Skip to main content
sharethis

จำเลย ม.112 อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย #ม็อบ26ตุลา63 ขอศาลเรียกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับข้อกล่าวหา พร้อมขอเบิกตัว พล.อ.ประยุทธ์ มาให้การ ล่าสุดศาลยังไม่ตอบ

 

2 มี.ค. 2566 สื่อ The Reporters รายงานวันนี้ (2 มี.ค.) เวลา 9.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ถนนเจริญกรุง มีนัดสืบพยานฝ่ายโจทก์นัดแรก กรณีอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยรวม 13 ราย จากการทำกิจกรรมที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2564 ในข้อกล่าวหามาตรา 112, 116 และ พ.ร.บ.อื่น โดยในวันนี้มีจำเลยบางรายยื่นคำร้องขอเลื่อนนัดเนื่องจากมีสอบไล่ของมหาวิทยาลัย และมีนัดพบแพทย์ตามกำหนดนัดเพื่อรับการรักษาอาการป่วย ศาลจึงมีการปรึกษากับองค์คณะผู้พิพากษา ผู้บริหารศาล และมีคำสั่งเลื่อนนัดเพื่อประโยชน์แห่งความยุติเพราะคดีมีอัตราโทษสูง โจทก์ไม่คัดค้าน และนัดครั้งต่อไปในวันที่ 8 มี.ค. 2566

กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า มูลคดีของคดีนี้เกิดจากนักกิจกรรมเดินทางไปยื่นหนังสือที่สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีอย่างเปิดเผย และมีการอ่านคำแถลงการณ์ที่หน้าสถานทูต ซึ่งการเข้าไปในสถานทูตคงไม่มีความผิด เพราะเป็นอาณาเขตของสหพันธรัฐเยอรมัน แต่การอ่านแถลงการณ์ด้านหน้านั้นถูกกล่าวหาว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายหรือไม่ ซึ่งความเห็นนี้จำเลยทุกรายยืนยันว่ากระทำไปโดยสุจริต ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาเป็นการพูดถึงข้อเท็จจริง ไม่ใช่การดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาททั้งสิ้น ซี่งเมื่อ 17 ธ.ค. 2564 ศาลฯ ปฏิเสธ ไม่ออกหมายเรียกพยานหลักฐานด้วยเหตุผล 'ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นแห่งคดี' วันนี้ทีมทนายความจึงได้ยื่นโต้แย้งคำสั่งนั้น และยื่นคำขอใหม่อีกครั้ง

"…ในคดีหมิ่นประมาท คุณจะไม่ให้สืบข้อเท็จจริง ว่าสิ่งที่จำเลยกล่าวหาโจทก์หรือผู้เสียหายเป็นการหมิ่นประมาทหรือไม่ เพราะมีกฎหมายยกเว้นโทษให้หากเป็นไปด้วยความสุจริต ยุติธรรม เป็นการติชมโดยสุจริต อันนี้ก็เหมือนกัน เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมศาลฯ จึงปฏิเสธไม่ออกหมายเรียกคดีนี้…" กฤษฎางค์ กล่าว

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อ 17 ธ.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานคดี อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน #ม็อบ26ตุลา63 ศาลเคยแจ้งกับทนายความจำเลยคดีเดียวกันนี้ว่าไม่สามารถนำพยานเอกสารบางรายการเข้าสืบได้ เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางเข้า-ออกประเทศของรัชกาลที่ 10 จาก 3 หน่วยงาน คือ การบินไทย สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสถานกงสุลใหญ่นครมิวนิค ประเทศเยอรมนี ข้อมูลงบประมาณการใช้จ่ายของหน่วยงานราชการในพระองค์ รวมไปถึงพยานบุคคลที่ศาลสั่งไม่ให้ออกหมายเรียกมานำสืบ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ศาลเห็นว่าพยานเอกสารเหล่านี้ไม่เกี่ยวกับประเด็นคดี เนื่องจากในคดีนี้ ศาลไม่ได้จะพิสูจน์ว่าคำพูดปราศัยของจำเลยนั้นเป็นจริงหรือเท็จ แต่จะพิสูจน์ว่าคำปราศัยของจำเลยนั้นเข้าข่ายองค์ประกอบข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์หรือไม่

ด้านภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ จำเลยที่ 1 ในคดีนี้ กล่าวว่า เราต้องการให้ศาลฯ ออกหมายเรียกพยานหลักฐาน พยานเอกสารและพยานบุคคลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อมายืนยันว่าสิ่งที่ได้พูดในวันนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่ได้เป็นการใส่ร้ายป้ายสี เพราะประชาชนมีสิทธิสงสัยและตั้งคำถาม เราจึงไปถาม แต่การที่ศาลฯ ไม่อนุญาตให้นำเอกสารเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการนำสืบ ทำให้พวกเราไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ หากเกิดการสืบพยานไปจะสามารถมั่นใจได้หรือไม่ว่ากระบวนการเป็นไปอย่างยุติธรรมแก่จำเลยและโจทก์จริง ซึ่งจำเลยทั้ง 13 คนมีความกังวลในส่วนนี้อย่างมาก

ส่วนอีกประเด็นคือการที่ศาลฯ ไม่อนุญาตให้ทนายความจำเลย คัดถ่ายสำเนาวีดีโอคำปราศรัยที่โจทก์นำมาเป็นหลักฐานประกอบการกล่าวหา เมื่อศาลฯ ไม่อนุญาตให้คัดถ่าย ทำให้ฝั่งจำเลยไม่สามารถใช้สิทธิตรวจสอบความถูกต้องว่าวีดีโอนั้นมีความถูกต้อง มีการตัดต่อ ข้อมูลเป็นไปตามที่เกิดขึ้นจริงหรือไม่ และนำไปเตรียมตัวโต้แย้งในชั้นสืบพยานได้ เป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมต่อจำเลยและโจทก์ จึงมีการยื่นคำร้องในประเด็นนี้อีกครั้ง เพื่อให้ศาลฯ อนุญาตให้ได้ก่อนจะมีการสืบพยานต่อไป

นอกจากนี้ ภัสราวลี ยังกล่าวว่า ในคำร้องมีการขอให้ศาลเรียกพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลด้วย โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 

โดยศาลฯ จะแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอคัดถ่ายพยานหลักฐานคลิปวีดีโอคำปราศรัย คำร้องขอเบิกพยานบุคคลเพิ่มเติม และคำร้องขอเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งภายในวันนี้ต่อทนายความทราบ

ทั้งนี้ คดีนี้ถือเป็นอีกหนึ่งคดีที่มีผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวนมากถึง 13 ราย ซึ่งหลายรายเป็นนักศึกษา เพราะในวันดังกล่าวมีการอ่านแถลงการณ์ในหลายภาษา และมีการนัดสืบพยานจำนวนหลายปาก ในฝั่งโจทก์เตรียมพยานบุคคลไว้ 29 อันดับ และในฝั่งจำเลยเตรียมพยานบุคคลไว้ประมาณ 60 อันดับ คาดว่าจะสืบพยานแล้วเสร็จภายในปีนี้ 

ซึ่งในกระบวนการสืบพยานวันนี้ มีตัวแทนจากสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทย ญาติจำเลย และสื่อมวลชน เข้าร่วมสังเกตการณ์ภายในห้องพิจารณาคดีด้วย

ภัสราวลี โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก วันเดียวกัน เมื่อเวลา 16.10 น. ระบุว่าโดยทนายความยื่นคำร้องขอหลักฐานไปแล้ว และศาลแจ้งว่าจะได้คำตอบ เมื่อ 15.00 น. แต่ตอนนี้ยังไม่มีคำตอบจากศาล

13 ผู้ถูกกล่าวหาอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนี

  1. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล - นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เทคโนโลยีมหานคร แกนนำผู้ชุมนุมและตัวแทนยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสถานทูต
  2. อรรถพล บัวพัฒน์ - แกนนำกลุ่มราษฎร
  3. ชลธิศ โชติสวัสดิ์ - นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาไทย
  4. เบนจา อะปัญ - นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาไทย
  5. กรกช แสงเย็นพันธ์ - ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาไทย
  6. ชนินทร์ วงษ์ศรี - กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาไทย
  7. ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา - ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ
  8. วัชรากร ไชยแก้ว - กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ
  9. โจเซฟ (สงวนชื่อจริงและนามสกุล) - พนักงานบริษัท ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาอังกฤษ
  10. อัครพล ตีบไธสง - เอ็นจีโอด้านสิ่งแวดล้อม ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน
  11. รวิศรา เอกสกุล - ศิษย์เก่าคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน
  12. สุธินี จ่างพิพัฒนวกิจ - นิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน
  13. แอน (นามสมมติ) - พนักงานบริษัท ผู้อ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net