEs รวมถึงบุคคลธรรมดา มีสิทธิขอฟื้นฟูกิจการหรือขอฟื้นฟูหนี้สิน เพื่อให้สามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ทุกรายพร้อมกันได้ จากที่แต่เดิมการเจรจาเป็นไปกับเจ้าหนี้ทีละราย

นอกจากนี้ รัฐบาลควรต้องมีมาตรการที่กำหนดให้สถาบันการเงิน มีมาตรการปล่อยสินเชื่อที่เป็นธรรมกับลูกหนี้ด้วย อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลควรบังคับธนาคารรัฐทุกแห่งให้ลูกหนี้ดีเด่นได้รางวัลเป็็นการลดดอกเบี้ยให้ ส่วนใครที่มีปัญหาค่างวด อย่างน้อยเงินต้นควรต้องลดลงทุกครั้งที่มีการจ่ายค่างวด เพื่อให้ลูกหนี้มีกำลังใจในการชำระหนี้ต่อจนหมดได้

วรภพกล่าวต่อไป ว่าสิ่งสุดท้ายที่ SMEs คาดหวัง คือการรื้อกฎหมายที่ผูกขาดและล้าสมัย ซึ่งในคำแถลงนโยบายรัฐบาลก็มีระบุอยู่ เพราะประเทศไทยมีกฎหมายจำนวนมากที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ทั้งในระดับ พ.ร.บ. 955 ฉบับ พระราชกฤษฎีกา 7,107 ฉบับ และ กฎกระทรวงอีก 7,119 ฉบับ ทั้งนี้ ตนขอเสนอให้รัฐบาลรับฟังความคิดเห็นโดยตรงจากภาคเอกชน ให้ป็นผู้ริเริ่มว่ากฎหมายใดไม่มีความจำเป็น หรือควรจะถูกยกเลิกทิ้ง ใบอนุญาตใดใช้แทนกันได้ ไม่ใช่ให้หน่วยงานราชการเป็นผู้ริเริ่ม และต้องเร่งออก พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกฉบับใหม่ ให้ใบอนุญาตให้ทดแทนกันได้แบบรวดเร็ว โดยไม่ต้องไปไล่แก้ทีละ พ.ร.บ. ซึ่งใช้เวลานานกว่ามาก

วรภพยังอภิปรายถึงนโยบายเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับการผูกขาด โดยระบุว่านี่เป็นสิ่งที่ไม่ชัดจนในคำแถลงนโยบาย เช่น การปลดล็อคกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสุราพื้นบ้าน จะเป็นเพียงการแก้กฎหมายเล็กๆ น้อยๆ ให้สุราพื้นบ้านแบบพอเป็นพิธี แต่ยังคงล็อคมูลค่าเศรษฐกิจ 5 แสนล้านบาทไว้เฉพาะกับกลุ่มทุนใหญ่หรือไม่ และคำถามสำคัญ คือรัฐบาลชุดนี้จะกล้าหาญพอที่จะทลายกฎหมายผูกขาด ทั้งในกิจการสุราและอีกหลากหลายธุรกิจ เช่น การส่งออกข้าว, การนำเข้าปุ๋ย, โควต้าแม่ไก่ ฯลฯ หรือจะยังสานต่อกฎหมายผูกขาดเหล่านี้ต่อไปอีกหรือไม่

“เพราะถ้ารัฐบาลชุดนี้ ยังคงไม่กล้าที่จะยกเลิกกฎหมายที่เอื้อให้เกิดการผูกขาด โอกาสของคนไทยที่จะลืมตาอ้าปาก มีกินมีใช้ ก็จะไม่เกิด และจะเป็นการเสียดายเวลาและโอกาสของประเทศไทยอย่างมาก ถ้าประเทศไทยสามารถเปลี่ยนรัฐบาลเป็นพลเรือนได้แล้วทั้งที แต่อำนาจทางเศรษฐกิจจะยังคงอยู่ในกำมือของกลุ่มทุนผูกขาดเบื้องหลังกลุ่มเดิมๆ” วรภพกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net