Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกลแถลงด่วน หลัง ‘วันนอร์’ ชิงปิดประชุมสภาโดยไร้ข้อสรุป แม้มีผู้รับรองญัตติ ‘โรม’ ถูกต้องครบถ้วน ยืนยันการเสนอ ‘ทบทวนมติสภาเดิม’ ไม่ใช่ญัตติซ้ำ  ขอสภาใช้อำนาจให้เต็มที่ เรื่องโหวตนายกฯ

4 ส.ค. 2566 จากกรณีที่วันนี้ (4 ส.ค.) วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา สั่งปิดประชุมสภา เลื่อนพิจารณาวาระ ม.272 ตัดอำนาจ สว. โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เนื่องไม่ได้ข้อสรุปญัตติด่วน ที่รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอให้ทบทวนมติเดิม ปมเสนอชื่อโหวตนายกฯ ซ้ำ 

พรรคก้าวไกล นำโดย ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรค และ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ แถลงข่าว ยืนยัน ยืนยันการ “เสนอทบทวนมติเดิม” เรื่องเสนอชื่อนายกฯ ซ้ำว่าทำได้หรือไม่นั้น ไม่ใช่ญัตติซ้ำอย่างแน่นอน ซึ่งก็มีผู้รับรองถูกต้องครบถ้วน หน้าที่ของประธานสภาก็ควรเปิดให้มีการลงมติ แต่กลับแก้ไขด้วยการปิดประชุมสภานั้นอาจมองดูแล้วไม่สง่างามทางการเมือง โดยหวังว่าการประชุมหลังจากนี้จะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ชัยธวัช ยืนยันว่า วาระการเลือกนายกรัฐมนตรีทำต่อได้ด้วยอำนาจเต็มของรัฐสภา ไม่ต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในวันที่ 16 ส.ค.อย่างที่ประธานรัฐสภาอ้าง และการพิจารณายกเลิก ม.272 ตัดอำนาจ สว.โหวตเลือกนายกฯ ก็เป็นการป้องกันไม่ให้การเมืองไทยเข้าสู่ทางตัน

รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ ระบุว่า อาจารย์นิติศาสตร์  115  คนลงชื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกรณีมติสภาใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ หรือมีการไปร้องผู้ตรวจการแผ่นดิน ปมไม่ให้เสนอชื่อพิธาซ้ำ แท้จริงกระบวนการเหล่านี้มีทางออกโดยใช้กลไกของสภาได้ ไม่มีความจำเป็นต้องไปพึ่งพาศาลรัฐธรรมนูญเลย เพราะกระบวนการภายในสภา เมื่อตัดสินใจอย่างไรไปแล้ว ก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยใช้อำนาจของสภา 

ในการประชุมสภาวันนี้ (4 ส.ค.) ตนได้เสนอญัตติ และมีผู้รับรองถูกต้อง ความเป็นจริงประธานสภาจะต้องให้มีการพิจารณาในเรื่องนี้ ยืนยันว่าพรรคก้าวไกลไม่ได้มีเจตนาประวิงเวลา เตรียมการอภิปรายมาไม่กี่คนเพื่อหวังให้หาข้อสรุปได้โดยเร็ว 

รังสิมันต์ระบุว่า กรณีที่ในสภา มีผู้อภิปรายโต้แย้ง ไม่เห็นด้วยกับการเสนอทบทวนมติเดิมนั้น แบ่งได้เป็น 2 ประเด็น คือ อ้างว่าญัตติของพรรคก้าวไกลเป็นญัตติซ้ำ สภามีมติตามข้อบังคับสภาข้อที่ 151 ไปแล้ว และเมื่อเป็นหลักการซ้ำก็จะเข้าบังคับข้อที่ 41 ที่ห้ามเสนออีกในสมัยประชุมนั้น ซึ่งตนขอยืนยันต่อพี่น้องประชาชนว่า เมื่อวันที่ 19 ก.ค. ที่สภามีมติไปแล้ว คือ เรื่อง “การตีความข้อบังคับว่าการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคือพิธา จะเสนอได้อีกหรือไม่ ตามข้อบังคับข้อที่ 41”  ส่วนประเด็นที่ตนเสนอในวันนี้คือ การ “ทบทวน” ซึ่งเนื้อหาสาระเป็นคนละเรื่อง จึงไม่ใช่ญัตติซ้ำอย่างแน่นอน แต่ถ้าเราเสนอไปแล้ว พิจารณากันไปแล้วปรากฏว่าสัปดาห์หน้าจะเสนออีกในลักษณะเดิม อย่างนี้จะทำไม่ได้ เพราะว่าเข้าญัตติซ้ำ

ประเด็นที่สอง คือการที่ ประธานสภาอธิบายในห้องประชุมว่า ตามข้อบังคับสภาข้อที่ 151 ที่มีหนึ่งในข้อความเขียนว่า “การตีความนั้นต้องเป็นการตีความที่เด็ดขาด”  คำว่า “เด็ดขาด” หมายความว่าอย่างไร หมายความว่าเมื่อตีความไปแล้วจะมีผู้หนึ่งผู้ใดยกเรื่องเดิมมาอีกไม่ได้ จะต้องมีแนวทางการตีความไปในลักษณะแบบนั้น แต่ไม่ได้หมายความว่าจะปิดกั้นไม่ให้ที่ประชุมรัฐสภามีการทบทวนวินิจฉัยอีกครั้ง ซึ่งเรื่องนี้ตนพยายามเทียบเคียงกับองค์การอื่นที่อำนาจเด็ดขาดลักษณะเดียวกัน ว่าถึงที่สุดก็สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ อย่างกรณีของศาล ดังนั้นจึงยืนยันว่าการเสนอในลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องที่กระทำได้ และสมาชิกรัฐสภาจากพรรคเพื่อไทยก็ช่วยยืนยันในเรื่องนี้ด้วย ทั้งหมดนี้ จึงเป็นเรื่องน่าแปลกใจและน่าเสียดาย ที่การประชุมรัฐสภาต้องยุติอย่างไม่มีข้อสรุป ทำให้ไม่สามารถพิจารณาวาระที่สำคัญอย่าง ม.272 ที่เป็นประตูทางออกของการเมืองไทย

รังสิมันต์ กล่าวด้วยว่า วันนี้ตนทราบมาตั้งแต่ต้นว่ามีความพยายามในการล้มการประชุม ถ้าไม่ได้ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ช่วยกระตุ้นก็คงจะไม่มีการแห่เข้ามาประชุมของ แต่ว่าการใช้วิชามารแบบนี้ ประเทศไทยไม่ได้อะไรเลย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net