Skip to main content
sharethis

โฆษกรัฐบาลเผย 'ประยุทธ์' ปลื้มข่าวดี ซาอุดีอาระเบียยกเลิกข้อห้ามคนซาอุดีฯ เดินทางเข้าไทย อนุญาตคนไทยเข้าซาอุดีฯ ได้และยกเลิกข้อห้ามนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากไทย เชื่อมั่นต่อยอดสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจมหาศาล ด้านซีพีเอฟ (CPF) แถลงขอบคุณรัฐบาล โรงงานไก่ในเครือผ่านเกณฑ์ 6 แห่งจากทั้งหมด 11 แห่ง คาดพร้อมส่งออกไก่ไปซาอุฯ ปลายเดือนนี้

16 มี.ค. 2565 วันนี้ (16 มี.ค. 2565) เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับทราบข่าวที่น่ายินดีว่า รัฐบาลซาอุดีอาระเบียประกาศยกเลิกการห้ามบุคคลสัญชาติซาอุฯ เดินทางเข้าไทย ซึ่งเป็นข้อห้ามที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี รวมทั้งอนุญาตให้บุคคลสัญชาติไทยเดินทางเข้าซาอุฯ ได้

ธนกรระบุว่าตนเชื่อมั่นว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ มีเอกลักษณ์สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ ได้แน่นอน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวซาอุฯ ให้มาเที่ยวไทย 200,000 คน โดยเน้นกลุ่มครอบครัว คนรุ่นใหม่ วัยทำงาน กลุ่มคนรักสุขภาพ และกลุ่มคู่รักฮันนีมูน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เป็นกลุ่มที่ค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงกว่าหลายๆ ชาติ และเป็นกลุ่มที่ยังไม่เคยเดินทางมาไทย 

นอกจากนี้ อีกหนึ่งข่าวที่น่ายินดี ทางการซาอุฯ พิจารณายกเลิกห้ามนำเข้าสินค้าสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกจากประเทศไทย ซึ่งไทยถูกระงับและห้ามการนำเข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 โดยมีสถานประกอบการส่งออกของไทยที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนกว่า 11 แห่ง ถือเป็นข่าวดีด้านการส่งออกปศุสัตว์ไทย โดยเฉพาะในการเสริมสร้างบทบาทของไทยในฐานะครัวโลก เพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารของซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากซาอุฯ ถือเป็นประเทศผู้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์แปรรูปรายใหญ่ของโลก ปัจจุบัน ซาอุดีอาระเบีย มีการนำเข้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน ถือเป็นตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ

ธนกรกล่าวว่าข่าวที่น่ายินดีทั้งสองข่าวดังกล่าว เป็นผลมาจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ ที่เป็นไปตามลำดับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ภายหลังนายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของเจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมาร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นการเยือนในระดับผู้นำรัฐบาลระหว่างสองประเทศเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปี

ธนกรกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าผลจากการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศทั้งสองมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะต่างเป็นสองประเทศที่มีศักยภาพ สามารถผูกสัมพันธ์ เชื่อมโยงเป็นผลทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกัน โดยนายกฯ ยังได้เน้นย้ำ และสั่งการให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องดำเนินงาน และนำเอาความสำเร็จจากการสานสัมพันธ์ในครั้งนี้ แปลงไปสู่นโยบายและการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้โดยเร็ว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา Commerce News Agency ซึ่งเป็นสื่อกลางในการสื่อสารระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับกลุ่มเป้าหมาย รายงานว่า จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันดังกล่าวตนได้รับแจ้งจากทูตพาณิชย์ที่รับผิดชอบตลาดซาอุดีอาระเบียและอุปทูตของกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่าทั้ง 2 คนได้เดินทางเข้าพบผู้บริหารระดับสูงขององค์การอาหารและยา (อย.) ซาอุดีอาระเบีย หรือ Saudi Food & Drug Authority (SFDA) ได้ข้อสรุปร่วมกันที่เป็นข้อยุติว่าซาอุดีอาระเบียจะอนุญาตให้นำเข้าไก่จากประเทศไทยได้ จาก 11 โรงงานที่เดินทางมาตรวจล่วงหน้าในช่วงปีที่ผ่านมา โดยให้มีผลทันที และ อย.ซาอุดิอาระเบียจะออกประกาศผ่านเว็บไซต์ หลังจากการเจรจาทันที ถือเป็นข่าวดีและเป็นผลสำเร็จในการดำเนินการให้สามารถส่งไก่ไปขายยังซาอุดีอาระเบียได้

กระทรวงพาณิชย์ระบุว่าปัจจุบันซาอุดีอาระเบียนำเข้าไก่ปีละ 5.9 แสนตัน นำเข้าจากบราซิล 70% อีก 30% นำเข้าจากยูเครนและฝรั่งเศส ซึ่งผลจากการอนุญาตในครั้งนี้ ไทยจะมีโอกาสเข้าไปมีส่วนแบ่งการตลาดในซาอุดีอาระเบียได้เพิ่มขึ้น ซึ่งได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หารือร่วมกับภาคเอกชนและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย เตรียมการและดำเนินการ โดยให้คำนึงถึงปริมาณไก่ในการบริโภคในประเทศด้วย รวมทั้งรักษาระดับราคาไก่บริโภคในประเทศ เพื่อให้ไม่กระทบราคาและปริมาณไก่ของผู้บริโภคไทยและได้ประโยชน์กับผู้ส่งออกด้วย สำหรับตัวเลขการส่งออกไก่ของไทยในปี 2564 ไทยส่งออกไก่ไปทั่วโลก 912,900 ตัน มูลค่ารวม 102,529 ล้านบาท

“กระทรวงพาณิชย์จะจับมือกับภาคเอกชน เร่งดำเนินการเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด เพราะถือเป็นโอกาสสำคัญของไทยอีกโอกาสหนึ่ง ที่จะส่งออกไก่เข้าไปยังตลาดซาอุดิอาระเบีย และผมยังมีนโยบายที่จะเปิดตลาดสินค้าอื่นๆ ในประเทศซาอุดีอาระเบียเพิ่มเติมด้วย ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการ” จุรินทร์กล่าว

เปิดชื่อโรงงานไก่ไทย 11 แห่งผ่าน อย.ซาอุฯ-CPF ขอบคุณรัฐบาล ดันโรงงานไก่ในเครือผ่านเกณฑ์ 5 แห่ง

หลังจากกระทรวงพาณิชย์แถลงเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา วานนี้ (15 มี.ค. 2565) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้เผยแพร่ข่าวประสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของบริษัท ระบุว่าโรงงานไก่เนื้อของไทย 11 แห่งที่ได้รับการรับรองจาก อย.ซาอุดีอาระเบีย (SFDA) มีชื่อของโรงงานแปรรูปไก่เนื้อของซีพีเอฟจำนวน 5 แห่ง ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั่วโลกว่าผลิตภัณฑ์ไก่ซีพีเอฟได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ผลิตตามมาตรฐานฮาลาล สากล ยืนยัน พร้อมส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่คุณภาพปลอดภัย สู่ตลาดซาอุดีอาระเบียภายในเดือนนี้

ประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ตามที่ รัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าเนื้อไก่ ไข่ไก่ และผลิตภัณฑ์ไก่แบบสด แช่เย็น และแช่แข็งจากประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2547 ล่าสุด อย.วาอุดีอาระเบีย ประกาศทางเว็บไซต์อนุญาตให้นำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกของไทยจากโรงงาน 11 แห่ง โดยมีโรงงานผลิตเนื้อไก่ของซีพีเอฟ จำนวน 5 แห่งได้ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก อย.ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค และสร้างความมั่นใจให้กับประเทศผู้นำเข้ารายอื่นต่อผลิตภัณฑ์ไก่ของซีพีเอฟที่มาจากกระบวนการผลิตได้มาตรฐานอาหารปลอดภัย ตามหลักศาสนาอิสลาม (ฮาลาล) มีการตรวจสอบคุณภาพอย่างเข้มงวดทุกขั้นตอน และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ต้นทาง

“ขอขอบคุณรัฐบาลไทย นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เฉลิมชัย ศรีอ่อน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ช่วยผลักดัน ดำเนินการกับหน่วยงานของรัฐบาลซาอุฯ อย่างเต็มที่ รวมทั้งติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้ผู้ประกอบการของไทยสามารถส่งออกไก่ไทยไปยังซาอุฯ ได้ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทย โดยตลาดซาอุฯ มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่สูงสุดถึงปีละ 5.9 แสนตัน จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการไทยอีกด้วย” ประสิทธิ์กล่าว

โรงงานชำแหละไก่และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อของซีพีเอฟ 5 แห่งผ่านการรับรองให้ส่งออกผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อไปที่ซาอุฯ ได้ ประกอบด้วย โรงงานชำแหละไก่มีนบุรี โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี 1 โรงงานแปรรูปไก่เนื้อมีนบุรี 2 โรงงานชำแหละไก่สระบุรี และโรงงานแปรรูปไก่เนื้อสระบุรีอีก หลังจากที่ อย.ซาอุดีอาระเบียได้เดินทางมาตรวจสอบมาตรฐานกระบวนการผลิตของโรงงานของซีพีเอฟล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา

ซีอีเอฟระบุว่าตลาดซาอุดีอาระเบียเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงเพราะมีประชากรมากถึง 35.6 ล้านคน และภายในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Corporation Council) ซาอุฯ ยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนนำเข้าอาหารสูงที่สุดถึง 52.7% โดยมีอัตราการบริโภคเนื้อไก่มากถึง 45 กก./คน/ปี หรือทั้งประเทศที่ 1.5 ล้านตัน/ปี ในอดีต ซีพีเอฟเคยเป็นผู้ส่งออกไก่แปรรูปไปยังซาอุฯ เป็นอันดับ 1 ของไทย ก่อนที่มีมาตรการห้ามนำเข้าจากประเทศไทย และด้วยความพร้อมและศักยภาพของทางซีพีเอฟทำให้ทางบริษัทฯ มีความสามารถในการผลิตและส่งออกไก่แปรรูปได้ตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. หรือต้นเดือน เม.ย.นี้

ประชาไทตรวจสอบข้อมูลในเว็บไซต์ อย.ของซาอุดีอาระเบียพบว่ารายงานโรงการไก่ทั้ง 11 แห่งในประเทศไทยที่ผ่านการรับรองของทางการซาอุดีอาระเบีย ได้แก่ GFPT PUBLIC COMPANY LIMITED, Bangkok Ranch PUBLIC co, Ltd, Sky food co. ltd, CENTRAL POULTRY PROCESSING co, Ltd, SUN FOOD INTERNATIONAL CO., LTD ส่วนอีก 6 แห่งที่เหลือเป็นโรงงานไก่ในเครือซีพีเอฟ ตามที่ปรากฎด้านล่าง

รายชื่อโรงงานไก่ 11 แห่งของไทยที่ผ่านการรับรองขององค์การอาหารและยาแห่งซาอุดีอาระเบีย
ประกาศเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2565 (ที่มา: SDFA)
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net