Skip to main content
sharethis

ในขณะที่การตลาดแต้มสีรุ้งของกลุ่มธุรกิจต่างๆ มีเรื่องน่าวิพากษ์วิจารณ์หลายอย่าง แต่อย่างน้อยก็เป็นเครื่องสะท้อนว่าการเคลื่อนไหวของ LGBTQ+ มาไกลถึงขนาดกลุ่มธุรกิจยังต้องเข้าร่วม จึงมีข้อเสนอจากสื่อ LGBTQ+ และนักวิชาการว่ากลุ่มธุรกิจควรจะทำอะไรบ้างถึงจะเป็นการสนับสนุนและเป็นประโยชน์กับชาวสีรุ้งอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เปลือกนอก หรือผ่านเดือนไพรด์ไปก็พับธงเก็บ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พอถึงเวลาย่างเข้าฤดู Pride ในเดือนมิถุนายนทีไรดิฉันมักจะได้เจอกับปรากฏการณ์สองปรากฏการณ์ที่เกือบจะคู่ขนานกัน ปรากฏการณ์แรกคือการที่ธุรกิจขนาดใหญ่ต่างๆ พยายามทำแคมเปญการตลาดในเชิงที่แสดงให้สังคมเห็นว่าพวกเขามีความใส่ใจเรื่องประเด็นความหลากหลายทางเพศ หรืออย่างน้อยก็เอาสีรุ้ง (สัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศ) มาประดับประดาอะไรสักอย่างก็ยังดี

กับอีกส่วนหนึ่งคือกลุ่มคนบางกลุ่ม (ที่บางครั้งก็ไม่ใช่กลุ่ม LGBTQ+ เอง) ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องนี้ว่าเป็น Rainbow Capitalism (แปลตรงตัวว่า "ทุนนิยมสีรุ้ง") บ้าง หรือไม่ก็วิจารณ์ว่าเป็น Rainbow Washing (การใช้สีรุ้งมากลบเกลื่อนอะไรแย่ๆ ของตัวเอง) บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าคำไหนมันฮิตกว่ากันในช่วงนั้น หรือขึ้นอยูกับว่าพวกเขายึดอุดมการณ์แบบใดอยู่

แต่ทว่าดิฉันอาจจะขอมองเรื่องนี้ในฐานะของคนที่ผ่านยุคสมัยอันน่าเจ็บปวด ที่ไม่เพียงแค่การมองเห็นความหลากหลายทางเพศแทบจะเป็นศูนย์เท่านั้น แต่ยังมีการบิดเบือนตัวตนและสร้างความเป็นอื่นในระดับที่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อพวกเราด้วย (เช่น ภาพยนตร์ที่สร้างภาพเหมารวมตีตราให้ LGBTQ+ ฯลฯ) ทำให้พอเราเห็นเรื่องการประดับประดาสีรุ้งแบบเปลือกๆ ในยุคหลังๆ นี้เป็นเรื่องน่าวิจารณ์ก็จริงแต่ก็ไม่ใช่ในระดับที่ต้องมาตั้งป้อมวิพากษ์แบบใหญ่โต เพราะมีอะไรอย่างอื่นที่น่าวิจารณ์กว่านี้มาก

ในทางตรงกันข้าม มีบางบทความในสื่อต่างประเทศวิเคราะห์กันว่า การที่ห้างร้านหรือกลุ่มธุรกิจต่างๆ หันมาพยายามกระโดดขึ้นรถไฟขบวนสายรุ้งเช่นนี้ เป็นสิ่งสะท้อนให้เห็นว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่ม LGBTQ+ ตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบันมันส่งผลลัพธ์ในทางบวกอยู๋บ้าง ในแง่ที่ว่ามันทำให้ธุรกิจในกระแสหลักของสังคมหันมาสนใจและมองว่าตัวเองต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อทำให้องค์กรมีภาพลักษณ์ใส่ใจต่อเรื่องความหลากหลายทางเพศ

ส่วนหนึ่งดิฉันมองว่าเป็นเรื่องดีที่มีการโต้ตอบแลกเปลี่ยนในเรื่องที่น่าระแวงว่ามันจะเป็นการแต่การ Rainbow Washing (การใช้สีรุ้งมากลบเกลื่อนอะไรแย่ๆ ของตัวเอง) หรือไม่ แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วดิฉันมองว่าเราควรจะต้องไปให้ไกลกว่าแค่การตั้งป้อมวิจารณ์เรื่องนี้ (ซึ่งเป็นแค่สเต็ปแรก) เพราะการวางเฉยและวิจารณ์อยู่ห่างๆ ไม่ได้ช่วยอะไร

ดิฉันคิดว่าพวกเราต้องช่วยกันผลักดันให้ชาว LGBTQ+ เข้าไปมีส่วนร่วมกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น และควรจะให้มีภาพของ LGBTQ+ ในหลายภาคส่วน ไม่ใช่แค่ LGBTQ+ ที่เป็นคนรวย หรือเป็นกลุ่มที่มีสิทธิพิเศษ (privileges) อยู่แล้วเท่านั้น (เช่นกลุ่มชายรักชายที่เข้าถึงทรัพยากรได้มากอยู่แล้ว หรือกลุ่ม "กะเทยสวย" ที่มีชื่อเสียงทางรูปร่างหน้าตาอยู่แล้ว) แต่ควรจะเน้นกลุ่มคนทำงาน แรงงาน คนชายขอบ ให้มีสิทธิมี้เสียงในการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้กับสังคมในเรื่องนี้ด้วย

บทความจากสื่อต่างประเทศก็เคยพูดถึงเรื่องแบบนี้ไว้เช่นกัน เช่น ล่าสุดในช่วงต้นเดือนไพรด์ มีสื่อ LGBTQ+ ต่างประเทศอย่าง Pink News เขียนถึงเรื่องนี้เอาไว้ อีกทั้งยังมีบทความเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ที่พูดถึงเรื่องเดียวกันโดยที่ประเด็นยังไม่เก่าเกินไป

เราจะทำให้การตลาดสีรุ้ง เป็นประโยชน์ต่อชาว LGBTQ+ โดยทั่วถึงได้อย่างไร

ต้นกำเนิดของ "ไพรด์" ที่แปลว่า "ความภาคภูมิในศักดิ์ศรี" เป็นเรื่องของการเฉลิมฉลองให้กับการต่อสู้ที่สโตนวอลล์ ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่ถูกปราบปรามจากภาครัฐของอเมริกาในยุคสมัยปี 2512 หลังจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ในช่วงแรกๆ มีแค่การเฉลิมฉลองในเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯ เท่านั้น ก่อนที่จะขยายไปสู่ทั่วโลกในเวลาต่อมา

ไอมี แลงเกอร์ นักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะจากมหาวิทยาลัยคาลการี ประเทศแคนาดา เคยพูดถึงเรื่อง "การตลาดสีรุ้ง" เอาไว้ในบทความเมือปี 2564 ที่ในตอนนั้นมีทั้งการออกวางจำหน่ายตัวต่อเลโก้ธีม LGBTQ+ ร้านค้าต่างๆ ก็มีการประดับประด้วยเครื่องประดับสีรุ้ง มีการขายสินค้าในธีมไพรด์ มีการเผยแพร่คำขวัญแบบฟังดูน่าเบื่อจากห้างร้านต่างๆ ก่อนที่จะเก็บข้าวของเหล่านี้ออกไปเมื่อถึงวันที่ 30 มิ.ย. สิ้นสุดเดือนไพรด์ ราวกับว่าเป็นมหกรรมเซลส์ชั่วครู่ชั่วยาม

ถึงแม้ตัวดิฉันเองจะเข้าใจความเป็นห่วงของฝ่ายต่อต้านและแสดงความไม่ชอบใจต่อ "การตลาดสีรุ้ง" เช่นนี้ เนื่องจากฝ่ายธุรกิจเองก็เคยเป็นกลุ่มที่ทำการกีดกันเลือกปฏิบัติต่อการจ้างงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เลวร้ายต่อชาว LGBTQ+ มาก่อน แต่ในขณะเดียวกันดิฉันก็อยากให้วิพากษ์ในเรื่องนี้ในแบบที่ชี้ให้เห็นปัญหาเพื่อสร้างความเข้าใจ แทนที่จะทำไปในเชิงที่จะเอื้อให้เกิดการเซนเซอร์ตัวเอง กลายเป็นการปิดกั้นไม่ให้มีการนำเสนอภาพของชาวสีรุ้งอีกต่อไป หรือกระทั่งทำให้ชาวสีรุ้งเองทำตัวไม่ถูกว่าควรจะทำตัวอย่างไร จนไม่สามารถเผยแพร่เรื่องราวของตัวเองได้

แลงเกอร์ชี้ให้เห็นว่านอกจากกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์แล้ว ยังมีบางส่วนที่มองว่า "การตลาดสีรุ้ง" สามารถเป็นสัญญาณที่ดีได้ด้วย เพราะถึงแม้ว่ามันจะดูตื้นเขิน แต่มันจะกลายเป็นสิ่งที่เสริมกำลังใจ และอย่างน้อยก็เป็นการส่งสัญญาณว่ามีการยอมรับความหลากหลายทางเพศมากขึ้นแล้วในสังคม และการสร้างการรับรู้มองเห็นในสังคมก็มีความสำคัญในการที่จะทำให้สังคมยอมรับชาว LGBTQ+ มากขึ้นด้วย

แล้วอะไรเกิดขึ้นก่อนกันล่ะ ระหว่าง "การยอมรับ" กับ "การฉวยใช้" พลังสีรุ้งของชาว LGBTQ+ แลงเกอร์มองว่ามันเกิดขึ้นพร้อมๆ กันนั่นแหละ มันอาจจะดูเหมือนเป็นแค่การล่อหลอกอย่างไม่ค่อยรับผิดชอบและไม่จริงใจจากฝ่ายธุรกิจ แต่สุดท้ายแล้วมันก็เป็นสัญญาณว่าแม้แต่กลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ก็ต้องพยายามแสดงตัวเข้าร่วมขบวนเป็นส่วนหนึ่งของเดือนแห่งไพรด์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะเดียวกัน แลงเกอร์ ก็ได้เสนอว่าการที่กลุ่มธุรกิจพยายามจะโอ้โลมปฏิโลมกับ LGBTQ+ ในเดือนแห่งไพรด์นั้น สามารถช่วยกันผลักดันให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้หันมาดำเนินการด้วยเจตนาดีและส่งผลในทางบวกอย่างแท้จริงได้ด้วย ผ่านข้อเรียกร้องต่างๆ

ยกตัวอย่างเช่น เรียกร้องให้บริษัทเหล่านั้นมีนโยบายในที่ทำงานที่มีการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมและโอบรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ, ให้มีการจ้างงานชาว LGBTQ+ ในทุกระดับ รวมถึงให้เป็นผู้บริหารในระดับสูงด้วย, มีการวางแผนและจัดงานชุมชนในการส่งเสริมชาว LGBTQ+ รวมถึงด้านศิลปะและด้านธุรกิจของผู้มีความหลากหลายทางเพศ, มีการฝึกอบรมและสร้างพันธมิตรด้านธุรกิจกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ, การให้ทุนการศึกษาและทุนทรัพย์ต่างๆ ต่อชาว LGBTQ+ เป็นต้น

หลายวิธีการที่ธุรกิจต่างๆ จะช่วยส่งเสริม LGBTQ+ ได้อย่างแท้จริง

ในบทความล่าสุดของสื่อ Pink News ได้ระบุถึงหลายวิธีการที่กลุ่มธุรกิจต่างๆ จะช่วยให้เกิดการสนับสนุน LGBTQ+ อย่างแท้จริงได้ ไม่ใช่เพียงแค่ทำกับ LGBTQ+ แบบเป็นไม้ประดับเท่านั้น เช่น การที่พวกเขาควรยืนหยัดส่งเสริมชาว LGBTQ+ อย่างจริงจังแทนที่จะรีบหดหนีหลังจากที่พวกใจแคบ (bigot) โจมตี เพราะการจะส่งเสริมชาว LGBTQ+ ได้อย่างแท้จริงนั้นต้องอาศัยการสนับสนุนและยึดมั่นในพันธกิจอย่างจริงจัง

1.) ควรจะมีการคอยอัพเดทอยู่เสมอว่าพวกเขาได้ทำอะไรในเชิงส่งเสริมชาว LGBTQ+ แล้วบ้าง เช่นเรื่องที่บริษัทควรจะรับรองเพศสภาพตามที่บุคคลนั้นๆ ต้องการ เช่นปฏิบัติต่อนอนไบนารี (ผู้ที่มีอัตลักษณ์ทางเพศนอกเหนือจากสองขั้วชายหญิง) แบบที่พวกเขาเป็น การปฏิบัติต่อผู้หญิงข้ามเพศแบบผู้หญิง ต่อชายข้ามเพศแบบผู้ชาย ไม่บังคับให้พวกเขาเป็นเพศที่ไม่ได้เป็น

หรือการมีห้องน้ำไม่จำกัดเพศเพิ่มเข้ามาถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ก็ควรประเมินเป็นระยะๆ และคอยขัดเกลาให้มีการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมมากขึ้น เช่น การระบุยอมรับอัตลักษณ์ของนอนไบนารีให้ใช้ได้ในเอกสารของฝ่ายบุคคล รวมถึงให้มีการปรับเปลี่ยนมาใช้ธงไพรด์แบบ "ก้าวหน้า" ที่มีความครอบคลุมมากกว่า ในแง่ที่ว่ามันสื่อถึงกลุ่มชาวสีรุ้งที่เป็นเชื้อชาติสีผิวอื่นๆ นอกจากคนขาว สื่อถึงชุมชนคนข้ามเพศ และบุคคลเพศกำกวม (intersex) ด้วย

2.) ควรมีการฝึกอบรมบุคลากรด้านความหลากหลาย การให้ความรู้ความเข้าใจแก่บุคลากรคนทำงานในองค์กรหรือในธุรกิจต่างๆ นั้นจะช่วยสร้างความเข้าใจในประเด็น LGBTQ+ ทำให้ที่ทำงานมีการคำนึงถึงอย่างครอบคลุมต่อความหลากหลายมากขึ้นได้ การฝึกอบรมจะช่วยให้เข้าใจเรื่องอคติที่ฝังอยู่ในระดับจิตใต้สำนึกของผู้คน ส่งเสริมให้เกิดการเคารพต่อกัน และเป็นเครื่องมือในการทำให้ที่ทำงานกลายเป็นที่ๆ โอบรับความหลากหลายของผู้คนได้อย่างแท้จริง

3.) พิจารณาเรื่องสวัสดิการใหม่อีกครั้ง ให้ครอบคลุมถึงผู้มีความหลากหลายมากขึ้น มีการยกตัวอย่างเช่น นโยบายสวัสดิการด้านการลาเพื่อใช้เวลากับครอบครัวนั้นควรจะทำให้ครอบคลุมถึงครอบครัวสีรุ้งด้วย เช่น ครอบครัวที่ทำการอุปการะบุตรหรืออุ้มบุญ โดยทำให้ครอบคลุมถึงครอบครัวคนรักเพศเดียวกันด้วยแทนที่จะเป็นครอบครัวที่ประกอบด้วยพ่อแม่แบบคู่แต่งงานชายหญิงแต่เพียงอย่างเดียว

นอกจากนี้ยังควรมีสวัสดิการที่คำนึงถึงเรื่องการเข้าถึงบริการทางการแพทย์เพื่อการข้ามเพศของกลุ่มคนข้ามเพศและนอนไบนารีด้วย (เช่น การเทคฮอร์โมน การผ่าตัดแปลงเพศ)

4.) เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของ "ไพรด์" เมื่อดูจากการที่ประเด็นของความหลากหลายทางเพศกลายเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นการต่อสู้ทางการเมืองแล้ว กลุ่มธุรกิจจึงควรจะศึกษาเพิ่มเติมเรื่องประวัติศาสตร์ของเดือนไพรด์ด้วย ว่าทำไมมันถึงมีการเฉลิมฉลองในเดือน มิ.ย.

คำว่า "ไพรด์" ที่แปลว่า "ความภาคภูมิในศักดิ์ศรี" นั้น มาจากการยืนหยัดต่อสู้ในเหตุการณ์สโตนวอลล์และสะท้อนการต่อสู้ของประชาคมชาว LGBTQ+ ที่เผชิญมาตลอดในประวัติศาสตร์ ถ้าหากมีการเรียนรู้ในเรื่องนี้ก็จะทำให้เกิดการเข้าใจกันและกัน เห็นใจกัน ตระหนักรู้ต่อกัน และชื่นชมความก้าวหน้าที่มาจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวสีรุ้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่นายจ้างสามารถแสดงให้เห็นถึงการยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กับลูกจ้างชาวสีรุ้งของพวกเขาได้ด้วย

5.) บริจาคให้กับองค์กรที่มีเป้าหมายไปในทางเดียวกับนโยบายสนับสนุน LGBTQ+ ของบริษัท การบริจาคให้กับองค์กรที่ส่งเสริมด้าน LGBTQ+ จะส่งผลดีทั้งกับภาคธุรกิจเองและชาวสีรุ้งด้วย ส่วนหนึ่งเพราะมันทำให้คนทำงานที่เป็นชาวสีรุ้งรู้สึกดีกับที่ทำงานของตัวเอง และทางกลุ่มธุรกิจก็เอาตรงนี้ไปลดหย่อนภาษีได้

ทั้งนี้ในบางบริษัทก็จะมีกลุ่มทรัพยากรพนักงาน (ERGs) ที่เป็นแหล่งพบปะของบุคคลที่มีความหลากหลาย ที่จะเป็นผู้ช่วยค้นหาองค์กรด้านความหลากหลายทางเพศที่ทางบริษัทจะให้การบริจาคได้

6.) ให้กลุ่มลูกจ้างและกลุ่มทรัพยากรพนักงานที่เป็น LGBTQ+ เป็นผู้นำในการตั้งวงเสวนาเกี่ยวกับเรื่องไพรด์ เรื่องนี้จะทำให้ลูกจ้างสามารถบอกเล่าประสบการณ์ของตัวเองได้ ทำให้บริษัททราบว่าจะมีการคำนึงอย่างครอบคลุมความหลากหลายของพวกเขาได้อย่างไร นอกจากนี้บริษัทที่มีสวัสดิการก้าวหน้าก็สามารถใช้เครือข่ายที่นำโดยกลุ่มอาสาสมัครในการช่วยร่างนโยบายในเรื่องนี้ขึ้นมาได้

อย่างไรก็ตามก็ต้องคำนึงว่าการให้ลูกจ้างที่เป็น LGBTQ+ เป็นผู้นำการเสวนานั้นไม่ได้หมายความว่าต้องผลักภาระให้พวกเขามากขึ้นในเรื่องนี้ แต่ควรจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับลูกจ้างเหล่านี้มากกว่าแทนที่จะให้พวกเขาต้องดิ้นรนในสร้างพื้นที่เหล่านี้เอง นอกจากนี้กลุ่มทรัพยากรพนักงานก็จะทำให้เกิดผลลัพธ์ได้มากขึ้นถ้าหากว่ามีฝ่ายบริหารที่คอยให้การสนับสนุนพวกเขา

7.) จัดหาทรัพยากรที่จะสนับสนุน LGBTQ+ เตรียมเอาไว้ เช่น การมีห้องสมุดที่เกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือมีศูนย์ทรัพยากรความรู้ ที่มีหนังสือ, บทความ และสื่อการเรียนการสอนรูปแบบต่างๆ นอกจากนี้ยังสามารถจัดให้มีโครงการให้ลูกจ้างที่เป็น LGBTQ+ เป็นเสมือนพี่เลี้ยงคอยสร้างความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศกับคนทำงานในบริษัทได้ จะเป็นการสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรให้กับลูกจ้างที่เป็น LGBTQ+ และทำให้เหล่าลูกจ้างรู้สึกเติบโตขึ้นในองค์กรได้

8.) ยืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง ด้วยการปกป้องชาวสีรุ้ง ถึงแม้ว่าจะต้องเผชิญกระแสต่อต้านจากกลุ่ม "ม็อบต่อต้านคนตาสว่าง" ก็ตาม มันเป็นเรื่องน่าผิดหวังสำหรับบริษัทห้างร้านต่างๆ ที่ยอมตามกลุ่มคนใจแคบที่เกลียดชังความหลากหลาย ทำให้รู้สึกว่าพวกคุณไม่แน่จริง หรือไม่มีความจริงใจในการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

บริษัทที่ยอมให้กับพวกใจแคบเหล่านี้ควรจะแถลง "ขอโทษ" ที่ยอมยกเลิกการจัดแสดงสัญลักษณ์ไพรด์ในห้างร้านของตน เพราะการกระทำของพวกคุณทำให้ชาวสีรุ้งรู้สึกถูกกีดกันให้โดดเดี่ยว แถมยังกลายเป็นการส่งเสริมให้เกิดวาจาสร้างความเกลียดชังและการเลือกปฏิบัติต่อชาว LGBTQ+ ด้วย

และสิ่งเหล่านี้คือข้อเสนอที่น่าสนใจที่ดิฉันได้รวบรวมมา จึงหวังว่าการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการตลาดสีรุ้งใดๆ ก็ตามในอนาคตจะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อผลักดันให้มันไปข้างหน้าอย่างแท้จริง และเน้นให้เกิดผลในทางปฏิบัติ มากกว่าแค่การวิจารณ์เพื่อแสดงความสูงส่งทางจริยธรรมเฉยๆ แต่ไม่ได้ส่งผลดีอะไรกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

เรียบเรียงจาก

How to avoid rainbow-washing and truly support LGBTQ employees during Pride Month, Pink News, 01-06-2023

'Rainbow capitalism' is pandering, pure and simple, but it can still help drive social change, CBC, 01-06-2021

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net