Skip to main content
sharethis

คนไทยในแวนคูเวอร์รณรงค์ยกเลิก ม.112 หน้าสถานกงสุลไทยที่ถูกใช้เป็นหน่วยเลือกตั้ง "เมนู-พลอย" ปราศรัยปัญหากฎหมายที่ถูกเอามาใช้กดขี่เสรีภาพการแสดงออกมีเยาวชนต้องติดคุกมีคนต้องลี้ภัย ย้ำเสียงเพียงหนึ่งเสียงก็มีความสำคัญ

30 เม.ย.2566 เวลา 3.20 น.(ตามเวลาประเทศไทย) เพจ “พลอยมีมี่-คู่หูข้าวจี่” ไลฟ์ถ่ายทอดสดกิจกรรมรณรงค์ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ที่หน้าสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา ซึ่งถูกใช้เป็นหน่วยเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร โดยกิจกรรมมีการทำป้ายโพลล์สำรวจให้คนที่มาใช้สิทธิเลือกตั้งได้แสดงความเห็นว่าต้องการยกเลิกมาตรา 112 หรือไม่ โดยมี เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ พลอย 1 ในผู้ลี้ภัยจากการถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เป็นผู้รายงานกิจกรรม

เบญจมาภรณ์กล่าวถึงสถานการณ์การใช้มาตรา 112 ในประเทศไทยว่าขณะนี้มีเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยคือ หยก อายุ 15 ปี และถูกคุมขังอยู่ในสถานพินิจมาเป็นเวลา 1 เดือนแล้ว และตัวเธอเองก็ต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยที่อายุน้อยที่สุดหลังจากถูกดำเนินคดีด้วยมาตรานี้ตั้งแต่อายุ 17 ปี และยังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามคุกคามครอบครัวจนทำให้เธอรู้สึกว่าอยู่ในประเทศไทยไม่ได้แล้วทั้งที่แค่ออกมาพูดปัญหาของสถาบันกษัตริย์

เมลิญญ์ ชัยลอม(ซ้าย) และเบญจมาภรณ์ นิวาส(ขวา)

เมลิญญ์ (ชื่อเดิม สุพิชฌาย์) ชัยลอม หรือเมนูกล่าวถึงว่าช่วงประมาณนี้ของปีที่แล้วคือวันที่พวกเธอสองคนถูกจับกุมจากการถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ถึงสองหมายจับในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน และยังเคยถูกตำรวจชี้หน้าด่าเพียงเพราะเธอแค่แสดงออกว่าไม่ต้องการให้มีสถาบันกษัตริย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้เธอต้องลี้ภัยออกมาทั้งที่อายุยังไม่ครบ 20 ปีและต้องออกมาฉลองวันเกิดตัวเองตอนที่ลี้ภัยออกมาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องแย่ที่สุดเท่าที่เธอเคยเจอมา

เมลิญญ์กล่าวว่าสิ่งที่พวกเธอออกมาพูดและออกมาเรียกร้องเป็นเวลา 3 ปีแล้วแต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า อยากให้คนที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ตระหนักถึงปัญหาการกดขี่สิทธิเสรีภาพการแสดงออกที่มีอยู่ในไทย ทั้งที่มีคนที่ต้องติดคุกอยู่ในเวลานี้แล้วก็ไม่รู้ว่าพวกเขาจะได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งหรือไม่ การเรียกร้องของพวกเธอเพียงแค่ต้องการให้คนไทยสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องถูกกดขี่และอยู่ในประเทศไทยได้โดยรู้สึกว่าชีวิตตัวเองปลอดภัยได้ใช้ชีวิตอย่างปกติเหมือนคนทั่วไป เรื่องที่ขอเหล่านี้เป็นเพียงสิทธิพื้นฐานขอแค่พูดอะไรก็ได้โดยที่ไม่ถูกคุกคาม ได้มีรัฐบาลที่กล้าพูดว่าคนเห็นต่างไม่ผิด

“เสียงเล็กๆ ของทุกคนมันสำคัญ เราอยากย้ำเสมอว่าหนึ่งเสียงมันเปลี่ยนได้จริงๆ เพราะเคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อสามปีที่แล้ว” เมลิญญ์กล่าว

หน้าสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครแวนคูเวอร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net