Skip to main content
sharethis

คณาจารย์นิติศาสตร์ 78 รายชื่อ ร้องรัฐ 'ยกเลิก' ข้อกำหนดห้ามชุมนุม ที่ให้ดุลพินิจ จนท.มากเกินสมควร จนทำให้เสรีภาพในการชุมนุมไม่อาจเป็นไปได้โดยสิ้นเชิง ย้ำรัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ ปชช. ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตาม รธน. ขอองค์กรตุลาการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างจริงจัง โดยยึดมั่นในหลักนิติธรรม

19 ส.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณาจารย์นิติศาสตร์ จำนวน 78 รายชื่อ ร่วมออกแถลงการณ์เรื่อง การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิด-19 เรียกร้อง 3 ข้อประกอบด้วย 1. รัฐต้องยกเลิกข้อกำหนดที่ห้ามการชุมนุมในลักษณะทั่วไปที่ให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่มากเกินสมควร และทำให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมไม่อาจเป็นไปได้โดยสิ้นเชิง หากจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการชุมนุมจะต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างแท้จริง โดยต้องเปิดโอกาสให้การใช้เสรีภาพดังกล่าวยังสามารถเป็นไปได้ด้วย

2. รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ การสลายการชุมนุมเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะต้องใช้ในกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น และการใช้มาตรการห้ามการชุมนุมต้องเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น มิใช่เพื่อเหตุผลทางการเมือง และ 3. องค์กรตุลาการจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างจริงจัง โดยยึดมั่นในหลักนิติธรรม เพื่อมิให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจและเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์คณาจารย์นิติศาสตร์ เรื่อง การจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกภายใต้ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในสถานการณ์โควิด-19

19 สิงหาคม 2564

ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 และได้มีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เหล่าคณาจารย์นิติศาสตร์มีความกังวลต่อการประกาศข้อกำหนดอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวและการบังคับใช้ข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดังนี้

1. ประชาชนทุกคนบนแผ่นดินไทยได้รับการรับรองเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยเป็นภาคี เสรีภาพทั้งสองถือเป็นสาระสำคัญของความเป็นมนุษย์ที่ต้องการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นและการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้อื่น การติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารในรูปแบบกลุ่ม อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบุคลิกภาพในฐานะมนุษย์ กล่าวโดยเฉพาะเสรีภาพในการชุมนุมนั้นเป็นองค์ประกอบพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยโดยเป็นเครื่องมือในการยับยั้ง ตักเตือน หรือแก้ไขข้อผิดพลาดในการตัดสินใจทางการเมือง ทำให้ประชาชนโดยเฉพาะที่ไม่มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสามารถสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองได้

ยิ่งกว่านั้น หากพิจารณาบริบทปัจจุบันที่มีการประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันมีผลให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยที่กลไกการตรวจสอบในระบบปกติไม่สามารถทำงานได้ เสรีภาพทั้งสองจึงมีความสำคัญยิ่งขึ้นในฐานะเครื่องมือของประชาชนในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารในสถานการณ์ฉุกเฉินเช่นนี้ ดังนั้น แม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เสรีภาพทั้งสองก็ยังคงมีคุณค่าระดับรัฐธรรมนูญในระดับสูงยิ่งและต้องได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมซึ่งเป็นหน้าที่ร่วมกันของฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาล ศาล และทุกภาคส่วนของสังคม

แม้ว่ารัฐจะสามารถจำกัดเสรีภาพของประชาชนได้เพื่อรักษาความปลอดภัยสาธารณะหรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน แต่ด้วยเหตุที่เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกเป็นคุณค่าพื้นฐานที่มีความสำคัญในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความปลอดภัยสาธารณะหรือการป้องกันสุขภาพของประชาชน การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจึงต้องยึดมั่นในหลักนิติธรรมและอยู่บนพื้นฐานของการชั่งน้ำหนักระหว่างคุณค่าที่ขัดแย้งกันโดยเข้าใจความสำคัญของคุณค่าดังกล่าวอย่างถูกต้องเพื่อให้คุณค่าเหล่านั้นยังคงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การใช้อำนาจจำกัดสิทธิเสรีภาพจะทำได้ภายใต้กรอบที่กฎหมายบัญญัติอนุญาตไว้เท่านั้น วัตถุประสงค์ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพจะต้องชอบด้วยกฎหมายและสอดคล้องกับเจตนารมณ์ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน และการจำกัดสิทธิและเสรีภาพจะทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นต่อการพิทักษ์สังคมประชาธิปไตยโดยจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังภายใต้หลักความได้สัดส่วน พอสมควรแก่เหตุ และการเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นอกจากนี้ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชติ (United Nations Human Rights Council: UNHRC) ยังได้มีมติที่ 44/20 รับรองเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 เรื่อง การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในบริบทของการชุมนุมโดยสงบ เน้นย้ำว่ารัฐไม่ควรอ้างการระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ เสรีภาพในการสมาคม และเสรีภาพในการแสดงออกโดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นและความได้สัดส่วน การจำกัดเสรีภาพใด ๆ ที่ได้รับการรับรองตามพิธีสารระหว่างประเทศจะต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในพิธีสารนั้น ๆ อย่างเคร่งครัด

ด้วยเหตุนี้ แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รัฐก็ไม่อาจจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการแสดงออกในลักษณะทั่วไปและอย่างสิ้นเชิงจนถึงขนาดที่ประชาชนไม่สามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ หากแต่ต้องกำหนดเงื่อนไขในการชุมนุมที่ชัดเจนเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยที่ประชาชนยังคงใช้เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงออกซึ่งความคิดเห็นได้ การห้ามการชุมนุมจะต้องพิจารณาเป็นรายกรณีบนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเฉพาะกรณีอย่างเพียงพอว่าการชุมนุมสามารถทำได้หรือไม่

จากเหตุผลข้างต้น ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 15 ซึ่งกำหนดในข้อ 3 ห้ามมิให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ ที่ใด ๆ ในสถานที่แออัดหรือกระทำการดังกล่าวอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และฉบับที่ 30 ซึ่งกำหนดในข้อ 4 ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดต่อสัมผัสกันที่สามารถแพร่โรคได้ เว้นแต่เป็นกรณีได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย มีผลเป็นการห้ามการชุมนุมสาธารณะในลักษณะทั่วไปและอย่างสิ้นเชิง โดยไม่ได้พิจารณาบริบทเฉพาะกรณีว่าการชุมนุมจะเป็นอันตรายต่อการแพร่ระบาดของโรคหรือไม่ จึงเป็นกฎเกณฑ์ที่มีความคลุมเครือไม่ชัดเจนและให้ดุลพินิจกับเจ้าหน้าที่ของรัฐมากเกินไปในลักษณะที่ประชาชนไม่สามารถที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธซึ่งเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญได้เลย อีกทั้งการกำหนดให้ต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ยังขัดแย้งกับลักษณะของเสรีภาพที่บุคคลสามารถใช้ได้ตราบเท่าที่ไม่กระทบสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นอีกด้วย ด้วยเหตุข้างต้น ข้อกำหนดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่อาจใช้เป็นฐานในการจำกัดเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชนได้

2. เมื่อประชาชนเห็นว่าการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินของรัฐเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งและประสบความล้มเหลวอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน และประชาชนยังคงได้ผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ประชาชนย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความไม่พอใจต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่ไร้ประสิทธิภาพและล้มเหลวดังกล่าวนั้น และย่อมมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหรือผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นหนทางเดียวภายใต้ระบบกลไกการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ แม้การออกมาชุมนุมดังกล่าวจะมาพร้อมกับความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่การนิ่งเฉยไม่แสดงออกใด ๆ และต้องมองเห็นประชาชนติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ในจำนวนที่เพิ่มขึ้นทุกวันภายใต้การแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ล้มเหลว ย่อมขัดกับมโนธรรมสำนึกของประชาชนที่หวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะดีขึ้น

เมื่อประชาชนมีความชอบธรรมในการใช้เสรีภาพในการชุมนุม แม้ว่าการชุมนุมจะฝ่าฝืนต่อข้อกำหนดตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หากการชุมนุมยังคงเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ การชุมนุมดังกล่าวย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ รัฐย่อมมีหน้าที่ต้องเคารพเสรีภาพในการชุมนุม เสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในชีวิตร่างกาย ตลอดทั้งต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญให้ความคุ้มครองได้ หากแต่ปรากฏว่ารัฐกลับใช้กำลังในการสลายการชุมนุมทุกครั้งที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นโดยมิได้พิจารณาว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธหรือไม่ มีการยิงแก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยาง รวมถึงการใช้กำลัง จนเป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บสาหัสหลายราย โดยที่การใช้อุปกรณ์ดังกล่าวเห็นได้ว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนในการสลายการชุมนุมที่ต้องสอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วน และแม้มีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ใช้กำลังตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอในการเข้าสลายการชุมนุมโดยทันทีหากโดยรวมแล้วการชุมนุมยังเป็นไปโดยสงบ เป็นหน้าที่ของรัฐซึ่งมีกำลังและทรัพยากรอย่างเพียบพร้อมในการกันกลุ่มคนที่ใช้กำลังออกจากการชุมนุมเพื่อให้ประชาชนที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธยังคงใช้เสรีภาพของตนได้

อีกทั้งการใช้มาตรการสลายการชุมนุมนั้นก็มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติอย่างเห็นได้ชัดแจ้ง ทั้งนี้เพราะปรากฏการณ์รวมกลุ่มหรือการชุมนุมของบุคคลบางกลุ่มที่รัฐไม่ได้บังคับใช้ข้อห้ามการชุมนุมนี้แต่อย่างใด อันเป็นการแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า การห้ามการชุมนุมหรือการสลายการชุมนุมในแต่ละกรณีนั้น ไม่ได้เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันโรคระบาดอย่างแท้จริง หากแต่เป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองเพื่อขจัดการแสดงออกของผู้ที่เห็นต่างในทางการเมืองและวิพากษ์การทำงานของรัฐเสียมากกว่า

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ คณาจารย์นิติศาสตร์จึงขอเรียกร้องให้รัฐดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. รัฐต้องยกเลิกข้อกำหนดที่ห้ามการชุมนุมในลักษณะทั่วไปที่ให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่มากเกินสมควร และทำให้การใช้เสรีภาพในการชุมนุมไม่อาจเป็นไปได้โดยสิ้นเชิง หากจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมการชุมนุมจะต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างแท้จริง โดยต้องเปิดโอกาสให้การใช้เสรีภาพดังกล่าวยังสามารถเป็นไปได้ด้วย
2. รัฐต้องอำนวยความสะดวกให้ประชาชนสามารถใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธตามที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ การสลายการชุมนุมเป็นมาตรการสุดท้ายที่จะต้องใช้ในกรณีที่จำเป็นอย่างยิ่งเท่านั้น และการใช้มาตรการห้ามการชุมนุมต้องเป็นไปเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเท่านั้น มิใช่เพื่อเหตุผลทางการเมือง
3. องค์กรตุลาการจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างจริงจัง โดยยึดมั่นในหลักนิติธรรม เพื่อมิให้รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจและเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน

รายนามคณาจารย์นิติศาสตร์
1. อาจารย์ กรณ์ณเศรษฐ์ ชินมหาวงศ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี
2. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรรภิรมย์ โกมลารชุน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กรศุทธิ์ ขอพ่วงกลาง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กริช ภูญียามา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กฤษฎากร ว่องวุฒิกุล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
6. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กฤษรัตน์ ศรีสว่าง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
7. อาจารย์ขรรค์เพชร ชายทวีป มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
8. อาจารย์ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. อาจารย์ คงสัจจา สุวรรณเพ็ชร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10. อาจารย์ คณิน วงศ์ใหญ่ มหาวิทยาลัยบูรพา
11. อาจารย์ ดร.จอมพล พิทักษ์สันตโยธิน มหาวิทยาลัยมหิดล
12. อาจารย์ เฉลิมวุฒิ ศรีพรหม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
13. รองศาสตราจารย์ ชาคริต ขันนาโพธิ์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
14. อาจารย์ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระ
15. อาจารย์ ฐิตินันท์ เต็งอำนวย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
16. อาจารย์ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
17. รองศาสตราจารย์ ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
18. อาจารย์ ณัฏฐพร รอดเจริญ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
19. อาจารย์ ณัฐดนัย นาจันทร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
20. อาจารย์ ณัฐวัฒน์ กฤตยานวัช มหาวิทยาลัยบูรพา
21. อาจารย์ ณัฐวุฒิ คล้ายขำ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
22. อาจารย์ ดร.ดนัยณัฐ จิระวัฒนาสมกุล มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร
23. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
24. รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงเด่น นาคสีหราช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
25. รองศาสตราจารย์ ดร. ต่อพงศ์ กิตติยานุพงศ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
26. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
27. อาจารย์ ธนรัตน์ มังคุด มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
28. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธีทัต ชวิศจินดา สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
29. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีรยุทธ ปักษา มหาวิทยาลัยทักษิณ
30. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธีรวัฒน์ ขวัญใจ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
31. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพดล เดชสมบูรณ์รัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
32. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นพดล นิ่มหนู มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
33. อาจารย์ ดร. นวพร เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
34. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นัทมน คงเจริญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
35. อาจารย์ ดร. นัษฐิกา ศรีพงษ์กุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
36. อาจารย์ นาฏนภัส เหล็กเพ็ชร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
37. อาจารย์ นิฐิณี ทองแท้ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
38. อาจารย์ นิติ จันจิระสกุล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
39. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิสิต อินทมาโน นักวิชาการอิสระ
40. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปกาศิต เจิมรอด มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
41. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ปพนธีร์ ธีระพันธ์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
42. อาจารย์ ดร. ประลอง ศิริภูล มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา
43. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
44. อาจารย์ ปรีญาภรณ์ อุบลสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
45. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปีดิเทพ อยู่ยืนยง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
46. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ผจญ คงเมือง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
47. อาจารย์ ดร. พัชร์ นิยมศิลป จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
48. อาจารย์ พัชราภรณ์ ตฤณวุฒิพงษ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
49. อาจารย์ พิทักษ์ ธรรมะ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
50. อาจารย์ ดร. พิมพ์กมล กองโภค มหาวิทยาลัยบูรพา
51. อาจารย์ ภัทรพงษ์ แสงไกร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
52. รองศาสตราจารย์ ดร. มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
53. อาจารย์ มุกกระจ่าง จรณี มหาวิทยาลัยบูรพา
54. รองศาสตราจารย์ ดร. มุนินทร์ พงศาปาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
55. อาจารย์ เมษปิติ พูลสวัสดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
56. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยอดพล เทพสิทธา มหาวิทยาลัยนเรศวร
57. อาจารย์ ริญญาภัทร์ ณ สงขลา มหาวิทยาลัยทักษิณ
58. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ลลิล ก่อวุฒิกุลรังษี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
59. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ วรพชร จันทร์ขันตี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
60. อาจารย์ วริษา องสุพันธ์กุล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
61. อาจารย์ วิทูรย์ ตลุดกำ มหาวิทยาลัยพะเยา
62. อาจารย์ ศศิภา พฤกษฎาจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
63. อาจารย์ ศิริศักดิ์ จึงถาวรรณ มหาวิทยาลัยบูรพา
64. อาจารย์ ศุภกร ชมศิริ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์
65. อาจารย์ สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
66. รองศาสตราจารย์ สมชาย ปรีชาศิลปกุล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
67. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สาวตรี สุขศรี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
68. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุทธิชัย งามชื่นสุวรรณ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
69. อาจารย์ ดร. สุนิสา เบาเออร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
70. อาจารย์ สุรศักดิ์ บุญญานุกูลกิจ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
71. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุรินรัตน์ แก้วทอง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
72. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุวิทย์ ปัญญาวงศ์ มหาวิทยาลัยพะเยา
73. รองศาสตราจารย์ อรพรรณ พนัสพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
74. อาจารย์ ศักดา ศรีทิพย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
75. อาจารย์ ดร. อำนาจ ตั้งคีรีพิมาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
76. รองศาสตราจารย์ ดร. เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
77. รองศาสตราจารย์ ดร. เดือนเด่น นาคสีหราช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
78. อาจารย์ ดร. ดิณณ์ ชัยสายัณห์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net