Skip to main content
sharethis

'เก็บตก' ประมวลเหตุการณ์ เครื่อข่ายแรงงานฯ ชุมนุมหน้าทำเนียบฯ ‘แรงงานรวมพล วันสตรีสากล ‘66 เพราะสังคมนี้สรรค์สร้างโดยแรงงานที่หลากหลาย’ สื่อสารนโยบายแรงงาน-สวัสดิการ ถึงทุกพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง ก่อนปิดท้ายด้วย ‘ยืน หยุด ขัง 112 วินาที’

 

9 มี.ค. 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (8 มี.ค.) เวลา 9.00 น. ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน  เครือข่าย We Fair กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ สหภาพแรงงานไทยคูราโบ้ และกลุ่มทำทาง รวมตัวหน้าสำนักงานคณะกรรมการข้าราชพลเรือน ฝั่งตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล จัดชุมนุม ‘#แรงงานรวมพลวันสตรีสากล66 เพราะสังคมนี้สรรค์สร้างโดยแรงงานที่หลากหลาย’ 

บรรยากาศชุมนุมหน้าทำเนียบ

บรรยากาศการชุมนุม มีประชาชนนำป้ายรณรงค์ประเด็นต่างๆ มาชู ปรากฏข้อความ เช่น ทำแท้งปลอดภัย สมรสเท่าเทียม สิทธิลาคลอด 180 วันทุกเพศ บำนาญผู้สูงอายุ 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึงมีป้ายกล่าวถึง ‘ตะวัน’ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์  และ ‘แบม’ อรวรรณ ภู่พงษ์ สองนักกิจกรรมทะลุวัง ที่ออกมาประท้วงโดยการอดอาหาร (Hunger strike) และอดอาหาร อดน้ำ-ไม่รับยา (Dry fasting strike) ก่อนหน้านี้ เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวนักโทษการเมืองไทย

ล่าสุด มีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำประมาณ 5 คน โดยทั้งหมดถูกกล่าวหาในคดีครอบครองวัตถุระเบิด ประกอบด้วย คงเพชร และคทาธร ถิรนัย และชัยพร และทัตพงศ์ เขียวขาว 

หลังจากเวลา 9.50 น. เป็นต้นมา เป็นการผลัดขึ้นปราศรัยถึงข้อเรียกร้องด้านสวัสดิการ ปัญหาการทำแท้งปลอดภัย และอื่นๆ โดยผู้นำแรงงาน และสมาชิกกลุ่มทำทาง 

บรรยากาศการชุมนุมหน้าทำเนียบของเครือข่ายแรงงานฯ (ที่มา: 'ปณิตา' สหภาพคนทำงาน)

‘We Fair’ ชง 4 ข้อเสนอวันสตรีสากล 

‘ไผ่’ นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ เครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม หรือ We Fair ปราศรัยเสนอสวัสดิการสำหรับวันสตรีสากล 4 ข้อ ประกอบด้วย 

ข้อที่ 1 การจัดสวัสดิการอุดหนุนมารดาช่วงตั้งครรภ์ 9 เดือน เดือนละ 3,000 บาท โดยใช้เกณฑ์เส้นความยากจนของไทย ซึ่งอยู่ที่ 2,803 บาท เพื่อให้สตรีมีรายได้ดูแลบุตรตั้งแต่อยู่ในครรภ์

สมาชิก We Fair เสนอต่อว่า ข้อที่ 2 รัฐบาลควรเพิ่มวันลาคลอดสำหรับสตรีเป็น 180 วัน และผู้ชาย หรือผู้เลี้ยงดูบุตร สามารถลาเลี้ยงดูบุตรได้ 90 วัน จากเดิม สามารถลาคลอดบุตรได้ 98 วัน และได้รับค่าจ้างของวันลาเพียง 90 วัน ข้อ 3 สวัสดิการผ้าอนามัย 200 บาทต่อเดือน เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และข้อ 4 สนับสนุนการทำแท้งปลอดภัย และดูแลผู้ที่ท้องไม่พร้อม 

บำนาญ 3 พันบาท/เดือน ต้องเป็นระบบถ้วนหน้า

นิติรัตน์ กล่าวถึงประเด็นนโยบายบำนาญประชาชนของพรรคการเมืองต่างๆ ต้องพิจารณา 3 ข้อหลัก ประกอบด้วย หนึ่งคือนโยบายบำนาญ ต้องอยู่บนเกณฑ์เส้นความยากจน หรือไม่ต่ำกว่า 3,000 บาทต่อเดือน สองต้องเป็นระบบถ้วนหน้า เพราะถ้าไม่ใช่นโยบายถ้วนหน้า แต่ให้เฉพาะความยากจนเท่านั้น จะเป็นการซ้ำรอยระบบที่ไม่มองว่าสิทธิของทุกคนเสมอกัน ต้องพิสูจน์ความยากจนก่อน และทำให้มีผู้ตกหล่นได้ง่าย ซึ่งช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา สะท้อนปัญหานี้ได้เป็นอย่างดี

'ไผ่' นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากกลุ่ม We Fair (ที่มา: 'ปณิตา' สหภาพคนทำงาน)

สุดท้าย สาม ต้องไม่มาจากมุมมองแบบสงเคราะห์ เพราะถ้าเกิดจากระบบสงเคราะห์จะทำให้เกิดระบบอุปถัมภ์ ดูอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บางพรรคบอก 700-1,000 บาท แต่นั่นไม่ได้สร้างหลักประกันรายได้ให้เกิดขึ้นกับคนในประเทศของเรา 

นอกจากนี้ ไผ่ ระบุว่า บำนาญประชาชน เดือนละ 3,000 บาทเป็นจริงได้ โดยใช้งบฯ ใกล้เคียงกับบำนาญข้าราชการเกษียณ โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีจำนวนประชากรอายุ 60 ขึ้นไป จำนวน 12 ล้านคน มีจำนวนผู้ได้รับเบี้ยยังชีพ ประมาณ 11 ล้านคน ถ้าบำนาญประชาชนเพิ่มเป็น 3,000 บาทต่อเดือน จะใช้งบฯ 4 แสนล้านบาท ซึ่งงบฯ ตัวนี้ไม่แตกต่างจากงบฯ บำนาญข้าราชการจำนวน 9 แสนคน อยู่ที่ 3.2 แสนล้านบาท 

"เรื่องบำนาญประชาชน ถือเป็นนโยบายสำคัญสำหรับรัฐบาลใหม่ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นรัฐบาลฟากประชาธิปไตย จะต้องเอานโยบายบำนาญถ้วนหน้าจัดให้กับประชาชนทุกคนโดยเป็นสิทธิเสมอกัน"

"ขอสดุดีการต่อสู้ของขบวนการสตรี ในโอกาส 115 ปี วันสตรีสากล ณ ทำเนียบรัฐบาล" นิติรัตน์ ทิ้งท้าย

'ลาคลอดเป็นเรื่องของคนทุกเพศ'

นูโว (นามสมมติ) 'แกนนำสหภาพคนทำงาน' ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวระบุว่า เบื้องต้น เสนอว่าสิทธิลาคลอดต้องขยายเป็น 180 วันทุกเพศ เพื่อทำหน้าที่เลี้ยงบุตร ไม่ว่าจะเป็นแม่ หรือพ่อ สามารถลาได้ แม่อาจลาน้อยกว่า หรือพ่ออาจลาเยอะกว่า ทั้งสองคนก็สามารถช่วยเลี้ยงดู สนับสนุนบุตรพร้อมกันได้ ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นเรื่องความเท่าเทียมในที่ทำงาน และสิทธิแรงงาน เหมือนเป็นการยิงนัดเดียว ได้นกสองตัว

แกนนำสหภาพคนทำงาน

แกนนำสหภาพคนทำงาน เสนอว่า การขยายสิทธิลาคลอดเป็น 180 วันทุกเพศ คำว่า ‘ทุกเพศ’ นี่เสนอแบบนี้เนื่องจากมองว่ากฎหมายยึดติดกรอบเรื่อง 2 เพศมากเกินไป พ่อแม่เป็นบทบาทที่หลายๆ คนภูมิใจจะมี แต่ทั้งนี้ควรเป็นสิทธิของทุกคนที่จะเลือกสวมบทบาทเอง รัฐต้องไม่จับใส่กล่องเพศชายหรือหญิง มันไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ แต่มันเป็นสิทธิเสรีภาพการตัดสินใจของคนในการรับเลี้ยง หรือคลอดด้วยวิธีต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่บนฐานแนวคิด ‘สิทธิการสร้างครอบครัว’ สมรสได้เท่าเทียม และลาคลอดได้เท่าเทียม

"บทบาททางเพศในกฎหมายควรถูกเอาออกไป หรืออย่างน้อยถูกลดทอนในเชิงของกฎหมาย และปล่อยให้เป็นเสรีภาพของประชาชนในการตัดสินใจเองว่า เราอยากเป็นอะไร เราอยากทำอะไร เราอยากรักใคร" แกนนำสหภาพคนทำงานกล่าว 

แกนนำสหภาพคนทำงาน ระบุต่อว่า ถ้าเกิดลดทอนกรอบด้านเพศในกฎหมายได้แล้ว ก็จะทำให้ทุกคนได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายอย่างเท่าเทียม ยกตัวอย่าง สมรสเท่าเทียม การแบ่งปันทรัพย์สิน/มรดก การยินยอมในการรักษา/ผ่าตัด กฎหมายลาคลอดอย่างครอบคลุม ความรักต้องเป็นเรื่องบุคคลต่อบุคคลในสายตารัฐ หน้าที่ของรัฐไม่ควรเลือกให้ประชาชน แต่ควรเปิดช่องให้ประชาชนจัดการเอง 

ฝากรัฐบาลหน้า ดำเนินนโยบายเรียนฟรี ต้องฟรีจริง

‘เอส’ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง ปราศรัยหน้าทำเนียบฯ ฝากถึงรัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศต่อไปว่านโยบายเรียนฟรีต้องฟรีจริง ซึ่งปัจจุบันไม่ใช่เรียนฟรีจริง แต่ยังต้องจ่ายเงินบำรุงการศึกษาหรืออื่นๆ 

เอส เสนอว่า นโยบายเรียนฟรีต้องเริ่มตั้งแต่อนุบาลถึงปริญญาตรี ซึ่งมองว่าถ้าอยากให้ประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้า ทุกคนต้องมีการศึกษาที่ดี และไม่ถูกเลือกปฏิบัติ สามารถเข้าถึงได้ทุกคนไม่ว่าจะคนชั้นกลาง หรือคนจน คนชั้นกลางบางคนยังต้องกู้หนี้ยืมสินมาเรียน หรือคนจนจะได้เข้าถึงการศึกษาง่ายขึ้น 

เอ็กซ์ สหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง (ที่มา: 'ปณิตา' สหภาพคนทำงาน)

เอส ระบุต่อว่า เวลาเรียนฟรีต้องฟรีทุกอย่าง ไม่ว่าจะค่าไปโรงเรียน ชุดนักเรียนฟรี ค่าเล่าเรืยนฟรี ค่าอาหารกลางวันฟรี สนับสนุนให้ประชาชนในประเทศมีการศึกษาที่ดี ประเทศจะได้พัฒนาขึ้น ไม่ใช่รวยกระจุก จนกระจายทั่วประเทศไทย 

สมาชิกกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต ระบุต่อว่า เขาอยากเสนอให้ยกเลิกหนี้ กยศ.ทั้งหมด เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมอย่างแท้จริงในการเรียนฟรีตั้งแต่อดีตและปัจจุบัน และมองปัญหาด้วยว่า คนที่เรียนจบแต่ไม่มีงานทำ ไม่มีเงินจ่ายหนี้ กยศ. ทำให้ถูกยึดทรัพย์ กลายเป็นบุคคลล้มละลาย แม้เรียนจบมา ก็ไม่มีสิทธิลืมตาอ้าปาก 

"อยากฝากถึงรัฐบาลหน้า ทำให้นโยบายเรียนฟรี เป็นจริง เพื่อลดภาระของแม่และของลูกที่จะต้องส่งเสริมลูกตัวเองให้มีการศึกษาที่ดี" เอส ทิ้งท้าย

2 ปี การเข้าถึงบริการทำแท้งปลอดภัย ยังเป็นเรื่องยาก

'เนี้ยบ' ชนฐิตา ไกรศรีกุล สมาชิกกลุ่มทำทาง ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนทางเลือกในการยุติครรภ์ ขึ้นปราศรัยบนรถเครื่องเสียงหน้าทำเนียบรัฐบาล ในประเด็กการทำแท้งปลอดภัยที่ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึง และผลกระทบจากการชะลอการลงนามจัดสรรงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับประชาชนที่อยู่นอกสิทธิบัตรทอง โดย รมว.สธ. ทำให้สิทธิด้านสุขภาพของประชาชนไกลห่างออกไป

เนี้ยบ เปิดปราศรัยเชิญชวนประชาชนทั้งคำถามว่า คนที่ทำแท้งเป็นผู้หญิงที่ไม่ดีหรือไม่ ไม่ป้องกัน หรือไม่รับผิดชอบหรือไม่ เรื่องนี้ถูกแค่บางส่วน แต่ไม่มีการป้องกันเพศสัมพันธ์วิธีไหนที่สามารถป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีวิธีไหนที่ทำให้ไม่มีลูกร้อยเปอร์เซ็นต์ ยกเว้นจะไม่มีเซ็กซ์

เนี้ยบ ระบุว่า ในยุคที่ค่าแรงได้สูงสุดไม่เกินวันละ 354 บาท ทำให้ไม่มีคนอยากมีลูกเพิ่ม หลายคนที่ติดต่อมาที่กลุ่มทำทาง เป็นคนที่มีลูก บางคนเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว บางคนตกงานตั้งแต่โควิด-19 ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้รับการเยียวยาจากรัฐ นโยบายที่พรรครัฐบาลเคยหาเสียงไว้ ไม่ว่าจะเป็นมารดาประชารัฐ หรือนโยบายขึ้นค่าแรง 425 บาท ไม่เคยเกิดขึ้น แล้วแบบนี้จะโทษเขาได้อย่างไร ในเมื่อเขากำลังตัดสินใจในสิ่งที่ยากลำบากที่สุด สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดเพื่อครอบครัว หรือเพื่อตัวของเขาเอง และนี่ไม่ใช่เรื่องปัจเจก แต่นี่เป็นเรื่องของรัฐบาล

ชนฐิตา ระบุว่า รัฐบาลต้องช่วยเหลือให้คนที่อยากจะตั้งครรภ์ได้มีชีวิตที่ดี ได้ตั้งครรภ์ ได้มีสวัสดิการที่รองรับลูกที่กำลังจะออกมา และให้คนที่ไม่พร้อมจะเป็นแม่ ได้มีชีวิตที่ดีของเขาเช่นกัน 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการทำแท้งถูกกฎหมาย จะเริ่มมา 2 ปีแล้ว แต่ผู้หญิงจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงการทำแท้งที่ปลอดภัย มีผู้หญิงไปซื้อยาเถื่อนจากอินเทอร์เน็ตมาทานโดยไม่ทราบว่าทานอะไรเข้าไป แม้ว่าเราจะมีกระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย หรือมีหน่วยงานที่ลั่นปฏิญาณว่าจะช่วยเหลือเรื่องนี้ แต่ทำไมมันยังมีปัญหาอยู่ 

เนี้ยบ ชี้ว่า เนื่องจากการเข้าถึงบริการยังคงเป็นเรื่องยากเย็น การเข้าถึงบริการทำแท้งที่ปลอดภัยต้องมีเงินอย่างต่ำ 5 พันบาท หรือจะต้องทำงานด้วยค่าแรงขั้นต่ำ โดยไม่ใช้เงินเลยครึ่งเดือน ซึ่งมีใครบ้างที่ทำได้ ผู้หาเช้ากินค่ำคนไหนที่ทำได้ เราไม่อยากให้เป็นเรื่องของเงิน

นอกจากนี้ กลุ่มทำทาง เสนอมาตลอดว่า ใน 1 จังหวัดควรจะมีสถานบริการของรัฐที่ผู้หญิงทุกคนสามารถที่จะเดินเข้าไปได้ และพูดว่าเราต้องการยุติการตั้งครรภ์ หลายคนไม่สามารถกู้ยืมเงินทันเวลา เขาจะถูกบังคับให้ตั้งครรภ์ต่อ 

"นี่ไม่ใช่ความภาคภูมิใจที่ผู้หญิงคนหนึ่งไม่สามารถทำแท้งได้เพราะว่าเหตุผลทางเศรษฐกิจ นี่เป็นการบังคับตั้งครรภ์ นี่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน เราต้องพูดเรื่องนี้ให้มากในวันสตรีสากล" ชนฐิตา กล่าว 

ชนฐิตา ระบุว่าอาจจะมีบางจังหวัดที่โชคดีที่มีโรงพยาบาลรัฐที่ให้บริการ แต่ใน กทม.ไม่มี และประชาชนต้องเดินทางไปที่จังหวัดสิงห์บุรี เพื่อไปถึงตั้งแต่เช้าตรู่และขอรับการบริการทำแท้ง อย่างไรก็ตาม สปสช. มีการสนับสนุนงบฯ 3,000 บาทต่อคน สำหรับโรงพยาบาลที่ให้บริการทำแท้งปลอดภัย ซึ่งเธอชื่นชมว่า มันสามารถช่วยเหลือประชาชนได้บางส่วน 

ชะลอลงนามจัดสรรงบการส่งเสริมป้องกันโรค ทำสิทธิสุขภาพห่างออกไป

สมาชิกกลุ่มทำทาง ระบุว่า ตอนนี้ประชาชนกำลังประสบปัญหาเรื่องการเข้าถึงสิทธิสุขภาพมากขึ้น หลังอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ชะลอลงนามการจัดสรรส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับประชาชนที่อยู่นอกสิทธิบัตรทอง (งบการส่งเสริมป้องกันโรค) จำนวน 5,146.05 ล้านบาท ทำให้ผู้อยู่นอกสิทธิบัตรทองเข้าไม่ถึงบริการด้านสาธารณสุขหลายอย่าง 

ชนฐิตา ไกรศรีกุล สมาชิกกลุ่มทำทาง (ที่มา: 'ปณิตา' สหภาพคนทำงาน)

สมาชิกกลุ่มทำทาง ยกตัวอย่างงบการส่งเสริมป้องกันโรคที่กำลังจะหายไปจะทำให้ประชาชนนอกสิทธิบัตรทองเข้าไม่ถึง ยาคุมกำเนิด การทำแท้งปลอดภัย การฝากครรภ์ การตรวจมะเร็ง การให้วัคซีนเด็กอย่างโปลิโอ บาดทะยัก หรืออื่นๆ 

โดยชนฐิตา ระบุว่า พรุ่งนี้ (9 มี.ค.) กลุ่มทำทางจะมีการเดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพรรคภูมิใจไทยของอนุทิน เพื่อทวงงบฯ ส่วนนี้คืนมา และขอเชิญชวนประชาชนสามารถเข้าร่วมการเรียกร้องวันพรุ่งนี้ได้

ท้ายสุด เนี้ยบ ก่อนยุติปราศรัย ระบุว่านักกิจกรรมกลุ่มทำทางก่อนหน้านี้ถูกตำรวจคุกคามที่สำนักงาน ซึ่งเธอกล่าวเชิญชวนว่า ถ้าตำรวจต้องการรับทราบข้อมูลหรือการเข้ารับบริการการทำแท้งปลอดภัย ไม่จำเป็นต้องเข้าไปที่สำนักงาน แต่ให้ใช้วิธีแอด ‘LINE’ หรือ ‘Facebook’ 

นอกจากผู้ปราศรัยข้างต้น ยังมีผู้นำแรงงานอีกหลายคนผลัดกันขึ้นปราศรัย สะท้อนปัญหาของผู้ใช้แรงงาน และข้อเสนอสวัสดิการ หลังจากนั้น 'ไหม' ธนพร วิจันทร์ แกนนำเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน อ่านประกาศเจตนารมณ์หน้าทำเนียบรัฐบาล ถึงข้อเรียกร้องของทางกลุ่มในวันสตรีสากล โดยมีรายละเอียดดังนี้

ประกาศเจตนารมณ์

“แรงงานรวมพล วันสตรีสากล ‘66 เพราะสังคมนี้สรรค์สร้างโดยแรงงานที่หลากหลาย”

โดยเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน

วันที่ 8 มีนาคม 2566 เวลา 09:00-12:00 น. ณ ทำเนียบรัฐบาล ประตู 4

 

เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว “วันสตรีสากล (International Women’s Day)” ถือกำเนิดขึ้นมาในต่างประเทศ จากประวัติศาสตร์การต่อสู้ของนักสหภาพแรงงานหญิงที่เรียกร้องให้สตรีได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน ขบวนการสิทธิแรงงานและขบวนการเฟมินิสต์จึงมีจุดยืนร่วมกันอย่างเหนียวแน่นตั้งแต่ต้น

เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา หญิงนักต่อสู้ทางการเมืองหญิง หญิงนักสหภาพแรงงาน และนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีในประเทศไทยจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวในหลากหลายประเด็น ตั้งแต่ประเด็นค่าจ้าง วันลาคลอด สวัสดิการการทำงานและรัฐสวัสดิการสำหรับทุกคนในสังคม อิสระในการประกอบอาชีพอย่างมั่นคงปลอดภัย สุขภาวะและอำนาจบนเนื้อตัวร่างกาย ไปจนถึงสิทธิทางการเมืองของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตย แม้จะถูกรัฐไทยขัดขวาง ข่มขู่ คุกคาม นักต่อสู้เหล่านี้ยังคงไม่ยอมแพ้จนถึงวันนี้ 

เนื่องในวันสตรีสากล เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนขอแสดงความสนับสนุนและเป็นกำลังใจแก่หญิงนักต่อสู้ทางการเมือง นักสหภาพแรงงาน และนักต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีทุกท่าน ทั้งในอดีตจนปัจจุบัน ผ่านกิจกรรม “ยืน 112 วินาที” ณ หน้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมส่งเสียงต่อรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรคที่กำลังเข้าสู่การเลือกตั้งที่จะถึง ดังต่อไปนี้

ข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิแรงงาน

1. ข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิแรงงาน

1.1 ยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี เพื่อยกเลิกความผิดและคืนสิทธิแรงงานให้พนักงานค้าบริการทางเพศ (sex worker)

1.2 ขยายสิทธิลาคลอดโดยได้รับค่าตอบแทนเป็น 180 วัน ให้พ่อและแม่แบ่งกันได้ 

1.3 เพิ่มวันลาป่วยให้กับผู้ปวดท้องประจำเดือน และให้กำหนดวันสตรีสากลของทุกปีเป็นวันหยุดด้วย

1.4 ยกเลิกการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานด้วยเหตุแห่งเพศ เช่น การไล่พนักงานที่ตั้งครรภ์ออกจากงาน

1.5 คุ้มครองสิทธิแรงงานของคนทำงานบ้าน (domestic worker) และแรงงานแพลตฟอร์ม เช่น ไรเดอร์ส่งอาหาร โดยให้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน และเข้าสู่ประกันสังคม มาตรา 33

1.6 ปฏิรูปคณะกรรมการประกันสังคมให้โปร่งใส ผู้ประกันตนทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งตัวแทนคณะกรรมการได้ 

1.7 แก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 287 จัดระบบสื่อบันเทิงทางเพศและเซ็กส์ทอยให้ถูกกฎหมาย

2. ข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิทางสังคม

2.1 ลดค่าครองชีพแรงงานและประชาชนหญิงด้วยการจัดสวัสดิการผ้าอนามัยฟรี

2.2 จัดให้มีสวัสดิการประชาชนตามช่วงอายุ ได้แก่ เด็ก 0–6 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รายละ 3,000 บาทต่อเดือน รวมถึงจัดให้มีการอุดหนุนรายได้สำหรับผู้ดูแลสมาชิกครอบครัวในบ้าน (care worker) ด้วย

2.3 ขยายสถานบริการรัฐที่ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยฟรีสำหรับผู้ท้องไม่พร้อม ตามงบประมาณสนับสนุนของ สปสช. รายละ 3,000 บาท และยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 301 ที่ระบุความผิดผู้ยุติการตั้งครรภ์ทุกกรณี

2.4 เพิ่มศูนย์เด็กเล็กในชุมชนและที่ทำงาน

2.5 ปฏิรูปพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาของคนทุกเพศ เช่น เปิดทางให้ผู้หญิงบวชภิกษุณีได้

2.6 รับรองสิทธิสมรสเท่าเทียมสำหรับคนทุกเพศ

2.7 แก้ไข พ.ร.บ. รับรองอัตลักษณ์ฯ ให้รับรองสิทธิของบุคคลนอนไบนารี่ด้วยการระบุเพศสภาพ “X” และยกเลิกกฎระเบียบควบคุมอัตลักษณ์ทางเพศทุกกรณี เช่น ยกเลิกการบังคับทรงผมนักเรียน ยกเลิกการบังคับแต่งเครื่องแบบตามเพศกำเนิดของข้าราชการ

3. ข้อเรียกร้องเพื่อทวงคืนสิทธิทางการเมือง

3.1 คืนสิทธิการประกันตัวให้นักสู้ทางการเมืองทุกคน 

3.2 ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม รวมถึงยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้แก่ กฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา 116, มาตรา 117, พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ

3.3 ยกเลิกการเกณฑ์ทหาร และยกเลิกวัฒนธรรมความรุนแรงต่อทหารชั้นผู้น้อย

3.4 รัฐบาลไทยต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ILO เพิ่มทั้งหมดอย่างน้อยอีก 5 ฉบับ ดังนี้

3.4.1 ฉบับที่ 87 คุ้มครองการรวมกลุ่มเป็นสหภาพแรงงาน

3.4.2 ฉบับที่ 98 คุ้มครองการต่อรองร่วมกันแบบกลุ่ม

3.4.3 ฉบับที่ 183 คุ้มครองความเป็นมารดา

3.4.4 ฉบับที่ 189 คุ้มครองสิทธิในงานที่มีคุณค่าของคนทำงานบ้าน

3.4.5 ฉบับที่ C190 คุ้มครองความปลอดภัยจากความรุนแรงและการคุกคามทางเพศในที่ทำงาน

หลังอ่านประกาศเจตนารมณ์ 'ไหม' ธนพร นำทำกิจกรรม ยืน หยุด ขัง หน้าทำเนียบรัฐบาล เป็นเวลา 112 วินาที และประกาศยุติกิจกรรมหน้าทำเนียบฯ

(ซ้าย) 'ไหม' ธนพร วิจันทร์

บรรยากาศการชุมนุมบางส่วน (ที่มา: 'ปณิตา' สหภาพคนทำงาน)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net