Skip to main content
sharethis

รวมรายงานความผิดปกติการเลือกตั้ง 66 ตั้งแต่ช่วงเย็น กกต.เขต 1 ปัตตานีติดใบประกาศ ส.ส.เขตพรรคเป็นธรรมผิด ร้อยเอ็ดเขต 5 บัตรลงคะแนนไม่พอ ฉะเชิงเทราเขต 3 จะไม่นับบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรอ้างยังมาไม่ถึงจะให้เป็นบัตรเสีย

We Watch เริ่มพบปัญหาในบางหน่วยเลือกตั้ง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย

ปัตตานี : กกต.ติดป้ายส.ส.เขต พรรคเป็นธรรมผิดที่

14 พ.ค.2566 ฝ่ายสื่อสารของพรรคเป็นธรรมรายงานว่า กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม เปิดเผยว่า มุสตารซีดิน วาบา ผู้สมัคร ส.ส.เขต 1 จังหวัดปัตตานี เบอร์ 3 ของพรรค ร้องเรียน กกต.จังหวัดปัตตานี พบปัญหาการติดใบประกาศผู้สมัคร ส.ส.ผิดพลาดอย่างน้อยใน 3 หน่วยเลือกตั้ง ได้แก่

จุดที่ 1 ที่หน่วยเลือกตั้ง ร.ร.รูสะมิแล อ.เมือง จ.ปัตตานี พบว่า กปน.นำใบประกาศ ของ มุสตารซีดิน วาบา ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต เบอร์ 3 พรรคเป็นธรรม มาติดแยกออกจากผู้สมัครอื่น ทำให้เข้าใจผิดว่า ถูกตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง

จุดที่ 2 ที่หน่วยเลือกตั้ง ที่ 10 ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี สถานที่เลือกตั้ง บือติงกำปงกู กปน.นำใบประกาศตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ชาลี กางอิ่ม ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย ติดแทน อยู่ในบัญชี ผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต แทนตำแหน่งติดใบประกาศของ มุสตารซีดีน วาบา เบอร์ 3 ของพรรคเป็นธรรม

จุดที่ 3 ที่หน่วยเลือกตั้ง สถานที่ที่ทำการกำนัน หมู่ที่ 3 ต.ตะลุโบะ อ.เมือง จ.ปัตตานี ไม่มีใบประกาศรายชื่อของมุสตารซีดีน วาบา เบอร์ 3 ของพรรคเป็นธรรม

กัณวีร์ เปิดเผยว่า มีรายงานว่าพบลักษณะแบบนี้อีก 2-3 หน่วย มุสตาร ซีดีน จึงไปยื่นร้อง ต่อ กกต.จ.ปัตตานีเป็นการเร่งด่วน เพราะทำให้ขาดโอกาสในการเลือกตั้ง แม้บางหน่วย หลังท้วงติงแล้วมีการแก้ไข แต่ผ่านการเลือกตั้งไปแล้วครึ่งวัน และบางหน่วย ยังไม่แก้ไข และอาจจะมีหน่วยที่ผิดพลาดอีก จึงต้องร้องเรียนการทำงานที่ผิดพลาดของ กกต.ต้องพิจารณาจัดการเลือกตั้งใหม่ในหน่วยที่มีปัญหา

ร้อยเอ็ด : เขต 5 บัตรลงคะแนนไม่พอ

ไทยรัฐออนไลน์ และสื่ออื่นๆ รายงานถึงกรณีที่เขตเลือกตั้งใน จ.ร้อยเอ็ด เขต 5 หน่วยเลือกตั้งบ้านเป้า ต.หนองขาม อ.อาจสามารถ พบปัญหาบัตรเลือกตั้งไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้มาใช้สิทธิ

ไทยรัฐยังระบุอีกว่าทีมงานของจิราพร สินธุไพร ผู้สมัคร ส.ส.ร้อยเอ็ด เขต 5 พรรคเพื่อไทย โทรไปแจ้งกับทาง กกต. จังหวัด เพราะทราบข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้ ทาง กกต.ใหญ่ ได้ส่งบัตรเลือกตั้งมาที่จังหวัดร้อยเอ็ดครบจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งทางกกต.จังหวัดร้อยเอ็ด ไม่ได้แจ้งว่าเหตุที่บัตรไม่เพียงพอเป็นเพราะอะไร แต่ได้ทำการส่งบัตรเลือกตั้งมาเพิ่มให้กับหน่วยเลือกตั้งดังกล่าวแล้วภายหลังจากมีการแจ้งเรื่อง

ฉะเชิงเทรา : บัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรมาไม่ถึงเสี่ยงบัตรเสีย

เพจพรรคก้าวไกลรายงานถึงกรณี กกต.เขต 3 ฉะเชิงเทราจะไม่นับบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของเขตโดยอ้างว่าบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรยังมาไม่ถึงและจะให้เป็นบัตรเสียตามกฎหมาย ทั้งที่ กกต.กลางแจ้งว่าส่งถึงครบทุกหน่วยแล้ว

ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เป็นผู้แถลงด่วนถึงกรณีนี้ว่าทางพรรคก้าวไกลได้รับรายงานจากผู้สมัคร ส.ส. ฉะเชิงเทรา เขต 3 ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับคะแนนเลือกตั้งที่มาจากนอกราชอาณาจักร ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่วนกลางได้แจ้งว่ามาถึงประเทศไทย และได้ส่งไปยังทุกหน่วยเลือกตั้งแล้ว

แต่ปรากฏว่าที่จังหวัดฉะเชิงเทรา กกต.เขต กลับบอกว่าคะแนนเลือกตั้งที่มาจากนอกราชอาณาจักร ยังส่งมาไม่ถึง และเป็นที่แน่นอนแล้วว่า กกต.เขต ได้แจ้งกับผู้สมัครของพรรคก้าวไกลว่าจะไม่นับคะแนนเลือกตั้งที่มาจากนอกราชอาณาจักรที่ยังมาไม่ถึง และให้ถือเป็นบัตรเสียตามกฎหมาย

พรรคก้าวไกลเห็นว่า กกต. ไม่ควรปล่อยให้เกิดความผิดพลาดร้ายแรงเช่นนี้ เพราะในการเลือกตั้ง 2562 เคยเกิดขึ้นแล้วกับคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรจากประเทศนิวซีแลนด์ ที่มาไม่ถึงและไม่ถูกนับ แต่ครั้งนี้คะแนนมาถึงแล้วกลับอ้างว่าปัญหาอยู่ที่ไปรษณีย์

“ทุกเสียงของประชาชนมีความสำคัญและส่งผลต่อการแพ้หรือชนะของผู้สมัคร ส.ส. ดังนั้น กกต. ต้องรีบชี้แจงว่าปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นได้อย่างไร และใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับคะแนนของประชาชนจำนวนมากที่กลายเป็นบัตรเสีย และ กกต. ยังสามารถแก้ไขได้หรือไม่" ชัยธวัชระบุ

อย่างไรก็ตามทางบริษัทไปรษณีย์ไทยจำกัดได้ออกแถลงการณ์โดยระบุถึงดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทกล่าวว่าบริษัทได้ดำเนินภารกิจคัดแยกและขนส่งบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าในราชอาณาจักรและนอกราชอาณาจักรที่ลงคะแนนแล้วไปถึงเขตเลือกตั้งทั้ง 400 เขตทั่วประเทศครบถ้วนแล้ว 100% เพื่อรอนับคะแนน

“ไปรษณีย์ไทยในฐานะหน่วยงานขนส่งหลักของชาติมุ่งมั่นนสนับสนุนภารกิจพิเศษเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาอย่างต่อเนื่องโดยยึดถือกฎเกณฑ์และมาตรการความปลอดภัยสูงสุด และพร้อมที่จะสนับสนุนการเลือกตั้งภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย” ดนันท์ระบุในแถลง

21.36 น. ก้าวไกลได้มีการอัพเดตข้อมูลในคอมเมนท์ใต้โพสต์ของเพจพรรคดังกล่าวว่า "อัปเดตล่าสุด - กกต. ยอมนับคะแนนแล้ว" 

จากนั้นเมื่อเวลา 23.38 น. ทางเพจของ กกต.มีการโพสต์ภาพชี้แจงเรื่องดังกล่าวว่า บัตเรลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของจ.ฉะเชิงเทรา เขตเลือกตั้งที่ 3 นั้นมาถึงเขตเลือกตั้งตั้งแต่ช่วงเย็นของ 13 พ.ค.2566 ซึ่งคณะกรรกมารนับคะแนนได้นำมาเนับเป็นคะแนนทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ไม่มีบัตรเสียแต่อย่างใด ข่าวดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง พร้อมกับใส่ภาพประกอบว่าโพสต์ของเพจพรรคก้าวไกลเรื่องนี้เป็น "ข่าวเท็จ" 

นอกจากนั้นใต้ภาพยังใส่คำเตือนว่า ผู้ใดแชร์ข่าวดังกล่าวด้วยวิธีการใดก็ตามบนสื่อสังคมออนไลน์จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ 2560 มาตรา 14 จำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อุดรฯ: ผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งถูกะบุว่า 'ใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต' ทั้งที่ไม่เคยลงทะเบียน

เมื่อเวลา 14.13 น. ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ชื่อว่า "Niidnoiy Thanattha" ได้โพสต์ข้อความ เผยว่า เธอถูกโกงเลือกตั้ง เนื่องจากตอนที่เธอไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งที่ 8 จังหวัดอุดรธานี เมื่อเวลาประมาณ 10.15 น. กลับพบว่า เธอถูกระบุว่าในรายชื่อว่า 'ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า' ทั้งที่เธอไม่เคยไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้ามาก่อน

เมื่อสอบถามไปยังประธานหน่วยเลือกตั้ง ได้ต่อสายไปยังเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งจังหวัด ชื่อว่า 'นิคม' ไม่ทราบนามสกุล จากนั้นยังต้องต่อสายไป-มา จนเจ้าหน้าโทรกลับมาบอกเธอว่า "คุณได้ไปลงทะเบียนเป็นเอกสารที่เทศบาลว่าเลือกล่วงหน้า"

จากโพสต์ระบุว่า เธอจะไปแจ้งความที่ สภ.ท้องที่ เนื่องจากเธอไม่เคยไปแจ้งลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไหน

'หน่อย' ธนัฏฐา อายุ 32 ปี ชาวอุดรธานี ให้สัมภาษณ์ผ่านทางแอปพลิเคชันแชต ‘แมสเซนเจอร์’ กับผู้สื่อข่าวต่อประเด็นที่เธอโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อช่วงเช้า โดยธนัฏฐา ยืนยันว่าไม่ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตแน่นอน เพราะปกติเดินทางไป-กลับกรุงเทพฯ-อุดรธานี เป็นประจำอยู่แล้ว และวันนี้ก็ตั้งใจมาใช้สิทธิเลือกตั้ง

ธนัฏฐา เล่าเหตุการณ์ให้ฟังว่าเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งเขต 8 จังหวัดอุดรธานี เมื่อเวลาประมาณ 10.15 น. แต่ขณะที่เช็กสิทธิเลือกตั้งหน้าหน่วย กลับพบว่ารายชื่อของเธอมีการเขียนด้วยปากกา ‘สีน้ำเงิน’ ว่า ‘เลือกตั้งนอกเขต’ ทั้งที่เธอไม่เคยไปลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตมาก่อน เธอเลยไม่พอใจและสังสัยทำไมเธอถึงมีการเขียนระบุแบบนี้ 'เราดูข่าวไม่คิดว่าจะเกิดเรื่องนี้กับเรา'

ธนัฏฐา กล่าวต่อว่า เธอได้ไปพูดคุยกับประธานหน่วยเลือกตั้ง โดยยืนยันว่าไม่เคยลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตที่ไหน และยืนยันว่าต้องการใช้สิทธิเลือกตั้งที่นี้ ทางประธานหน่วยเลือกตั้งจึงโทรศัพท์ไปยังเจ้าหน้าที่ชื่อว่า 'นิคม' (ไม่ทราบนามสกุล) คาดว่ามาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งระดับจังหวัด ให้มาคุยกับเธอต่อ 

เจ้าหน้าที่ กกต. คนดังกล่าว ระบุว่าหากมีการเขียนด้วยปากกาแบบนี้ หมายความว่าธนัฏฐา จะไม่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ทางธนัฏฐา ไม่ยอมและยืนยันว่าไม่เคยไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไหน เจ้าหน้าที่ กกต.จึงแจ้งเธออีกครั้งว่าจะขอไปตรวจสอบที่เทศบาลตำบลบ้านจั่น จ.อุดรธานี และจะโทรกลับมาแจ้งอีกครั้ง 

ธนัฏฐา กล่าวต่อว่ารอสายโทรกลับประมาณ 45 นาที ทางเจ้าหน้าที่ กกต.จึงติดต่อกลับมา และแจ้งว่าเธอไปยื่นเอกสารขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตที่เทศบาลไว้ ซึ่งธนัฏฐา ชี้แจงว่าเป็นไปไม่ได้ เธอไม่ได้ไปทำเรื่องเอกสารที่เทศบาลมานานแล้ว ฉะนั้น ไม่ใช่เธอแน่นอนที่ไปยื่นเอกสารไว้ โดยทางเจ้าหน้าที่ได้แจ้งว่าให้เธอไปตามเรื่องเอกสารดังกล่าวด้วยตัวเองที่เทศบาลบ้านจั่น 

เมื่อเธอไปถึงที่เทศบาลฯ เจ้าหน้าที่เทศบาลกลับชี้แจงว่าธนัฏฐา ไม่ได้มีการยื่นเอกสารขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขต ส่วนที่เกิดปัญหาที่รายชื่อนั้น เจ้าหน้าที่เทศบาลเผยว่าเป็นปัญหาที่กระดาษมันซอด หรือกระดาษก็อปปีทะลุ 

เจ้าหน้าที่เทศบาลชี้แจงว่าเป็นความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่เขียนด้วยปากกาสีดำว่า 'ใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า' หน้ากระดาษอีกแผ่นโดยใช้กระดาษก็อปปีในรายชื่ออื่น แต่ว่ากระดาษมันซอด หรือทะลุไปยังรายชื่อของธนัฏฐา ทำให้ปรากฏเป็นปัญหาที่หน่วยเลือกตั้งอย่างที่เห็น 

อย่างไรก็ตาม หน่อยพยายามให้เจ้าหน้าที่เทศบาลบ้านจั่น ดูหลักฐานจากภาพในเครื่องสมาร์ทโฟนเธอว่า ปากกาที่เขียนอยู่หลังรายชื่อของเธอเป็นสีน้ำเงิน ไม่ใช่สีดำอย่างที่เจ้าหน้าที่กล่าวอ้าง แต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ได้ชี้แจงเรื่องนี้

จุดนี้ทำให้ประชาชนตั้งข้อสงสัยเพิ่มด้วยว่า เดิมทีเจ้าหน้าที่ชื่อว่า ‘นิคม’ แจ้งว่ามีเอกสารขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าของเธอส่งมาเทศบาล แต่พอไปตามเรื่องที่เทศบาลฯ เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าไม่มีเอกสารขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าของธนัฏฐา

"มันเลือก 4 ปีครั้ง ระบบมันควรจะดีกว่านี้" ธนัฏฐา กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้น 

ธนัฏฐา กล่าวว่า สุดท้ายเจ้าหน้าที่เทศบาลฯ ได้ให้เอกสารที่ทำให้ธนัฏฐา ได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง เธอจึงกลับไปที่หน่วยเลือกตั้งของเธอ หน่วยที่ 8 จ.อุดรฯ และใช้สิทธิเลือกตั้ง ส่วนเรื่องแจ้งความที่ สภ. หน่อยระบุว่าไม่ได้ไปแจ้งความแล้ว เพราะว่าได้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามที่ตั้งใจ

หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ธนัฏฐา แสดงความกังวลว่า บัตรเลือกตั้งมันจะเกิดบัตรเขย่งขึ้นไหม และได้ใช้สิทธิจริง แต่มันจะถึงเจตนาของเธอรึเปล่า พร้อมกันนี้ หน่อย อยากฝากถึงผู้เกี่ยวข้อง ควรตรวจเช็กให้ดี ให้ถี่ถ้วนเวลาทำงาน 

นอกจากนี้ เธอกล่าวด้วยว่ารู้สึกเหมือนถูกผลักภาระทั้งที่เรื่องนี้เจ้าหน้าที่รัฐควรจะเป็นคนที่รักษาสิทธิให้ประชาชน แต่กลับให้ประชาชนตามเอกสารด้วยตัวเอง ทำให้ต้องเสียเวลา และยังไม่มีคำขอโทษจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 

"อยากให้เป็นบทเรียน ถอดบทเรียนกัน เพื่อให้ต่อไปอีก 4 ปีข้างหน้า จะได้แก้ไขปัญหาต่อไปได้" ธนัฏฐา กล่าวถึงเหตุผลที่เธอออกมาส่งเสียงถีงปัญหาการจัดการเลือกตั้ง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net