Skip to main content
sharethis
  • 'สินธุ' ชาวจันทบุรี อายุ 27 ปี เดินทางไปรับทราบข้อหา ม.112 ไกลถึงพัทลุง หลังถูกกลุ่มประชาภักดิ์ฯ กล่าวหาคอมเมนต์ท้ายโพสต์เฟซบุ๊กล้อเลียนกษัตริย์ ยันพร้อมสู้คดี แต่กังวลเรื่องลางาน-ค่าเดินทาง
  • สถิติการดำเนินคดีมาตรา 112 นับแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 256 คดี ผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 237 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีที่มี "ประชาชน" เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหากันเองจำนวน 120 คดี พบว่าโดยส่วนมากเป็นสมาชิกของกลุ่มปกป้องสถาบันฯ

 

4 เม.ย. 2566 เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานวันนี้ (4 เม.ย.) เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2566 ที่ สภ.ตะโหมด จังหวัดพัทลุง "สินธุ" (นามสมมติ) พนักงานขายอุปกรณ์ไฟฟ้าจากจังหวัดจันทบุรี วัย 27 ปี เดินทางเข้ารับทราบข้อหามาตรา 112 ตามหมายเรียกของตำรวจ 

ก่อนหน้านี้ สินธุได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาลงวันที่ 16 ก.พ. 2566 ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่มี ทรงชัย เนียมหอม จากกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบัน เป็นผู้กล่าวหา โดยเขาได้ขอเลื่อนนัดในช่วงเดือนมีนาคมออกมา เนื่องจากยังไม่สามารถลางานเดินทางไปที่จังหวัดพัทลุงได้

ในการเดินทางมายัง สภ.ตะโหมด สินธุ เปิดเผยว่า เขาต้องเดินทางจากจังหวัดจันทบุรี เข้ามาที่กรุงเทพฯ ก่อนต่อเครื่องบินเดินทางมาที่สนามบินหาดใหญ่ และหารถเช่า เพื่อเดินทางไปยังสถานีตำรวจ โดยเขาเล่าว่าในชีวิตก่อนหน้านี้ เดินทางลงมาใต้สุดคือถึงจังหวัดนครศรีธรรมราชเท่านั้น ยังไม่เคยเดินทางมาที่จังหวัดพัทลุงมาก่อน

ในการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา เขาได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีทนายความเครือข่ายในพื้นที่ภาคใต้เดินทางไปร่วมในกระบวนการด้วย

ร.ต.อ.อาคม ปานจันทร์ รองสารวัตรสอบสวน สภ.ตะโหมด ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาต่อสินธุ โดยแจ้งข้อหาตามมาตรา 112 ระบุถึงพฤติการณ์ในคดีว่า เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 เวลาประมาณ 10.00 น. ทรงชัย เนียมหอม ได้เข้าใช้งานบัญชีเฟซบุ๊ก และปรากฏการแจ้งเตือนจากเพจเฟซบุ๊กแบบสาธารณะที่บุคคลทั่วราชอาณาจักรไทยสามารถเข้าถึงได้ ชื่อเพจ The MalaengtaD ซึ่งได้เผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พร้อมสมเด็จพระบรมราชินี พร้อมข้อความอักษรประกอบภาพ ระบุว่า "ในหลวง-พระราชินี" ไม่เคยรับเงินเดือน หรือ 'ทรงไม่รับเงินปี' ที่รัฐบาลถวายองค์ละ 60 ล้านต่อปี เงินทั้งหมดคืนให้ประชาชนทุกบาททุกสตางค์” และยกข้อความในโพสต์ดังกล่าวมา ซึ่งอ้างอิงว่ามีที่มาจาก "วาสนา นาน่วม" และเพจ "ฤๅ - Lue History" โดยโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่เข้าสู่โซเชียลเมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 เวลา 21.41 น. 

ผู้กล่าวหาอ้างว่าจากโพสต์ดังกล่าว ได้พบผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายอื่นเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยตนได้เลื่อนอ่านข้อความไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพบการแสดงความคิดเห็นจากผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กรายหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นท้ายโพสต์ ส่งผลให้มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นเข้ามาแสดงความรู้สึกตลกขบขัน 

ผู้กล่าวหาจึงได้เข้าไปตรวจสอบการโพสต์และรูปภาพอย่างอื่นในเฟซบุ๊กดังกล่าวอีก ทำให้เชื่อว่าผู้ใช้เฟซบุ๊กดังกล่าวคือสินธุ และเห็นว่าข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ล้อเลียนต่อรัชกาลที่ 10 หวังผลให้พระมหากษัตริย์ อันเป็นประมุขของราชอาณาจักรไทยในรัชกาลปัจจุบันต้องเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นแสดงความรู้สึกตลกขบขัน จึงมาร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

สินธุได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้ลงบันทึกประจำวันและให้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ ก่อนให้ปล่อยตัวไป เนื่องจากเห็นว่าเขาเดินทางมาตามหมายเรียก โดยจะติดต่อนัดหมายมาส่งสำนวนคดีให้กับอัยการต่อไป

สินธุ เปิดเผยความรู้สึกหลังการเข้ารับทราบข้อกล่าวหาว่า ยังงงๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าทำไมถึงถูกดำเนินคดี เพราะไม่เคยรู้จักผู้กล่าวหามาก่อน รู้สึกเหมือนโดนกลั่นแกล้ง โดยก่อนหน้านี้เขาก็เคยติดตามข่าวสารเรื่องคดีมาตรา 112 มาบ้าง แต่ก็ไม่เคยนึกว่าจะมาเจอกับตัวเอง ตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาเองจริงๆ ข้อความที่ถูกกล่าวหาก็ไม่น่าเข้าข่ายมาตรา 112 โดยเขายืนยันจะต่อสู้คดีต่อไป

แต่การถูกดำเนินคดึไกลถึงพัทลุง ก็สร้างความกังวลให้กับสินธุ เนื่องจากเขาทำงานเป็นลูกจ้าง และมีข้อจำกัดในการลางาน ไม่สามารถลางานมาได้บ่อยๆ ไม่แน่ใจว่าอาจจะส่งผลกระทบถึงขั้นต้องออกจากงานหรือไม่ ทั้งการเดินทางไกล ยังมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างมาก ไป-กลับเที่ยวหนึ่งเกือบหนึ่งหมื่นบาท ทำให้กังวลเรื่องภาระในการต่อสู้คดีในส่วนนี้ด้วย

สินธุยังระบุว่า ก่อนหน้าที่เขาจะได้รับหมายเรียกผู้ต้องหา แฟนของเขาในจังหวัดจันทบุรีก็ได้รับหมายเรียกพยาน ให้ไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจในท้องที่ โดยแฟนได้เดินทางไปพบตำรวจเมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ. แล้ว โดยมีการสอบถามยืนยันเรื่องผู้ใช้เฟซบุ๊กในคดีนี้ และทัศนคติทางการเมืองของสินธุด้วย

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขณะนี้พบว่ามีประชาชนไม่น้อยกว่า 3 ราย ที่ได้รับหมายเรียกในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งมี ทรงชัย เนียมหอม เป็นผู้กล่าวหาในพื้นที่สถานีตำรวจทางภาคใต้ (ย้อนอ่านข่าวกรณีของ "ดลพร") โดยมีรายงานว่ากลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันดังกล่าวได้แจ้งความคดีต่างๆ ไว้นับสิบคดีในพื้นที่ 

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้สถิติการดำเนินคดีมาตรา 112 นับแต่ปลายปี 2563 จนถึงปัจจุบัน เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 256 คดี ผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 237 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีที่มี "ประชาชน" เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวหากันเองจำนวน 120 คดี พบว่าโดยส่วนมากเป็นสมาชิกของกลุ่มที่เคลื่อนไหวในลักษณะปกป้องสถาบันฯ เป็นหลัก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net