Skip to main content
sharethis

อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์ มธ. กล่าวปาฐกถาในโอกาส 91 ปี อภิวัฒน์สยาม ไล่เรียงพัฒนาการรัฐธรรมนูญในสังคมไทยตั้งแต่หลังเปลี่ยนการปกครอง จนถึงจุดเริ่มของ ปชต.แบบไทยๆ พร้อมชวนสังคมฉุกคิดถึงการสร้างรัฐธรรมนูญใหม่หลังการเลือกตั้ง'66 ออกจากการปกครองแบบเดิม สร้าง ปชต.ที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

 

25 มิ.ย. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (24 มิ.ย.) สืบเนื่องจากคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. และเครือข่าย จัดกิจกรรม "มุ่งหน้าธรรมศาสตร์ เฉลิมฉลองวันชาติราษฎร" ที่ลานประติมากรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อรำลึก 91 ปีของการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย 

เมื่อเวลา 17.30 น. หนึ่งในไฮไลท์งานที่น่าสนใจคือ การกล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "91 ปี อภิวัฒน์สยาม กับการสร้างประชาธิปไตยด้วยรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" โดย รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  

อนุสรณ์ อุณโณ

พัฒนาการรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา

ประชาธิปไตยมันแยกไม่ออกจากรัฐธรรมนูญ เพราะว่าประชาธิปไตย จะเป็นของประชาชนตามความหมายของประชาธิปไตยหรือไม่ มันขึ้นอยู่กับว่ารัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างไรเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้น ทันทีที่ยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย สิ่งแรกที่คณะราษฎรทำก็คือ การทูลเกล้าถวายปฐมรัฐธรรมนูญ ที่ร่างเอาไว้ให้รัชกาลที่ 7 เพื่อลงพระปรมาภิไธย ก่อนจะได้รับพระราชทานกลับมาในวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ภายใต้ชื่อพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 ซึ่งนอกจากจะมีการยกเอาพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 7 มาไว้ในอารัมภบทของรัฐธรรมนูญ ความว่าโดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ภายใต้ธรรมนูญการปกครองสยาม เพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น โดยที่ได้ทรงรับยอมรับตามคำร้องของคณะราษฎร 

ก็ยังมีการบัญญัติในมาตรา 1 ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนี้เป็นของราษฎรทั้งหลาย” ซึ่งเป็นการถอดความมาจากประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่ว่า “ราษฎรทั้งหลายพึงรู้ไว้เถิดว่า ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง” นอกจากนี้ ปฐมรัฐธรรมนูญยังได้ปรับเปลี่ยนสถานะของกษัตริย์ จากการเป็นองค์อธิปัตย์ หรือว่าเป็นที่มาของกฎหมาย ไม่มีใครสามารถที่จะฟ้องร้องได้ ต้องเปลี่ยนสถานะให้กลายมาเป็นบุคคลภายใต้กฎหมาย ภายใต้การวินิจฉัยของสภาผู้แทนราษฎร ดังที่มาตรา 6 บัญญัติว่า "กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของผู้แทนราษฎร จะวินิจฉัย"

อย่างไรก็ดี การเคลื่อนย้ายอำนาจอธิปไตย จากกษัตริย์มาสู่ประชาชนภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยด้วยการบัญญัติเอาไว้ในรัฐธรรมนูญไม่ได้เกิดขึ้นอย่างราบรื่น แต่ถูกต่อต้านตั้งแต่ต้น จึงส่งผลให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม ที่พระราชทานในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 มีเนื้อหาต่างไปจากปฐมรัฐธรรมนูญอย่างสำคัญ ดังจะเห็นได้จากข้อความในมาตรา 1 ที่ว่าอำนาจสูงสุดในประเทศ เป็นของราษฎรทั้งหลายได้ถูกตัดทิ้งไป และเปลี่ยนมาเป็นข้อความที่ว่า สยามประเทศเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้" แทน ซึ่งข้อความนี้เป็นการโต้กลับประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่ว่า "ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า ประเทศเรานี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์อย่างที่เขาหลอกลวง" ซึ่งเป็นที่มาของมาตรา 1 ในปฐมรัฐธรรมนูญ เพราะคำว่าราชอาณาจักรแปลว่า เขตแดนที่ปกครองโดยพระราชา ไม่ใช่ราษฎร หรือว่าผู้แทนราษฎร

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ได้ปรับข้อความในมาตรา 1 มาไว้ในมาตรา 2 ว่า อำนาจอธิปไตยย่อมมาจากปวงชนชาวสยาม พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นตามแต่โดยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ในปฐมรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่ว่า กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญาดำรงศาลมิได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย ซึ่งบ่งถึงสถานะของกษัตริย์ที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญได้ถูกตัดทิ้งไป และเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันแทน อีกทั้ง ยังมีการยกสถานะของกษัตริย์ในอีกหลายลักษณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 3 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ซึ่งเป็นข้อความที่ดำรงอยู่รัฐธรรมนูญทุกฉบับ สืบเนื่องจนมาถึงกระทั่งปัจจุบัน

รัฐธรรมนูญปี 2492 จุดเริ่มต้นระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ

นอกจากนี้ รัฐประหารวันที่ 8 กันยายน 2490 ภายใต้การนำของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ไม่เพียงแต่เป็นการยึดอำนาจและก็กวาดล้างรัฐบาล รวมไปถึงฝ่ายพลเรือนที่นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ หากแต่ยังสิ้นสุด พร้อมกับวางรากฐานระบอบประชาธิปไตยในประเทศนี้ในอีกลักษณะ ด้วยการบัญญัติไว้ในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญ ราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ประเทศไทย มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะเดียวกัน ก็ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์ในทางใดทางหนึ่งมิได้ ซึ่งต่างไปจากปฐมรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญา ดำรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรท่จะวินิจฉัย ซึ่งถูกตัดออกไปในรัฐธรรมนูญฉบับพระราชทาน วันที่ 10 ธันวาคม 2475 เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญ 2492 จึงเป็นจุดกำเนิดของระบอบประชาธิปไตย แบบไทยๆ ที่อำนาจอธิปไตย ไม่ได้เป็นของประชาชน 

ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้รับการเสริมสร้างมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา โดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ ฉบับที่ร่างขึ้นหลังเหตุการณ์ทางการเมือง ที่ดูเหมือนว่าจะอยู่ในบรรยากาศประชาธิปไตย เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ด้านหนึ่งถูกนับว่าเป็นชัยชนะของขบวนการนักศึกษา รวมถึงประชาชน เหนือเผด็จการทหาร และนำมาซึ่งความเบ่งบานของประชาธิปไตยในประเทศนี้ แต่ในอีกด้านก็ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้ลงหลักปักฐานอย่างมั่นคง นอกจากที่ปรากฏผ่านการแสดงให้เห็นว่า เป็นเนื้อเดียวกับนิสิตนักศึกษาและประชาชนในการเคลื่อนไหว ก็ยังปรากฏในรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ร่างติดตามมา โดยหลังเกิดเหตุการณ์ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญส่งให้สภานิติบัญญัติพิจารณา ก่อนจะได้รับการลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้ เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 

รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่พอจะเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้บ้าง และก็ให้ความสำคัญกับการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ แต่ก็เป็นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบอบประชาธิปไตย แบบไทยๆ ในเวลาเดียวกัน ดังที่มาตรา 4 บัญญัติว่า การนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่ทำการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือรัฐธรรมนูญ จะกระทำมิได้ และแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะสิ้นสุดการบังคับโดยการรัฐประหารวันที่ 6 ตุลาคม 2519 หลังการล้อมปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างตามมาก็วางอยู่บนหลักการเดียวกัน และทำนองเดียวกัน 

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พาทหารกลับกรม สร้าง รธน.ฉบับประชาชนปี'40

เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ได้พาประเทศไปสู่ประชาธิปไตย และนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรก แต่ก็เสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ให้แข็งแกร่งและก็แยบยลยิ่งขึ้น โดยหลังเกิดเหตุการณ์ทหารได้สูญเสียความชอบธรรม และก็จำเป็นต้องกลับเข้ากรมกองไป ขณะที่นักการเมืองเองก็ต้องการเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อที่จะได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามที่ได้วางแผนไว้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นในเวลานั้น นอกจากนี้ ชนชั้นนำ กลุ่มทุน รวมไปถึงเทคโนแครตทั้งหลาย ต่างเห็นว่าปัญหาในประเทศไทยในตอนนั้น โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจ มันยุ่งยากเกินกว่าจะใช้รัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในตอนนั้นได้ จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในการรับมือกับปัญหาที่ก่อขึ้นในเหล่านี้ 

ขณะที่อีกด้าน ขบวนการทางสังคมหรือภาคประชาชนได้เติบโตและเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 และเห็นว่าปัญหาของประเทศ และปัญหาที่คนระดับล่างกำลังประสบไม่ว่าจะเป็นปัญหาทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ชายฝั่ง ทะเล หรือสิทธิในการเข้าถึงบริการสาธารณะต่างๆ จะไม่สามารถแก้ไขได้ หากไม่มีการปฏิรูปการเมือง ซึ่งจะเริ่มได้ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดยประชาชน จึงส่งผลให้เกิดกระแสการร่างรัฐธรรมนูญอย่างกว้างขวาง สามารถที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 ได้ในปี 2539 และสามารถที่จะตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา และก็ดำเนินการประชุมระดมความเห็นจากประชาชนทั่วทั้งประเทศ จนยกร่างสำเร็จ และประกาศใช้ในปี 2540 กล่าวกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ตั้งแต่มีมา หรือว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นการปฏิรูปการเมืองตามเจตนารมณ์ของประชาชน นับตั้งแต่โครงสร้างความสัมพันธ์ของสถาบัน ดังเป็นที่มาของอำนาจ สิทธิเสรีภาพของประชาชน สิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมของประชาชน รวมไปถึงองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่แทนประชาชนในการตรวจสอบอำนาจรัฐ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง จนไปถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ดูประหนึ่งว่าประชาชนเหมือนจะมีอำนาจเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการเมืองที่มีเสถียรภาพ และพรรคการเมืองที่เข้มแข็งขึ้น แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดช่องให้ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้แทรกตัวเข้ามาอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาเดียวกัน ดังที่บัญญัติเอาไว้ในมาตรา 7 ว่า ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้แต่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สิ่งที่ตามมาก็คือ บรรดาหลักการและองค์กรทั้งหลายที่เขียนเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ต่อมาได้ถูกใช้ในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ อย่างเป็นระบบ หลังจากเผชิญกับความท้าทายของผู้นำประชานิยม ซึ่งก็เป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เช่นกัน 

เริ่มจากการที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย "ของแกนนำคนหนึ่ง" ขอพึ่งพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาใช้พระราชอำนาจตามนัยยะแห่งมาตรา 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 พระราชทานนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 2 ที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมโดยพลัน และหลังจากที่การเคลื่อนไหวไม่ได้รับการตอบสนอง รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำรัสให้ตุลาการศาลปกครองสูงสุด รวมไปถึงผู้พิพากษาที่เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทในวันที่ 25 เมษายน 2549 ว่า "ข้าพเจ้าเดือดร้อนมาก ที่เอะอะก็ขอพระราชทานนายกฯ ถ้าไปอ้างมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ ก็เป็นการอ้างที่ผิด" พร้อมกับทรงรับสั่งให้ศาลเป็นผู้แก้ปัญหาแทน ดังที่ว่า "ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง มีสิทธิ์ที่จะตัดสิน ฉะนั้น ก็ขอให้ท่านเอาไปพิจารณาว่าจะทำอะไรแล้วรีบทำ ไม่งั้นบ้านเมืองล่มจม" ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ตอบสนองต่อกระแสรับสั่งโดยพลัน ด้วยการมีคำวินิจฉัยเมื่อ 8 พฤษภาคม 2549 หรือ 2 สัปดาห์ต่อมา ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 เป็นโมฆะ ด้วยเหตุผลว่าคูหาไม่ปิดรับ และกำหนดวันเลือกตั้งไม่ปิดซ่อม จึงเป็นจุดเริ่มต้นของตุลาการภิวัฒน์ หรืออีกนัยหนึ่งคือตุลาการวิบัติที่พาประเทศไปสู่ทางตัน แล้วปิดปากด้วยรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ในที่สุด   

อย่างไรก็ดี รัฐประหารเป็นเพียงมาตรการเฉพาะหน้า แม้จะได้ผลชะงัก แต่การจะพิทักษ์ระบอบรัฐธรรมนูญ ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้ระยะยาว จำเป็นจะต้องอาศัยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 ที่จัดทำขึ้นในอาณัติของคณะรัฐประหาร จึงเพิ่มมาตรการดังกล่าวเข้าไป ที่สำคัญก็คือที่มาของสมาชิกวุฒิสภา จากเดิม รัฐธรรมนูญ 2540 มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ก็เปลี่ยนมาเป็นระบบเลือกตั้ง และระบบสรรหาในจำนวนใกล้เคียงกัน ซึ่งส่งผลให้รัฐธรรมนูญมีความยึดโยงต่อประชาชน ผ่านการแต่งตั้งวุฒิสภาเริ่มถอยห่างจากประชาชน และกลายเป็นกลไกหลักในการพิทักษ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ นับตั้งแต่การวินิจฉัยยุบพรรคไทยรักไทยจากการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 การวินิจฉัยให้ นายสมัคร สุนทรเวช พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะรับค่าจ้างในการเป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ การวินิจฉัยยุบพรรคพลังประชาชน เพราะกระทำการเข้าข่ายทุจริตการเลือกตั้ง มาจนกระทั่ง การวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ เพราะไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นในวันเดียวกัน ซึ่งพาประเทศไทยไปสู่ทางตันอีกครั้ง ก่อนจะปิดฉากด้วยรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ในที่สุด

รธน.'60 ไร้ความเชื่อมโยงต่อประชาชน

รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นมาตรการเฉพาะหน้าเพื่อนำไปสู่การพิทักษ์ประชาธิปไตยแบบไทยๆ ในระยะยาว โดยอาศัยรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน ต่างแต่เพียงว่าครั้งนี้มันอุจาดตามากกว่า เพราะไม่ต้องการให้รัฐประหารครั้งนี้เสียของเหมือนกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ด้วยการทำให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. สืบทอดอำนาจได้ โดยอาศัยอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาเป็นกลไกสำคัญ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งร่างโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่แต่งตั้งโดย คสช. ไม่เพียงแต่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา มาจากการแต่งตั้งโดย คสช.ทั้งหมด หากแต่ยังให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาในการเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นเวลาถึง 5 ปี ขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งก็แต่งตั้งโดยวุฒิสภา จึงเป็นเหตุให้ทั้งการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 การตั้งรัฐบาล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ล้วนแล้วอยู่ในการกำกับของ คสช.ทั้งหมด และส่งผลให้ คสช.สามารถแปลงร่างเป็นรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ได้ในที่สุด 

ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้นำ คสช. ทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 (ที่มา: thaigov.go.th)

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 ยังสร้างกลไกปกป้อง คสช.จากการตรวจสอบถ่วงดุลด้วย เพราะนอกจากศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้งแล้ว บรรดาองค์กรอิสระต่างก็อยู่ภายใต้การบงการของ คสช.ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ปปช. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพราะต่างก็ได้รับการคัดเลือกจากวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง คสช. เดิมทีองค์กรเหล่านี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญ’40 เพื่อตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหาร แต่ด้วยความพลิกผันทางการเมืองที่ผ่านมา กลไกเหล่านี้กลับถูกใช้เพื่อตอบสนอง คสช. ที่ผันตัวเองมาเป็นฝ่ายบริหารมากกว่าจะถูกใช้ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล และที่สำคัญคือถูกใช้เพื่อกำจัดคู่แข่งทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีช่องทางให้ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือว่าหน่วยงานรัฐ เข้าไปตรวจสอบการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในลักษณะที่เป็นที่กังขาของประชาชน คสช.จึงได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งร่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้        

ประการสำคัญ ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่สถาปนาขึ้นในระบอบรัฐธรรมนูญ 2560 ได้ตัดขาดความสัมพันธ์ที่เคยมีกับภาคประชาชนอย่างไม่เหลือเยื่อใย ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นภายใต้ความเป็นพันธมิตรระหว่างชนชั้นนำ กับภาคประชาชน ซึ่งส่งผลให้มีการรับรองเสรีภาพ และการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลายลักษณะ แต่รัฐธรรมนูญ 2560 เกิดขึ้นในสภาวการณ์ที่ความสัมพันธ์ดังกล่าวเสื่อมถอย มีความเหินห่าง หมางเมิน รวมไปถึงไม่ไว้ใจเข้ามาแทนที่ สิทธิและเสรีภาพของประชาชนก็เลยถูกตัดออกไปแทบจะหมด และบางส่วนก็ถูกปรับให้ไปอยู่ในหน้าที่รัฐที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนสถานะของประชาชน จากผู้ทรงสิทธิ์ให้กลายเป็นผู้สงเคราะห์รอรับจากรัฐ ขณะที่สิทธิบางอย่างที่บัญญัติเอาไว้ ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิในการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรม ซึ่งรวมไปถึงสิทธิการได้รับการประกันตัว 

ประการสำคัญ เดิมทีสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะถูกจำกัดเฉพาะ เมื่อไม่ไปกระทบบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์กับรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดต่อศีลธรรม แต่รัฐธรรมนูญ 2560 ได้บัญญัติเพิ่มเติมว่า ต้องไปไม่กระทบกระเทือน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ซึ่งเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างรัฐ หรืออีกนัยหนึ่งคือชนชั้นนำกับประชาชน ดังที่ปรากฏในการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ประชาชนตระหนักดีถึงความพยายามในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ผ่านรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐธรรมนูญ’60 และก็ได้พยายามเคลื่อนไหวคัดค้านมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะว่าเครือข่ายชนชั้นนำได้ผนึกกำลังอย่างแน่นหนา จนสามารถอาศัยให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านออกเสียงประชามติได้ และหลังจากที่ คสช.สามารถอาศัยรัฐธรรมนูญฉบับ 60 เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจได้ ประชาชนก็ได้รณรงค์เคลื่อนไหวให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีใจกลางคือประชาชน ไม่ว่าจะโดยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ซึ่งจัดงานในวันนี้ เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญที่ประกอบด้วย กลุ่มและองค์กรที่หลากหลายที่ก็มาร่วมงานในวันนี้ หรือว่าสมัชชาคนจน ซึ่งก็ได้เขียนรัฐธรรมนูญคนจนไว้จนเสร็จสิ้นแล้ว ไม่นับรวมว่าหนึ่งในข้อเรียกร้องของขบวนการนักศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ก็คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 

อย่างไรก็ดี รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขในการแก้ไขไว้ค่อนข้างแน่นหนา จนแทบไม่สามารถจะแก้ไขในประเด็นสำคัญได้ ดังจะเห็นได้จากร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอแก้ไขโดยประชาชนไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา และพรรคร่วมรัฐบาล ขณะที่ต่อมา ร่างแก้ไขที่รัฐบาลเห็นชอบ ก็มีเฉพาะร่างที่แก้ไขระบอบการเลือกตั้ง ส่วนร่างอื่นๆ ที่แม้จะได้รับความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน แต่หากเป็นการจำกัดอำนาจวุฒิสภา หรือว่าไปเกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ก็ไม่ได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกวุฒิสภา ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองก่อนมีการยุบสภาก็คือ การรวบรวมรายชื่อประชาชน เพื่อให้มีการออกเสียงประชามติ ให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ก็ไม่สำเร็จ ขณะที่พรรคการเมืองที่กำลังร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลในตอนนี้บางพรรคก็ได้กำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นภารกิจลำดับที่ 1 ในการพาประเทศไทยไปสู่ประชาธิปไตย ทีนี้บางพรรคเสนอให้มีการจัดทำประชามติทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล ให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง เน้นปิดกั้นการทำรัฐประหาร จำกัดอำนาจวุฒิสภา องค์กรอิสระ และยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 

ชวนขบคิดเรื่องรัฐธรมนูญฉบับประชาชน

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ดูเสียจะมีโอกาส และก็ความเป็นไปได้ที่จะมีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากสภา ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ในรัฐบาลที่กำลังจะตั้งขึ้นนี้ เพราะดูเหมือนกระแสสังคมจะไปในทางนั้น แต่ก็ยังมีอีกหลายประเด็นเหมือนกันที่ประชาชนจะต้องคิดและก็ขับเคลื่อนกันต่อไป และตั้งแต่ในส่วนของการทำประชามติว่าควรจะจัดกันกี่ครั้ง จัดอย่างไร ควรจะมีคำถามพ่วงเกี่ยวกับขอบเขตในการร่างด้วยหรือไม่ และจะเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ควรวางอยู่บนฐานของอะไร ลำพังพื้นที่จังหวัด เขตเลือกตั้ง จะเพียงพอไหม หรือจะต้องมีในส่วนของประเด็นปัญหาด้วย และถ้าหากมี มันควรจะเป็นปัญหาใด และข้อสำคัญก็คือว่า ในส่วนของเนื้อหารัฐธรรมนูญที่จะแก้ไข หรือว่าเขียนใหม่ นอกจากประเด็นสิทธิเหนือทรัพยากร สวัสดิการพื้นฐาน สิทธิทางการเมือง การกระจายอำนาจ กระบวนการยุติธรรม รวมถึงวุฒิสภา ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และคุณสมบัติและการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ประชาชนได้ร่วมกันแก้ไขเอาไว้แล้ว เราอาจจะจำเป็นที่จะต้องพิจารณาหลักการของระบอบประชาธิปไตยในรัฐธรรมนูญที่จะเขียนใหม่ด้วย เริ่มตั้งแต่ว่าประเทศไทยเป็นเขตแดนที่ปกครองโดยประชาชนหรือใคร จะสามารถปกครองประเทศนี้ด้วยอำนาจอธิปไตยที่มีลักษณะยืดหยุ่นและแยกย่อย เหมือนกับที่หลายประเทศโลกนี้ได้ไหม และอำนาจอธิปไตย เป็นของประชาชน หรือว่าเป็นของใคร และหากประชาชนไม่สามารถที่จะใช้อำนาจอธิปไตยโดยตรงในทุกกรณีได้ ควรมอบหมายให้ใครเป็นผู้ใช้แทน และจะอาศัยประเพณีการปกครองต่อไปหรือไม่ และที่สำคัญก็คือว่าจะทำให้ทุกคนเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมายฉบับเดียวกัน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบอบประชาธิปไตยได้อย่างไร เหล่านี้เป็นคำถามค่อนข้างจะใหญ่ แต่ประชาชนก็ควรที่จะเริ่มต้นในการตั้งคำถามนี้ หากว่าต้องการที่จะเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชน คณะราษฎรได้ทำการอภิวัฒน์สยาม มาจนวันนี้ก็เป็นเวลา 91 ปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าจะยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางเอาไว้ได้ ไม่ว่าที่จะเขียนเอาไว้ในประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 หรือในปฐมรัฐธรรมนูญ 

"ตอนนี้เป็นเวลาที่ประชาชนจะต้องร่วมกันเขียนรัฐธรรมนูญอีกครั้ง หลังจากผ่านมากว่า 20 ปี ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประชาชนไม่ยินดีที่จะอยู่ภายใต้การนำแบบเดิมอีกต่อไป จึงน่าจะถึงเวลาที่ประชาชนร่วมกันเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อร่วมกันสร้างระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนเสียที" อนุสรณ์ ทิ้งท้าย    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net