Skip to main content
sharethis

ในแคนาดามีกระแสการต่อต้านสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศและการเฉลิมฉลองช่วงเทศกาลไพรด์จากกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา นอกจากนี้ยังมีการโหมกระพือความเกลียดชังจากสื่อฝ่ายขวาทำให้สื่อที่มีความก้าวหน้ากว่านำเสนอเกี่ยวกับปัญหานี้ และมองว่าควรจะมีการประท้วงในความเกลียดชังเหล่านี้ด้วย ซึ่งมีนักเรียนกลุ่มหนึ่งประท้วงด้วยการไม่ใส่เครื่องแบบ-แสดงสัญลักษณ์ไพรด์ เพื่อเป็นการโต้ตอบกระแสการปิดกั้นการศึกษาเรื่อง LGBTQ+

แอนนา เมอร์ฟี ต้องเผชิญกับคำขู่เอาชีวิตจำนวนมาก เธอรายงานเรื่องนี้ให้ตำรวจในเมืองคาลการี ประเทศแคนาดา บ่อยครั้งเสียจนทำให้เธอกลายเป็นเพื่อนกับตำรวจคนนั้น

ในฐานะที่เมอร์ฟีเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่เปิดเผยตัวต่อสาธารณชน เธอก็ตกเป็นเป้าหมายของกระแสความเกลียดชังที่ถาโถมเข้าใส่ ซึ่งมีสมาชิกชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศและผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่ามันมีการปลุกกระแสความเกลียดชังหนักหน่วงขึ้นในแคนาดา จนทำให้พวกเขามองว่ามันควรจะมีการประท้วงต่อต้านความเกลียดชังที่เกิดขึ้นด้วย

เมอร์ฟี บอกว่าในขณะที่ตัวเธอเองและสมาชิกชุมชน LGBTQ2S+ (ในแคนาดามักจะเขียนตัวอักษรย่อเรื่องความหลากหลายทางเพศโดยมี 2S ลงไปด้วยเพื่อแสดงการยอมรับอัตลักษณ์ "Two Spirit" ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ทางเพศของชนพื้นเมืองดั้งเดิมในแคนาดา) จะเคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับตำรวจมาก่อน ตัวเธอเองก็โชคดีที่มีตำรวจที่ไว้ใจได้ในการสืบสวนอาชญากรรมจากความเกลียดชังที่เรียกว่า "เฮทไครม"

แต่ถึงแม้ว่าเมอร์ฟีจะได้รับการสนับสนุนในการต่อต้านความเกลียดชังแต่เธอก็บอกว่าการเผชิญกับวาจาทำลายความรู้สึกอย่างต่อเนื่องไม่หยุดหย่อนนั้นช่างเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยหน่าย เธอสังเกตเห็นว่ามีกระแสต่อต้านคนข้ามเพศเกิดมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ตามหลังการที่สถาบันทางการเมืองให้การยอมรับ LGBTQ2S+

ในปี 2560 มีการเพิ่มเติมคำว่า "อัตลักษณ์ทางเพศหรือการแสดงออกทางเพศ" ลงไปในกฎหมายสิทธิมนุษยชนแคนาดา แต่นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาคนที่ไม่ได้เป็นคนรักเพศตรงข้ามหรือชายหญิงตามเพศกำเนิดต่างก็ต้องเผชิญกับกระแสความเกลียดชัง

มีการเปรียบเทียบว่าในแคนาดาปี 2559 มีกรณีเฮทไครมต่อคนข้ามเพศและบุคคลที่ไม่มีเพศสภาพ (Agender) ที่มีการรายงานต่อตำรวจ 7 คดี แต่ในปี 2564 มีกรณีเฮทไครมเกิดขึ้นกับพวกเขา 33 คดี ขณะที่คดีต่อกลุ่มคนที่มีถูกโจมตีแบบเฮทไครมบนฐานของเพศวิถี (เช่น เลสเบียน ไบ ฯลฯ) เพิ่มขึ้นจาก 176 ในปี 2559 เป็น 423 คดีในปี 2564 อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญบอกว่าตัวเลขจริงๆ อาจจะมากกว่านั้น คือเป็นคดีที่ไม่ได้รับรายงานหรือถูกระบุไว้ในรายงาน

สาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนา และการปลุกปั่นของพวกสื่อฝ่ายขวาที่ล้าหลัง

กลุ่มเคร่งศาสนาประท้วงด้วยการให้เด็กกระทืบธงไพรด์

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2566 สื่อฝ่ายขวาแห่งหนึ่งในแคนาดาคือ เวสเทิร์นสแตนดาร์ด นำเสนอข่าวเรื่องที่มีเด็กชาวมุสลิมในเมืองหลวงออตตาวาทำการเหยียบย่ำและกระทืบธงสีรุ้งสัญลักษณ์ของไพรด์
โดยมีกลุ่มพ่อแม่ที่สื่อแห่งนี้เรียกว่าเป็น "กลุ่มพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความเป็นห่วง" แสดงความไม่พอใจต่อคณะกรรมการโรงเรียนที่อนุญาตให้มีการแสดงออกและแสดงสัญลักษณ์เกี่ยวกับไพรด์ และไม่พอใจที่จะบรรจุเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับเพศสภาพและเพศวิถีลงไปในหลักสูตรการศึกษาโรงเรียนรัฐ

พ่อแม่เหล่านี้ประท้วงด้วยการสนับสนุนให้เด็กแสดงออกด้วยความรุนแรงโดยอย่างการเหยียบย่ำและกระทืบสัญลักษณ์ของไพรด์ มีหญิงชาวมุสลิมคนหนึ่งให้สัมภาษณ์ต่อสื่อว่าคณะกรรมการโรงเรียน "ไม่ควรจะมายุ่งกับเด็ก"

สิ่งที่ "พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความเป็นห่วง" เหล่านี้กังวลนั้น เป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการที่โรงเรียนจะเริ่มเรียกนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลด้วยภาษาที่เป็นกลางทางเพศ เช่น สรรพนามที่ใช้ได้กับทุกเพศแทนการแบ่งแยกเพศแบบเดิม ซึ่งทางคณะกรรมการบอร์ดโรงเรียนออตตาวาได้ส่งอีเมลให้กับคณะทำงานของพวกเขาเกี่ยวกับนโยบายใหม่นี้เมื่อวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา และจะมีการนำมาใช้ตั้งแต่เดือน ก.ย. ที่จะถึงนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ในนโยบายยังระบุให้ต้องมีการเรียนรู้เรื่องอัตลักษณ์ของ LGBTQ+ ด้วย โดย "ไม่มีการแบ่งแยก"

การสอนเพศศึกษาแก่เด็ก ทำให้เด็กปลอดภัยมากขึ้น

ในแง่นี้ผู้อ่านบางส่วนอาจจะมีความกังวลที่เข้าใจได้ว่า การเรียนรู้เรื่องเพศตั้งแต่วัยเด็กมันเหมาะสมสำหรับเด็กหรือไม่ มันเร็วเกินไปสำหรับเด็กหรือไม่ แต่ก็มีบทวิเคราะห์ที่ระบุว่าการเรียนรู้เรื่องเพศตั้งแต่เด็กเป็นเรื่องสำคัญในการที่จะทำให้เด็กเข้าใจเรื่อง Consent หรือการยินยอมพร้อมใจ ซึ่งจะทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารเรื่องนี้ได้ดีในอนาคต การสอนเรื่องเพศอย่างครอบคลุมจะช่วยลดกรณีการล่วงละเมิดในเด็กได้ด้วย เพราะเด็กจะเข้าใจเรื่องขอบเขตทางร่างกายของตัวเอง ว่าการแตะเนื้อต้องตัวแบบไหนเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ

นอกจากนี้การสอนเรื่องเพศกับเด็กยังมีประโยชน์ด้านอื่นๆ เช่น การเข้าใจเรื่องสุขภาวะความสะอาดทางเพศ การคุมกำเนิด และสิทธิความเป็นธรรมในเรื่องอนามัยเจริญพันธุ์อย่างการเข้าถึงผ่าอนามัย ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสอนควบคู่ไปกับเรื่องความเสมอภาคทางเพศ และอัตลักษณ์ความหลากหลายทางเพศในแบบที่ไม่ตัดสินตีตราด้วย

มีตัวอย่างในเรื่องนี้จากเว็บไซต์เรื่องการเลี้ยงดูเด็กของออสเตรเลีย raisingchildren.net.au เสนอว่า การสอนเรื่องการยินยิมพร้อมใจ (consent) นั้นสามารถเริ่มพูดถึงจากเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับเพศก่อนก็ได้ พอเด็กเริ่มโตขึ้นอีกหน่อยค่อยพูดโยงเรื่องนี้ไปถึงเรื่องเพศ เช่นบอกว่า "ร่างกายของหนูมันก็เป็นของหนู ตัวหนูเองเป็นคนตัดสินว่าจะให้ใครกอดได้ ให้ใครจูบได้ ให้ใครจะจั๊กกะจี้หนูได้ เวลาที่หนูรู้สึกไม่สบายหรือรู้สึกกลัว หนูสามารถบอกปฏิเสธไปว่า ไม่"

พ่อแม่บางส่วนอาจจะกังวลว่าการให้ความรู้เรื่องเพศจะทำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์มากขึ้น ซึ่งไม่เป็นความจริง ในทางตรงกันข้ามมีงานวิจัยที่ระบุว่าการไม่ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาต่อเด็กเลย ไม่ได้ทำให้การมีเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นลดลงแต่อย่างใด แย่ไปกว่านั้นมันทำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัยด้วย

แต่ก็ดูเหมือนว่า กลุ่มเคร่งศาสนาจะจับมือกับพวกฝ่ายขวาอนุรักษ์นิยมจัดในโลกตะวันตกพากล่าวหาว่าหนังสือสอนเพศศึกษาที่พูดถึงปฏิกิริยาจากระบบร่างกายมนุษย์เวลามีเพศสัมพันธ์เป็น "สื่อลามก"

ในสหรัฐฯ มีกลุ่มฝ่ายขวาพยายามโจมตีหนังสือเพศศึกษาของ โรบี เฮช แฮร์ริส ที่ตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2537 ชื่อว่า "It's Perfectly Normal" (มันเป็นเรื่องธรรมดามาก) ซึ่งมีการบรรยายถึงปฏิกิริยาของอวัยวะเพศในเชิงการแพทย์ไว้ว่า "หลังจากนั้นไม่นาน จิ๋มของคนเราก็จะเริ่มเปียกแฉะและลื่น ส่วนคลิตอริสจะแข็งตัว" กับอีกส่วนหนึ่งที่บรรยายว่า "หลังจากนั้นไม่นาน จู๋ของคนเราก็จะชูตัว แข็งขึ้น และขยายใหญ่ขึ้น"

ทั้งๆ ที่การบรรยายเป็นลักษณะแบบในเชิงความรู้ทางการแพทย์ที่ทุกคนควรรู้ และไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้เรียนหนังสือเล่มนี้ แต่นักบวชรายหนึ่งในสหรัฐฯ คือ จอห์น เค อามานชูควู ซีเนียร์กลับนำเรื่องนี้ไปสร้างดราม่ากระตุ้นให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดเรียกร้องให้แบนหนังสือเพศศึกษา ซึ่งในสหรัฐฯ กำลังมีกระแสการแบนหนังสือจำนวนมากที่เกี่ยวกับเพศศึกษา รวมถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศด้วย

สื่อขวาเสี้ยมให้ศาสนาแตกคอกับ LGBTQ2S+

ในสหรัฐฯ และแคนาดา ดูเหมือนว่าพวกสื่อฝ่ายขวากับพวกหัวรุนแรงทางศาสนาต่างก็พยายามอ้างใช้เด็กมาเป็นโล่เพื่อโจมตีความก้าวหน้าเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศ โดยมีการใช้วาทกรรมและโวหารต่างๆ เช่น "อุดมการณ์เรื่องเพศวิถีและเพศสภาพแบบสุดโต่ง" (radical sexual and gender ideology) และ "พวกอุดมการณ์ตาสว่าง" (woke ideologies)

ในรายงานข่าวเรื่องเด็กมุสลิมกระทืบธงไพรด์ของสื่อฝ่ายขวา "เวสต์เทิร์นสแตนดาร์ด" ก็มีการใช้วาทกรรมเหล่านี้ในการทำให้ความก้าวหน้าเรื่องเพศดูเป็น "อุดมการณ์" ที่ดูแปลกแยก ห่างเหิน จากชีวิตประจำวัน ต่างจากวิชาเลข หรือวิชาการอ่านการเขียน ทั้งๆ เรื่องเพศสภาพและเพศวิถีต่างก็เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คนไม่ว่าจะอยู่ในช่วงวัยใดก็ตาม

สื่อฝ่ายขวาอีกแห่งหนึ่งคือ "เนชันแนลโพสต์" นำเสนอพาดหัวข่าวในทำนองปลุกปั่นให้ชาวมุสลิมเกลียดชังความหลากหลายทางเพศโดยระบุว่า "ครูจิตหลุดบอกให้มุสลิมสนับสนุนไพรด์ไม่เช่นนั้น 'คุณก็ไม่ถือเป็นชาวแคนาดา' " โปรยก่อนเนื้อหาข่าวระบุว่า "กลุ่มหัวก้าวหน้ากลุ่มเดียวกับที่เคยปกป้องสิทธิในการที่ผู้หญิงชาวมุสลิมจะสวมฮิญาบในตอนนี้อ้างว่าการเฉลิมฉลองไพรด์เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับพลเมือง(ชาวแคนาดา)"

รายงานของเนชันแนลโพสต์ฉบับดังกล่าวเขียนโดยคอลัมนิสต์การเมือง ราฮิม โมฮัมเหม็ด ซึ่งอาศัยคลิปวิดีโอที่ครูในโรงเรียนคนหนึ่งอบรมนักเรียนที่โดดเรียนเพื่อหลีกเลี่ยงกิจกรรมเดือนไพรด์ ซึ่งครูไม่ได้บอกว่า "คุณไม่ถือเป็นชาวแคนาดา" แบบที่ระบุในพาดหัวข่าวแต่อย่างใด

ในความเป็นจริงแล้วส่วนที่ครูบอกว่า "คุณไม่เหมาะสมกับแคนาดา" เป็นการยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับประเทศอื่นคืออูกันดา ว่าเป็นประเทศที่ยังล้าหลังในเรื่อง LGBTQ+ มากถึงขั้นมีกฎหมายสั่งประหารชีวิตคนรักเพศเดียวกัน โดยที่อูกันดาเป็นประเทศที่มีชาวคริสต์อยู่ 8 ใน 10 ของประชากรทั้งหมด

"ในอูกันดา ถ้าพวกเขามองว่าคุณเป็นเกย์ พวกเขาจะประหารชีวิตพวกคุณ" ครูในคลิปวิดีโอกล่าว

"ถ้าคุณเชื่อในเรื่องแบบนี้ (เรื่องที่ว่าเกย์ควรถูกประหารชีวิต) คุณก็ไม่เหมาะสมกับแคนาดา" ครูในคลิปวิดีโอกล่าว

นอกจากนี้ครูรายนี้ยังสอนในเรื่องที่ว่าคนเราควรเคารพความแตกต่างของกันและกันด้วยการบอกว่า "ในขณะที่พวกเขา (เพื่อนร่วมชั้นชาว LGBTQ+ ของพวกคุณ) เข้าร่วมด้วยในพิธีรอมฎอน (พิธีของชาวมุสลิม) ...แล้วพวกเขาก็เคารพในชั้นเรียนศาสนาอิสลามของพวกคุณ"

"เรื่องแบบนี้มันต้องมาจากทั้งสองฝ่าย ถ้าพวกคุณอยากได้รับความเคารพในสิ่งที่พวกคุณเป็น(ชาวมุสลิม)... พวกคุณก็ควรจะให้ความเคารพตอบกลับผู้คนที่มีความแตกต่างจากพวกคุณด้วย" ครูกล่าว

แต่การพูดเรื่องหลักการเคารพความแตกต่างของกันและกันอย่างเสมอภาค บวกกับการยืนยันค่านิยมความก้าวหน้าทางสังคมของประเทศตัวเอง กลับถูกบิดเบือนผ่านพาดหัวข่าวเพื่อหลอกล่อกลุ่มขวาจัดกับกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาให้หันมาเกลียดชัง LGBTQ+

นักเรียนประท้วงกรรมการ รร.คาทอลิก ด้วยการไม่ใส่ชุดเครื่องแบบ-โบกธงสีรุ้ง

ในอีกเหตุการณ์หนึ่งในแคนาดา เกิดขึ้นที่โรงเรียนคาทอลิกที่ชื่อยอร์ก คณะกรรมการบอร์ดของโรงเรียนลงมติไม่ให้มีการแสดงธงสีรุ้งในช่วงเดือนไพรด์ แต่ก็มีกับนักเรียนในโรงเรียนและกรรมการบอร์ดบางส่วนที่โหวตสนับสนุนการแสดงธงไพรด์ แสดงความไม่พอใจต่อเรื่องนี้

แครอล คอตตอน หนึ่งในกรรมการโรงเรียนที่โหวตสนับสนุนธงไพรด์บอกว่า "พวกเราได้รับฟังเด็กๆ ที่พูดทั้งน้ำตาว่าพวกเขารู้สึกไม่ได้รับความรัก การยอมรับ และความปลอดภัย" และตัวเธอก็เรียกร้องให้เพื่อนร่วมงานของเธอสนับสนุนเด็กๆ ในเรื่องนี้

แอนเธีย เพตา-ดราออส กรรมการนักเรียนบอกว่าเธอและเพื่อนนักเรียนของเธอรู้สึก "ไม่พอใจอย่างมาก" และเธอก็เห็นเด็กนักเรียนที่รับทราบเรื่องนี้ร้องไห้ จนทำให้เธอพลอยร้องไห้ไปด้วย

ทำให้กลุ่มนักเรียน YCDSB Students for Change จัดการประท้วงขอให้นักเรียนทุกคนวอล์กเอาท์เดินออกจากห้องเรียนในวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา แล้วก็ให้แต่งกายด้วยสีรุ้งแทนการสวมใส่เครื่องแบบของโรงเรียน

มีโปสเตอร์ของกลุ่มแผ่นหนึ่งเขียนระบุว่า "คณะกรรมการโรงเรียนของพวกเราทำให้พวกเราผิดหวัง ... ในตอนนี้พวกเราถึงต้องออกปฏิบัติการ" ซึ่งมีการเผยแพร่โปสเตอร์นี้ทางโซเชียลมีเดียด้วย

ไมค์ ทอตเทน ประธานสมาคมครูโรงเรียนยอร์กคาทอลิกกล่าววิจารณ์การโหวตไม่ฉลองไพรด์ของคณะกรรมการโรงเรียนว่า "ในฐานะที่ผมเป็นชาวนิกายคาทอลิกมายาวนานและเปี่ยมด้วยศรัทธา มันเป็นเรื่องน่าอายที่คณะกรรมการส่วนใหญ่ของโรงเรียนลงมติโดยเอาสัญลักษณ์แห่งศรัทธาของพวกเรามาเป็นโล่กำบังความพยายามที่จะให้ความชอบธรรมต่อความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน, ความเกลียดกลัวคนข้ามเพศ และความใจแคบ ... นี่เป็นการกระทำที่ขี้ขลาดตาขาวอย่างถึงที่สุด และเป็นการขัดกับค่านิยมชาวคาทอลิกที่สมาชิกของพวกเราสอนแก่เด็กนักเรียน"

เปาโล เดอ บัวโน ครูในออนแทริโอที่สนับสนุนให้โรงเรียนยอร์กติดธงไพรด์ในปีนี้แสดงความเป็นห่วงว่าการที่กรรมการโรงเรียนไม่ทำตามมันจะส่งผลทางลบต่อนักเรียน ทำให้พวกเขารู้สึกไม่เป็นที่ยอมรับโดยเฉพาะนักเรียน LGBTQ2S+

อีกทั้งเดอ บัวโน ยังเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ นอกจากการแสดงธงไพรด์ด้วย เช่นการฝึกอบรมเรื่อง LGBTQ2S+ ให้กับครู และให้มีการใช้ภาษาที่คำนึงถึงอย่างครอบคลุมทุกคนทุกเพศในเอกสารของโรงเรียนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญต่อความเป็นอยู่ที่ดีของนักเรียน และความสำเร็จทางการศึกษาของนักเรียน

"พวกเราต้องเลิกทำเหมือนเรื่องนี้ (อัตลักษณ์ LGBTQ2S+) เป็นเรื่องต้องห้ามได้แล้ว ... พวกเรากำลังพูดถึงอัตลักษณ์ของนักเรียน ว่าพวกเขาเป็นใคร และส่วนมากแล้วพวกเขาก็รู้ตัวในช่วงที่ยังเป็นนักเรียนอยู่นี่แหละ ดังนั้นแล้วพวกเราถึงต้องทำให้โรงเรียนมีการโอบรับตัวตนที่หลากหลายมากขึ้นและปลอดภัยมากขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะเป็นตัวของตัวเองได้" เดอ บัวโน กล่าว

มีโพสต์ในทวิตเตอร์ของ @Its_JonahJ ที่แสดงให้เห็นเด็กนักเรียนผู้ประท้วงถือธงไพรด์ก้าวหน้า พร้อมข้อความทวีตระบุว่า "ไพรด์เป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและการยอมรับอัตลักษณ์ตัวตนของพวกเรา ในขณะที่โลกเริ่มมีการยอมรับทุกคนในแบบที่ตัวเองเป็น ก็มีบางส่วนก็ยังคงปิดกั้นในเรื่องนี้ พวกเรายังจะต้องต่อสู้ต่อไปโดยไม่ยอมแพ้"


เรียบเรียงจาก
Rising hate casts pall over Pride, spotlights need for protest along with celebration, CTV News, 16-06-2023
Preventing Sexual Violence Through Comprehensive Sex Education, Planned Parenthood, 25-08-2022
Kids should learn about sex. Why is such a basic fact now contentious?, Xtra Magazine, 02-06-2023
York Catholic school board votes against flying Pride flag: students plan walkout in protest, Xtra Magazine, 07-06-2023
Consent and sexual consent: talking with children and teenagers, Raising Children
WATCH: Muslim children in Ottawa stomp of Pride flags, Western Standard, 09-06-2023
Rahim Mohamed: Unhinged teacher tells Muslim to support Pride or 'you can't be Canadian', National Post, 07-06-2023

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net