Skip to main content
sharethis

'ชัชชาติ' ฝาก รบ.ใหม่ ทบทวนภาษีที่ดิน หลังเก็บห้างใหญ่ได้ลดลง 10 เท่า ถามช่วยลดเหลื่อมล้ำจริงหรือ เผย กทม.ตั้งงบฯ 67 ไว้ 9 หมื่นล้าน พร้อมทำงบประมาณฐานศูนย์ เตรียมรื้อโครงการเก่าไม่คุ้มไม่ทำต่อ


ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

27 พ.ค. 2566 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่สำนักงานเขตพญาไท นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงข้อเสนอเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกับรัฐบาลชุดใหม่

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องที่จะฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากคือ เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เดิม กทม.จัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน โดยคิดจากรายได้ของกิจการ 12.5% เพื่อมาเป็นรายได้ของเขต แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรูปเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะคิดตามมูลค่าที่ดิน

นายชัชชาติกล่าวว่า ยกตัวอย่างเขตพญาไท ก่อนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษี สามารถจัดเก็บได้ประมาณ 300 ล้านบาท แต่เมื่อเปลี่ยนรูปแบบภาษีทำให้จัดเก็บได้ลดลงเหลือประมาณ 200 ล้านบาท ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะตอนแรกหวังว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ผู้ที่มีรายได้มากจะต้องเสียภาษีมากแต่พบว่าไม่ได้เป็นไปตามนั้น เช่น ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตพญาไท เดิมเสียภาษี 10.7 ล้านบาท แต่เมื่อเก็บภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 1.08 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าภาษีลดลงถึง 10 เท่า

“แต่ก่อนมีการคิดห้างนี้ขายของเท่าไหร่ ค่าเช่าที่เท่าไหร่ เก็บ 12.5% แต่พอเปลี่ยนมาเป็นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปุ๊บ ไม่คิดตามรายได้แล้ว คิดตามมูลค่าที่ดินแปลงนี้เท่าไหร่ อาคารเก่าก็จะมีค่าเสื่อม สรุปเป็นภาษีที่ดินฯ ลดลงไปเหลือแค่ 10% เอง” นายชัชชาติกล่าว

นายชัชชาติกล่าวต่อว่า อาคารสำนักงานแห่งหนึ่งในเขตพญาไท เดิมเสียภาษี 11.49 ล้านบาท เพราะคำนวณจากค่าเช่าภายในสำนักงาน แต่เมื่อคิดภาษีรูปแบบใหม่ เสียภาษีเพียง 3.72 ล้านบาท เพราะคิดตามมูลค่าที่ดิน รวมถึงยิ่งเป็นอาคารเก่ามีค่าเสื่อมเยอะ ทำให้มูลค่าลดลงอีก ในขณะที่ห้องเช่าซึ่งเป็นอาคาร เดิมเก็บได้ 4.35 ล้านบาท ภาษีใหม่เก็บได้เพียง 7.68 หมื่นบาท รายได้หายไป 4.28 ล้านบาท เพราะเจ้าของได้ย้ายทะเบียนบ้านมาอยู่ในอาคารห้องเช่า จึงกลายเป็นที่อยู่อาศัยทำให้เสียภาษีในอีกอัตราหนึ่ง

ซึ่งเขตในตัวเมืองมีการจัดเก็บภาษีได้น้อยลง เพราะในเมืองมีสถานประกอบการเยอะ แต่เขตในชานเมืองเก็บภาษีได้มากขึ้น เพราะชานเมืองที่ดินหลายแปลงเป็นที่คนอยู่อาศัย กลายเป็นว่าคนที่มีที่ดินพร้อมบ้านพัก กลับกลายเป็นว่าอาจจะต้องเสียภาษีเยอะขึ้น ทั้งที่ไม่ได้สร้างรายได้ บางคนถือที่ดินเปล่าที่พ่อแม่ให้มาส่งให้ลูกหลาน แต่ก่อนไม่ต้องเสียภาษีเพราะไม่มีรายได้ แต่พอมาเป็นภาษีที่ดินฯใหม่ต้องจ่ายทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนจนหรือคนรวย

“จะเห็นได้ว่าต้องฝากถึงรัฐบาลและสภาชุดใหม่ ไปช่วยทบทวนว่าการทำแบบนี้มีผลกระทบอย่างไร เป็นจุดที่เราจะลดความเหลื่อมล้ำได้จริงไหม”

รวมถึงเงินที่ติดค้างให้กับท้องถิ่น จากการลดภาษีที่ดินฯ 90% ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และในปีนี้ที่มีการลดอีก 15% ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่ลดภาระของประชาชน แต่เอาเงินของท้องถิ่นไปช่วย ถ้าอนาคตรัฐบาลคืนเงินนี้ให้ท้องถิ่นได้ ท้องถิ่นจะมีเงินไปบริหารตามหลักกระจายอำนาจได้มากขึ้น

“ตามอัตราปกติจัดเก็บได้ 2 หมื่นล้านบาท หายไป 1.8 หมื่นล้านบาท 2 ปี 3 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ท่านให้คืนมาพันกว่าล้านบาทเอง กทม.อาจจะไม่ได้มีปัญหามาก แต่ท้องถิ่นเล็กๆ ที่เขาไม่มีรายได้อื่น กทม.ยังมีรายได้อื่นๆ จากภาษี VAT มาช่วย ต้องฝากรัฐบาลช่วยดูตรงนี้ด้วย เพราะถ้าเราจริงใจกับการกระจายอำนาจ ก็ต้องให้ทรัพยากรมาช่วยด้วย” นายชัชชาติกล่าว

เผย กทม.ตั้งงบฯ 67 ไว้ 9 หมื่นล้าน พร้อมทำงบประมาณฐานศูนย์ เตรียมรื้อโครงการเก่าไม่คุ้มไม่ทำต่อ

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2566 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่านายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 12/2566 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า ในวันนี้มีการคุยเรื่องงบประมาณของปี 67 ซึ่งอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท โดยทำเป็นงบแบบสมดุล ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายจะเป็นโครงการหลากหลายด้านทั้งเส้นเลือดฝอยและเส้นเลือดใหญ่ ภายใต้นโยบาย Zero Based Budgeting หรืองบประมาณแบบฐานศูนย์ คือการปรับทุกอย่างให้เป็นศูนย์ก่อน โดยกรุงเทพมหานครได้นำโครงการเก่ามาดูและพิจารณาว่าคุ้มหรือไม่ ถ้าไม่คุ้มหรือไม่จำเป็นก็จะไม่นำโครงการเดิมมาทำ หากจำเป็นจริง ๆ หรือเป็นโครงการที่มีประโยชน์ก็ค่อยใส่เข้ามา ซึ่งเป็นแนวคิดหนึ่งที่ทำให้เราใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้จะต้องนำเข้าสภากรุงเทพมหานครอีกครั้งหนึ่ง

จากที่ได้ติดตามอ่าน MOU ซึ่งทางกลุ่มที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาลวางแนวทางไว้ แม้ว่าขณะนี้ยังไม่ทราบว่าสุดท้ายใครจะเป็นรัฐบาล แต่เบื้องต้น นโยบายในหลาย ๆ ด้านของกรุงเทพมหานครและสิ่งที่เราดำเนินการอยู่นั้นมีความสอดคล้องกับ MOU ดังกล่าว ทั้งในแง่ของความโปร่งใส ซึ่งเป็นหัวใจในการทำงาน การใช้เทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น การทำ Zero Based Budgeting เป็นต้น อย่างไรก็ดี เราสามารถทำงานร่วมกับทุกคนได้ เพราะเราเป็นหน่วยงานท้องถิ่นซึ่งต้องทำตามรัฐบาลกลางอยู่แล้ว

ขณะนี้ก็มีนโยบายหลายเรื่องที่เตรียมจะนำเรียนรัฐบาลใหม่ เช่น เรื่อง PM 2.5 ที่ต้องลงมืออย่างใกล้ชิด โดยนำแผนแห่งชาติขึ้นมาพิจารณาใช้อย่างจริงจัง ซึ่งต้องร่วมมือกับกรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแนวคิดเรื่องท่าเรือคลองเตยในอนาคต หรือแม้กระทั่งการนำพื้นที่สาธารณะ เช่น ใต้ทางด่วน/ทางรถไฟ มาทำเป็นลานกีฬา สถานที่ปลูกต้นไม้ การนำพื้นที่ราชการต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกรุงเทพฯ มาทำสวนสาธารณะเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการขนส่งมวลชน ขนส่งสาธารณะในเมือง ตลอดจนเรื่องค่าครองชีพ หากรัฐบาลใหม่เห็นด้วยก็จะเป็นสิ่งที่ดี และหากเราหาแนวทางร่วมกันได้ดี สุดท้ายก็จะทำประโยชน์ให้กับประชาชนได้

สำหรับระยะเวลาการทำงานเกือบ 1 ปี นโยบายที่เราพูดถึงมาโดยตลอดคือเรื่องเส้นเลือดฝอย เพราะเชื่อว่ากรุงเทพมหานครจะดีได้ต้องเริ่มที่เส้นเลือดฝอยซึ่งลงไปยังชุมชน ซึ่งต้องร่วมไปกับโครงการเส้นเลือดใหญ่ จึงจะสามารถทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นได้ โดยนโยบายเส้นเลือดฝอยที่เราทำและเห็นได้ชัดเจนคือ Traffy Fondue เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนรูปแบบการทำงานของราชการที่เมื่อก่อนราชการอาจจะไม่ได้สนใจข้อเรียกร้องของประชาชนมากนัก ทั้งที่ประชาชนคือผู้ที่รู้ปัญหาในพื้นที่ได้ดี เมื่อเรานำระบบ Traffy Fondue มาใช้อย่างเอาจริงเอาจัง จึงเป็นการเปลี่ยนวิธีคิด ทำให้ข้าราชการไม่ต้องมาสนใจผู้ว่าฯ แต่สนใจแค่การบริการประชาชน การเอาใจใส่ประชาชน เพราะผู้ว่าฯ เองก็ใส่ใจการให้บริการประชาชนมากกว่าเช่นกัน ทั้งนี้ ในช่วงแรกไม่ได้คิดว่าจะสำเร็จขนาดนี้ ปัจจุบันมีเรื่องแจ้งมาทั้งหมด 285,771 เรื่อง แก้ไขแล้วเสร็จ 206,844 เรื่อง เป็นของหน่วยงานอื่น 61,870 เรื่อง กำลังดำเนินการอยู่ 8,911 เรื่อง นับเป็นการเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการประชาชน ทั้งยังเป็นการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นอย่างไร้รอยต่อ เป็นการทลายไซโล (Silo) ที่เมื่อก่อนต่างคนต่างทำ สิ่งนี้เป็นตัวเชื่อมที่ทำให้ทุกหน่วยงานสามารถเร่งแก้ปัญหาให้ประชาชนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อนาคตเชื่อว่าจะมีการขยายผลใช้งานไปทั่วประเทศต่อไป ในส่วนของกรุงเทพมหานครก็ได้ขยายผลแล้ว โดยใช้ Traffy Fondue เป็นช่องทางการรับแจ้งเบาะแสเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน เพราะสิ่งที่เราเน้นมาตั้งแต่ต้นคือเรื่องของความโปร่งใสซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นกับเรา จึงได้เน้นย้ำว่าเราต้องเปิดเผยข้อมูล เอาจริงเอาจังกับเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ซึ่งก็เริ่มเห็นผลแล้ว โดยได้มีคณะกรรมการ/คณะทำงานที่ลงไปดำเนินการอย่างเข้มข้น และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแส เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องหนึ่งที่เราคิดว่าทำได้ดี

สำหรับนโยบายเส้นเลือดฝอย 216 นโยบาย เราเริ่มไปแล้วประมาณ 190 กว่าเรื่อง อีกประมาณ 20 เรื่อง กำลังทบทวนว่าเป็นสิ่งที่ทันสมัยหรือไม่ ยังจำเป็นหรือไม่ หลายโครงการที่เราได้ดำเนินการไปเป็นเรื่องที่อาจจะเห็นไม่ชัด แต่แฝงอยู่ในชีวิตของประชาชน เช่น การขุดลอกท่อระบายน้ำ/คูคลอง การปรับระบบการศึกษา การเปลี่ยนหลอดไฟที่ดับ เปลี่ยนไฟเป็นหลอด LED เป็นต้น ซึ่งเราดำเนินการมาค่อนข้างเยอะ และยังคงเดินหน้าทำตามนโยบายที่ให้ไว้ เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน หลาย ๆ โครงการเราได้งบประมาณมา ทั้งการปรับปรุงทางเท้า นำสายสื่อสารลงดิน ต่อไปก็จะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net