Skip to main content
sharethis

รัฐบาลท้องถิ่นรัฐควิเบกของแคนาดาออกกฎหมายยกเลิกการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อกษัตริย์อังกฤษก่อนเข้ารับตำแหน่งทางการเมือง เพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งในสภาท้องถิ่น หลังสมาชิกสภาผู้แทนท้องถิ่น 3 คนถูกสั่งห้ามปฏิบัติหน้าที่เพราะไม่ยอมถวายสัตย์ฯ ต่อกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 แต่ยืนยันจะถวายสัตย์ฯ ต่อประชาชนเท่านั้น 

11 ธ.ค. 2565 รัฐควิเบกของแคนาดาออกกฎหมายยกเลิกข้อบังคับการถวายสัตย์ปฏิญาณต่อประมุขแห่งรัฐก่อนเข้ารับตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนท้องถิ่น (ส.ท.) โดยเปลี่ยนกฎเกณฑ์จากการ ‘บังคับถวายสัตย์ฯ’ ต่อกษัตริย์ เป็นการ ‘ถวายสัตย์ฯ โดยสมัครใจ’ เพื่อยุติความขัดแย้งภายในสภาผู้แทนระดับมลรัฐ หลังมี ส.ท. 3 คนถูกสั่งห้ามเข้าสภาเพราะไม่ถวายสัตย์ฯ ต่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ก่อนเข้ารับตำแหน่ง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา หลังการเลือกตั้งท้องถิ่นของรัฐควิเบก ส.ท. ที่ชนะเลือกตั้งจำนวน 14 คนปฏิเสธการถวายสัตย์ฯ ต่อกษัตริย์อังกฤษซึ่งเป็นประมุขแห่งรัฐของแคนาดา แต่แสดงเจตจำนงว่าต้องการถวายสัตย์ฯ ต่อประชาชนเท่านั้น ทว่า ประธานสภาแห่งรัฐควิเบกแจ้งว่าหาก ส.ท. ไม่ยอมถวายสัตย์ฯ ตามข้อบังคับที่บัญญัติไว้เป็นกฎหมายระดับมลรัฐ ส.ท. จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ทำให้ ส.ท. จำนวน 11 คนยอมถวายสัตย์ฯ ต่อกษัตริย์อังกฤษ ยกเว้น ส.ท. 3 คนจากพรรค Parti Québécois (PQ) ซึ่งเป็นพรรคกลาง-ซ้าย ที่ยืนยันว่าพวกเขาจะถวายสัตย์ฯ ต่อประชาชนเท่านั้น ภายหลังการตัดสินใจดังกล่าว ส.ท. ทั้ง 3 คนจากพรรค PQ ถูกห้ามไม่ให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในสภา เป็นเหตุให้เกิดการถกเถียงและนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายในที่สุด โดยฟรองซัวส์ เลอโกต์ ผู้ว่าการรัฐควิเบกจากพรรค Coalition Avenir Québec (CAQ) ซึ่งเป็นพรรคกลาง-ขวา ได้ลงนามรับรองร่างกฎหมาย ทำให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมา

ก่อนหน้านี้ กฎหมายของรัฐควิเบกระบุว่า ส.ท. ที่ชนะการเลือกตั้งจะต้องถวายสัตย์ฯ ต่อกษัตริย์อังกฤษและประชาชนก่อนจึงจะสามารถดำรงตำแหน่งและปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการได้ โดยการถวายสัตย์ฯ ต่อกษัตริย์อังกฤษในฐานะประมุขแห่งรัฐนั้นถูกบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรแคนาดา ค.ศ.1867 ให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนทั้งในระดับมลรัฐและระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม การผ่านกฎหมายดังกล่าวของรัฐควิเบกทำให้เกิดข้อถกเถียงใหม่ตามมาว่าสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสภาระดับประเทศต้องแก้ไข พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ค.ศ.1867 เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายของรัฐควิเบกหรือไม่

ทั้งนี้ จากผลสำรวจของ Ipsos เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมาหลังการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พบว่าประชาชนในรัฐควิเบกโหวตเห็นด้วยกับการยกเลิกสถาบันกษัตริย์มากที่สุดเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ของแคนาดา ในขณะที่ผลโหวตรวมของทั้งประเทศระบุว่าชาวแคนาดา 54% ต้องการยกเลิกระบอบกษัตริย์

การผลักดันกฎหมายมลรัฐสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ

สำนักข่าว BBC ของอังกฤษสอบถามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับกรณีที่รัฐควิเบกออกกฎหมายยกเลิกการบังคับถวายสัตย์ฯ ต่อกษัตริย์ โดยผู้เชี่ยวชาญบางส่วนมองว่าการจะขยับกฎหมายนี้ไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาท้องถิ่นของรัฐอื่นๆ รวมถึงความยินยอมจากสภาผู้แทนราษฏรและวุฒิสภาซึ่งเป็นสภาใหญ่ระดับประเทศ และต้องมีการทำประชามติซึ่งต้องได้คะแนนเห็นชอบจากประชาชนเกินครึ่ง ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญอีกกลุ่มซึ่งเปิดเผยต่อสำนักข่าว CBC ของแคนาดามองว่าการออกกฎหมายนี้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปถึงขั้นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้และอาจถึงขั้นผิดรัฐธรรมนูญ ดังเช่นกรณีกฎหมาย ‘Bill 96’ ซึ่งเป็นกฎหมายระดับมลรัฐของควิเบกที่ประกาศให้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาประจำรัฐเพียงภาษาเดียว รัฐต้องคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ รวมถึงผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของประเทศ โดยให้เหตุผลว่า ‘ชาวรัฐควิเบกคือผู้ก่อตั้งประเทศแคนาดา’ หลังรัฐควิเบกออกกฎหมาย Bill 96 เมื่อเดือน พ.ค. 2565 ได้มีความพยายามผลักดันให้ ส.ส. และ ส.ว. แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้กฎหมายของรัฐควิเบกมีผลผูกพันกับรัฐอื่น หากสภาระดับประเทศเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำให้ทุกรัฐในแคนาดาต้องใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการอีกหนึ่งภาษา อย่างไรก็ตาม มีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลสูงสุดของประเทศให้วินิจฉัยว่าความพยายามของรัฐควิเบกที่จะแก้ไขภาษาราชการของประเทศขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต่อมาในเดือน ส.ค. 2565 ศาลสูงสุดของแคนาดามีคำวินิจฉัยว่าความพยายามดังกล่าวของรัฐควิเบกผิดรัฐธรรมนูญและสั่งให้ระงับการแก้ไขกฎหมายในสภาระดับประเทศ ทำให้กฎหมาย Bill 96 มีผลบังคับใช้เฉพาะในรัฐควิเบกเท่านั้น

BBC และ CBC ระบุตรงกันว่าหากรัฐควิเบกเดินหน้าผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายถวายสัตย์ฯ ในรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับกฎหมายระดับมลรัฐดังเช่นความพยายามที่เกิดขึ้นในกรณีกฎหมาย Bill 96 นายกรัฐมนตรีแคนาดาหรือประชาชนทั่วไปสามารถยื่นคำร้องต่อศาลสูงสุดให้พิจารณาว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

สำนักข่าวเดอะวอชิงตันโพสต์ของสหรัฐอเมริการายงานเพิ่มเติมว่าโฆษกประจำนายกรัฐมนตรีของแคนาดาไม่ได้ตอบคำถามที่ว่าจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดาจะยื่นเรื่องต่อศาลสูงสุดให้พิจารณากฎหมายยกเลิกการถวายสัตย์ฯ ของรัฐควิเบกหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานคำสัมภาษณ์ของทรูโดที่ให้ไว้เมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าการถวายสัตย์ฯ เป็นเรื่องที่สภามีสิทธิตัดสินใจ

“ต้องเข้าใจว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นเรื่องของสภาผู้แทนท้องถิ่นและสภาผู้แทนราษฎร สภาท้องถิ่นมีสิทธิตัดสินใจว่าจะจัดการการถวายสัตย์ฯ อย่างไร” ทรูโดกล่าว พร้อมระบุว่าเขายังไม่มีแผนที่จะยกเลิกกฎหมายการถวายสัตย์ฯ ของ ส.ส. ในระดับประเทศ

ข้อเรียกร้องยกเลิกถวายสัตย์ฯ ของประชาชน

เดอะวอชิงตันโพสต์รายงานเพิ่มเติมว่าเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว ประชาชนผู้ได้รับสัญชาติหรือวีซ่าผู้อยู่อาศัยถาวรของแคนาดาท้าทายข้อบังคับการถวายสัตย์ฯ เพื่อปฏิญาณตนเป็นพลเมือง/ผู้อยู่อาศัยถาวรตามกฎหมาย พวกเขาเรียกร้องให้รัฐบาลแคนาดายกเลิกข้อบังคับดังกล่าว เพราะการถวายสัตย์ฯ ว่าจะ “ศรัทธาและจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ประมุขแห่งแคนาดา รวมถึงผู้สืบทอด” นั้นละเมิดสิทธิแห่งความเท่าเทียม เสรีภาพทางศาสนา เสรีภาพในจิตสำนึกและการแสดงออก โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่าการแสดงความจงรักภักดีต่อกษัตริย์ต่างชาติเป็นสิ่งที่ล้าสมัย ไม่เป็นประชาธิปไตย และส่งเสริมอภิสิทธิ์ชน

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ.2557 ศาลอุทธรณ์รัฐออนทาริโอมีคำสั่งไม่รับคำร้องของกลุ่มดังกล่าว โดยระบุว่าคำร้องของกลุ่มพลเมืองใหม่ตีความความหมายของคำว่า ‘กษัตริย์อังกฤษ’ อย่างตรงไปตรงมามากเกินไปจนผิดความหมาย การตีความในลักษณะดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ว่า ‘กษัตริย์อังกฤษ’ หมายถึงตัวบุคคล แต่การกล่าวถึง ‘กษัตริย์อังกฤษ’ ในคำถวายสัตย์ฯ เพื่อรับสถานะพลเมืองนั้นเป็นการกล่าวถึงในเชิงสถาบัน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในการจัดตั้งรัฐบาล รวมถึงหลักการแห่งประชาธิปไตยของแคนาดาตามรัฐธรรมนูญของประเทศซึ่งไม่ใช่กฎหมายแบบลายลักษณ์อักษร

 

แปลและเรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net