Skip to main content
sharethis
  • ส.ส.เพื่อไทย พร้อมลงชื่อแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. “ณัฐวุฒิ” เตรียมไปเยือน “ก้าวไกล” ชวนร่วมผลักดันผ่านสภา เปิดทางทวงคืนความยุติธรรมผู้เสียหาย จากเหตุสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ปี 53 เผยความพร้อม ‘เปิดสภา’ ยื่นเรื่องทันที 
  • ‘ทนายเสื้อแดง’ ยกการไต่สวนของศาลยัน ผู้ชุมนุมตายด้วยกระสุนของ จนท.รัฐ ถาม เหตุใดมีคนตายกว่า 99 ศพ เจ็บอีกกว่า 2000 คน ความยุติธรรมจึงสะดุดอยู่เท่านี้? ย้ำ ปชช.กังขากรณีคดี ‘ธาริต’ อย่างหนัก จี้ รบ.-สภาฯ ใหม่ หยิบเรื่องนี้มาสางต่อ

12 ก.ค.2566 ทีมสื่อพรรคเพื่อไทย รายงานว่า วานนี้ (11 ก.ค.) ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย และแกนนำคนเสื้อแดง กล่าวถึงความคืบหน้าในการเสนอร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อเปิดทางคืนความยุติธรรมให้ผู้สูญเสียจากการสั่งให้สลายการชุมนุมปี 2553 ว่า พรรคเพื่อไทยประกาศเป็นนโยบายตั้งแต่ช่วงหาเสียงแล้วว่าจะดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. ซึ่งในช่วงหาเสียงตนก็ได้เปิดเผยร่างฯ นี้ต่อสื่อมวลชน หลังเลือกตั้งได้ส่งร่างฯ เวียนไปให้กับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่น้อยกว่า 30 คนได้พิจารณา หากใครมีข้อเสนอหรือปรับแก้ เมื่อเปิดประชุมสภาก็จะนำ ร่างฯ ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยได้ลงนามร่วมกันยื่นต่อประธานสภาทันที โดยตั้งใจว่าในสัปดาห์หน้าจะเดินทางไปที่พรรคก้าวไกลในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล เพื่ออธิบายเนื้อหาสาระของร่างแก้ไขกฎหมายฯ นี้ พร้อมเชิญชวนสมาชิกพรรคก้าวไกลร่วมกันผลักดันด้วยเสียงข้างมาก ให้ผ่านสภาออกมาบังคับใช้

“ผมไม่เคยสิ้นหวังเลย เพราะถ้าผมสิ้นหวังก็เท่ากับว่าผมทอดทิ้งความหวังของพี่น้องที่ร่วมต่อสู้กับผมมา วันนี้จริงอยู่ที่บางคนบอกว่า คนเสื้อแดงอาจจะเป็นผู้สนับสนุนของพรรคการเมืองมากกว่าหนึ่งพรรค อาจจะสนับสนุนพรรคการเมืองเดียวกันหรือคนละพรรคกับผมก็ได้ เรื่องนั้นผมเคารพในข้อเท็จจริง เคารพในการตัดสินใจ แต่ต่อให้ผมเป็นคนเสื้อแดงคนสุดท้าย ผมก็จะต้องทำสิ่งนี้ ผมไม่มีวิธีการอื่นนอกจากเดินหน้าไปตามกระบวนการยุติธรรม ให้มันถึงที่สุด ให้ประวัติศาสตร์มันได้บันทึกว่าเรื่องนี้มันจบลงอย่างไร และกระบวนการยุติธรรมทุกช่องทางที่ผมพยายามไป ญาติผู้เสียชีวิต นักวิชาการ ทนายความ และอีกหลายต่อหลายคน ก็ทำงานคู่ขนานกัน ช่วยกันเพื่อให้ได้คำตอบ” ณัฐวุฒิ กล่าว 

ณัฐวุฒิ กล่าว เรื่องนี้จะต้องมีคำตอบกับพี่น้องประชาชนให้ได้ เมื่อเกิดการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ความรับผิดชอบจะต้องไปถึงระดับไหน ชั้นไหน กรณีเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 มีการเดินหน้าสลายการชุมนุมจนถึงเวลากลางคืน ซึ่งหลักสากลจะไม่ทำกัน เพราะปกติการสลายการชุมนุมจะทำกันในเวลากลางวันในช่วงที่ทัศนวิสัยเปิด แต่วันนั้นพวกเราเรียกร้องว่าให้หยุดการกระทำก่อนเพราะมืดแล้ว มันอันตราย กลับไม่มีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติการณ์ใดๆ มีการประกาศเขตกระสุนจริง ใช้ปืนติดลำกล้องยิงระยะไกลเป็นครั้งแรกในโลกที่รัฐใช้วิธีนี้ในการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ส่วนการกล่าวหาผู้ชุมนุมในเรื่องชายชุดดำ ขณะนี้ทุกคดีคนที่ถูกจับแล้วถูกกล่าวหาว่าเป็นชายชุดดำ ศาลก็พิพากษาถึงที่สุดยกฟ้อง นี่คือข้อเท็จจริง

‘ทนายเสื้อแดง’ ยกการไต่สวนของศาลยัน ผู้ชุมนุมตายด้วยกระสุนของ จนท.รัฐ ถามความยุติธรรมจึงสะดุดอยู่เท่านี้? 

วันนี้ (12 ก.ค.66) ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายด้านสิทธิมนุษยชน และเลขาธิการสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) ระบุว่า คดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงปี 2553 ที่ผ่านมา มีกระบวนการที่ทำให้เห็นว่า ไม่สามารถที่จะดำเนินการต่อไปได้เนื่องจากมีกระบวนการทั้งศาล และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามา โดย 2 ส่วนนี้ทำให้ญาติของผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเขารอคำตอบอยู่ เนื่องจากการสลายการชุมนุมปี 53 เกิดจากการสั่งการ หรือการอนุมัติให้ใช้กองกำลังของกองทัพซึ่งเป็นทหาร เมื่อทหารได้รับมอบหมายและได้นำกำลังพล รวมทั้งอาวุธสงคราม โดยเฉพาะอาวุธปืนประจำกายที่บรรจุกระสุนปืนจริงมาใช้แก้ไขปัญหา ย่อมทำให้มีสถานการณ์ทั้งเฉพาะหน้า และสถานการณ์ที่จงใจทำให้เกิดการบาดเจ็บและล้มตายของประชาชนเกิดขึ้น ทั้งนี้ สิ่งที่พูดมีหลักฐานยืนยันได้จากการไต่สวนการตายของผู้ที่เสียชีวิตในการชุมนุม ทั้งจากศาลอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ ทั้ง 2 ศาลได้มีการไต่สวน และชี้ว่าเป็นการตายที่เกิดจากกระสุนความเร็วสูงซึ่งมาจากฝั่งเจ้าหน้าที่ทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยกระสุนดังกล่าวมีขนาด .223 หรือ 5.56 มิลิเมตร ซึ่งไม่ใช่กระสุนที่พลเรือน หรือประชาชนทั่วไปจะใช้ได้ และใช้อยู่ในวงราชการทหารเท่านั้น ยิ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำ และชี้ชัดว่า อาวุธที่ทหารนำมาใช้จัดการกับสถานการณ์นั้นเกินสมควรกว่าเหตุ


วิญญัติ ชาติมนตรี

ดังนั้นเมื่อเกินกว่าเหตุเช่นนี้ การดำเนินการกับคนที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนกลางกรุงฯกว่า 99 ศพ และบาดเจ็บกว่า 2000 คน จึงสะดุดอยู่เท่านี้ นี่คือคำถามของญาติ และผู้ที่เฝ้าติดตาม เมื่อเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ เพราะกระบวนการยุติธรรม หรือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้โปร่งใส และไม่ได้ทำให้เรื่องนี้ได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง มาสะดุดอยู่ที่ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษไม่มีอำนาจในการสอบสวน อย่างกรณีคดีของธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่ถูกตัดสินว่าการดำเนินการสอบสวนเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซ้ำยังถูกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สั่งให้ใช้ทหารไปจัดการฟ้องกลับ คำถามมากมายจึงเกิดขึ้นกับคนในสังคม และทำให้สังคมเกิดความเคลือบแคลงสงสัยว่า เหตุใดคนที่เป็นพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่ถูกกล่าวหา หรือถูกมองว่าเป็นผู้มีส่วนฆาตกรรมประชาชนกลับถูกดำเนินคดี และติดคุกเสียเอง แต่อีกฝั่งที่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทหาร จนทำให้ประชาชนบาดเจ็บ ล้มตาย กลับไม่ถูกดำเนินคดีอย่างเต็มรูปแบบและตรงไปตรงมา เรื่องนี้ควรได้รับการสะสางอย่างเป็นรูปธรรม และโปร่งใสจริงๆหรือไม่ ตนคาดหวังว่า กระบวนการที่เกี่ยวข้องต่อจากนี้ไป ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใหม่ หรือฝ่ายนิติบัญญัติที่เข้ามาใหม่ก็ตาม ควรหาช่อง หรือวิธีการในการตั้งคณะทำงาน หรือคณะกรรมการใดๆก็ตามมาตรวจสอบ ไต่สวน และพิจารณาคดีนี้อีกครั้ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net