Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราไม่น่าจะต้องถกเถียงกันอีกต่อไปว่าการดำรงอยู่ของกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นทำให้การแสดงออกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยเป็นไปอย่างจำกัด ความเห็นดังกล่าวน่าจะไม่ได้จะมาจากแค่ฝั่งที่สนับสนุนให้แก้ไขหรือยกเลิก 112 แต่อีกฝ่ายที่สนับสนุนการมีอยู่ของกฎหมายนี้ก็น่าจะมีความเห็นตรงกัน เพียงแต่ฝ่ายที่สนับสนุน 112 มองว่าเสรีภาพการแสดงออกต่อกษัตริย์รวมถึงพระราชวงศ์ไม่ควรมีมากจนละเมิดบุคคลซึ่งควรอยู่ในที่เคารพสักการะ และในขณะเดียวกันประมุขและครอบครัวก็ควรมีกฎหมายคุ้มครอง

สรุปอย่างง่ายที่สุดได้ว่า ทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้าน 112 ต่างก็ตระหนักว่ากฎหมายนี้เป็นการ “จำกัด” การแสดงออกในทางใดทางหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งมองว่าเป็นปัญหา ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกที่ควร

อันที่จริงแล้ว แม้ว่าการบังคับใช้ ตีความ ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 จะมีปัญหาในเชิงนิติวิธีมากเพียงใด แต่ถ้าพูดแบบ “ignorant” เลยก็คือ ถ้าคุณไม่ก้าวเข้าไปในพื้นที่สุ่มเสี่ยง ก็จะไม่มีคนมายุ่งวุ่นวายกับคุณ (ไม่นับรวมกรณีอันพันลึกอย่างคดีอากง) 
แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณคิดจะพูดหรือทำอะไร “แหลมๆ” ในที่แจ้งขึ้นมา แม้จะรู้แน่แก่ใจว่า ในทางสากล สิ่งที่คุณแสดงออกไม่มีทางที่จะถูกเอาผิดได้ แต่การที่คุณจะถูกเพ่งเล็ง กลั่นแกล้ง ตกเป็นเหยื่อหรือเครื่องมือทางการเมือง หรือแม้กระทั่งโดน 112 น่าจะไม่ได้เป็นสิ่งที่เกินความคาดหมายมากเกินไปนัก-หากว่าคุณรู้จักบ้านเมืองนี้ดีพอ

แต่จะชั่วจะดีอย่างไร จะจำกัดการแสดงออกมากแค่ไหน 112 ก็มีความเป็นรูปธรรม คือมีอยู่ในฐานะกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร เป็นรูปเป็นร่างให้เห็น ให้โต้แย้งได้ ให้รณรงค์แก้ไขได้ ให้สนับสนุนเห็นดีเห็นงามได้ ทว่าสิ่งที่ควบคุมการแสดงออกของพลเมืองในเรื่องต่างๆ รวมถึงราชวงศ์ไม่ได้มีเพียงแค่กฎหมาย แต่ยังรวมไปถึง “วัฒนธรรม” ที่แทรกซึมอยู่ในเนื้อในตัว ในจิตสำนึกของเราๆ ท่านๆ อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว และดังนั้นจึงไม่สามารถแข็งขืนหรือต่อต้านได้อย่างเป็นกิจจะลักษณะหรือแม้แต่ไม่รับรู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองถูกควบคุมบงการอยู่

หากว่ายังจำกันได้ เมื่อตอนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) สวรรคตนั้น นอกเหนือไปจากการแสดงความอาลัยมากมายของคนทุกกลุ่มแล้ว สิ่งที่มีการประชาสัมพันธ์อยู่ในระยะหนึ่งตั้งแต่ในช่วงแรกๆ ก็คือ หากต้องการแสดงความอาลัย ต้องใช้ภาษาอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสม

เริ่มตั้งแต่การออกพระนามรัชกาลที่ 9 ให้ถูกต้องตามอักขรวิธีซึ่งมีผู้รู้และหน่วยงานหลากหลายออกมาแสดงความเห็นว่าต้องอ่านอย่างไรจึงจะถูกต้อง ต้องอ่านตามหลักภาษาบาลี-สันสกฤตหรืออ่านด้วยวิธีการอื่น การใช้วลี “น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” ผิดหลักการหรือไม่ ใช้เสด็จสวรรคตผิดกฎการใช้คำราชาศัพท์หรือเปล่า หน่วยงานองค์กรต่างๆ หากต้องการแสดงความอาลัยต่อการจากไปของรัชกาลที่ 9 ควรแสดงออกอย่างไร ลงท้ายด้วยวลีไหน ต้องใช้คำสรรพนามอย่างไร ฯลฯ กลายเป็นว่าทุกหน่วยงาน องค์กร บุคคลไว้อาลัยรัชกาลที่ 9 ด้วยการ copy and paste “น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้” ทั่วราชอาณาจักร

ณ เวลานาทีนั้นคนไทยอาจจะอยู่ภาวะโศกเศร้าและช็อคเกินกว่าที่จะตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใดการที่เราจะแสดงความรักความอาลัยต่อบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพรักจึงต้องมีการกะเกณฑ์วิธีการแสดงออก ความเหมาะสม ความผิด-ถูกมากมายจนราวกับว่าแท้ที่จริงแล้วเราไม่สามารถแสดงออกอะไรได้เลย 

หากเราอยากแสดงออกด้วยวิธีการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การแต่งกลอนเข้าใจยากขึ้นหน้าเว็บไซต์ สามารถทำได้หรือไม่? คนจะมองว่าไม่เหมาะสมหรือเปล่า หากว่าเรารักในหลวงมากๆ และต้องการถ่ายทอดความรู้สึกของเราที่มีต่อท่านออกมาจริงๆ โดยไม่ต้องการห่อหุ้มความรู้สึกสะอาดสะอ้านจริงใจในฐานะประชาชนในระบอบกษัตริย์คนหนึ่งด้วยคำราชาศัพท์ คนจะมองว่าไม่รู้จักที่ต่ำที่สูงไหม? 

เมื่อเป็นเรื่องการแสดงออกต่อเจ้า เราล้วนมีถูก “โปรแกรม” ให้มีความ “เกรง” อยู่ในเลือดในเนื้อและถูกควบคุมให้การแสดงออกมีได้เพียงไม่กี่แบบเท่านั้น ไม่เพียงแต่กรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 9 แต่เมื่อพระองค์ยังคงดำรงพระชนม์ชีพอยู่นั้น “การลงนามถวายพระพร” รัชกาลที่ 9 พระราชินีรวมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์อื่นๆ ตามห้างสรรพสินค้าหรือหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนโดยทั่วไปก็ไม่มีพื้นที่ให้เขียนข้อความตามใจชอบ มีเพียงช่องให้ลงนาม “ข้าพระพุทธเจ้า………………………………………………………………” 

หรือเมื่อครั้งที่สำนักพระราชวังเปิดช่องทางออนไลน์ให้ลงนามถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 10) ก็มีเพียงช่องให้ลงนาม ไม่มีช่องให้กรอกข้อความถวายพระพร แต่มีข้อความสำเร็จรูปให้เลือกคลิก 2-3 ข้อความเท่านั้น

ความจริงแล้วจากประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนและจากการสอบถามคนที่ผ่านการศึกษาในระบบโรงเรียนไทยมาส่วนหนึ่ง ต้องเคยมีครั้งใดครั้งหนึ่งที่เราถูกครูสอนว่า การเขียนข้อความถึงเจ้าแม้ในลักษณะการอวยพร การแสดงความปรารถนาดี “จะเขียนสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้ ต้องมีรูปแบบ เดี๋ยวจะโดนจับ” นึกย้อนกลับไป ผู้เขียนก็ไม่แน่ใจเอาจริงๆ ว่า คำพูดทำนองนี้ของครูบาอาจารย์เป็นการพูดติดตลก คิดอย่างนั้นจริงๆ หรือเพียงพูดสื่อนัยให้เด็กๆ ไม่ห้าว

แต่ไม่ว่าจุดประสงค์จริงๆ จะเป็นอย่างไร ก็สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การแสดงออกของคนไทยต่อเจ้านายนั้นถูกตีกรอบไว้ด้วยความเกรงความกลัว และแม้แต่กลุ่มคนที่รักเจ้าก็ดูเหมือนว่าจะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดเงื่อนไขเดียวกันนี้

ดังนั้นเราจึงจะได้เห็นข้อความคอมเมนต์ในเพจคนรักเจ้าที่ไม่มี content อย่างอื่นนอกเหนือไปจาก “ทรงพระเจริญ” “ทรงพระเจริญ” “ขอทั้งสองพระองค์ทรงพระเจริญ” “รักทุกพระองค์ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” “ทรงพระเจริญ” “มิ่งขวัญของปวงชนชาวไทย ขอพระองค์ทรงพระเจริญ” ฯลฯ โดยไม่มีการแสดง “ความคิดเห็น” ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลในภาพหรือสถานการณ์เลยแม้แต่น้อย มิพักจะต้องพูดถึงการแสดงความเห็นในเชิงวิเคราะห์หรือวิพากษ์วิจารณ์

ตัวผู้เขียนเองติดตามพระองค์ภา (สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าพัชรกิตติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา) ในบทบาทที่ทรงเป็นนักกีฬาและรู้สึกว่าเป็นบุคคลที่สง่าเวลาออกงานไม่แพ้เจ้าจากราชวงศ์อื่น เวลาเดิน เวลายิ้ม หรือทักทายผู้คนล้วนน่าชื่นชม 
แต่เพราะเหตุใดจึงไม่มีคนรักเจ้าคนไหนแสดงความเห็นเป็นอย่างอื่นนอกจาก “ทรงพระเจริญ” ทำไมจึงไม่มีคนรักเจ้าแสดงความเห็นทำนองว่า “ทรงหุ่นดีมากเพคะ เวลาเดินทรงดูสง่างาม ยิ่งกว่านางแบบ เหมือนอยู่บนรันเวย์ The Face” หรือถ้าวันไหนพระราชินีออกงาน ทำไมไม่มีคนรักเจ้าไปอวยสักหน่อย “วันนี้พระราชินีแต่งหน้าสวยมาก เป็นธรรมชาติ คิ้ว จมูก ปากลงตัว เข้ากับทรงผม glam มากค่ะ สมมง”

คนไทยน่าจะถูกทำให้อยู่ในแบบแผนการปฏิบัติที่เหมาะสมกับเจ้า การรู้จักผู้ใหญ่-ผู้น้อย ที่ต่ำ-ที่สูง ราชาศัพท์ ลำดับขั้นมากจนทำให้รู้สึกว่าการแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่แบบ “ที่เคยมีมา” หรือ “คนอื่นทำกัน” เป็นเรื่องที่ไม่กล้าทำหรือไม่สมควรทำ และถ้าหากว่าสิ่งนี้เป็นความจงใจของผู้ต้องการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีช่องว่างหรือมีความห่างเหินจากประชาชน ก็น่าจะนับได้ว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง

ข้อจำกัดดังกล่าวเป็นสิ่งน่าเสียดายที่ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับคนทั่วไปนั้นแห้งแล้งขาดสีสัน อย่างในกรณีเมื่อรัชกาลที่ 9 สวรรคตก็เป็นเรื่องน่าเสียดายมากขึ้นอีกหลายเท่าตัว เพราะอันที่จริงแล้วการสวรรคตของพระองค์เป็นเรื่องราวแห่งศตวรรษในหน้าประวัติศาสตร์ไทยและทั่วโลกเองก็ให้ความสนใจไม่น้อย การแสดงความอาลัย การแสดงความรู้สึกของผู้คนหรือพระบรมวงศานุวงศ์ไทยที่มีต่อองค์กษัตริย์ก็น่าจะเป็นไปในลักษณะที่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่หรือความเป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับการจดจำผ่านมุมมองความรู้สึกที่หลากหลาย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการแสดงถึงพระเกียรติคุณของพระองค์เอง

แต่กลายเป็นว่าการแสดงความอาลัย อารมณ์ความรู้สึก การแสดงออกต่างๆ ณ ขณะนั้นถูก “คุมโทน” หมดทั้งสิ้น นอกเหนือจากการ “บังคับ” ให้เมืองเข้าสู่ภาวะเงียบงัน งดงานรื่นเริง ทุกอย่างเป็นขาวดำแล้ว การพูดถึงรัชกาลที่ 9 การย้อนรำลึกถึง การกล่าวแสดงความอาลัย แม้จะกระทำโดยต่างบุคคลกัน แต่เราคงจำได้ว่า รูปแบบและชุดคำในการกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 ในเวลานาทีดังกล่าวมีแค่เพียงไม่กี่แบบเท่านั้น เป็นต้นว่า

...ขอเป็นข้ารองบาททุกชาติไป ทรงตรากตรำพระวรกาย ทรงไม่เคยคิดถึงความสุขส่วนพระองค์ กว่า 4,000 โครงการ บำบัดทุกข์บำรุงสุข สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ คนไทยโชคดีที่สุดในโลก ไม่มีกษัตริย์พระองค์ไหนในโลกที่จะ... ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นกว่า 70 ปี สองพระบาทเยี่ยมเยือนทุกหย่อมหญ้า ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก ไม่มีกษัตริย์ประเทศใดที่จะเสด็จเยี่ยมเยียนพสกนิกรด้วยพระองค์เองตลอดรัชสมัย...

เป็นเรื่องถูกต้องที่ในวาระแห่งการไว้ทุกข์ผู้วายชนม์ เราควรพูดถึงเพียงสิ่งที่ดีเพื่อเป็นการให้เกียรติ แต่ไม่ได้หมายความว่า การพูดแบบให้เกียรติ ถวายพระเกียรติจะต้องดำเนินไปอย่างแห้งแล้ง ขาดสีสัน ขาดความสร้างสรรค์ แต่ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะสังคมไทยไม่ได้ถูกสอนให้แสดงความรู้สึกอย่างเปิดเผยต่อเจ้า แม้จะเป็นความรู้สึกที่ดีก็ตาม 

การสวรรคตของควีนอลิซเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมานี้เป็นข้อเปรียบเทียบชั้นดีที่แสดงให้เห็นว่า การไม่มีคำราชาศัพท์ การปราศจากลำดับขั้นสูงต่ำ ผู้ใหญ่-ผู้น้อย การจัดวางเจ้าไว้ในตำแหน่งที่ทุกคนสามารถพูดถึง แสดงความเห็น ความรักความชอบ การวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยอิสระแบบที่ไม่ต้องมีคนคอยมากะเกณฑ์ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะถูกต้องเหมาะสมยิ่งช่วยขับเน้นให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และการเป็นที่รักขององค์กษัตริย์ 

ข้อความมากมายประดามีที่ชาวอังกฤษและประเทศในเครือจักรภพรวมไปถึงประชาชนประเทศอื่นๆ คอมเมนต์บนโซเชียลมีเดียต่อการสวรรคตของควีนอลิซเบธมีความเป็น “วรรณกรรม” สูงมาก คือไม่ได้พิมพ์ต่อกันเป็นพืดๆ ทำนองที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “น้อมส่งเสด็จสู่สวรรคาลัย” อะไรเทือกนั้น 

ทุกคนต่างก็แสดงความคิดเห็น ความรู้สึก ความทรงจำ ความประทับใจ ความสะเทือนอารมณ์จากการสูญเสียควีนผู้เป็นที่รักอย่างอิสระ ปราศจากการชี้นิ้วกำหนดว่า ต้องแสดงออกอย่างไรจึงจะเหมาะสม ต้องใช้สำนวนภาษาอย่างไรจึงจะไม่เป็นการตีเสมอ ต้องออกพระนามควีนอย่างไรจึงจะถูกต้องตามโบราณราชประเพณี ส่งผลให้ข้อความเป็นแสนๆ ล้านๆ ข้อความมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเองซึ่งแสดงให้เห็นถึงความยึดโยงระหว่างปัจเจกบุคคลนั้นกับกษัตริย์ผู้ล่วงลับอย่างแท้จริง
ยังไม่นับรวมการ์ดแนบดอกไม้ที่ประชาชาวอังกฤษทั่วสารทิศพร้อมใจกันนำไปวางที่พระราชวังบัคกิ้งแฮมรวมถึงวังอื่นๆ และยังมีจดหมายแสดงความอาลัย-ห่วงใยนับไม่ถ้วนที่ชาวอังกฤษ (ส่วนใหญ่น่าจะเป็นเด็ก) ส่งถึงสำนักพระราชวัง 

บรรดาข้อความ การ์ด งานประดิษฐ์เล็กๆ น้อยๆ ที่ผู้คนตั้งใจทำเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการไว้อาลัยและรำลึกถึงพระราชินีอลิซเบธล้วนแสดงให้เห็นถึงความสร้างสรรค์และความรู้สึกที่แท้จริงซึ่งคนหนึ่งคนจะสามารถแสดงออกมาได้ในสภาพที่ไร้กฎหมาย จารีต วัฒนธรรม หรือภาษาควบคุมการแสดงออก ดังนั้นจึงกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า สิ่งเหล่านั้นถูกแสดงออกมาด้วยความจริงใจ ซึ่งแน่นอนว่านั่นสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่และการเป็นที่รักของคนมหาศาลอย่างที่ไม่ต้องพยายามจัดวางให้ภาพออกมาเป็นเช่นนั้น

ยิ่งไปกว่านั้นสำนักพระราชวังอังกฤษเองยังลงเผยแพร่ข้อความไว้อาลัยของพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์อังกฤษที่เขียนถึงควีนอลิซเบธ ทั้งกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ควีนคามิลล่า เจ้าชายวิลเลียม เคท ฯลฯ นอกจากจะแสดงให้เห็นการขบคิดใคร่ครวญที่แต่ละครอบครัวมีต่อควีนอลิซเบธในฐานะกึ่งประมุขกึ่งคนในครอบครัวแล้ว ส่วนหนึ่งก็แสดงให้เราเห็นถึง “ฝีไม้ลายมือ” ในการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเจ้าแต่ละองค์ในราชวงศ์ (น่าจะใช้คำว่า “แต่ละคู่” มากกว่า เพราะเป็นงานกลุ่ม) เพื่อสะท้อนที่ทางของตัวเองและให้จับใจผู้คน (แน่นอนว่านี่คือส่วนหนึ่งของการทำพีอาร์)

นอกจากนั้นแล้ว ในระดับสภา อดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษที่เคยทำงานใกล้ชิดกับควีนอลิซเบธก็มีโอกาสได้ร่วมแบ่งปันความทรงจำของตนเองที่เคยมีร่วมกับควีน เช่น Boris Johnson กล่าวติดตลกว่า เขาได้เล่าให้ควีนฟังว่า มีผู้นำระดับประเทศเชื่อจริงๆ ว่าพระองค์ทรงโดดร่มลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ในคลิปวีดีโอเปิดงานโอลิมปิกที่ทรงร่วมแสดงกับ Daniel Craig และพระองค์ก็มีความพึงพอใจมากเช่นเดียวกันที่ได้ทรงทราบว่าการแสดงของพระองค์ร่วมกับหมี Paddington ในงานฉลองการครองราชย์ครบ 70 ปีนั้นได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี 

Theresa May กล่าวว่า ในบรรดาผู้นำหรือประมุขของรัฐในโลกเท่าที่เธอเคยพบมา ไม่มีใครน่าประทับใจมากไปกว่าควีนอลิซเบธ ไม่ได้เป็นเพราะสถานภาพของควีน แต่เป็นเพราะควีนเป็นคนอย่างไรมากกว่า รอยยิ้มของควีนมีอานุภาพในการปลอบประโลม สามีของเธอฝันว่าตนเองกับภรรยานั่งเป็นผู้โดยสารอยู่บนรถที่ขับไปบนแผ่นดินสก็อตแลนด์ มีควีนอลิซเบธเป็นคนขับ แต่แล้วก็ตื่นขึ้นมาเพื่อพบว่า ทุกอย่างเป็นความจริง ไม่ได้ฝันไป

May ยังเล่าว่า ในการไปปิกนิกขณะที่ไปเที่ยวบัลมอรัลกับควีน เธอทำชีสที่กำลังจะนำขึ้นวางบนโต๊ะตกลงพื้น ระหว่างเสี้ยววินาทีนั้นเธอต้องตัดสินใจว่า จะทิ้งชีสนั้นไปหรือเอาไว้บนโต๊ะตามความตั้งใจเดิม เธอนำชีสไว้บนจานแล้ววางจานบนโต๊ะเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เมื่อหันหลังกลับไปจึงพบว่า ควีนเห็นทุกอย่างตั้งแต่ต้นจนจบ พระองค์เพียงแต่ทรงยิ้มให้เท่านั้น เรื่องเล่าของ May เรียกเสียงหัวเราะร่วนจากคนในสภายิ่งกว่าเดี่ยวไมโครโฟนของโน้ส-อุดม แม้จะอยู่ในช่วงไว้ทุกข์
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเศษเสี้ยงหนึ่งเท่านั้นที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อปราศจากการกำกับควบคุมไม่ว่าจะด้วยกฎหมายหรือด้วยวัฒนธรรมผ่านภาษา ระบบการศึกษา การปลูกฝัง การแสดงความรู้สึกต่อเจ้าไม่ว่าจะเป็นความรัก ความอาลัย ความทรงจำ ประสบการณ์ส่วนตัวสามารถกระทำได้อย่างรุ่มรวย ลุ่มลึก เต็มไปด้วยสีสัน มีอารมณ์ขันร่วม ไม่ใช่ว่ากษัตริย์หนึ่งองค์จากไป ทั้งประเทศต้องจมอยู่กับความเงียบงัน น้ำตา ความโศกเศร้าเสียใจที่แสดงออกได้ไม่กี่แบบเป็นเวลาแรมปี

อย่างไรก็ตาม เช่นเดียวกันกับ กฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ไม่ว่าฝ่ายไหนต่างก็รับรู้ถึง “หน้าที่” ของมัน แต่ให้คุณค่าหรือตีความกันคนละแบบ 

เรื่องการใช้ภาษาที่มีแบบแผนเคร่งครัดกับเจ้า การแสดงออกต่อเจ้า คำราชาศัพท์ ลำดับขั้นต่ำสูงซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นสิ่งสวนทางกับโลกสมัยใหม่ที่มุ่งสู่สังคมแห่งความเท่าเทียมหรือพยายามลดความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างความสูง-ต่ำของผู้คนให้แคบที่สุด ก็ไม่ใช่สิ่งที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมองว่าเป็นปัญหา

ผู้รู้ประจำราชบัณฑิตยสภาเคยพูดถึงประเด็นนี้ไว้หลายครั้งในต่างกรรมต่างวาระว่า ภาษาไทยเป็นภาษามหัศจรรย์ มีคำใช้เยอะ มีถ้อยคำที่แสดงระดับภาษา แสดงลำดับขั้นสูง-ต่ำ ทำให้รู้ถึงสถานภาพของผู้พูด-ผู้ฟัง ภาษาที่ใช้กับเจ้านายก็อีกอย่างหนึ่ง ภาษาที่ใช้กับคนทั่วไปก็อีกอย่างหนึ่ง และในแต่ละแบบก็มีแยกย่อย มีระดับเป็นของตัวเองอีก ฯลฯ ลักษณะเหล่านี้คือความพิเศษของภาษาและวัฒนธรรมไทย

ตามอุดมการณ์ข้างต้น การมีลำดับขั้นสูง-ต่ำในภาษาไทย การมีแบบแผนทางภาษาซับซ้อนมากมายเพื่อแสดงว่า “เราเป็นใคร” และคนที่เรากำลังสื่อสารด้วยเป็นใครน่าจะถือเป็นลักษณะพิเศษที่ควรภูมิใจสำหรับเจ้าของภาษา 

ในเมื่อภาษาและวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้และต่างก็เป็นสิ่งที่ฉายภาพสะท้อนกันและกัน เช่นนั้นแล้ว หมายความว่า การมีลำดับขั้นสูงต่ำของผู้คนในสังคม การมีสรรพนามใช้เรียกตั้งแต่ “ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท” เรื่องลงมาเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ภาษา เป็นสิ่งที่คนในสังคมควรภาคภูมิใจ นัยว่าภาษาและวัฒนธรรมไทยเป็น “high culture” หรือ “sophisticated” กว่าที่ชาติอื่นมีเช่นนั้นหรือ?

ในเมื่อภาษา วัฒนธรรม และการเมืองโยงใยกันอยู่อย่างแนบแน่น การเห็นดีเห็นงามและสนับสนุนให้ผู้ใช้ภาษามองว่าลำดับขั้น การแบ่งชนชั้นเป็นความงาม เป็นความพิเศษ การส่งเสริมให้มองเห็นแง่งามของความแตกต่างระหว่างภาษาที่ใช้แก่เจ้านายกับภาษาที่ใช้แก่คนทั่วไปถือเป็นสิ่งที่ผิดปกติหรือไม่ การเรียนการสอนประเด็นนี้มีตำแหน่งแห่งที่อย่างไรในห้องเรียนปัจจุบัน 

หากเป็นเมื่อ 20 ปีที่แล้ว การที่ครูภาษาไทยจะให้เหตุผลนักเรียนว่า เราเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ไปเพื่อจะได้ “appreciate” ภาษาและวัฒนธรรมไทย จะได้ใช้ภาษาเหมาะสมแก่คน แก่กาล และที่สำคัญคือจะได้เข้าใจตำแหน่งแห่งที่ของคนแต่ละกลุ่มในสังคม อาจจะไม่มีนักเรียนลุกขึ้นมาตั้งคำถามหรือเถียงว่า แล้วทำไมเราจึงต้องทำเช่นนั้น การใช้ “เสด็จพระราชดำเนิน” กับคนหนึ่ง ใช้ “เสด็จ” เฉยๆ กับคนหนึ่ง ใช้ “ไป” กับอีกคนหนึ่ง หรือจะพูดกับคนหนึ่ง ต้องแทนตัวเองว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” กับอีกคนใช้ “เกล้ากระหม่อม” มีความจำเป็นอย่างไร ทำไมไม่ใช้เหมือนกันให้หมด 
แต่ในห้องเรียนสมัยปัจจุบันที่นักเรียนรุ่นใหม่มีความคิดความอ่านในแบบ “พลเมืองโลก” (Global Citizen) มากขึ้นกว่าแต่ก่อน การให้เหตุผลสุด cliché แบบที่ไม่สนใจว่าโลกกำลังหมุนสู่ภาวะที่ทุกชีวิตมีค่าเท่ากัน รังแต่จะทำให้เด็กๆ “มองบน” และหัวร่อเอาเสียเฉยๆ 

เหนือสิ่งอื่นใด เราควรตระหนักว่า ไม่ได้มีเพียงกฎหมายอาญามาตรา 112 เท่านั้นที่ทำงานกับความกลัวของผู้คน แต่ยังมีภาษาและวัฒนธรรมซึ่งมีกลไลการทำงานกับความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ในชีวิตประจำวันของเราอย่างแยบยล โดยที่เราไม่รู้เนื้อรู้ตัว และนั่นน่ากลัว น่าระแวงระวังมากเสียยิ่งกว่าสิ่งที่ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างให้เห็นอย่าง 112 

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ด้วยการควบคุมบงการผ่านภาษาและวัฒนธรรม แม้เราจะรัก เราก็อาจจะแสดงออกไม่ได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net