Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

กรณีการซื้อขายงานวิจัยที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการในระดับนานาชาติจากกลุ่มนักวิชาการหลายประเทศ รวมถึงบางท่านจากประเทศไทยนั้น ได้กลายเป็นไฟลามทุ่งในระบบอุดมศึกษาของประเทศไทยและก่อให้เกิดคำถามแก่สังคมว่า เราจะเชื่อถือในจริยธรรมของอาจารย์และนักวิชาการชาวไทยได้หรือไม่ และ อะไรที่ทำให้เกิดปมปัญหานี้ในอุดมศึกษาโลก

ปัญหานี้ หากมองจากมุมมมองของคนนอกวงการอุดมศึกษาอาจจะรู้สึกถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากปัญหานี้ในฐานะวิกฤตศรัทธาต่อจริยธรรมทางวิชาการ และมองว่าเป็นปัญหาเฉพาะกลุ่มนักวิจัยและอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา แต่หากเรามองจากมุมมองของคนในแวดวงอุดมศึกษา จะไม่แปลกใจเลยที่จะคิดถึงโครงสร้างอุดมศึกษาโลกที่นำมาสู่ปัญหานี้มายาวนาน

วิจัย หมายถึง การศึกษาค้นคว้าเพื่อหาข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วนตามหลักวิชา และหาคำตอบสำหรับปัญหาและหรือความรู้ใหม่ ซึ่งขั้นตอนที่สำคัญขั้นตอนหนึ่งคือ การเผยแพร่ผลงานวิจัยต่อสาธารณชนซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น การนำเสนอผลงานในที่ประชุมวิชาการ จัดทำเป็นตำราหรือหนังสือ รวมไปถึง การเผยแพร่ผลงานในรูปแบบบทความทางวิชาการในวารสารทางวิชาการที่มีคุณภาพดี 

วัฒนธรรมการตีพิมพ์งานวิจัยเพื่อให้สาธารณชน คนในแวดวงเดียวกัน และนักศึกษาสามารถนำความรู้หรือข้อค้นพบใหม่ที่มาจากงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เป็นสิ่งที่เกิดมาจากการระบุหน้าที่ของมหาวิทยาลัยว่ามีหน้าที่ในการสอน วิจัย และบริการชุมชน ในประเทศโลกตะวันตก การวิจัยเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักในมหาวิทยาลัยที่สามารถใช้จำแนกสำนักความคิดขั้วซ้ายหรือขวาได้อย่างชัดเจน สังคมจะมองเห็นภาพของสถาบันว่าเชี่ยวชาญในสาขาไหนผ่านงานวิจัยที่มาจากอาจารย์ในสถาบันนั่นเอง

ในยุคของการแข่งขันจัดอันดับความเป็นเลิศทางวิชาการ ผลงานวิจัยคือเกณฑ์หลักที่สถาบันที่จัดอันดับต่างๆ เช่น QS, Times Higher Education ต่างให้น้ำหนักมาก มหาวิทยาลัยที่โดนประเมินค่าจากอันดับของโลกจึงถูกผลักดัน สนับสนุน หรือถึงขั้นบังคับให้เพิ่มสัดส่วนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพของการตีพิมพ์บทความวิชาการในวารสารวิชาการเพื่อทำให้อันดับของตนสูงขึ้นไป แน่นอนว่านี่คือเกมส์ที่มหาวิทยาลัยจากประเทศที่มีทรัพยากรมากจะมีแต้มต่อ

วัฒนธรรมจะตีพิมพ์หรือจะพินาศ (publish or perish) จึงเกิดขึ้นในหมู่อาจารย์ นักวิจัยในระดับอุดมศึกษาทั่วโลก รวมมาถึงประเทศไทย

 "ตีพิมพ์หรือพินาศ" เป็นวลีที่ใช้กันทั่วไปในโลกวิชาการเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเผยแพร่งานวิจัยในทุกศาสตร์ของอาจารย์เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงานของพวกเขาในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยหลายแห่ง แน่นอนว่าจำนวนและคุณภาพของบทความที่ตีพิมพ์มักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดศักยภาพของนักวิชาการและสถาบันต้นสังกัดในสาขาต่างๆ ของตน นอกจากนี้การตีพิมพ์ยังโดนนับเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของมหาวิทยาลัยในการการว่าจ้าง การเลื่อนตำแหน่ง และให้เงินทุนแก่เหล่าอาจารย์ ในมุมมองการบริหารบุคลากรในคณะหรือภาควิชาต่างๆ พบว่าอาจารย์ที่มีปริมาณและ/หรือคุณภาพของงานวิชาการในระดับสูงก็มักจะได้รับการเชิดชูในฐานะนักวิชาการชั้นเลิศ นำไปสู่เกียรติยศ เช่น ตำแหน่งทางวิชาการ และ การยอมรับในสาขาของตน

เมื่อพิจารณาอย่างถ่องแท้ เราจะพบว่าระบบการให้รางวัลแก่นักวิชาการที่สถาบันใช้เกณฑ์การตีพิมพ์เป็นการสร้างแรงจูงใจแก่แหล่าอาจารย์ ให้ขยัน ให้ตีพิมพ์ สร้าง และ เผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆ ทว่าปัญหาที่ตามมาก็มีหลายประการด้วยกัน

ประการแรก อาจารย์ และ นักวิจัยล้วนต้องการตีพิมพ์งานของตน โดยเบื้องต้นอาจเน้นปริมาณบทความที่ออกมาในวารสารวิชาการในฐานข้อมูลนานาชาติ แต่เอาเข้าจริงๆ ลักษณะงานที่ใหม่ และ เป็นความรู้ที่เกิดขึ้นแบบทันสมัยนั้นต้องการเงินทุนวิจัย และ ใช้เวลาพอควรในการผลิตผลงาน ในความเป็นจริง เราจะพบนักวิชาการจำนวนหนึ่งเอางานวิจัยของลูกศิษย์ นักศึกษาที่ตนดูแลและใส่ชื่อตนเองเข้าไปด้วยในการเผยแพร่ ประเด็นนี้สำหรับผู้เขียน เห็นว่ามีความไม่ชัดเจน ว่าเหมาะสมหรือไม่ การแก้ปัญหาข้อนี่ควรอยู่ที่การสร้างระบบคุณธรรม และ ข้อตกลงที่ชัดเจนของแต่ละสถาบัน รวมไปถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนทั้งจากรัฐ และ เอกชนให้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมการทำวิจัยที่ใหม่ และ เหมาะสม

ประการที่สอง กระบวนการเผยแพร่งานวิชาการนั้นใช้เวลา แน่นอนว่า วารสารที่เป็นเสาหลักในสาขาต่างๆ ล้วนใช้เวลาหลักปีในกระบวนการพิจารณาบทความ ยาก และ ล้วนใช้ภาษาอังกฤษซึ่งเราต้องยอมรับว่าอาจารย์จากหลายประเทศมีปัญหาในประเด็นนี้ ที่สำคัญวารสารทางวิชาการดีๆ นั้นมีจำนวนไม่มาก เมื่อคนส่งผลงานเข้ารับการพิจารณามาก งานก็ไปติดในระบบเป็นคอขวดในการพิจารณา ทำให้กระบวนการช้า เมื่อความต้องการเผยแพร่งานมีมากขึ้นก็เกิดตลาดที่มาตอบสนองอาจารย์ในรูปแบบต่างๆ เช่น วารสารใหม่ที่เป็น open access เน้นแต่พิมพ์เผยแพร่งานในระบบออนไลน์ ทำให้กระบวนการเร็วขึ้น เข้าถึงผู้อ่านจำนวนมากขึ้น และมีค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ที่สูงมาก ซึ่งประเด็นค่าธรรมเนียมนั้น เป็นคำถามคาใจนักวิชาการทั่วโลกจำนวนมากว่า วารสารในกลุ่มที่จัดว่ามีมาตรฐานสูง อยู่ในฐานข้อมูลที่สำคัญ เช่น Scopus หรือ WOS และมีการจัดอันดับในกลุ่มหลัก เช่น ควอไทล์หนึ่ง ในหลายสำนักพิมพ์จะคิดค่าธรรมเนียมที่สูงมาก เช่นกว่า สามพันถึงสี่พันเหรียญ

คำถามคือ หากงานวิจัยมาจากมหาวิทยาลัย เงินที่อุดหนุนงานเหล่านั้นก็มาจากประชาชนผู้จ่ายภาษี เราสามารถคาดหวังการได้ความรู้เหล่านั้นกลับคืนสู่สังคมโดยไม่ต้องเสียเงืนซ้ำซากให้กับสำนักพิมพ์ ดังนั้นคำถามที่ว่าทำไมมหาวิทยาลัยจึงต้องเอาเงินไปอุดหนุนสำนักพิมพ์ให้ตีพิมพ์ความรู้เหล่านี้ที่มาจากเงินภาษีให้แก่สาธารณชนจึงเป็นคำถามที่ไม่มีคำตอบ ในหลายประเทศพูดถึงความพยายามทำ open access โดยกลุ่มมหาวิทยาลัย และ ไม่คิดค่าบริการใดๆ ทั้งสิ้น

ประการที่สาม การสร้างมาตรฐานในแวดวงวิชาการนั้นยังขาดการมีส่วนร่วมจากอาจารย์ที่มีความหลากหลายทางวิชาการ และ ตำแหน่ง ประสบการณ์ในฐานะนักวิจัย การรวมศูนย์อำนาจเป็นปัญหาในหลายประเทศ และอาจนำไปสู่ปัญหาของบทบาทของบุคคลที่เรียกว่า ผู้กำหนดตลาดการเผยแพร่งานวิชาการในวารสารต่างประเทศ

เขาคือใคร? คนในกลุ่มนี้มีไม่มากนัก แต่เริ่มเข้าไปสิงสู่แอบแฝงในฐานะบทบาทต่างๆ ในกลุ่มสำนักพิมพ์ที่เน้นการตีพิมพ์บทความออนไลน์ และที่สำคัญจะมีวารสารทางวิชาการจำนวนหนึ่งของสำนักพิมพ์เหล่านี้ที่มีการรับรองให้เข้าไปอยู่ในอันดับต้นๆ ของควอไทล์หนึ่ง สอง เป็นต้น คนกลุ่มนี้อาจเข้าไปในรูปแบบบรรณาธิการชั่วคราว และสามาถรับผลงานของอาจารย์และมีการคิดค่าธรรมเนียมได้ แน่นอนว่าประเด็นนี้หลังจากที่เกิดกรณีไฟลามทุ่งในประเทศไทย มีการรายงานไปยังกลุ่มสำนักพิมพ์ต่างๆ และกระบวนการถอดถอนผลงานที่ตีพิมพ์แบบนี้ก็เริ่มปรากฏขึ้น สิ่งที่อาจารย์ที่ทำวิจัยจริงๆ และใช้เวลาตีพิมพ์ สามารถทำได้คือการร่วมกันรายงานไปยังสำนักพิมพ์ต่างๆ ที่ตนเป็นคณะกรรมการหรือบรรณาธิการ

ประการสุดท้าย ผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านความงอกงามทางปัญญาของกลุ่มนักวิชาการ และ สถาบันการศึกษาในระยะยาว วัฒนธรรมตีพิมพ์หรือพินาศทำให้การแข่งขันสูงและการทำงานร่วมกันลดลง ลักษณะการแข่งขันของการตีพิมพ์อาจทำให้ความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและสถาบันลดลง เนื่องจากพวกเขาอาจมุ่งเน้นไปที่การผลิตผลงานของตนเองมากกว่าการทำงานร่วมกัน เพราะสามารถทำได้รวดเร็วกว่า นอกจากนี้การต้องเร่งรีบทำจำนวนผลงานทำให้เกิด ความเหนื่อยหน่ายแรงกดดันในการผลิตงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ความ เหนื่อยหน่าย และ ความเครียดสำหรับนักวิจัย ที่สำคัญมันสามารถนำไปสู่การฉกฉวยผลประโยชน์จากกลุ่มอาจารย์ยุคใหม่ที่ขาดประสบการณ์ ความไม่เท่าเทียมกันระหว่างอาจารย์เก่าและใหม่ หรือจากประเทศต่างๆ และอคติที่มีอยู่ในชุมชนวิทยาศาสตร์ เนื่องจากกลุ่มอาจารย์ที่โดนมองว่าเป้นนักวิจัยชายขอบอาจเผชิญกับอุปสรรคเพิ่มเติมในการเผยแพร่งานวิจัยของตน

โดยสรุป แม้ว่าการเผยแพร่งานวิจัยมีความสำคัญต่อความก้าวหน้าทางวิชาการ แนวคิด "จะตีพิมพ์หรือจะพินาศ" อาจส่งผลเสียต่อชุมชนวิทยาศาสตร์และทำให้คุณภาพและความสมบูรณ์ของการวิจัยในสาขาต่างๆ ลดลง หากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไม่จัดทำ พัฒนา และ สร้างระบบ หรือวิธีการในรูปแบบต่างๆ ที่มีความหลากหลาย และ ไม่ยึดติดกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกจนเกินไป

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: รองศาสตราจารย์ ณัฐวุฒิ พิมพาเป็นอาจารย์จาก วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net