Skip to main content
sharethis

 

 

มูเส่คี หรือ มือเจะคี ที่คนชนเผ่าปกาเกอะญอ ในแถบป่าสนวัดจันทร์เรียกขานกัน แต่ก่อนนั้นเป็นดินแดนที่ผู้คนชนเผ่าปกาเกอะญอมีวิถีชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสอดคล้อง แนบแน่นและกลมกลืนมาช้านาน ท่ามกลางป่าสนภูเขาธรรมชาติที่มีพื้นที่กว้างนับแสนไร่ ว่ากันว่า เป็นป่าสนธรรมชาติผืนใหญ่ที่เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นต้นกำเนิดของสายน้ำแจ่ม ที่ไหลลงไปหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตในพื้นที่ อ.แม่แจ่ม ก่อนจะไหลลงไปรวมกับแม่น้ำปิงในลุ่มน้ำตอนท้ายของจังหวัดเชียงใหม่อีกด้วย

มือเจะคี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ต้องเผชิญกับปัญหาและความเปลี่ยนแปลงมามากมายหลายอย่าง

ที่สั่นสะเทือนมากที่สุด ก็คือเมื่อทางองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้หรือ อ.อ.ป. เข้ามาในพื้นที่มือเจะคี เมื่อสี่สิบกว่าปีก่อน เพื่อจะตัดโค่นป่าสนธรรมชาติ ทำให้ชาวบ้านออกมาคัดค้านต่อต้าน จนกลายเป็นกระแสโด่งดังไปทั่วประเทศ

สมศักดิ์ สุริยมณฑล นักเขียนปกาเกอะญอ นาม “โถ่เรบอ” บอกเล่าความหลังให้ฟังว่า จำได้ว่าชาวบ้านได้ต่อสู้กับทาง อ.อ.ป.กันมายาวนาน ตั้งแต่ปี 2523 สมัยนั้นตนยังเป็นเด็กอยู่เลย ก็เห็นชาวบ้านหลายหมู่บ้านมารวมตัวกันประชุมกันที่โบสถ์กันเต็มไปหมด ทุกคนคัดค้าน ไม่อนุญาตให้มีการตัดป่าสน เพราะมันเป็นป่าสนธรรมชาติ ชาวบ้านช่วยกันดูแล เพราะมันเป็นป่าต้นน้ำด้วย แต่ทาง อ.อ.ป.ก็ขยับเข้ามาเรื่อยๆ

“สมัยนั้นถนนยังมาไม่ถึง ทาง อ.อ.ป.ก็ตัดถนนเข้ามาเรื่อยๆ มาจากฝั่งอำเภอปาย จากนั้นก็ดึงไฟฟ้าเข้ามา จนกระทั่งมีการสร้างโรงเลื่อยเสร็จเรียบร้อย ก็เตรียมเดินเครื่อง เหลืออยู่อย่างเดียวคือ การตัดโค่นต้นสนลงมา ป้อนเข้าสู่โรงเลื่อย ต่อมา รัฐมีนโยบายปิดป่า ในช่วงปี พ.ศ.2532 แต่ในขณะเดียวกัน ทาง อ.อ.ป.มีการสร้างโรงเลื่อยไว้เรียบร้อยแล้ว เตรียมจะตัดโค่นป่าสนกันแล้ว ซึ่งมันขัดแย้งกันกับนโยบาย เลยทำให้กระแสการคัดค้านของชาวบ้าน มีน้ำหนักในการเคลื่อนไหวต่อสู้กันมากขึ้น ก็มีประเด็น ไหนว่ามีนโยบายปิดป่า แต่ทำไม อ.อ.ป.จะยังมาโค่นป่าสนกันได้อยู่ จึงทำให้มีชาวบ้าน นักวิชาการ แม้กระทั่งศิลปินก็ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านกันอย่างหนัก”

จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ใครหลายคนได้เรียนรู้กับตำนานของ “โค้งผู้เฒ่าจามู” ซึ่ง“โถ่เรบอ” ได้เขียนบันทึกเอาไว้อย่างน่าสนใจ

“...ถนนจากอำเภอปาย จ.แม่ฮ่องสอน เลียบไปตามลำห้วยไต่สันภูเขาเข้าสู่ดงป่าสนผืนใหญ่แห่ง "มูเส่คี" ต้นน้ำแม่แจ่ม บ้านวัดจันทร์ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนถึงที่ทำการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เล็กน้อย ทางลงเขาโคดเคี้ยวซ้ายขวาโค้งเป็นรูปตัว S เฉือนรีสอร์ท อ.อ.ป. อ้อมหมู่บ้านเล็ก ๆ สิบหลังชื่อ "หมู่บ้านห้วยอ้อ" เป็นหมู่บ้านเก่าแก่ตั้งมาอายุนับร้อยปี

ใคร่ขอบอกให้ทราบว่า โค้งนี้มีตำนานและบางคนก็ตั้งชื่อโค้งนี้ว่า "โค้งผู้เฒ่าจามู"

เมื่อครั้งมีการตัดถนนจากอำเภอปายเพื่อเข้าหมู่บ้านวัดจันทร์ มาถึงหมู่บ้านห้วยอ้อ นายช่างทำถนนส่องกล้องเพื่อที่จะตัดถนน ได้ผ่าลอดใต้ถุนบ้านหลังหนึ่งตรงกลางพอดีเป๊ะ! เจ้าของบ้านเป็นผู้เฒ่าซึ่งมีฐานะเป็นหมอผีที่คนละแวกวัดจันทร์ให้ความเคารพนับถือ เมื่อจะต้องตัดถนนเส้นตรง รถแทรกเตอร์จะต้องไถผ่านบ้านผู้เฒ่า นายช่างจึงมายืนตรงหัวบันไดเรียกผู้เฒ่าเจ้าของบ้าน

"มีอะหยังก๋า" ผู้เฒ่าอยู่ในบ้าน เดินออกมาแล้วมองลง ถามด้วยภาษาไตโยนในสำเนียงปกาเกอะญอ แม้ไม่ชัดแต่พอฟังรู้เรื่อง

"พ่อเฒ่าจะต้องรื้อบ้าน" นายช่างบอก

"รื้อยะหยัง" พ่อเฒ่าถามด้วยสีหน้าไม่เข้าใจ

"มันขวางถนนที่จะตัดเข้ามา" นายช่างว่า

"เอ๊ะ! อยู่ ๆ บ้านป้อลุงไปขวางถนนได้จะใด" ผู้เฒ่าถามด้วยความสงสัย

"ผมตัดถนนมาจากปายเพื่อจะเข้าวัดจันทร์ แต่บ้านลุงอยู่ในแนวถนนที่จะต้องตัดผ่าน ฉะนั้นลุงจะต้องรื้อบ้านออก เข้าใจมั้ย" นายช่างอธิบายบอกเหตุผลเริ่มมีอารมณ์กับท่าทีซื่อ ๆ เซ่อ ๆ หน้างง ๆ ของผู้เฒ่า

"มันเป๋นจะใด" ผู้เฒ่ายังไม่เข้าใจ

"ผมจะตัดถนนเส้นตรง แต่มันผ่านบ้านลุง ผมบอกให้ลุงรื้อบ้าน!!" นายช่างขึ้นเสียง ลูก ๆ หลาน ๆ ที่บ้านอยู่ติดกันได้ยินเสียงเอะอะ เริ่มทยอยกันมาดู

"ไถอ้อมไปปู้นบ่ได้ก๋า" พ่อเฒ่าบอกและมือชี้ไปทางเหนือหัวบ้าน

"มันไม่ได้ ผมบอกแล้วไง ผมจะตัดถนนเส้นตรง ผมบอกให้ลุงรื้อบ้าน ถ้าไม่รื้อผมจะเอารถแทรกเตอร์ไถนะ" นายช่างพูดแกมขู่ แล้วเอี้ยวตัวกลับไป ผู้เฒ่าบอกไล่หลัง

"ถ้าจะไถก็ไถ!!"

บอกแล้วผู้เฒ่าก็ไปนั่งที่ชานระเบียงบ้าน สูบกล้องยามองไปที่ปากถนนเห็นนายช่างเดินขึ้นดอย ตรงไปยังรถแทรกเตอร์ คุยกับคนขับสักครู่ รถแทรกเตอร์ก็แผดเสียงคลานลงจากดอยแล้วมาจ่อตรงกลางบ้าน ยกฟันเหล็กมหึมาพร้อมจะงาบบ้านให้พังครืน แต่ผู้เฒ่ายังคงนั่งนิ่งบนระเบียงบ้าน มองออกไปที่ยอดสนบนภูเขาอย่างใจเย็น ไม่สะทกสะท้านหวาดกลัว

นายช่างมายืนชี้นิ้วไล่ตะโกนโหวกเหวกแข่งกับเสียงรถแทรกเตอร์อยู่ข้างบ้านพ่อเฒ่า รถแทรกเตอร์ถอยหลังเดินหน้ายกฟันมหึมาจ่อตัวบ้านรอบแล้วรอบเล่า แต่ผู้เฒ่ายังคงนั่งชันเข่าสูบกล้องยาเฉยมองออกไปที่ต้นสนยืนเรียงรายบนยอดดอยเหมือนเช่นเคย

ในที่สุด รถแทรกเตอร์ถอยกลับไปพร้อมนายช่างเดินกลับด้วยอาการหัวเสีย

ตกเย็น การเจรจารอบที่สองได้เริ่มขึ้นพร้อมข้อเสนอจะซื้อตะปู สังกะสีให้กับผู้เฒ่า ซึ่งบ้านผู้เฒ่าเป็นเพียง บ้านครึ่งไม้ ครึ่งฟากไม้ไผ่มุงใบตองตึง แต่ผู้เฒ่ายังยืนยันเช่นเดิมที่จะไม่รื้อบ้าน

"ไถโค้งอ้อมห้วยอ้อมดอยมาจากเมืองปายได้ ยะหยัง จะตัดอ้อมบ้านป้อลุงบ่ได้ บ่ไจ้ก้า" ผู้เฒ่าว่า เมื่อคุยกันไม่รู้เรื่องผู้มาเจรจาก็กลับไป

วันใหม่ บ่ายคล้อย การเจรจารอบที่สามก็มีมาอีก คราวนี้ตะปูสังกะสี บรรทุกมาเต็มหลังรถกะบะพร้อมเงินอีกจำนวนหนึ่งมายื่นให้ ผู้เฒ่าไม่สั่นหัวไม่ปฏิเสธ เพียงบอกกับผู้มาว่า

"ถ้าสูใคร่ได้ตางเส้นตรง ฮื้อสูเอาปืนมายิงเฮา" ผู้เฒ่าย้ำบอกไปว่า ถ้าสูอยากได้ทางเส้นตรง ให้สูเอาปืนมายิงเฮาก่อน…

วันรุ่งขึ้นรถแทรกเตอร์ก็ไถทางเฉออกไปจากบ้านผู้เฒ่า อ้อมโค้งเป็นรูปตัว S อยู่มาจนทุกวันนี้…

หลังจากถนนมาถึงได้ไม่นาน โรงกลั่นน้ำมันสนก็มาตั้ง และหลังจากนั้นไม่กี่ปีโรงเลื่อยขนาดยักษ์ก็ตามมาอีก ท่ามกลางการคัดค้านของชาวบ้านเรื่อยมา และนำไปสู่การลุกฮือของพลังมวลชนขนานใหญ่ เพื่อปกป้องผืนป่าสนวัดจันทร์ ในปี พ.ศ 2535 โดยมีจุดกำเนิดจากการดื้อแพ่งไม่ยอมรื้อบ้านของผู้เฒ่าจามู และเหตุการณ์ได้ยุติลงในปี พ.ศ. 2536 โรงกลั่นน้ำมันสนได้รับการสั่งปิด โรงเลื่อยได้รื้อถอนออกไปในที่สุด

จนทำให้ศิลปินเพื่อชีวิตคนหนึ่ง ได้แต่งเพลงให้ เป็นเกียรติแก่การต่อสู้เพื่อผืนป่าสนวัดจันทร์ ชื่อ "ปกาเกอะญอแห่งมูเส่คี"

"ผู้เฒ่าจามูอยู่มาร้อยปี

เปิ้นเป็นหมอผีบ่ฮู้นรกสวรรค์

ฮู้แต่ว่าป่ากำเนิดเป็นสายธาร

โค่นป่าสนวัดจันทร์แม่แจ่มท่านเหือดหาย"

"ผู้เฒ่าจามู" ผู้กลายเป็นตำนานในการยืนหยัดปกป้องผืนป่าสนวัดจันทร์ เปรียบเสมือนสนต้นใหญ่ยืนท้าพายุลมบนยอดดอยอย่างสง่างาม

เที่ยงคืนวันอังคารเข้าสู่วันใหม่ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2548 ผู้เฒ่าจามูได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชราท่ามกลางลูกหลานที่ล้อมรอบ 115 ปี คืออายุของพ่อเฒ่าจามู

โค้งผู้เฒ่าจามู ที่โค้งเป็นรูปตัว S ในปัจจุบัน

เมื่ออ่านงานเขียนชิ้นนี้ ทำให้หลายคนรู้ดีว่า คนปกาเกอะญอ คนมูเส่คี หรือมือเจะคี นั้นต่อสู้เรียนรู้เรื่องสิทธิกันมาเนิ่นนานมาแล้ว โดยเฉพาะสิทธิชนพื้นเมือง สิทธิความเป็นอยู่ และสิทธิของความคน

ที่สำคัญ ทำให้หลายคนรู้ดีว่า ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ชุมชนไหนบนภูเขา มักจะมีปราชญ์ ผู้นำชนเผ่า ผู้นำแห่งจิตวิญญาณ เป็นเหมือนเสาหลักให้กับลูกหลานปกาเกอะญอได้พบกับสันติสุขร่มเย็น

“ใช่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ผู้เฒ่าจามู ผู้เฒ่าสะเด้คา ผู้เฒ่าพือเลเดะป่า พ่อน้อยสี ซึ่งทุกคนถือว่าเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณที่น่าเลื่อมใสและชาวบ้านให้ความเคารพนับถือมากที่สุดในยุคนั้น เพราะถือว่าเป็นผู้นำที่ทุ่มเทมาทั้งชีวิต และคำพูดของท่านนั้นเต็มไปด้วยพลัง มีจิตวิญญาณ ทำให้ลูกหลานนั้นเชื่อฟัง เป็นผู้นำที่ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ ไม่ได้มีเรื่องเงินแอบแฝงใดๆ” สมศักดิ์ สุริยมณฑล บอกเล่าให้ฟัง

ผ่านมาถึงปี พ.ศ.นี้ ทาง อ.อ.ป. ยังคงอยู่ แต่ได้มีการเรียนรู้ ปรับตัวและอยู่ร่วมกับวิถีชุมชนได้ดีขึ้น

“จริงๆ ก่อนหน้านั้น ทาง อ.อ.ป.ตอนเริ่มแรก นอกจากจะมีนโยบายตัดไม้สนแล้ว เขาก็มีแนวคิดจะทำในเรื่องการท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่พอดีชาวบ้านลุกขึ้นมาคัดค้านการตัดป่าสน ก็เลยถอย แล้วมาตอนหลัง ก็หันมาส่งเสริมเรื่องท่องเที่ยว แล้วหันมารณรงค์ให้ชาวบ้านมาช่วยกันปลูกป่า ดูแลป่าแทน”

สมศักดิ์ สุริยมณฑล นักเขียนปกาเกอะญอ นามปากกา “โถ่เรบอ”

จาก “มือเจะคี” กลายมาเป็นอำเภอใหม่ที่ชื่อ “กัลยาณิวัฒนา”

เป็นเรื่องที่ชาวบ้านในพื้นที่รู้สึกตื่นเต้นดีใจ ระคนสงสัยและวิตกกังวลกันไปพร้อมๆ กัน เมื่อจู่ๆ พื้นที่มือเจะคี หรือตำบลวัดจันทร์ ได้ถูกยกให้เป็นอำเภอกัลยานิวัฒนา อำเภอใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่

แน่นอน เมื่อมีสิ่งใหม่ในนามของ ‘ความเจริญ’ และ ‘การพัฒนา’ เข้ามาอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้มีหลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลง และวิถีชีวิตชนเผ่าจำต้องปรับตัว เรียนรู้กันยกใหญ่ สองข้างทาง จึงมองเห็นความแปลกใหม่ที่คนในชุมชนไม่เคยรู้ไม่เคยเห็น แต่ต้องรับรู้และยอมรับอย่างหลีกเลี่ยงกันไม่ได้ เช่น ร้านค้าขายเหล้าเบียร์ ร้านอาหารและเกสเฮ้าส์ผุดขึ้นมาให้เห็น แม้กระทั่งร้านเสริมสวย หรือไก่หมุน ที่เด็กๆ หลายคนเรียกกันว่า ‘เคเอฟซีดอย’ ก็ถูกตั้งวางขายริมข้างถนน รถยนต์วิ่ง สวนทางกันไปมา รวมไปถึง ธกส.และบริษัทปล่อยเงินกู้สินเชื่อชื่อดัง ได้มาเปิดสาขาถึงบนดอยแห่งนี้ เพื่อรองรับให้ชาวบ้านบนที่ไม่มีเงิน ได้มากู้หนี้ยืมสินกันถึงในเขตชุมชนของตนเองได้รวดเร็วมากขึ้น

“ยอมรับว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่กลายมาเป็นอำเภอนี้ มีความเปลี่ยนแปลงกันอย่างรวดเร็ว มีหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่าง จากข้างนอกได้เข้ามากระทบ กระแทกคนในชุมชนกันเยอะมาก มันเป็นเรื่องที่คนข้างในนั้นตั้งรับค่อนข้างลำบาก ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในด้านบวกและด้านลบ ยกตัวอย่าง เรื่องการขายที่ดิน ทำให้ที่ดินหลุดมือไปจำนวนมากเหมือนกัน และนำไปสู่การบุกรุกพื้นที่ใหม่ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้น ชุมชนก็มีข้อตกลง มีข้อระเบียบกันไว้เยอะเหมือนกัน แต่ละหมู่บ้านก็มีความเข้มแข็งเข้มงวด แต่พอกลายมาเป็นอำเภอใหม่ขึ้นมา หลายครอบครัว หลายชุมชนก็สู้กระแสเงินไม่ไหว ทุกคนก็มีความจำเป็นอยากได้เงิน ก็เลยทำให้หลายหมู่บ้านในตอนนี้มีคนจากข้างนอกเข้ามาอยู่กันเพิ่มขึ้น อีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาก็คือ ปัญหาเรื่องหนี้สิน ยอมรับว่าทุกครอบครัวก็มีความสะดวกสบาย ในขณะเดียวกันทุกครอบครัวก็มีหนี้สินกันถ้วนหน้า ซึ่งตนคิดว่า ในแต่ละหมู่บ้าน มีครอบครัวส่วนน้อยไม่เกิน 10 ครอบครัวที่ไม่มีหนี้ นอกนั้นมีหนี้สินกันหมด โดยเฉพาะ หนี้ ธกส.จะเห็นว่าทุกหลังคาจะมีรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ กันหมด” สมศักดิ์ สุริยมณฑล ชาวบ้านบ้านหนองเจ็ดหน่วย บอกเล่าให้ฟัง

ทั้งนี้ สมศักดิ์ บอกอีกว่า เมื่อหันมาดูในด้านประเพณี วัฒนธรรมของพี่น้องชนเผ่า พี่น้องปกาเกอะญอก็ถือว่ายังทรงๆ อยู่ บ่อยครั้งที่ได้นั่งคุยกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เคยถกกันว่า ผู้นำศาสนา ไม่ว่าจะเป็นพุทธหรือคริสต์ จำเป็นต้องเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่ว่าจะมุ่งเน้นแต่เรื่องพิธีกรรมศาสนาอย่างเดียว จะสวดมนต์อย่างเดียว จะนมัสการพระเจ้าอย่างเดียวก็เป็นไปไม่ได้แล้ว แต่จำเป็นต้องมองในเรื่องมิติของสังคม มองเรื่องของลูกหลานเยาวชนคนปกาเกอะญอด้วย ต้องเปิดหูเปิดตา เรียนรู้โลกที่มันได้เข้ามาสู่ชุมชนของเราด้วย ดังนั้น เราจะเชื่อและศรัทธาอย่างเดียวก็คงไม่พอแล้ว เพราะถ้าเราไม่รู้เท่าทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงของสังคม

“ในขณะที่หน่วยงานรัฐก็เรียนรู้ปรับตัวเข้ากับวิถีชุมชนมากขึ้น ปัจจุบัน แทบทุกหน่วยงานท้องถิ่น หน่วยงานของรัฐ จะมีลูกหลานชนเผ่าปกาเกอะญอเข้าไปทำงานอยู่กันเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ไม่ค่อยมีความขัดแย้งกัน และค่อนข้างที่เป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำไป เมื่อมีหน่วยงานรัฐเข้ามาตั้งอยู่ในพื้นที่กัลยาณิวัฒนา ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนชาวบ้านไปโรงพยาบาล จะต้องขับรถไปอำเภอปาย ไปสะเมิง ไปเชียงใหม่ หรือจะไปทำธุระที่อำเภอ ก็ต้องไปที่อำเภอแม่แจ่ม ซึ่งต้องเดินทางไกล ลำบากมาก ตอนนี้ก็สะดวกสบายมากขึ้น”

ก่อตั้ง “ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา”รื้อฟื้น สืบทอด วิถีปกาเกอะญอไม่ให้สูญหาย

ด้าน พระปลัดสุชาติ สุวัฒฐโก เจ้าอาวาสวัดห้วยบง อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ก็ได้มีการก่อตั้ง "ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา" ขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งรวบรวมวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามของชนเผ่าปกาเกอะญอ ที่สืบทอดต่อกันมานับพันปี แต่กำลังสูญหายไปกับโลกสมัยใหม่ได้ฟื้นคืนกลับมาอีกครั้ง

ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา

“เมื่อก่อน ถนนหนทางนั้นไม่ดี ทุกคนก็อยู่กันง่ายๆ คนแปลกหน้าก็ไม่เข้ามา ก็ไม่ได้เห็นอะไรๆ ที่มีความอยากเกิดขึ้น จากเดิมนั่งล้อมวงกินข้าว กินน้ำชา คุยกัน พอไฟฟ้าเข้ามา ต่างคนต่างหันหน้าดูทีวีกัน มีโทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องเสียง ทุกอย่างต้องเสียเงิน เมื่อก่อนโทรศัพท์ไม่มาไม่มี ครอบครัวมีความสุข เด็กช่วยงานพ่อแม่ แต่เดี๋ยวนี้ บนดอยก็บนดอยเหอะ ความสะดวกสบายขึ้นมาถึงที่นี่ เด็กมีมือถือกันทุกคน หลักสูตรท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตนั้นไม่มี การอนุรักษ์ป่า การสืบชะตา เดปอทู เด็กไม่รู้เลย สิ่งเหล่านี้มันทำให้วิถีชีวิตของคนปกาเกอะญอหายไปจากสังคม กำลังจะจางหายไปจากสังคม”

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ พระปลัดสุชาติ สุวัฒฐโก ก่อตั้งศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบงนี้ขึ้นมา เพื่อรื้อฟื้น สืบทอด ไม่ให้วิถีปกาเกอะญอนั้นสูญหายไป โดยภายในบริเวณรอบๆ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา นั้นจะมีทั้งศิลปวัฒนธรรมชนเผ่าปกาเกอะญอ เช่น บ้านเรือนสมัยโบราณของชาวปกาเกอะญอ สวนสมุนไพร ป่าเดปอทู เครื่องดนตรี เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงภาพเขียนที่บอกเล่าเรื่องราววิถีปกาเกอะญอตั้งแต่เกิดจนตาย

ทุกวันนี้ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษากลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กๆ นักเรียน ชาวบ้าน ประชาชน นักท่องเที่ยว รวมไปถึงนักเรียน นักศึกษาจากทั่วประเทศ ไม่ว่าจะนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ต่างพากันมาเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง

พระปลัดสุชาติ สุวัฒฐโก เจ้าอาวาสวัดห้วยบง อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ผู้ก่อตั้ง ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา

เมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ในงานมหกรรมเฉลิมฉลองปีใหม่ปกาเกอะญอ ณ มือเจะคี อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ได้มีการเปิดพื้นที่เรียนรู้ ศาสนาและวัฒนธรรมปกาเกอะญอ ในบริบทเอกภาพบนความหลากหลาย ขึ้นที่บริเวณถนนตลาดมือเจะคี ชุมชนบ้านหนองเจ็ดหน่วย และที่ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง

ในงานดังกล่าว นอกจากจะมีตลาดนัดชุมชน หรือถนนคนเดินที่ตลาดมือเจะคีแล้ว ก็ยังมีวงเสวนาในหัวข้อเรื่อง การหนุนเสริมทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น สู่การสร้างสรรค์เศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ที่ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วงบง โดยมีทั้งพระสงฆ์ ตัวแทนชาวบ้าน นายกอบต.วัดจันทร์ ศิลปิน นักวิชาการ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนกันอย่างน่าสนใจ

วีระ ยิ่งรักเพ็ญจันทร์ นายก อบต.บ้านจันทร์ บอกว่า ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของตนอยู่แล้ว ในการขับเคลื่อนร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบล คอยสนับสนุนให้มีการสืบทอดการเรียนรู้รากเหง้าของตนเอง ซึ่งจริงๆ แล้ว ตำบลบ้านจันทร์ อำเภอกัลยานิวัฒนา ของเรานั้นมีต้นทุนวัฒนธรรม โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนชนเผ่าปกาเกอะญอ นั้นมีวัฒนธรรมที่โดดเด่น อย่างประเพณีการผูกข้อมือในวันปีใหม่ นั้นถือว่าเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิม รวมไปถึงการรักษาอัตลักษณ์ในเรื่องของภาษา การแต่งกาย นั้นเป็นสิ่งที่ล้ำค่า อีกทั้งในพื้นที่อำเภอกัลยาฯ ของเราตอนนี้ ในส่วนราชการต่างๆ ก็เริ่มมีข้าราชการที่เป็นพี่น้องปกาเกอะญอกันมากขึ้น

“ดังนั้น ถ้ามองในเรื่องเศรษฐกิจ ถ้าเรามีการรวมกลุ่ม เราก็สามารถนำวัฒนธรรมอันดีงามนี้มานำเสนอขับเคลื่อนต่อไปได้”

วัชระ พิริยะวรคุณ ประธานแกนนำชาวพุทธ อำเภอกัลยาณิวัฒนา ก็ได้บอกเล่าไว้ว่า วัฒนธรรม ประเพณี มันเป็นสิ่งที่ดีงาม เป็นความสุข ถ้าเปรียบเปรยก็เป็นเหมือนใบไม้สีเขียว เป็นร่มเงา เป็นที่หลบแดดหลบฝน ทำให้เรามีความสุขได้ ดังนั้น วัฒนธรรมที่ดีงาม ตั้งแต่เกิดจนตาย จึงเป็นสิ่งที่น่าเรียนรู้ ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนปกาเกอะญอเรามีการปกครองแบบเก่าแบบดั้งเดิม เขาเรียกผู้นำกันว่า ฮีโข่ มีระบบเครือญาติมาใช้ในการปกครองบ้านเมือง หรือตัดสินคดีความ แต่ปัจจุบัน ระบบเปลี่ยนแปลงไป มีรัฐเข้ามา อะไรๆ หลายอย่างก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเราจะอนุรักษ์วัฒนธรรมเอาไว้ก็ค่อนข้างยาก มีความคาดหวังสูง แต่ได้ผลน้อย เพราะว่ายุคนี้มันเป็นยุคของมือถือ สื่อโซเซียล

“ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงทุนของวัฒนธรรม จริงๆ มันมีเยอะมาก และจะส่งผลต่อการท่องเที่ยว วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างนั้นก็ต้องมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มิติศาสนา ความเชื่อ ไปพร้อมกันด้วย”

เช่นเดียวกับ พระปลัดสุชาติ สุวัฒฐโก เจ้าอาวาสวัดห้วยบง อ.กัลยานิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ผู้ก่อตั้ง ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมา เรามีความพยายามจะสร้างศูนย์ปกาเกอะญอศึกษาวัดห้วงบง มีการบันทึกในภาพฝาผนังเรียบร้อยแล้ว เราขอให้มาเรียนรู้เรื่องราวของตนเอง แม้กระทั่งข้าราชการที่มาอยู่อำเภอกัลยาณิวัฒนา เราก็อยากให้มาเรียนรู้วัฒนธรรมปกาเกอะญอที่นี่ด้วย จะได้เรียนรู้วิถีวัฒนธรรมของปกาเกอะญอ ซึ่งตอนนี้ ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษาวัดห้วงบง สิ่งที่เราทำ ทุ่มเท ใกล้จะเสร็จแล้ว”

รศ.ดร.ชรินทร์ มั่งคั่ง อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้าไปหนุนเสริมกิจกรรมภายในพื้นที่อำเภอกัลยาณิวัฒนา มาอย่างต่อเนื่อง บอกว่า พื้นที่อำเภอกัลป์ยาณิวัฒนา ถือว่ามีทุนวัฒนธรรม และมีธรรมชาติที่สวยงาม ในฐานะของตนนั้นคือการผลิตครู และมองเห็นปัญหาที่นี่คือ ปัญหาครูย้าย จริงๆ แล้ว คำว่า บวร ซึ่งหมายถึง บ้าน วัด โรงเรียน ยังมีความสำคัญ และต้องไปด้วยกัน

“เพราะฉะนั้น จึงจำเป็นได้ให้มหาวิทยาลัย เข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เข้ามาหนุนเสริมจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วงบง แห่งนี้ ทำอย่างไรให้ศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วยบง เป็นศูนย์ที่มีชีวิต ดูได้จากที่นี่มีต้นไม้นับค่าไม่ได้ ผู้คนที่นี่อยู่กับขวัญ 32 ขวัญ นั่นหมายถึงคนอยู่กับธรรมชาติ และนั่นจึงเป็นบทบาทที่ทางมหาวิทยาลัยได้เข้ามาหนุนเสริม จำเป็นต้องเอานวัตกรรมทางสังคมจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาปรับใช้เชื่อมโยงกับ บวร ให้ได้”

ว่าที่ ร.ต.นิมิตร ธิยาม รองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมกัลยาณิวัฒนาเฉลิมพระเกียรติ บอกว่า ที่ผ่านมา เราจะดูแลเรื่องการศึกษาในระดับมัธยม โดยเราได้ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ขึ้นมา เรียกกันว่า “กัลยาสร้างสุข” ก็คือจะเน้นให้นักเรียนกลับไปเรียนรู้กัลยาบ้านฉัน ไปเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมชนเผ่าของตนเอง โดยได้เชื่อมโยงกับศูนย์ปกาเกอะญอศึกษาวัดห้วงบง ด้วย ได้ให้เด็กๆ นักเรียน พาตัวเองมาศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอกันที่นี่


ทองดี ธุรวร หรือทองดี ตุ๊โพ ศิลปินปกาเกอะญอแห่งมูเจะคี

ในขณะที่ ทองดี ธุรวร หรือทองดี ตุ๊โพ ศิลปินปกาเกอะญอ ก็ได้แสดงความเห็น และชื่นชมที่มีการจัดทำศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วงบง แห่งนี้ เพราะตนถือว่า การศึกษานั้นเป็นเรื่องใหญ่ แต่หลายคนยังสับสนไม่ค่อยเข้าใจความหมายระหว่างคำว่า การเรียน กับการศึกษา ซึ่งในมุมมองของตนนั้น การเรียนมันหมายถึงแค่ห้องเรียน แต่การศึกษา นั้นมันหมายถึงการเรียนรู้ที่มีทุกหนแห่ง จะเรียนที่ไหนก็ได้ ใต้ต้นกล้วย ใต้เงาไม้ หรืออยากจะไปเรียน ธา บทกวีคำสอนของปกาเกอะญอ ก็ไปเรียนกับคนเฒ่าคนแก่ก็ได้

“ตนเคยบอกคนในกระทรวงศึกษาหลายคนแล้ว แต่เขายังไม่เข้าใจ ยังไม่มอง ไม่ลงมือทำกันสักที จนในขณะนี้ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป เขานำหน้าเราไปนานแล้ว ซึ่งการที่พระอาจารย์ปลัดสุชาติ มาตั้งศูนย์ปกาเกอะญอศึกษา วัดห้วงบง นี้ก็ถือว่าเป็นการศึกษา ยกตัวอย่าง ภาพฝาผนัง เราสามารถให้เด็กๆ มาเรียนรู้ เพราะเป็นการศึกษาวัฒนธรรมของพี่น้องปกาเกอะญอ ตั้งแต่เกิดจนตายเลย แล้วยังส่งเสริมให้เด็กๆ มาช่วยเป็นไกด์ให้กับนักท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่งด้วย เพราะที่ผ่านมา มีพี่น้องกะเหรี่ยงจากอเมริกา แคนาดา มาร่วมงานปีใหม่ด้วย นี่แหละคือต้นทุนทางวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าลูกค้านักท่องเที่ยวของเรานั้นมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net