Skip to main content
sharethis

เปิดงานวิจัยย้อนดูว่า 'เหตุผลที่คนปาตานีต้องการเอกราช' นั้นมีอะไรบ้าง เพื่อศึกษาหาวิธีลดความรุนแรงและนำสันติสุขมาให้ทุกคน ระบุเมื่อมีพื้นที่การเมืองและการถกกันเองอย่างเปิดเผย กลุ่มใช้ความรุนแรงก็ค่อยๆ สลายไป

คราวที่แล้วเรา ย้อนอ่านสำรวจความคิดเห็น 6 ครั้ง 'คนปาตานี' อยากได้การปกครองที่แยกเป็นอิสระ มีสัดส่วนเท่าไหร่ คราวนี้เรามาดูว่า “เหตุผลที่คนปาตานีต้องการเอกราช” นั้นมีอะไรบ้าง

งานวิจัยชิ้นหนึ่ง ซึ่งใช้คำถามตรงไปตรงมาว่า “ทำไมจึงต้องการเอกราช ?” โดยถามคนที่ต้องการเอกราช 1,000 คน ทั้งที่อาศัยอยู่ในและนอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งในกรุงเทพมหานครและประเทศเพื่อนบ้าน ชื่องานวิจัย “สานฝันปาตานีโดยไม่ใช้ความรุนแรง: การวิเคราะห์จากบทสนทนาเพื่อสร้างจินตนาการใหม่” ของ มารค ตามไท รองศาสตราจารย์และนักวิชาการด้านการสร้างสันติภาพ เป็นงานวิจัยเมื่อปี 2563

แล้วจะรู้ไปทำไม

คนทำวิจัยบอกว่า การรู้เหตุผลนี้สำคัญ เพราะจะสามารถรู้ถึงคุณค่าที่เป็นฐานของเหตุผลเหล่านั้น เมื่อรู้แล้วก็จะสามารถศึกษาหาวิธีลดความรุนแรงและนำสันติสุขมาให้คนที่อาศัยในพื้นที่ทุกคน

เมื่อต้องการหาเหตุผลของชาวปาตานีที่สนับสนุนเอกราช กลุ่มเป้าหมายที่จะสัมภาษณ์ก็ต้องเป็นคนปาตานีที่สนับสนุนเอกราช การเข้าถึงกลุ่มนี้ได้จึงตั้งทีมเก็บข้อมูล 10 คนที่เข้าถึงกลุ่มนี้ได้ ด้วยการแนะนำจากองค์กร PerMAS (กลุ่มนี้ยุบไปแล้ว) และ The Patani (กลุ่มเดียวกับที่กำลังเป็นประเด็นอยู่ขณะนี้)

ภาพจาก The Patani

ในจำนวนคนที่ให้สัมภาษณ์ทั้ง 1,000 คน บางคนให้คำตอบมากกว่าหนึ่งเหตุผล รวมแล้วมีจำนวน 1,660 เหตุผล ซึ่งผู้วิจัยและผู้เก็บข้อมูล 10 คนได้จัดเหตุผลเป็นกลุ่มที่คล้ายกันได้ 5 ประเภท คือ

1.เหตุผลประเภท “ดินแดนของฉัน”

2.เหตุผลประเภท “มีอนาคตตามที่ต้องการ”

3. เหตุผลประเภท “ศาสนา”

4. เหตุผลประเภท “แก้ปัญหาที่กำลังมีอยู่กับรัฐไทย” (ซึ่งแบ่งออกเป็นข้อย่อย 3 ข้อคือ “ความเป็นธรรม” “ความรุนแรง” และ “การจำกัดสิทธิกำหนดชะตากรรมตนเอง”)

5. เหตุผลประเภท อื่น ๆ

ตัวอย่างของเหตุผล 4 ประเภทแรก

1. ข้อ “ดินแดนของฉัน”

คนที่ 1 ปาตานีในอดีตเป็นที่รู้จักในนาม “ดินแดนแห่งอิสรภาพ” (NEGARA KEMERDEKAAN) และเมืองแห่งความศิวิไลซ์ (ERDAULAH) และเป็นสถานที่ศาสนาอิสลามได้เจริญงอกงามมากกว่า 300 ปี ตั้งแต่ศตวรรษที่ 15-16 (ก่อนที่กษัตริย์ของปาตานีจะเข้ารับอิสลาม) แต่ปาตานีในทุกวันนี้ (ปัจจุบัน) เป็นที่รู้จักในนาม “ดินแดนแห่งการถูกกดขี่ขมเหง” (BUMI JAJAHAN SIAM) ตั้งแต่ที่สยามนักล่าอาณานิคมได้เข้ามายึดครองตั้งแต่ปี 1785 ด้วยเหตุผลข้างต้น ข้าพเจ้าต้องการเอกราช (ปลดแอกจากสยาม) เพื่อทวงคืนศักดิ์ศรีและเกียรติยศของปาตานีให้กลับคืนมา เพราะเราเป็นเจ้าของผืนแผ่นดินแห่งนี้ เราจึงมีสิทธิที่จะจัดการแผ่นดินมาตุภูมิของตนเอง

คนที่ 60 เพราะอุดมการณ์ทางการเมืองของชนชาติปาตานีฝ่ายที่ต้องการเอกราช ถูกส่งต่อภารกิจในการ “ทวงคืนสิทธิแห่งความเป็นเจ้าของ” จากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ผืนแผ่นดินปาตานีมีชื่อกำกับอยู่บนแผนที่โลก จนกลายเป็น “ความทรงจำร่วม” ของคนในพื้นที่ เอกราช จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวปาตานีให้ดีขึ้น เพราะเมื่อเรามีประเทศเป็นของตนเอง เราจึงมีสิทธิที่จะออกแบบอนาคตของประเทศว่า ควรเป็นไปในรูปแบบใด

2. ข้อ “มีอนาคตตามที่ต้องการ”

คนที่ 555 เพราะทุกวันนี้ในสังคมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เหมือนอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าหน้าที่ จึงทำให้เศรษฐกิจและหลายอย่างที่จะส่งผลต่อความเจริญ แต่ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างเห็นได้ชัด

คนที่ 461 ผมต้องการชีวิตที่ดีกว่า สังคมประชาธิปไตย ไม่ใช่เผด็จการแบบประเทศไทย เมื่อปาตานีได้รับเอกราช เราก็จะไปสู่สังคมแบบนั้น

คนที่ 381 เรามีความแตกต่างจากรัฐอย่างสิ้นเชิง ภาษา อัตลักษณ์ วัฒนธรรมและความเชื่อ แม้รัฐไทยจะปกครองดีแค่ไหนก็ไม่ตอบโจทย์อัตลักษณ์ของคนที่นี่ เพราะรัฐไทยไม่เคยเข้าใจเราและจะไม่มีวันเข้าใจ เราจึงต้องการเอกราช

3. ข้อ “ศาสนา”

คนที่ 601 ปาตานีเป็นแผ่นดินเดิมที่สามารถใช้กฎหมายอิสลามในการดำรงชีวิตได้ มีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ ที่สำคัญคือ ความหลอกลวง ความไม่จริงใจของรัฐไทย เช่น นโยบายต่าง ๆ ที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาในสามจังหวัด หรือการใช้กฎหมายที่ไม่เข้มข้น ไม่จริงจังในการปราบปรามยาเสพติด เช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง ผมเคยถูกทหารเกณฑ์และในระหว่างเป็นทหารเกณฑ์ ผมถูกเฆี่ยนตีจากหัวหน้า จนได้รับบาดเจ็บสาหัสและต้องใช้เวลานานในการรักษา และยังคงไม่ได้รับเงินเยียวยาหรือเหลียวแล ทั้ง ๆ ที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐด้วยกันเอง

คนที่ 610 อยากได้ประเทศของปาตานีให้กลับมาเหมือนเดิม โดยไม่ตกเป็นทาสของมือผู้มีอำนาจที่ไม่มีความยุติธรรมของรัฐไทย โดยสามารถเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอิสลามได้อย่างเทียมแท้

4. ข้อ “จัดการกับปัญหาที่มีกับรัฐไทยได้ดีกว่า”

คนที่ 806 ถ้าถามความคิดของคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไรแบบนี้มากนักอย่างผม สมควรที่จะต้องกอบกู้เอกราชคืน เพราะว่า จากที่ได้ติดตามข่าวตามเพจสำหรับเรื่องพวกนี้ คนแถวบ้านเรา มักถูกรุกรานจากเหล่าเจ้าหน้าที่ไม่รู้กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง ซึ่งสร้างความหวาดกลัว สร้างความโกลาหลต่อคนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ทั้งในเรื่องของการเป็นอยู่ ความปลอดภัยในชีวิต ความอิสระที่จะออกไปไหนมาไหน ซึ่งเป็นเรื่องที่คนแถวบ้านเรามานานหลายต่อหลายปี ดังนั้น ผมคิดว่า ถ้าเราสามารถกู้เอกราชมาได้ มันจะสร้างความสบายใจ สร้างความสุข สร้างความเป็นอยู่ในสังคมให้ มีความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้เราไม่ต้องคอยพะวงต่อคนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพะวงต่อกลุ่ม Pemuda การถูกข่มขืนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ..... “จากใจคนที่ไม่ได้รู้เรื่องอะไร แต่ก็สนใจอะไรเกี่ยวกับเรื่องแบบนี้ และพยายามจะนำเสนอข้อเสนอข้อมูลเหล่านั้น”

คนที่ 857 ความสูญเสีย ความอยุติธรรม ความไร้มนุษยธรรม ที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐไทย และการพยายามกลืนวัฒนธรรมของนักล่าอาณานิคมสยามที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นบาดแผลอันเจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ในใจ จนทำให้เราในฐานะที่เป็นประชาชนชาวปาตานี ประเทศที่มีอัตลักษณ์ ประเพณี วัฒนธรรม และภาษาของตัวเอง ต้องลุกขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นธรรมและอิสรภาพที่สามารถปกครองโดยไม่ขึ้นกับใครได้

คนที่ 929 เพราะเอกราช คือ สิ่งเดียวเท่านั้นที่จะยังรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเราชาวปาตานีกับชาวไทย ความขัดแย้งจะไม่มีวันยุติลงได้จนกว่าเจ้าของที่ดินจะได้ดินแดนของตนเองกลับคืนมา เราไม่ได้เป็นพี่น้องกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่บ้านหลังเดียวกัน แต่เราเป็นเพื่อนบ้านกันได้ ซึ่งเพื่อนบ้านที่ดี ควรสนับสนุนให้เพื่อนได้สร้างบ้านของตนเอง

ชี้เหตุผลที่เป็น “คุณค่าศักดิ์สิทธิ์” แลกเปลี่ยนกับอย่างอื่นไม่ได้

ผู้วิจัยให้ข้อสังเกตด้วยว่า เมื่อดูเหตุผลของคนให้คำตอบทีละข้อ จะมีเหตุผล 3 ข้อที่เข้าข่ายการวางอยู่บนฐานของ “คุณค่าศักดิ์สิทธิ์” คือ ข้อ“ดินแดนของฉัน” ข้อ“มีอนาคตตามที่ต้องการ” และ ข้อ“ศาสนา”

“การพิจารณาว่าเหตุผลในสามประเภทนี้แสดงถึงคุณค่าศักดิ์สิทธิ เพราะมีลักษณะที่จะไม่ยอมแลกเปลี่ยนกับผลตอบแทนทางวัตถุ”

ผู้วิจัย อธิบายคำว่า “คุณค่าศักดิ์สิทธิ” (sacred values) คือคุณค่าที่ชุมชนหนึ่งให้ความสำคัญเกินกว่าที่จะกำหนดราคาได้ เป็นคุณค่าที่จะไม่สามารถนำมาเปรียบหรือแลกเปลี่ยนกับคุณค่าทางโลก (secular values) ตัวอย่างของคุณค่าศักดิ์สิทธิ เช่น ชีวิต ความรัก ธรรมชาติ สุขภาพ ความยุติธรรม ศักดิ์ศรี เป็นต้น ส่วนคุณค่าทางโลกก็จะเป็นคุณค่าเช่น เงิน ความสะดวกสบาย ตำแหน่ง เป็นต้น

ส่วนคุณค่าศักดิ์สิทธิของกลุ่ม คือ คุณค่าที่จะรักษาไว้ไม่ว่าต้องทนความยากลำบากและอันตรายต่อชีวิตอย่างไร

เพราะ “จัดการปัญหาได้ดีกว่า” หากรัฐไทยไม่ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรม

ผู้วิจัย ระบุว่า อีก 1 ข้อคือ ข้อ “จัดการกับปัญหาที่มีกับรัฐไทยได้ดีกว่า” ไม่ได้มีฐานทางคุณค่าเช่นนี้ เนื่องจากเป็นไปได้ที่จะยุติการอ้างเหตุผลข้อนี้หากรัฐไทยมีการปรับปรุงในเรื่องกระบวนการยุติธรรมและสามารถลดความรุนแรงในพื้นที่

ผู้วิจัย สรุปสิ่งที่ค้นพบคือเหตุผลหลักที่ชาวปาตานีซึ่งสนับสนุนเอกราชให้ไว้คือ (1) ความเป็นเจ้าของดินแดน (2) การเป็นวิธีที่จะได้อนาคตที่ปรารถนา (3) การเป็นพันธะทางศาสนา และ (4) การเป็นวิธีจัดการกับความขัดแย้งกับรัฐไทยได้ดีที่สุด

โดยเหตุผลที่ (1) (2) และ (3) เป็นเหตุผลที่วางอยู่บนฐาน “คุณค่าศักดิ์สิทธิ์” ซึ่งเป็นคุณค่าที่แลกเปลี่ยนกับอย่างอื่นไม่ได้ และจะเกิดปฏิกิริยาทางลบถ้าคนอื่นพยายามโน้มน้าวเสนอของตอบแทนเพื่อให้ทิ้งเสีย ส่วนเหตุผลที่ (4) วางอยู่บนคุณค่าที่จัดการได้โดยที่รัฐไทยเปลี่ยนวิธีปฏิบัติและเปลี่ยนนโยบายในบางเรื่อง

เมื่อมีพื้นที่การเมืองและการถกกันเองอย่างเปิดเผย กลุ่มใช้ความรุนแรงก็ค่อยๆ สลายไป

อีกจุดมุ่งหมายของงานวิจัยชิ้นนี้ คือการศึกษา วิเคราะห์และเก็บบทเรียนของแนวทางพัฒนาการการต่อสู้เพื่อเอกราชในต่างประเทศเพื่อที่จะดูความสัมพันธ์ระหว่างวิธีเคลื่อนไหวไปสู่เอกราชกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น ขบวนการเอกราชที่ศึกษาคือขบวนการที่ Catalonia, Quebec, Scotland และ Okinawa

โดยสิ่งที่ค้นพบจากการศึกษา วิเคราะห์ และเก็บบทเรียน ของแนวทางพัฒนาการการต่อสู้เพื่อเอกราชใน Catalonia, Quebec, Scotland และ Okinawa คือ เกือบทุกแห่งเคยมีกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงในการผลักดันเรื่องเอกราช แต่เมื่อขบวนการเอกราชมีที่ยืนในพื้นที่การเมืองและมีการถกกันเองภายในอย่างเปิดเผย เรื่องจะเอาเอกราชหรือไม่กลุ่มใช้ความรุนแรงก็ค่อยๆสลายไป ความรุนแรงที่เหลือคือการแสดงอารมณ์แรงในการถกเถียงกัน

ข้อสรุปและข้อแนะนำของงานวิจัยสำหรับการสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้คือ รัฐไทยควรเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้คนปาตานีถกกันเองอย่างเปิดเผยและกว้างขวางเกี่ยวกับอนาคตของปาตานีว่าจะเดินตามเส้นทางเอกราชหรือไม่

และรัฐไทยควรดำเนินการนี้โดยมีวุฒิภาวะพอที่จะส่งเสริมการคุยกันครั้งนี้ระหว่างคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้วยกันเอง ด้วยความปรารถนาดีต่อความสุขใจของคนทุกคนที่เกี่ยวข้อง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net