Skip to main content
sharethis

กฎระเบียบที่มีเหตุผลรองรับทำให้เราเข้าใจได้ว่าทำไมต้องทำ แต่ถ้าไม่มีย่อมไม่ต่างอะไรจากคำสั่ง กรณีหยก ธนลภย์ สร้างข้อถกเถียงเรื่องกฎระเบียบในโรงเรียนด้วยวิธีของเธอจนต้องเจอแรงเสียดทานอย่างหนักจากสังคม ‘ครูทิว’ จากกลุ่มครูขอสอนถามสังคมกลับว่าเด็กอายุ 15 คนหนึ่งต้องแบกรับและเผชิญอะไรบ้าง ทำไมสังคมจึงใจร้ายและรีบตัดสินเร็วถึงเพียงนี้

กรณีของหยก ธนลภย์ จางหายไปจากหน้าสื่อ ถูกกลบด้วยข่าวการตั้งรัฐบาลที่ไม่รู้ว่าจะออกรูปไหน ย้อนกลับไปสู่การย้อมผมสีน้ำเงินสด ชุดไปรเวท การปีนรั้วโรงเรียนเพื่อเข้าเรียน หรือการที่ผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการยื่นหนังสือแก่สมาชิกวุฒิสภาให้หาวิธีจัดการกับหยก ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม ผลขั้นต่ำที่สุดคือหยกได้สร้างพื้นที่ถกเถียงในสังคมขึ้นว่ากฎระเบียบในโรงเรียนควรมีเหตุผลรองรับหรือไม่ หรือขอแค่เป็นกฎที่ผู้มีอำนาจกำหนดก็ถือว่าใช้ได้

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือครูทิว ครูโรงเรียนรัฐบาล จากกลุ่มครูขอสอน

ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือครูทิว ครูโรงเรียนรัฐบาล จากกลุ่มครูขอสอน ร่วมกับเครือข่ายที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนเคยออกแถลงการณ์ไปแล้ว 2 ฉบับ เพื่อยืนยันเรื่องสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กเกี่ยวกับหลักการ best interests for a child และติดตามประเด็นของหยก

เสียงของครูบวกบทบาทนักกิจกรรมด้านการเรียนรู้ของธนวรรธน์ให้มุมมองอีกด้าน อำนาจนิยมในโรงเรียนไม่ใช่สิ่งที่โรงเรียนและครูปฏิบัติต่อนักเรียน แต่โครงสร้างการบริหารที่ถูกกำหนดไว้กดลงมาเป็นชั้นๆ แม้จะมีครูที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงก็ใช่ว่าจะแสดงออกได้

สำหรับธนวรรธน์ เครื่องแบบกับวินัยที่สังคมมักจับมาสัมพันธ์กันนั้น...

“คนละเรื่องกัน เราต้องหาว่าเราต้องการดูวินัยแบบไหน วินัยแค่เครื่องแต่งกายหรือวินัยในตนเอง วินัยในการกำกับตนเองให้ตรงเวลา ส่งงานตรงเวลา ดูแลรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง มีความรับผิดชอบ มีความรับผิดรับชอบต่อผู้อื่น ต่อคนที่อยู่ร่วมกันในสังคม ต่อหน้าที่ตนเอง เราไปตรงนั้นหรือเปล่า หรือสุดท้ายแล้วเรามัวแต่ดูแค่วินัยภายนอกจนเราเองก็เลยไม่มีพลังงานมากพอไปกำกับควบคุมดูแลวินัยภายใน”

สังคมตัดสินหยกเร็วเกินไป

ประเด็นแรกที่ธนวรรธน์คิดคำนึงเกี่ยวกับกรณีหยก ธนลภย์ คือสังคมกำลังตัดสินเธอเร็วเกินไป ในทางกลับกัน ผู้ที่ตัดสินหยกได้เคยตั้งคำถามกับตัวเองหรือไม่ว่าตนรับรู้เรื่องราวต่างๆ มากน้อยแค่ไหน อีกทั้งข้อเรียกร้องและวิธีการเรียกร้องก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่อยู่ที่ช่วงเวลา หากเป็นปี 2563 ที่กระแสทางการเมืองอยู่ในกระแส เรื่องของหยกก็อาจไม่เผชิญการต่อต้านขนาดนี้และกลายเป็นเธอคนเดียวที่สู้ตามลำพัง อีกมิติที่ซ้อนทับกันอยู่คือหยกเกี่ยวข้องกับคดี 112 ที่กำลังอยู่ในกระแสสังคม ส่งผลต่ออคติของคนในสังคม โดยไม่รู้ตัว

“เกิดคำถามว่ากรณีของหยก มันเป็นเพราะตัวหลักการที่เขาเรียกร้อง ตัววิธีการที่เขาแสดงออก หรือมีอะไรที่อยู่เบื้องหลังนั้นอีก เกี่ยวกับตัวหยกที่ทำให้ผู้คนมีอคติแล้วก็ตัดสินไปแบบนั้น อันนี้คือสิ่งที่ผมสังเกต แล้วก็ตั้งคำถามกับกรณีนี้”

ธนวรรธน์เล่าอีกว่าโดยปกติกลุ่มครูขอสอนจะทำกิจกรรมกับเด็กนักเรียนและเป็นวิทยากรให้แก่โรงเรียนต่างๆ ส่วนหนึ่งของกิจกรรมคือการเช็กความคิดเห็นของเขา ธนวรรธน์พบว่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (นับจากปี 2563)  เขาเห็นความแตกต่างของความคิดเห็น อย่างล่าสุดในกรณีของหยกกลายเป็นว่าเด็กนักเรียนเห็นด้วยว่าเด็กสมัยนี้รู้จักสิทธิ์ เรียกร้องสิทธิ์ แต่ไม่รู้จักหน้าที่กัน

ภาพหยก (แฟ้มภาพ เพจไข่แมวชีส)

‘สิทธิกับหน้าที่’ หรือแค่ถ้อยคำเพื่อการต่อสู้เรื่องสิทธิ์ของคนตัวเล็กตัวน้อย

“มันอาจแตกต่างกันไปตามโรงเรียนที่มีบริบทต่างกัน แต่ด้วยช่วงเวลาที่มันเกิดสถานการณ์ เด็กไปเลือกฝั่งว่า เห็นด้วย ทั้งที่เมื่อก่อนก็อาจจะมีเสียงแตกบ้าง มองกันคนละมุมบ้าง ผมว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเหมือนกันว่าอาจเป็นเพราะวิธีการแสดงออกของหยกหรือเปล่าที่ทำให้ส่งผลต่อความรู้สึกหรือความคิดเห็นของเด็กนักเรียนเหล่านี้ แต่ผมก็คิดว่ามันเป็นด้วยรีแอคและมวลความรู้สึกของชาวเน็ตหรือของสังคมด้วยที่แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่เสียมากกว่าที่ออกแนวปฏิเสธการแสดงออกหรือการเรียกร้องนี้โดยที่ไม่ได้คิดคำนึงเรื่องอื่น”

ขณะที่ครูส่วนใหญ่มักจะเห็นประเด็นนี้อยู่แล้วว่าเป็นการเรียกร้องสิทธิ์โดยไม่รู้จักหน้าที่ของตนเอง แต่ก็มีครูบางคนที่เข้าใจ

“ประเด็นคือหลังจากทำการทดลองแล้ว เราก็จะบรรยายต่อสั้นๆ ว่าจริงๆ แล้วเรากำลังพิจารณาอยู่บนฐานอะไร เช่น คำว่าเรียกร้องสิทธิ์ไม่รู้จักหน้าที่ เอ๊ะ คำว่าสิทธิ์มันสัมพันธ์กับหน้าที่ของเราหรือเปล่า มันเป็นสิทธิ์แบบไหน มันเป็นสิทธิ์โดยพื้นฐาน สิทธิ์โดยสมบูรณ์ที่ไม่เกี่ยวกับหน้าที่อะไรของเรา แต่เรามีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องได้ คนที่มีหน้าที่ต่อเราต่างหากที่บกพร่อง แล้วเราจึงเรียกร้องมัน

“กับสองคือมันมีสิทธิ์ที่ผูกพันธ์กับหน้าที่ ฉันต้องทำอันนี้ฉันถึงจะได้สิทธิ์นี้หรือฉันต้องตั้งใจเรียน ส่งงาน ฉันถึงจะได้เกรดสี่ อันนี้มันผูกพันธ์กับหน้าที่ มันเป็นสิทธิ์โดยสัมพัทธ์ เรามองแยกขาดจากมันออกหรือเปล่า ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วประโยคนี้ที่ผมหยิบยกขึ้นมาเป็นประโยคที่ผู้ใหญ่ส่วนมากหรือว่าคนที่มีอำนาจส่วนมากมักจะพูดเพื่อลดทอนการเรียกร้องหรือการต่อสู้เรื่องสิทธิ์ของคนตัวเล็กตัวน้อย”

สู้กับกติกาที่ไม่เป็นธรรมย่อมขัดกติกาอยู่แล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ว่าเป้าหมายของหยกอาจจะถูก แต่วิธีการผิด?

ธนวรรธน์ตอบคำถามนี้ด้วยการถามกลับว่า “ใครเป็นคนกำหนดล่ะว่าวิธีการไหนถูก วิธีการไหนผิด” เขามีมุมมองว่าการอารยะขัดขืน การต่อต้าน การเรียกร้อง หรือการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง มันต้องผิดโดยกติกาอยู่แล้ว ในเมื่อเห็นว่ากติกาที่ดำรงอยู่มันไม่เป็นธรรม มันควรเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งที่ทำก็คือการทำขัดกับกติกายู่แล้ว

“ประเด็นแรกที่สอง ผิดโดยวิธีการนี้มันผิดโดยวัตถุประสงค์ต่อเป้าหมายหรือเปล่า อันนี้มันก็ขึ้นอยู่กับการประเมิน หมายความว่าถ้าเราบอกว่าหลักการถูก แปลว่าสิ่งที่เราเรียกร้องอยู่ มันถูกต้องแล้ว แต่วิธีการ เราบอกว่าแล้วมันมีวิธีการไหนบ้างที่มันจะนำเราไปสู่เป้าหมาย มันอาจจะมีวิธีหนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า ซึ่งใครจะบอกได้ล่ะว่าต่อสู้แบบไหนมันจะบรรลุผล หลักการดีนะ แต่ทำด้วยวิธีนี้ มันไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้ หรือจริงๆ แล้ว ทุกวิธีการมันก็เสี่ยงหมด ทุกวิธีการมีราคาที่ต้องจ่ายหมด”

เขาตั้งข้อสังเกตว่าถ้าการเรียกร้องทำไปตามกติกาโดยสุภาพ แต่การเปลี่ยนแปลงไม่เกิดขึ้นหรือไม่เกิดการถกเถียงในสังคม แบบนี้จะเรียกว่าเป็นวิธีการที่ถูกหรือไม่ แล้วถ้าการเรียกร้องนั้นทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่พอใจ จำนวนหนึ่งเห็นด้วย แต่ทำให้สังคมเกิดการถกเถียง เกิดการเปลี่ยนแปลง

“ดังนั้นผมคิดว่า มันก็อาจจะต้องทั้งสองอย่าง หมายความว่าวิธีการที่ทำให้สังคมเกิดการถกเถียง การพูดคุยโดยที่ไม่ได้ขัดกับอะไร หรือการต่อสู้โดยตามกลไก ไปยื่นกฎหมาย ยื่นข้อร้องเรียน ผมคิดว่าอาจต้องทำควบคู่กันไปด้วยซ้ำ เพราะว่าแต่ละอย่างมันจะได้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน แต่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน”

สร้างพื้นที่พูดคุย

เราลองเสนอเหตุการณ์สมมติให้ธนวรรธน์เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ เขาจะจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างไร เขาลังเลอยู่ครู่หนึ่งพร้อมกับยอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ยากเพราะเขาเองก็เข้าใจโรงเรียนด้วยเช่นกัน เขาจึงขอพูดในมุมของตนก่อน

“ผมพูดในมุมผมก่อนแล้วกันว่าก่อนหน้านี้ที่มีเด็กประท้วงหรือแต่งชุดไปรเวทมาเรียกร้องมาทำแคมเปญใช่ไหม เด็กก็ถามผมว่าหนูขออนุญาตแต่งชุดไปรเวทได้ไหม ผมก็พูดตามตรงว่า ผมไม่มีสิทธิ์ ผมไม่มีอำนาจในการอนุญาต ด้วยตัวกติกา ตัวกฎระเบียบ ถ้าผมอนุญาตแปลว่าสิ่งนั้นชอบธรรมด้วยกฎเกณฑ์ของโรงเรียน แต่กฎเกณฑ์ของโรงเรียนยังระบุไว้ ผมก็ทำได้แต่บอกว่าครูไม่มีสิทธิ์อนุญาต

“แต่ถ้าคุณแต่งมา คุณต้องรู้เป้าหมายก่อนว่าการที่คุณแต่งมา คุณกำลังแคมเปญอยู่นะ คุณกำลังต่อต้านกฎอยู่นะ นั่นแปลว่าคุณรู้แล้วว่าผลลัพธ์ที่ตามมามันคืออะไร เช่น คุณจะถูกหักคะแนน คุณก็ยอมถูกหัก เพราะคุณกำลังจะเรียกร้องอะไรบางอย่าง แล้วถ้ากติกาคือการหักคะแนน แต่ทางโรงเรียนลงโทษมากกว่านั้น เช่น จับไปลงโทษโดยการตี กีดกันไม่ให้เข้าโรงเรียน หรือไม่ให้เข้าห้องเรียน ซึ่งกติกาไม่ได้ให้อำนาจไว้ ผมก็จะปกป้องคุณเองถ้าใครทำเกินอำนาจอย่างนั้น”

ดังนั้น ถ้าเขาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมศึกษาพัฒนาการ เขาก็จะยึดกติกาเป็นหลักและร่วมกันหาทางออก เช่น ถ้าถูกตัดคะแนนจนติดลบแล้วก็ยังคงแต่งชุดไปรเวทมา เราก็ควรมาพูดคุยหาทางออกกันไหม หรือต่อให้เด็กอยู่ฝั่งตรงข้ามกับโรงเรียน ตัวเขาในฐานะผู้ใหญ่ ครู และโรงเรียนก็คิดว่าควรจะอยู่ข้างเด็ก

“หมายความว่าควรจะช่วยเขาคิดด้วยซ้ำว่าสิ่งที่เขากำลังสื่อสารอยู่ ต่อให้เขาบอกได้ไม่ชัด ต่อให้เขายกเหตุผลมาได้ไม่เพียงพอ เราก็ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา แล้วเราไปยืนอยู่ในจุดเดียวกับเขา พยายามจะหาข้อดี หา เหตุผลที่จะมาช่วยสร้างน้ำหนักให้กับเขา แต่โรงเรียนทำที่ผ่านมา เหมือนโรงเรียนจะอ้างว่าทำตามกติกา แต่สุดท้ายแล้วมันเป็นช่องว่างในเชิงเทคนิกมากกว่า ที่โรงเรียนเอามาเล่นเพื่อสร้างความชอบธรรมในการตัดขาด”

ธนวรรธน์เข้าใจว่าทางโรงเรียนถูกกดดันทั้งจากฝั่งที่สนับสนุนหยกและจากฝั่งอนุรักษ์นิยม แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างมันต้องทำตามกติกาอำนาจอย่างรอบครอบ ทั้งในทางนิตินัยและทางพฤตินัย

“ถ้าหากเป็นผม ผมก็คงจะให้สิทธิ์ในการศึกษา แล้วก็กำชับว่าให้ทำตัวตามปกติ สมมุติว่าถ้าจะรับมือกับเรื่องนี้แบบที่ไม่เห็นด้วยและต้องการให้เลิกพฤติกรรมแบบนี้ ก็คือไม่ต้องทำอะไร ก็ทำเหมือนเด็กปกติ ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเท่านั้นเอง สุดท้าย เราจะไปหาทางออกแบบครึ่งทางหรือโรงเรียนอยากจะปรับอะไรหรือว่าจะรับฟังเด็กไหม มันก็ต้องเปิดพื้นที่ให้ได้คุย ให้ได้ออกเสียงออก ความคิดเห็นของนักเรียนและของประชมคมในเรื่องนี้อย่างเสรี”

ที่ผ่านมาผู้ใหญ่มักพูดว่าเด็กคนอื่นตั้งสี่พันคนไม่เห็นมีปัญหา ธนวรรธน์ถามกลับไม่มีปัญหาจริงหรือ ลึกๆ แล้วนักเรียนคิดเห็นอย่างไร เขาสามารถแสดงออกได้อย่างเสรีหรือเปล่า หรือจริงๆ แล้วก็ถูกอำนาจของโรงเรียนกดไว้ ดังนั้นจึงควรเปิดเสรีแล้วก็ยอมรับ หมายถึงถ้าจะใช้กติกาประชาธิปไตยก็ต้องยอมรับกติกาเสียงส่วนใหญ่ แต่เขาเสริมว่าจะเสียงส่วนมากหรือเสียงส่วนน้อยก็ไม่สำคัญเท่ากับทุกคน ทุกเสียง ทุกฝั่ง ทุกความคิดได้แสดงออกอย่างเสรีและเท่าเทียมกัน แต่เวลานี้กลับกลายเป็นว่าฝ่ายหนึ่งพูดได้ อีกฝ่ายหนึ่งพูดไม่ได้

ความเห็นเหวี่ยงตามความรู้สึกของสังคม

ในช่วงที่กรณีหยกอยู่ในกระแสร้อนแรง นิด้าโพลแสดงผลน่าสนใจว่าในปี 2563 ที่กระแสการเมืองร้อนแรงและเยาวชนนักศึกษาออกมาชุมนุมประท้วง มีคนเห็นด้วยกับการปรับแก้ข้อเรียกร้องด้านกติกาต่างๆ ในโรงเรียนจำนวนมาก แต่ในปี 2566 กลับมีคนเห็นด้วยกับกติกาของฟากฝั่งโรงเรียนมากกว่า

ธนวรรธน์กล่าวว่าผลโพลมีหลายมิติที่น่าสนใจ เช่นความเห็นเรื่องเพื่อส่งเสริมความมีระเบียบวินัยปี 2566 มีคนเห็นด้วยมากกว่า แต่พอดูคำถามที่ว่าชุดนักเรียนเป็นการแบ่งชนชั้นระหว่างโรงเรียน เป็นการจำกัดเสรีภาพ เป็นการทำให้นักเรียนไม่ปลอดภัย เป็นเครื่องหมายของการกดขี่อำนาจนิยม ก็กลายเป็นว่าคนในปี 2566 เห็นประเด็นพวกนี้มากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในอีกแง่มุมหนึ่งสังคมเองก็ตื่นตัวและเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย เรื่องเครื่องแบบมากขึ้นเช่นเดียวกัน

“ตัวเลขที่เห็นด้วยว่ามันส่งเสริมระเบียบวินัย แต่จริงๆ มันก็เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการแบ่งชนชั้นระหว่างโรงเรียนหรือเป็นการกดขี่ด้วยซ้ำ” เขาแสดงความเห็นต่อว่า

“พอมองปรากฏการณ์เปรียบเทียบปี 2563 กับปี 2566 ส่วนตัวผมคิดว่ามันมีการสำรวจในช่วงหลังจากเกิดปรากฏการณ์เรื่องหยก แล้วทิศทาง ความคิดเห็นของคนในสังคมมันอยู่ในมวลความรู้สึกจากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยส่วนหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากทิศทางของสังคมในช่วงนั้น ผมกำลังจะบอกว่าความคิดเห็นของปัจเจกที่ลงความเห็นได้รับอิทธิพลจากโซเชียลจากสื่อรอบๆ จึงเป็นไปได้ว่ามีจำนวนน้อยที่มีหลักการแล้วก็ยืนหยัดอยู่บนความคิดเห็นตรงนั้น กับอีกส่วนหนึ่งก็คือสวิงไปตามความรู้สึกของสังคม”

ลดอำนาจนิยมในโรงเรียน

ไม่ว่าจะกรณีของหยกหรือกรณีอื่นๆ ที่มักปรากฏเป็นข่าวบ่อยๆ เราถามธนวรรธน์ว่าทำอย่างไรจึงจะลดอำนาจนิยมในโรงเรียนได้ หรือจริงๆ แล้วมันเป็นโครงสร้างที่ถูกกำหนดลงมาจากกระทรวงศึกษาอีกทีหนึ่ง ธนวรรธน์กล่าวว่าหลายอย่างที่ทางโรงเรียนหรือครูกระทำเกิดจากความเชื่อว่าเพราะทำแบบอื่นไม่ได้เพราะเป็นระเบียบจากข้างบน ทว่า ในความเป็นจริงกระทรวงศึกษาธิการไม่ได้เคร่งครัดขนาดนั้น

การแก้ไขวัฒนธรรมอำนาจนิยมในโรงเรียนโดยไม่แก้ที่โครงสร้าง ธนวรรธน์คิดว่าสามารถทำได้ แต่ต้องอาศัยพลังทั้งจากครูและนักเรียนว่าต้องการสร้างวัฒนธรรมหรือบรรยากาศแบบไหนในโรงเรียน ยิ่งถ้าวัฒนธรรมใหม่ที่ต้องการสร้างขัดกับอำนาจที่ครอบงำโรงเรียนก็ยิ่งต้องมีกระบวนการเสริมพลังให้ครูและนักเรียน

“ทำให้เขารู้สึกว่า จริงๆ เขาทำแบบนี้ได้ แบบนี้ไม่ผิด เราเลือกได้ว่าเราจะทำยังไง เราไม่ต้องบังคับเครื่องแบบก็ได้ ไม่เข้าแถวหน้าเสาธงก็ได้ แต่มันก็ค่อนข้างยากเพราะต้องอาศัยความเป็นเอเจนซี่ในตัวเด็ก ในตัวครูพอสมควรที่จะริเริ่มอะไรบางอย่างขึ้นมา”

ธนวรรธน์ยังกล่าวถึงผู้บริหารโรงเรียนด้วย เนื่องจากโครงสร้างอำนาจตามระเบียบข้อบังคับให้อำนาจทิศทางการบริหาร อีกทั้งผู้บริหารโรงเรียนก็ถูกกำกับขึ้นไปเป็นทอดๆ เขามีมุมมองว่าควรมีกติกาข้อหนึ่งที่ระบุว่าผู้บริหาร ครู และโรงเรียนจะต้องเปิดพื้นที่ฟังเสียงของนักเรียนในการตัดสินใจเรื่องระเบียบต่างๆ ในโรงเรียน ซึ่งหมายความว่ามีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ทุกคนรับรู้แล้วแสดงความคิดเห็นได้ ถ้าไม่ทำ ผู้บริหารจะมีความผิด

“ไม่ว่าโรงเรียนรัฐหรือโรงเรียนเอกชนเป็นหน่วยงานที่ได้รับการมอบอำนาจจากรัฐมาเพื่อจัดบริการสาธารณะก็คือการจัดการศึกษา ดังนั้น เราให้เป้าหมายไปแล้ว เราก็กำกับวิธีการบางอย่างด้วยเพื่อเป็นการจำกัดอำนาจ ไม่ให้โรงเรียน ครู ผู้บริหาร หรือคนที่มีอำนาจเหนือกว่าใช้อำนาจมากจนเกินไป แล้วก็บังคับให้ใช้อำนาจร่วมกับนักเรียนที่จะรับฟัง ที่จะให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตัวเขา”

โครงสร้างอำนาจนิยม? เมื่อ ผอ. มีอำนาจเบ็ดเสร็จ

ธนวรรธน์เสริมว่าอำนาจนิยมในโรงเรียนไม่ได้มีเฉพาะที่ครูกระทำต่อนักเรียนเท่านั้น โดยระบบข้าราชการที่เป็นอยู่ทำให้ครูไม่กล้าแสดงความเห็น เป็นวัฒนธรรมแห่งความเงียบงัน เนื่องจากผู้บริหารโรงเรียนหรือผู้อำนวยการมีอำนาจค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ทำให้ครูต้องแสดงความเห็นในนามส่วนตัว ไม่สามารถปฏิบัติการอย่างเป็นทางการได้ไม่ว่าจะมีจุดยืนต่อเรื่องนั้นอย่างไร

“มันมีการแสดงออก มีจุดยืนของครูจำนวนมากอยู่เหมือนกัน แต่ไม่สามารถแอคชั่นในเชิงทางการได้ อย่างการส่งหนังสือไปโรงเรียนนั้นหรือออกมาแสดงพลัง ซึ่งเป็นเรื่องหมิ่นเหม่สุ่มเสี่ยงมากว่า คือเสียงมันแตก แล้วก็เป็นเสียงส่วนใหญ่ด้วยซ้ำที่ไม่เห็นด้วย เรื่องของครูต่อสู้เรื่องตัวครูเองยังยากเลย ที่เห็นครูไปรวมกันแต่งชุดดำได้นั่นเพราะมีเครือข่ายผู้บริหารและคนมีอำนาจที่อยู่เบื้องหลัง แล้วดึงครูออกมาเป็นเครื่องมือ มันถึงออกมาได้

“ถามว่าการโหวต การฟังความคิดมีไหม มันก็มี แต่สุดท้ายแล้วด้วยกติกาเกี่ยวกับการให้คุณให้โทษ เรื่องความดีความชอบ เรื่องผลประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน มันยังเป็นแบบนี้อยู่ก็เลยยังไม่เปลี่ยน ดังนั้นถ้าเปลี่ยน ยกตัวอย่างเช่นเปลี่ยนวิธีการประเมิน ก็อาจจะช่วยได้มากขึ้น แต่อาจจะต้องใช้เวลาที่จะเปลี่ยนวัฒนธรรม ผมบอกว่าถ้าเกิดเด็กประเมินครู ครูประเมิน ผอ. ได้ อย่างนี้มันก็ต้องไปตามใจกันสิ ก็ใช่ไง มันก็ต้องไปฟังไง แต่ที่ผ่านมาคือมันไม่ใช่ มันแบบไล่จากบนลงล่าง ถ้าเราเปลี่ยนกติกาก็จะส่งผลต่อวิธีคิดและการทำงาน”

อย่าใจร้าย อย่าตัดสิน

ในช่วงท้ายของการสนทนา ธนวรรธน์กล่าวว่าสังคมใจร้ายเกินไปกับหยก เขาขยายความว่า

“สิ่งที่ทุกคนรีแอคมา มันรีแอคตามความรับรู้ สังคมรู้อะไรบ้าง สังคมรู้ว่าเด็กคนนี้เคยโดน 112 ปีนเข้าโรงเรียน ทำสีผมประท้วง เด็กคนนี้ตะโกนด่านู่นนี่นั่น ซึ่งจริงๆ ใครเป็นคนด่ากันแน่หรือเด็กดูก้าวร้าวจัง คำถามคือ เราเคยรู้หรือเปล่าว่าที่หยกโดน 112 เพราะหยกทำอะไร หยกเขียนข้อความว่าไง ยังไม่มีใครรู้เลย

“สอง พอแค่รู้ว่าโดน 112 ก็ดูเป็นคนไม่ดีไปแล้ว เด็กอายุสิบสี่อายุสิบห้าคนหนึ่งต้องแบกรับอะไรบ้าง เจอคำพูดแบบไหนจากคนที่สร้างความเกลียดชังเขา แล้วคำถามคือต่อให้เป็นผู้ใหญ่ในวัยอย่างเรา เจอแบบนั้นคุณรับไหวไหม คุณจะรีแอคกับสิ่งนั้นยังไง แล้วถามว่าเป็นความผิดเขาเหรอที่เขาแสดงออกต่างๆ นานา จะสมควรหรือไม่สวมควรไม่รู้ แบบมันยังไม่ตัดสิน แต่เป็นคุณจะทำยังไงล่ะ การที่เขาถูกเข้าบ้านปราณี ระหว่างอยู่ในนั้นเขาเจออะไรบ้าง หรือพอเขาได้กลับมาที่โรงเรียนแล้ว คนในโรงเรียนรีแอคกับเขายังไง ทำกับเขายังไง พูดกับเขายังไง แสดงออกกับเขายังไง แล้วเขาต้องแบกรับอะไรมาบ้าง นึกออกไหม แล้วคุณไปตัดสินเขา คุณเคยฟังเขาพูดหรือยัง ไม่ต้องไปนั่งคุยกับเขาก็ได้ แค่ฟังเขาสัมภาษณ์ คุณยังจะบอกอีกเหรอว่านี่คือเด็กที่ต้องไปหาหมอ ต้องไปหาจิตแพทย์ คุณฟังเขาแล้วเหรอ เด็กที่เอาแต่ใจ ไม่มีเหตุผล คุณฟังเขาแล้วจริงๆ ใช่ไหม

“ผมว่าสังคมป่วยไข้ อันนี้มันสะท้อนได้ สังคมต้องตั้งสติกันมากๆ แล้วก็มอง อย่ามองเห็นแค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง แต่ลึกๆ ข้างในมันมีอะไรอยู่อีกบ้าง อยากให้มองให้รอบด้านแล้วก็เข้าใจกันและกันมากกว่านี้”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net