Skip to main content
sharethis

'ราษฎร 888' ผูกโบว์เขียวที่บ้านปรานีให้กำลังใจ 'หยก' เยาวชนอายุ 15 ปีที่กำลังถูกดำเนินคดี ม.112 ด้าน 'เก็ท' กลุ่มโมกหลวงฯ เผยปัญหาการดูแลของสถานพินิจพูดเชิงกดดัน มีเหตุทำลายสมุดโน้ตของหยก แต่ทางสถานพินิจไม่ทำอะไร

 

30 เม.ย. 2566 เพจเฟซบุ๊ก "ไข่แมวชีส" รายงานวานนี้ (29 เม.ย.) ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี จ.นครปฐม (บ้านปรานี) เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. กลุ่ม 'ราษฎร 888' ทำกิจกรรมถูกโบว์เขียวให้กำลังใจ 'หยก' ธนลภย์ ผลัญชัย เยาวชนอายุ 15 ปี ผู้ถูกกล่าวหาในคดีมาตรา 112  

ประธานกลุ่ม ราษฎร 888 ระบุว่า ที่ใช้สีเขียว เนื่องจากเป็นสีตัวแทนของหยก เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมและเป็นกำลังใจให้หยก โดยไม่ให้เรื่องนี้เงียบหายไป 

ทั้งนี้ นอกจากผูกโบว์บริเวณรั้วแล้ว จากภาพบรรยากาศการทำกิจกรรม มีประชาชนนำเทปกาวสีน้ำตาลไปคาดทับบริเวณคำว่า 'ปรานี' และ กระทรวง 'ยุติธรรม' บนป้ายของศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนหญิงบ้านปรานี

สำหรับ 'หยก' ธนลภย์ (ขณะนั้นอายุ 14 ปี) ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 จากการแสดงออกทางการเมืองที่ลานเสาชิงช้า เมื่อ 13 ต.ค. 2565 โดยมีอานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

ล่าสุด หยก ถูกคุมตัวที่บ้านปรานี เป็นเวลา 33 วันแล้วนับตั้งแต่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ออกหมายควบคุมตัววันแรกเมื่อ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่ง หยกเป็นเยาวชนที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 นับตั้งแต่ปี 2563 อีกด้วย

ถ่ายโดยชาวบ้านแถวบ้านปรานี

'หยก' ยังกำลังใจดี 

‘เก็ท’ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมาชิกโมกหลวงริมน้ำ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวทางโทรศัพท์ หลังการเยี่ยมหยก ที่บ้านปรานี เมื่อวานนี้ (29 เม.ย.) ว่า จากการพูดคุยกับหยก หยกยังกำลังใจดี และสู้ไหวอยู่ 

โดยเก็ท กล่าวเพิ่มว่า หยก ยังยืนยันในแนวทางของตัวเองคือปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง ไปจนถึงการขอใช้สิทธิประกันตัว ดังนั้น ทางเดียวที่หยกจะยอมรับอิสรภาพคือ ศาลต้องปล่อยตัวอย่างไม่มีเงื่อนไข หรือไม่ออกหมายควบคุมตัว 

เก็ท ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า หมายควบคุมตัวของเยาวชนที่ถูกดำเนินคดี มักมีเวลาถูกคุมขังยาวนานกว่าของผู้ใหญ่ โดยหมายควบคุมตัวเยาวชนผัดแรกเริ่มที่ 30 วัน ผัดถัดมา ผัดละ 15 วัน ขณะที่ของผู้ใหญ่จะผัดละ 12 วันเท่านั้น 

ถ่ายโดยชาวบ้านแถวบ้านปรานี

ด้อยค่านักกิจกรรม-สร้างภาระให้ผู้มาเยี่ยม

ก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เคยเปิดเผยเรื่องปัญหาการดูแลของสถานพินิจมาแล้ว อย่างการใช้คำพูดคำจาของเจ้าหน้าที่ที่ด้อยค่านักกิจกรรม เก็ท ระบุว่า ตั้งแต่วันแรก เจ้าหน้าที่ขับรถส่งตัวหยกมาที่บ้านปรานี เจ้าหน้าที่มีการคุยรังแกบุลลี่หยกว่า เสื้อรณรงค์ยกเลิก 'มาตรา 112' ที่ใส่ราคาเท่าไร หรือมีคนจ้างมาให้ติดคุกหรือไม่ 

เก็ท กล่าวต่อว่า อีกกรณีคือถ้าต้องการซื้ออาหารหรือขนมให้หยก ที่บ้านปรานี กลายเป็นว่าเขาต้องซื้อถึง 8 ชุดเป็นอย่างน้อยตามจำนวนคนที่อยู่ในอาคารแรกรับ ทำให้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก และทางกลุ่มไม่ได้เปิดรับบริจาคตลอด เพราะเกรงใจมวลชน

"ข้าว 3 มื้อ มื้อเช้า แปดโมงครึ่ง มื้อเที่ยงคือสิบเอ็ดโมงครึ่ง และก็ตอนเย็น สี่โมงเย็น เราซื้อแปดโมงครึ่งไม่ทันอยู่แล้ว เพราะร้านอาหารยังไม่เปิด แต่เราซื้อมื้อเที่ยงกับมื้อเย็น เพราะว่าที่ซื้อไม่ใช่เพราะว่าอยากให้หยก กินหรู หรือเพื่อให้กำลังใจหยกเท่านั้น เขายืนยันมาหลายครั้งว่าอาหารข้างในมันแย่จนกินไม่ได้จริงๆ เราเลยซื้อไปให้"

"สถานพินิจยังมาต่อรองกับเราอีกว่า ขอซื้อให้เด็กทุกคนได้ไหม 30 ชุดต่อมื้อ เราจะไปซื้อไหวยังไง เราต้องซื้อให้ทั้งหมด 2 มื้อ มี 60 ชุดต่อวัน มื้อหนึ่ง 300-400 บาทบวกค่าส่งอีก 2 มื้อก็เกือบพัน" เก็ท กล่าว และระบุต่อว่า นอกจากค่าอาหารแล้ว มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่อวันไป-กลับ ซึ่งเกือบ 1 พันบาทต่อวัน

ถ่ายโดยชาวบ้านแถวบ้านปรานี

ทำลายสมุดโน้ต-ห้ามให้หนังสือการเมือง  

เก็ท ระบุว่า นักกิจกรรมมักจะซื้อสมุดโน้ตไปให้หยกที่บ้านปรานี เพราะว่ามันสำคัญกับผู้ถูกคุมขังทางด้านจิตใจ แต่อยู่ดีๆ ก็มีใครไม่ทราบมารื้อและฉีกทำลายหนังสือของหยก โดยที่เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใครมาทำลาย  

"เรารู้ว่าสมุดโน้ตสำคัญมากๆ กับการให้คนข้างในเรือนจำหรือในสถานพินิจคุมสติเอาไว้ให้ได้ ก็จะให้หยก เขียนสมุดโน้ตไดอะรี วันนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง ถ้าหยกวางแผนอะไรได้ เขียนออกมา เขาอาจจะไม่ได้ให้ส่งจดหมาย แต่จดเอาไว้เป็นพอยต์ว่าวันนี้หยกจะมาคุยกับเก็ท หรือกับทนาย อยากจะคุยอะไรกัน

"แต่ความแย่หรือความแปลกก็คือ วันดีคืนดีมีคนมารื้อหนังสือหยกและก็ฉีกหนังสือหยกไป และเรารู้สึกว่า ความเป็นส่วนตัวในสถานพินิจมันไม่มีเลย เพราะเขาเอาหนังสือเก็บไว้ใต้หมอน ทุกวันนี้ก็ยังหาไม่ได้ว่าใครเป็นคนบงการ ใครเป็นคนดู และเราก็ไม่รู้ว่าเพื่อนแกล้งกันเองหรือเจ้าหน้าที่ทำ เราก็ไม่ทราบได้" เก็ท กล่าว และตั้งข้อสงสัยด้วยว่าเรื่องนี้ทำให้เขาเป็นห่วงว่า หากมีเหตุเกิดร้ายแรงกว่านี้เกิดขึ้นกับหยก จะสามารถตรวจสอบ หรือเชื่อมมั่นต่อมาตรการการดูแลของสถานพินิจในเรื่องนี้อย่างไร

สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ระบุต่อว่า เวลาส่งหนังสือให้หยกอ่านที่บ้านปราณี หนังสือนิยายหรือหนังสือตลกสามารถส่งเข้าไปได้ แต่พอเป็นหนังสือการเมือง เจ้าหน้าที่จะไม่ให้เอาเข้าไปให้โดยอ้างว่าเป็นหนังสือประเด็นอ่อนไหว (เซนซิทีฟ) ซึ่งสร้างความไม่เข้าใจให้กับนักกิจกรรมว่าหนังสือเหล่านี้ก็มีขายในงานหนังสือ หรือสาธารณชนเข้าถึงได้อยู่แล้ว ทำไมถึงต้องเป็นกังวล

เก็ท ระบุยืนยันว่า ปัญหาการดูแลหยกของสถานพินิจมีปัญหาหลายประการมาก และที่พูดเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นมีกรณีที่เกิดขึ้นก่อนหน้าวันการเบิกตัวมาไต่สวนที่ศาลเยาวชนฯ ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เมื่อ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ 1 วัน หยก ปฏิเสธการตรวจร่างกาย บ้านปรานีก็ปล่อยให้หยก มานอนด้านนอนโรงนอนตั้งแต่หกโมงเย็นจนถึงตีห้าของวันถัดมา ตอนที่นักกิจกรรมและทนายความมาพบคือหยก มีร่องรอยถูกยุงกัดทั่วร่างกาย  

เก็ท ระบุด้วยว่า การเข้าเยี่ยมหยก บางทีก็มีการปฏิเสธ อย่างกรณี แอกเนส คาลามาร์ด เลขาธิการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอเข้าเยี่ยมหยกที่บ้านปราณี ก็ไม่ได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าเยี่ยมได้

นอกจากนี้ เก็ท ระบุถึงปัญหาการกดดันเชิงคำพูดจากสถานพินิจเพิ่ม อย่างการบอกให้หยกว่าถ้าลำบาก ทำไมไม่ใช้สิทธิประกันตัว ซึ่งหยก จะคอยอธิบายให้เพื่อน หรือเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจว่าเธอทำไป เพราะอะไร และมีจุดประสงค์อย่างไรบ้าง 

ฝากขอบคุณทุกคนที่ยังไม่ลืมกัน

สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ เรียกร้องว่า สถานพินิจเขาควรปฏิบัติหน้าที่อย่างน้อยได้ดีหรือเทียบเท่ากับเรือนจำ ราชทัณฑ์หรือเรือนจำมักจะบอกว่าเขาไม่ใช่คู่กรณี หรือไม่ใช่ศัตรูของผู้ต้องหาทางการเมือง ศาลหรือ สน.ส่งมาเขาก็ต้องรับเอาไว้ ไม่ใช่ไปจับมือกับศาล อย่ามากดดันให้หยก ประกันตัวออกไป มันไม่ใช่เรื่องของเขา มาตรการไม่ควรจะสร้างสถานการณ์การกดดัน เพราะอยู่ข้างใน เราทราบอยู่แล้วว่าคนมันขาดอิสรภาพมันเครียดอยู่แล้ว สถานพินิจควรจะวางตัวให้ไม่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการของศาล ให้หยกรู้สึกปลอดภัยจะดีกว่า และอะไรที่ควรจะยืดหยุ่น ก็ควรจะยืดหยุ่นหรือปรับกันได้ แต่ตอนนี้เขาฟังข้อเสนอแนะ และไม่ปรับโดยอ้างว่าเป็นกฎที่มีมานานแล้ว 

เก็ท บอกด้วยว่า เวลาที่หยก มีข้อความฝากถึงคนด้านนอก จะมีแต่คำว่าขอบคุณเป็นส่วนใหญ่ ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของหยก หยกมักจะบอกไม่เป็นไร แค่อยากให้เปิดพื้นที่ยอมรับในวิธีการของเธอ

"สิ่งที่หยกฝากมาตลอดคือ เขาขอบคุณทุกคน ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับเขา แต่ยังอยู่ข้างๆ เขา ที่ไม่ลืมกัน"

"ส่วนเรื่องปฏิเสธอำนาจศาล … เขาขอให้เข้าใจเขาว่า ไม่เห็นด้วยไม่เป็นไร แต่เขาให้เปิดพื้นที่ในการยอมรับเขาหน่อยว่า เขาเลือกแล้ว และเขาเตรียมการมาแล้ว" เก็ท กล่าว

ส่วนที่มีผู้วิจารณ์ว่าคุณแม่ของหยกหายไปไหนนั้น เก็ท ตอบแทนว่า เรื่องคุณแม่ของหยก อันนี้เป็นเจตจำนงของหยกที่ต้องการกันแม่ออกไป เพราะไม่ต้องการให้แม่ได้รับผลกระทบจากที่เธอถูกดำเนินคดี

"เขาต้องใช้ความอดทน และต้องใช้ความกล้าที่จะทำอะไรแบบนี้ สำหรับแม่ที่อยู่ด้วยกันมา หรือดูแลกันมา" เก็ท ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net