Skip to main content
sharethis

เม็กซิโกมีการแต่งตั้งผู้พิพากษา นอร์มา ลูเซน ปิญญา ขึ้นเป็นประธานศาลสูงสุด ทำให้เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ท่ามกลางเกมการเมืองที่ประธานาธิบดีฝ่ายซ้ายพยายามส่งคนที่สนับสนุนเขาเข้าสู่ตำแหน่งในศาลสูงสุดแต่ก็พลาดท่า ทำให้ปิญญาได้รับตำแหน่งไป รวมถึงมีกรณีที่ศาลสูงสุดขัดแย้งกับประธานาธิบดีในเรื่องนโยบายพลังงานด้วย

 

5 ม.ค. 2566 ศาลสูงสุดของเม็กซิโกได้ลงมติแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดคนแรกที่เป็นผู้หญิง คือผู้พิพากษา นอร์มา ลูเซน ปิญญา ด้วยคะแนนเสียง 6-5 ทำให้ปิญญาได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีกำหนดวาระ 4 ปี ปิญญาให้สัญญาว่าเธอจะรักษาความเป็นอิสระของศาลเอาไว้

ปิญญากล่าวเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งว่า "ความเป็นอิสระของฝ่ายตุลาการเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการแก้ไขความขัดแย้งระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาล ... ข้อเสนอหลักของดิฉันคือการสร้างเสียงข้างมากและไม่เอาวิสัยทัศน์ส่วนตัวของฉันเข้ามายุ่งเกี่ยว"

การที่มีมติเลือกปิญญาเข้ามาอยู่ในตำแหน่งนี้ อาจจะทำให้เกิดการเผชิญหน้ากันหนักขึ้นกับรัฐบาลฝ่ายซ้ายของเม็กซิโกที่นำโดย แอนเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ผู้ที่ปิญญาเคยโต้เถียงด้วยในประเด็นเรื่องนโยบายพลังงาน

ในปัจจุบัน ประธานาธิบดี โลเปซ โอบราดอร์ ก็มีความสัมพันธ์กับศาลสูงสุดของเม็กซิโกที่ไม่ดีอยู่แล้ว ตัวประธานาธิบดีเป็นผู้ที่ออกปากวิพากษ์วิจารณ์ศาลสูงสุดมาตั้งแต่ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะหลังจากที่ศาลได้สั่งสกัดกั้นนโยบายหลายอย่างของเขา

ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือน พ.ย. 2565 โลเปซ โอบราดอร์ ได้กล่าวหาศาลว่าเข้าข้างกลุ่ม "อาชญากรคอปกขาว" (หมายถึงชนชั้นสูงที่ถูกกล่าวหาเรื่องทำการทุจริต) หลังจากที่ศาลเม็กซิโกได้สั่งให้ตัดส่วนหนึ่งของนโยบาย "จำคุกโดยไม่มีการประกันตัว" ออกไป ซึ่งในส่วนดังกล่าวระบุว่าจะต้องมีการบังคับคุมขังจำเลยก่อนการพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ถูกกล่าวหาในคดีจำพวกการโกงภาษี โลเปซ โอบราดอร์วิจารณ์ศาลในเรื่องนี้ว่า "ช่างสุดแสนจะไร้ยางอาย"

เกมการเมืองก่อนการแต่งตั้ง

ในระบบศาลของเม็กซิโกนั้น จะมีการลงมติเลือกประธานคนใหม่ทุกๆ 4 ปี ในช่วงที่หัวหน้าผู้พิพากษา อาร์ตูโร ซัลดิวาร์ เตรียมตัวพ้นตำแหน่งหลังครบวาระในวันที่ 31 ธ.ค. 2565 นั้น โลเปซ โอบราดอร์ ก็พยายามหนุนหลัง ยาสมิน เอสควิเวล เพื่อหวังว่าจะได้เห็นคนที่พร้อมสนับสนุนผู้นำอย่างโอบราดอร์เข้ามาเป็นประธานศาลสูงสุด

แต่เอสควิเวลก็เผชิญกับเรื่องอื้อฉาวที่ถูกเปิดโปงออกมาเมื่อเดือน ธ.ค. ที่มีการกล่าวหาว่าเธอ คัดลอกผลงานวิทยานิพนธ์วิทยาลัยของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง งานวิทยานิพนธ์ของเธอมีการนำเสนอเมื่อปี 2530 นั้นถูกระบุว่าเหมือนกับของที่ส่งมาเมื่อปีก่อนหน้านี้ แต่เอสควิเวลก็ยืนยันว่าวิทยานิพนธ์ฉบับปีก่อนหน้านี้เป็นฝ่ายลอกงานของเธอ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยยังคงทำการสืบสวนสอบสวนในเรื่องนี้อยู่

โลเปซ โอบราดอร์ วิจารณ์ว่าการตั้งข้อกล่าวหาต่อเอสควิเวลนั้นเป็นการกระทำที่มีแรงจูงใจทางการเมือง และกล่าวเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ที่ผ่านมาว่าระบบศาลของเม็กซิโกนั้น "ถูกครอบงำด้วยเงินและด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจ"

ฝ่ายค้านของเม็กซิโกแสดงความยินดีที่ปิญญาได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานศาลสูงสุดคนใหม่ เช่น เคเนีย โลเปซ ราบาดัน นักการเมืองอนุรักษ์นิยมก็ได้แสดงการชื่นชมการแต่งตั้งปิญญา โดยระบุในทวิตเตอร์ว่า "จากที่เราต้องเผชิญกับประธานาธิบดีผู้ที่ละเมิดหลักการรัฐธรรมนูญ ในตอนนี้พวกเราถึงต้องการศาลที่แสดงให้เห็นความเป็นอิสระ, ความไม่ลำเอียง, ความเป็นกลาง และความเป็นมืออาชีพมากกว่าที่เคยเป็นมา"

ทั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ผู้ที่ใกล้ชิดกับประธานาธิบดี โลเปซ โอบราดอร์ ส่วนหนึ่งที่ยินดีกับการแต่งตั้งปิญญาเช่นกัน เช่น ส.ว. โอลกา คอร์เดโร อดีตรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยภายใต้รัฐบาลโลเปซ โอบราดอร์ ก็ระบุทางโซเชียลมีเดียว่า "ในตอนนี้ มันถึงเวลาสำหรับสิทธิมนุษยชนแล้ว มันถึงเวลาสำหรับผู้หญิงแล้ว"

ความขัดแย้งเรื่องนโยบายพลังงาน

ปิญญาจะทำหน้าที่ควบคุมดูแลฝ่ายตุลาการของเม็กซิโกโดยทั้งหมดต่อจากนี้ ก่อนหน้านี้เธอเคยเป็นคนที่ปกป้องการที่เม็กซิโกจะเปลี่ยนผ่านไปใช้พลังงานหมุนเวียนมาก่อน จนทำให้เธอขัดแย้งกับโลเปซ โอบราดอร์ ผู้ที่วางแผนจะนำภาคส่วนพลังงานเช้ามาอยู่ภายใต้การควบคุมของการไฟฟ้าแห่งชาติเม็กซิโก (CFE) และรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมัน Pemex จากที่โลเปซ โอบราดอร์ เคยกล่าวหาว่าผู้นำคนก่อนหน้านี้ดำเนินนโยบายโดยเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชน เขาจึงอยากทำให้ภาคส่วนพลังงานของเม็กซิโกกลับมาอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลมากขึ้

แต่แผนการของโลเปซ โอบราดอร์ ก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคขัดขวางจากศาลสูงสุดของเม็กซิโก ศาลเคยตัดสินให้ส่วนหนึ่งในแผนการด้านพลังงานของเขาเป็นโมฆะ เช่น การเปิดทางให้การไฟฟ้าของเม็กซิโกได้รับสิทธิพิเศษในการเชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้าและระบบโครงข่ายพลังงานได้ก่อนแหล่งอื่นๆ ศาลระบุถึงสาเหตุที่ตัดสินให้เรื่องนี้เป็นโมฆะโดยอ้างว่าเพราะเม็กซิโกมีพันธกรณีในการต้องปรับลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง

นอกจากนี้นโยบายด้านพลังงานของ โลเปซ โอบราดอร์ ยังทำให้เขาขัดแย้งกับสหรัฐฯ ด้วย จากการที่สหรัฐฯ ต่อว่าในเรื่องที่นโยบายพลังงานของเม็กซิโกจะทำให้บริษัทจากสหรัฐฯ เสียเปรียบ อีกทั้งยังถือเป็นการละเมิดข้อตกลงทางการค้าของภูมิภาคด้วย ประเทศแคนาดาก็วิพากษ์วิจารณ์เม็กซิโกโดยกล่าวอ้างในแบบเดียวกัน ความขัดแย้งกับต่างประเทศเช่นนี้นำไปสู่การที่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของเม็กซิโกลาออกเมื่อเดือน ต.ค. 2565 ท่ามกลางความกลัวว่า การต่อว่าจากต่างประเทศอาจจะทำให้เม็กซิโกต้องเผชิญกับการลงโทษโดยการตั้งกำแพงภาษีศุลกากร

 

 

เรียบเรียงจาก

Mexico’s Supreme Court elects first female president, Aljazeera, 03-01-2023
https://www.aljazeera.com/news/2023/1/3/mexicos-supreme-court-elects-first-female-president
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net