Skip to main content
sharethis

โฆษกกระทรวงการคลัง ชี้แจงประเด็นที่มีข่าวการเสนอแนวทางการแก้ปัญหาการออมสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 10% ยืนยันขณะนี้ยังไม่มีนโยบายการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแนวคิดดังกล่าว

27 ส.ค. 2566 สำนักข่าวไทย รายงานว่านายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ขอชี้แจงประเด็นที่มีข่าวเสนอถึงแนวทางการแก้ปัญหาการออมสำหรับผู้สูงอายุ ที่จะปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 10% โดยในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอีก 3% นั้นจะออกกฎหมายเฉพาะ

กระทรวงการคลัง ขอยืนยันว่าขณะนี้ยังไม่มีนโยบายการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามแนวคิดดังกล่าว

รองเลขาธิการสภาพัฒน์ เสนอแนวคิดขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 10% โดยนำ 3% ที่ปรับขึ้นกันมาเป็นเงินออมวัยเกษียณของประชาชน

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2566 เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่านางสาววรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวในงานเสวนา “ข้ามรุ่น อนาคตประเทศไทย” จัดโดย สศช.ร่วมกับกองทุนประชากรแห่งประเทศไทย (UNFPA) ว่าโครงสร้างประชากรไทยในปัจจุบันถือเป็นสังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และมีแนวโน้มที่จะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นโดยในปี2566โดยมีผู้สูงอายุประมาณ13.5ล้านคน คิดเป็นประมาณ 20% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนอีก10ปีข้างหรือ หรือในปี2576จะเป็นสังคมผู้สูงอายุแบบสุดยอด โดยมีผู้สูงอายุประมาณ18.38ล้านคน หรือประมาณ28%ของประชากรทั้งหมด จากนั้นในปี2583ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 20.51 ล้านคน หรือคิดเป็น31.37%ของประชากรทั้งหมด เท่ากับว่าประชากรสูงอายุจะคิดเป็นสัดส่วน1ใน3ของประชากรทั้งประเทศ

จากข้อมูลการสำรวจรายได้ผู้สูงอายุพบว่าผู้สูงอายุของไทยจำนวนมากมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่ายและรายได้ตำกว่าเส้นยากจน โดยพบว่า 34% หรือประมาณ 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่เข้าอยู่วัยเกษียณแล้วของประเทศไทยยังคงทำงานอยู่ แต่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนโดยผู้สูงอายุกว่า 78.3% มีรายได้ต่ำกว่า 100,000 บาทต่อปีทำให้ยังต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งอื่น

ซึ่งแหล่งรายได้ในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุส่วนใหญ่มาจากการทำงาน 32.4% เงินจากบุตร 32.2% และเบี้ยยังชีพ 19.2% นอกจากนี้ ผู้สูงอายประมาณ 41.4% มีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท ซึ่งเรื่องการออมสำหรับวัยสูงอายุให้มีรายได้สำหรับการใช้จ่ายถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและเป็นความท้าทายของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยที่ต้องมีการวางแผนรองรับ

ซึ่งหากคิดในแง่ของเงินออมสำหรับวัยเกษียณในปัจจุบันมีเพียงข้าราชการเท่านั้นที่เกษียณแล้วมีรายได้จากเงินบำนาญชัดเจนในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 40% ของรายได้ของเดือนสุดท้ายที่ได้รับ ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ที่ออมเงินอยู่ในช่องทางอื่นๆ เช่นประกันสังคม หรือกองทุนการออมแห่งชาติ ก็ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในวัยเกษียณ

โดยมาจากปัญหาที่คนส่วนใหญ่เริ่มการออมเงินช้าคืออายุเฉลี่ยที่เริ่มตอนอายุ 42 ปี ขณะที่คนกว่า 26% ไม่มีการออมเงิน และเงินออมสำหรับวัยเกษียณเฉลี่ยอยู่ที่ 5 หมื่นบาทต่อคนเท่านั้นซึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้ในวัยเกษียณอายุอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการนำเสนอรูปแบบการออมสำหรับผู้สูงอายุหลายรูปแบบ โดยรูปแบบหนึ่งที่มีการเสนอผ่านคณะกรรมการปฏิรูปสังคม และ สศช.เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีคือการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 10%

โดยในส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอีก 3% รัฐบาลอาจออกกฎหมายเฉพาะมาเพื่อนำเงินที่รัฐเก็บภาษีในส่วนนี้มาเป็นเงินออมของประชาชนเพื่อใช้ในวัยเกษียณซึ่งจะทำให้ประชาชนไทยมีเงินออมไว้ใช้สำหรับการเกษียณอายุ

“ปกติการขึ้นภาษีนั้นเป็นสิ่งที่จะมีคนไม่เห็นด้วยและคัดค้าน แต่ถ้าบอกว่าภาษีที่ปรับขึ้น เช่น การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มมาอีก 3% จาก 7 เป็น 10% ตามที่กฎหมายให้เพดานไว้ แล้วเอาภาษีที่ปรับขึ้นมาสำหรับทำระบบเงินออมให้กับประชาชนเพื่อให้มีเงินใช้ในวัยเกษียณก็ถือเป็นอีกทางเลือกที่ดี และคาดว่าหากทำความเข้าใจกับประชาชนว่าภาษีที่ขึ้นในส่วนนี้จะเป็นเงินออมในวัยเกษียณประชาชนจะยอมรับ เพราะทำให้ประชาชนมีหลักประกันในวัยเกษียณ และภาครัฐก็มีแหล่งรายได้ที่ชัดเจนว่าจะเอาเงินในส่วนไหนมาจัดสวัสดิการให้ประชาชนสูงอายุที่มีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต”

ช่วงเดือน ก.ย. ของทุกปี มักมีความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นภาษี VAT

อนึ่งข้อมูลจาก เพจไทยคู่ฟ้า ที่เผยแพร่เมื่อปี 2562 ระบุว่าภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT เป็นภาษีทางอ้อมที่คิดรวมอยู่ในสินค้าหรือบริการทุกชนิดที่เข้าข่ายต้องเสียภาษี ถือเป็นรายได้ของรัฐ โดยผู้ประกอบการในฐานะผู้ผลิตและประชาชนในฐานะผู้จับจ่ายใช้สอย ช่วยรับภาระตรงนี้ แน่นอนว่าหากประกาศขึ้นภาษี VAT จริง ย่อมมีผลกระทบในหลายด้าน ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจในแต่ละช่วง 

ตามประมวลรัษฎากร ภาษี VAT ถูกกำหนดไว้ที่ 10% โดยแบ่งเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 9% และภาษีท้องถิ่นอีก 1% แต่นับตั้งแต่ได้ประกาศใช้ภาษี VAT มาตั้งแต่ปี 2535 รัฐบาลทุกยุคได้ออกพระราชกฤษฎีกาลดอัตราภาษี VAT ให้เหลือเพียง 7% ซึ่งแบ่งเป็น ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจริง 6.3% บวกภาษีท้องถิ่น 0.7% มาโดยตลอด และประกาศแบบนี้ปีต่อปี

อย่างไรก็ตาม ในช่วงรอยต่อระหว่างที่กระทรวงการคลัง ในฐานะผู้จัดเก็บรายได้จากภาษี VAT กำลังเสนอขอ ขยายเวลาการลด หรือปรับภาษี VAT ในช่วงเดือน ก.ย. ของทุกปี มักมีผู้ฉวยโอกาสสร้างความเข้าใจผิดว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นภาษี VAT เพื่อให้มีรายได้มากขึ้น

สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลต้องพิจารณาประกาศใช้อัตราภาษี VAT ในแต่ละปี ก็เพื่อประเมินภาวะเศรษฐกิจ เช่น ในปัจจุบันรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงยังไม่ใช่เวลาอันสมควรที่จะปรับขึ้นภาษี VAT ในระยะนี้ และการคงภาษี VATไว้ที่ 7% ต่อไป จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในภาพรวม

นอกจากนี้ ยังช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนให้มีกำลังซื้อและบริโภคมากขึ้น เพราะเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ การบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อการค้าการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ อีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net