Skip to main content
sharethis

8 องค์กรสิทธิมนุษนชนร่วมกันเรียกร้องถึงประธานศาลฎีกาขอให้กำชับศาลยุติธรรมคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังคดีม.112 หลังมีแนวโน้มศาลไม่ให้ประกันตัวเพิ่มขึ้น ขอให้ศาลยืนยันหลักการสิทธิประกันตัวต้องเป็นหลักทั่วไปถ้าจะสั่งขังต้องมีหลักฐานเพียงพอว่าจะหลบหนี

1 ก.ย.2566 ที่สำนักงานศาลฎีกา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (HRLA) และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรวม 8 องค์กร ร่วมกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาขอให้มีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในคดีทางการเมืองตามหลักสิทธิในการประกันตัว โดยทางสำนักงานได้ให้ ธนากร พรวชิราภา นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักเลขาธิการประธานศาลฎีกา เป็นตัวแทนลงมารับหนังสือที่หน้าศาลฎีกา

กิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะตัวแทนเครือข่าย ให้สัมภาษณ์ว่าที่มาในวันนี้เพราะมีข้อห่สงกังวลที่มีผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวทั้งในส่วนที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีและคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปแล้วแต่คดียังไม่สิ้นสุดมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

กิตติศักดิ์กล่าวว่าก่อนหน้านี้ทางประธานศาลฎีกาออกข้อบังเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวมาที่ให้สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังหรือจำเลยในคดีที่มีคำพิพากษาแล้วมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ได้ประกันมาตลอดทั้งในชั้นสอบสวนและในชั้นพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น เมื่อมีคำพิพากษาแล้วศาลชั้นต้นสามารถพิจารณาการประกันตัวได้เลยโดยไม่ต้องส่งเรื่องต่อให้ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว

ทนายความกล่าวว่า อย่างไรก็ตามสถานการณ์ของผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองขณะนี้กลับเป็นว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาออกมาให้ลงโทษจำคุกที่ต่ำมากแค่ 1 ปี 6 เดือนในคดีตามมาตรา 112 กลับยังส่งคำร้องของปล่อยตัวชั่วคราวให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาประกันตัวแล้วภายหลังศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่ให้ประกัน จนตอนนี้มีผู้ต้องขังทางการเมืองรวมทั้งสิ้นแล้ว 29 คนและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น วันนี้จึงมาเรียกร้องให้ศาลพิจารณาสิทธิประกันตัวเป็นไปตามข้อบังคับของศาลฎีกา ส่วนเรื่องหลังจากนี้คงต้องรอให้ทางศาลฎีกาติดต่อกลับมาว่าประธานศาลฎีกาจะมีคำสั่งอย่างไรหรือจะมีการนัดพูดคุยหารือกันในประเด็นนี้เพิ่มเติมหรือไม่ต่อไป

กิตติศักดิ์กล่าวว่าเขายังคาดหวังว่าประธานศาลฎีกาในฐานะที่กำลังจะหมดวาระในเดือนนี้แล้วก็อยากให้ทิ้งทวนการทำงานด้วยการช่วยยืนยันคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและจำเลยในคดีทางการเมืองด้วย เพราะในบางคดีศาลไม่ให้ประกันตัวโดยให้เหตุผลว่าจำเลยรับสารภาพ คดีมีอัตราโทษสูง เหตุที่ศาลยกมาเหล่านี้ไม่ได้เป็นเหตุผลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 108/1 ที่ศาลจะยกมาอ้างเพื่อไม่ให้ประกันได้ ศาลก็ไปคาดการณ์ว่าจำเลยจะหลบหนีทั้งที่ศาลไม่ได้มีพยานหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอื่นใดในคดีที่จะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยจะหลบหนีเลยและถ้าศาลยังคาดการณ์ล่วงหน้าแบบนี้ต่อไปคดีที่ตัดสินจำคุกไปแล้วก็จะไม่มีคดีไหนเลยที่ได้ประกัน เพราะศาลเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี

“อยากให้ศาลยืนยันหลักการว่าในการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นหลักการทั่วไป การไม่ปล่อยชั่วคราวเป็นข้อยกเว้น แล้วข้อยกเว้นนั้นก็ต้องมีพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่มีน้ำหนักเพียงพอในการที่ขังคนเอาไว้ เพราะคดียังไม่ถึงที่สุดจำเลยก็ควรจะมีสิทธิในการต่อสู้ได้อย่างเต็มที่” ทนายความกล่าว

จดหมายเปิดผนึก

เรื่อง   ขอให้ศาลยุติธรรมมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในคดีอาญาตามหลักสิทธิในการประกันตัว

เรียน   ประธานศาลฎีกา

ตามที่ท่านในฐานะประธานศาลฎีกาได้ประกาศนโยบายของศาลยุติธรรมไว้ในข้อ 2 และข้อ 3 ว่าจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรมอย่างทั่วถึงและมีมาตรฐานเดียวกัน บนระบบการทำงานที่เน้นผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ส่วนรวม เพื่อธำรงความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรศาลยุติธรรม และภายใต้นโยบายดังกล่าว เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ได้มีประกาศข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาใน ข้อ 24 โดยให้อำนาจศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยต่อไปได้เอง เมื่อจำเลยถูกพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ ประกอบกับถ้าจำเลยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใด ๆ โดยการสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้น ให้ใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา หรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง 

แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อบังคับดังกล่าวยังไม่ถูกนำไปบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ของประธานศาลฎีกา โดยเฉพาะคดีที่จำเลยถูกฟ้องว่ากระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หมิ่นประมาทกษัตริย์ ในช่วงครึ่งปีแรก 2566  ตัวอย่างเช่น คดีในศาลอาญา ได้แก่ คดีของ “เวหา แสนชนชนะศึก” (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.2697/2564) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี 18 เดือน คดีของ “ทีปกร” (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.329/2565) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี  คดีของ “วารุณี” (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.429/2565) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน คดีของ “วัฒน์” (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1253/2565) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน  และคดีของ “เก็ท โสภณ” (คดีอาญาหมายเลขดำที่ อ.1447/2565) ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน รวมถึงอีกหลายคดีที่จำเลยถูกฟ้องในกลุ่มคดีเกี่ยวกับการชุมนุมที่ดินแดง เมื่อปี 2564                               

โดยทุกคดีในข้อหา มาตรา 112 ที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และประสงค์จะใช้สิทธิต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และในระหว่างสอบสวนตลอดจนในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาโดยตลอด แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญากลับมีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของจำเลยให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ทั้งๆ ที่ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ข้อ 24 ข้างต้น ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยต่อไปได้เอง 

อีกทั้ง การที่ศาลชั้นต้นมิได้เป็นผู้สั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยตามคำร้องดังกล่าวก็ไม่ได้ให้เหตุผลไว้โดยชัดแจ้งว่ามีความจำเป็นประการใดที่ศาลชั้นต้นไม่อาจสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยด้วยตนเอง และไม่ได้มีข้อเท็จจริงหรือเหตุผลโดยละเอียดเพียงพอให้จำเลยสามารถเข้าใจได้ว่าข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์เช่นใดของตนเองที่ทำให้ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1

สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และองค์กรที่มีรายชื่อแนบท้ายจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ในฐานะที่เป็นองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและทำงานเพื่อส่งเสริมการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมจึงขอเรียนมายังท่าน ขอเข้าพบเพื่อหารือและนำเสนอสถานการณ์ให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน อีกทั้ง ขอให้ท่านกำกับดูแลให้ศาลยุติธรรมใช้ดุลยพินิจในทางที่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของจำเลยที่พึงได้รับซึ่งสิทธิในการได้ปล่อยชั่วคราว และสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด โดยจะปฏิบัติต่อจำเลยเสมือนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามคำพิพากษาที่ถึงที่สุดแล้วมิได้ ท้ายที่สุดแล้วเพื่อให้ศาลยุติธรรมทั้งหลายใช้ดุลยพินิจพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาได้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 

ทั้งนี้ เพื่อให้นโยบายของศาลยุติธรรมที่ท่านประกาศไว้ในข้อ 2 และข้อ 3 ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรมอย่างทั่วถึงและมีมาตรฐานเดียวกัน บนระบบการทำงานที่เน้นผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ส่วนรวม เพื่อธำรงความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรศาลยุติธรรม สามารถบรรลุผลเป็นรูปธรรมต่อไป   

  1. สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
  2. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
  3. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  4. สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
  5. มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW)
  6. มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.)
  7. กลุ่ม Non-Binary Thailand
  8. ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (YPD)​

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net