Skip to main content
sharethis

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์วิจิตรศิลป์ มช. ประกาศขอคืนรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 14 ที่ได้รับเมื่อปี 2560 จากผลงานหนังสือ “มันยากที่จะเป็นมลายู” คืนให้แก่บริษัทซีพีผู้มอบรางวัล เหตุซีพีมีส่วนเกี่ยวข้องกับสาเหตุของปัญหาฝุ่น PM2.5 จากระบบพันธะสัญญา และขอประท้วงการแผ่ขยายตัวเชิงโครงสร้างของทุนที่เข้ามายึดครองสิทธิในการมีชีวิตของผู้คน

 

12 เม.ย. 2566 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวขอคืนรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 14 จากผลงานหนังสือ “มันยากที่จะเป็นมลายู” ที่ได้รับเมื่อปี 2560 คืนให้แก่บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้มอบรางวัล เนื่องจากศรยุทธเห็นว่า บริษัทซีพีฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาฝุ่น PM2.5 ซึ่งทำลายสุขภาพและชีวิตประชาชนในภาคเหนืออยู่ขณะนี้

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ศรยุทธโพสต์ขอความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเรื่อง "รางวัลซีพี ความย้อนแย้ง ฝุ่น PM2.5 และความเสียใจ" ระบุ ในปี 2560 ตนมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่หนังสือเรื่อง "มันยากที่จะเป็นมลายู" ได้รางวัลหลายรางวัล หนึ่งในนั้นคือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ของเซเว่นบุ๊คอวอร์ดครั้งที่ 14 หลายปีผ่านมาความภูมิใจยังมีอยู่แต่มีความรู้สึกผิดและละอายมากขึ้น เนื่องจากรางวัลนี้ได้รับการสนับสนุนจากซีพี ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติและผูกขาดการค้ารายใหญ่ ตั้งแต่ต้นทางการผลิต การแปรรูป และผลผลิตเพื่อบริโภคในตลาด ตนเองมีความรู้สึกย้อนแย้งในใจอยู่เสมอ

 

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดขึ้นอย่างหนัก คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ศรยุทธเสียใจและรู้สึกผิดกับตนเองที่หนังสือได้รับรางวัลจากนายทุนมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรแบบพันธะสัญญา โดยเฉพาะข้าวโพดที่ซีพีได้ดำเนินการทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดวงจรการเผาอย่างมหาศาลและสร้างวิกฤตการณ์ทางด้านสภาพอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นี่คือปัญหาเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจการลงทุนที่เกาะเกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองอย่างยากที่จะแยกออกจากกันได้ โดยเฉพาะการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการลงทุนหลังจากรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน การแก้ไขปัญหาฝุ่นและมลภาวะโดยรัฐนั้นกลับพุ่งเป้าไปที่การจับกุมชาวบ้านและการพยายามผลิตซ้ำมายาคติว่าด้วยชาวบ้านเป็นผู้ทำลายป่าและพยายามไล่คนออกจากป่า โดยไม่แม้แต่ครั้งเดียวที่จะอภิปรายหรือแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง บรรษัทข้ามชาติจึงลอยตัวอยู่เหนือปัญหา ใช้ชาวบ้านในระบบเกษตรพันธะสัญญาไม่ต่างจากแรงงานของตนเอง ใช้ที่ดินทำกินของพวกเขาไม่ต่างจากโรงงานผลิตของตนเอง ขณะเดียวกันโครงการสวยๆ เขียวๆ เพื่อสิ่งแวดล้อมก็ผุดขึ้นมากมายภายใต้การสนับสนุนของซีพี ทั้งเพื่อภาพลักษณ์และรองรับอุดมการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมแบบชนชั้นกลางและชนชั้นนำ

ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

นอกจากนี้ ศรยุทธระบุว่าสุขภาพของเขาย่ำแย่มากขึ้นเพราะปัญหาฝุ่นควัน จามเป็นเลือด ภรรยาและลูกสาวเจ็บคอและมึนหัว และยังมีผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญหน้าและมีชีวิตท่ามกลางฝุ่นพิษที่บั่นทอนสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจ ไม่ใช่ทุกบ้านจะมีเครื่องกรองอากาศและไม่ใช่ทุกอาชีพที่จะสามารถใส่หน้ากากทำงานได้ตลอดเวลา ปัญหาพวกนี้เขาเห็นเป็นภาพซ้ำตามาหลายปี และไม่อยากให้ความผิดปกตินี้กลายเป็นเรื่องเคยชินและกลายเป็นสิ่งธรรมดาของฤดูกาลที่ภาคเหนือ เพราะปัญหาฝุ่นพิษนี้เกิดขึ้นจากน้ำมือของนายทุน เป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นในยุคสมัยที่เรียกว่า capitalocene หรือยุคสมัยซึ่งทุนและการก่อตัวของทุนได้สร้างผลกระทบกระทบต่อระบบนิเวศน์และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ยุคสมัยที่ผูกขาดกระทั่งสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดีและสูดลมหายใจที่บริสุทธิ์

"ผมมีความปรารถนาที่จะคืนโล่ห์รางวัลที่ผมได้รับในเร็ววันนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงการแผ่ขยายตัวเชิงโครงสร้างของทุนที่เข้ามายึดครองสิทธิในการมีชีวิตของผู้คน และกำลังจะขอถอนตัวจากการส่งหนังสือเล่มล่าสุดเพื่อเข้าประกวด ผมตระหนักดีว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ฉลาดนักและเป็นการตัดช่องทางของตนเองในฐานะคนทำงานเขียน ทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์มากนัก แต่ผมไม่อาจปิดตาของผมได้อีกต่อไป เพราะทุกวันนี้ตาของผมทั้งสองข้างเห็นแต่ฝุ่นพิษ เห็นผู้คนมีสุขภาพทรุดโทรม ทุกเช้าต้องเห็นเด็ก ๆ นั่งซ้อนรถฝ่าฝุ่นพิษไปโรงเรียน เห็นแรงงานจำนวนมากต้องทำงานโดยปราศจากหน้ากาก และเห็นเจ้าหน้าที่ของรัฐออกมาแก้ต่างให้กับนายทุนและอุตสาหกรรมในเรื่องปัญหาฝุ่นควัน ฯลฯ" ศรยุทธ ระบุ

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net