Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่ว่าจะเลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบใด ต่างก็มีข้อดีข้อเสียต่างกันไป เมื่อเลือกใช้ระบบใดแล้ว ก็จำเป็นต้องอุดรอยรั่วจุดอ่อนนั้นๆ 

1. ระบบเสียงข้างมากธรรมดา 1 เขต 1 คน 

ระบบนี้ใช้ใน UK และไทยก่อนรัฐธรรมนูญ 2540 

มีข้อดีที่ง่าย แต่มีข้อเสีย คือ คะแนนทุกคะแนนไม่ถูกนับ คะแนนของผู้แพ้ทั้งหมดถูก “ทิ้งน้ำ” บางครั้ง พรรคที่ได้ลำดับสองอาจได้คะแนนรวมทั้งประเทศมากกว่าพรรคลำดับแรกที่ได้จำนวน ส.ส.มากกว่า (ดังปรากฏให้เห็นหลายครั้งในการเลือกตั้ง UK) นอกจากนั้น ทำให้ ส.ส.ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชำนาญการเลือกตั้งในพื้นที่ ในขณะที่พวกเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือเป็นตัวแทนประเด็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม มีโอกาสได้เป็น ส.ส.เขตน้อยลง

นี่จึงเป็นสาเหตุที่รัฐธรรมนูญ 2540 เพิ่มระบบบัญชีรายชื่อเข้ามาอีก 100 คน มีบัตรสองใบ ใบหนึ่งเลือกผู้สมัครเขต อีกใบหนึ่งเลือกบัญชีรายชื่อพรรคโดยเอาคะแนนรวมทั้งประเทศมาคำนวณ 

2. ระบบเสียงข้างมากเด็ดขาด 2 รอบ รอบแรก หากใครได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่ง ถือว่าได้รับเลือก ถ้าไม่มี ให้เลือกรอบที่สอง โดยเหลือเฉพาะผู้สมัครที่ได้คะแนนสองลำดับแรก หรือผู้สมัครที่คะแนนผ่านเกณฑ์ (เช่น 20% ขึ้นไป) 

ระบบนี้ใช้ในฝรั่งเศส 

มีข้อดีที่ ผู้ชนะในเขตเลือกตั้ง เป็นผู้ได้เสียงข้างมากเด็ดขาดอย่างแท้จริง เปิดโอกาสให้ผู้สมัครแต่ละคนเทคะแนนหรือสร้างพันธมิตรกันในการเลือกรอบสองได้ แต่ก็มีข้อเสียที่ ประชาชนต้องออกไปลงคะแนนสองครั้ง และผู้สมัครที่มาจากพรรคหรือกลุ่มที่ radical หรือเชิงประเด็นจะเข้ามายาก เพราะเลือกรอบสองที่ไร พรรคแบบดั้งเดิมจะรวมให้พวก moderate เสมอ

3. ระบบสัดส่วนผสม MMP 

มีบัตรเลือกตั้งสองใบ ใบหนึ่ง เลือกผู้สมัครเขต อีกใบหนึ่งเลือกบัญชีรายชื่อ (ในเยอรมนี มีใบเดียว แต่กาสองช่อง ช่องหนึ่งกาเขต ช่องหนึ่งกาบัญชีรายชื่อ) โดยคำนวณที่นั่ง ส.ส. ทั้งหมดจากคะแนนบัญชีรายชื่อ จากนั้นลบด้วยจำนวน ส.ส. เขตที่ได้ เหลือเท่าไร นำมาเติมให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 

เช่น พรรค A ได้คะแนนแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด ร้อยละ 25 คิดเป็น ส.ส. 125 ที่นั่ง ปรากฏว่ามี ส.ส. เขต 80 ที่นั่ง ลบออกไป เหลือ 45 เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ 

ระบบนี้ใช้ในเยอรมนี 

ข้อดี คือ ทุกคะแนนมีความหมาย ถูกนำมานับและส่งผลต่อจำนวน ส.ส. และจำนวน ส.ส. ที่ได้ของแต่ละพรรคตรงตามคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับมากที่สุด นอกจากนั้น ยังเปิดโอกาสให้ผู้สมัครแบบ radical หรือตัวแทนเชิงประเด็น มีโอกาสเข้าสภามากขึ้น 

แต่ก็มีข้อเสีย คือ เมื่อทุกคะแนนถูกนำมานับหมด ย่อมเปิดโอกาสให้มีพรรคที่ได้ ส.ส. จำนวนมาก พรรคเล็กพรรคน้อยมีโอกาสเข้าสภา จนอาจนำมาซึ่งการตั้งรัฐบาลยาก รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ 

ส่วนนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำหนดร้อยละขั้นต่ำเอาไว้ หากพรรคใดได้ไม่ถึง ให้ปัดตกไปเลย เช่น ในเยอรมนี กำหนดที่ร้อยละ 5 

นอกจากนั้น อาจเกิดปัญหา คำนวณไปมาแล้ว ส.ส. ทุกพรรค เกินจำนวน 

ส่วนนี้แก้ได้ด้วยการเปิดให้มี overhang เข้ามาได้ ไม่ได้กำหนดจำนวน ส.ส. ตายตัวไว้ที่ 500 เป๊ะๆ หากมีเกิน ก็ต้องปล่อยเข้ามา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่เกิน หรือหากเกิน ก็ไม่มาก ดังที่ปรากฏในการเลือกตั้ง ส.ส. เยอรมนี ล่าสุด

ข้อวิจารณ์อีกประการหนี่ง ก็คือ ระบบบัญชีรายชื่อ อาจไม่สะท้อนเรื่องพื้นที่ ส.ส. บัญชีรายชื่ออาจกระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง 

ข้อนี้แก้ไขได้ด้วยการแบ่งบัญชีรายชื่อเป็นโซน เป็นภาคได้ เหมือนที่ใช้ในเยอรมนี และในรัฐธรรมนูญ 50 หรืออาจกำหนดให้การส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อต้องสะท้อนถึงพื้นที่ให้ทั่วถึงด้วย หรือลดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้น้อยกว่า ส.ส. เขต ก็ได้ อายไม่ต้องถึง 250 : 250 แต่เป็น 150 : 350 หรือ 200 : 300

จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเลือกใช้ระบบเลือกตั้งแบบใด ก็จะมีข้อดีข้อเสียต่างกันไป สำคัญ คือ ต้องออกแบบอุดข้อเสียเหล่านั้น 

การจะเลือกระบบเลือกตั้งใด อยู่ที่ พื้นฐานแนวคิด ต้องการให้ ส.ส. เป็นแบบไหน ต้องการให้การเมืองเป็นแบบไหน ระบบเลือกตั้งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการบอก

หากเลือกแบบเสียงข้างมากธรรมดา โอกาสเกิดระบบการเมืองสองพรรคใหญ่ Bi-Party System ย่อมมีมาก 

หากเลือกระบบสัดส่วนผสม MMP โอกาสที่พรรคหลากหลายย่อมมีมากขึ้น 

ผมประกาศจุดยืนมาตลอด ตั้งแต่สมัยเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยที่คณะกรรมมาธิการฯ กำลังยกร่าง รธน. กันอยู่ว่า ผมสนับสนุนระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม MMP แบบเยอรมนี เพราะ เป็นระบบทีคะแนนทุกคะแนนมีความหมาย คะแนนที่แต่ละพรรคได้รับกับจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคได้รับ สัดส่วนต้องตรงกัน และเปิดโอกาสให้มี ส.ส. หน้าใหม่ ส.ส. ที่เป็นตัวแทนเชิงประเด็น และกลุ่มหรือพรรคที่ radical (ทั้งอนุรักษ์และก้าวหน้า) 

ในส่วนของจุดอ่อน ก็แก้ไป เช่น กำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 1 หรือ 2 กำหนดจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อให้น้อยกว่าจำนวน ส.ส. เขต 

ระบบ MMP อยู่ในร่าง รธน. ชองคณะ กมธ. อาจารย์บวรศักดิ์ แต่ร่างนี้ตกไป และ กรธ. มาทำใหม่ กลายเป็นรัฐธรรมนูญ 60 ได้ออกแบบไว้ผิดเพี้ยนไปหมด จะใช้ระบบ MMP แบบเยอรมนี ก็ไม่ใช้ ดันบีบบังคับให้คนต้องเลือกผู้สมัครเขตเป็นหลัก ในขณะที่บัญชีรายชื่อของพรรคกลับไม่มีบัตรเลือกตั้ง หากใครอยากเลือกบัญชี แต่ไม่อยากเลือกผู้สมัคร ส.ส. เขต ก็ต้องจำใจไปเลือกผู้สมัครคนนั้นๆไป หนำซ้ำยังมีกำหนดสูตรคำนวณคะแนนพิสดารของ กกต. ออกมา ทำให้รอบนี้มี “สหพรรค” เข้ามามากมาย 

เมื่อ ส.ส.จากพรรคใหญ่สองพรรค คือ เพื่อไทย และพลังประชารัฐ ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องระบบเลือกตั้ง ให้กลับไปเป็นแบบ 40 

ผมเอง ยืนยันว่า เห็นด้วยว่าต้องแก้ รธน. 60 เรื่องระบบเลือกตั้ง แต่ไม่เห็นด้วยที่ให้กลับไปใช้แบบ 40 แต่ควรใช้แบบ MMP เยอรมันมากกว่า 

อย่างไรก็ตาม เสียงข้างมากในรัฐสภา ก็ผ่านกันมา จนวันนี้ กลับมาเป็น บัตร 2 ใบแยกขาด แบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อ 100 คน 

ดูทีท่าว่าระบบแบบ 40 คงได้กลับมาใช้ในการเลือกตั้งปี 66 

แต่ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน เกิดฉุกคิดได้ กลัวพรรคเพื่อไทย “แลนด์สไลด์” พรรคเดียวเกิน 250 ก็เลยส่งสัญญาณจะไม่ยอมให้ใช้ระบบนี้ 

ดังปรากฏเป็นข่าวล่าสุดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการ “หาร 500” จะให้นำคะแนนในบัญชีรายชื่อทั้งประเทศ มาหาร 500 เพื่อคำนวณจำนวน “ส.ส. พีงมี” แล้วหักลบจำนวน ส.ส. เขตออก ที่เหลือค่อยเป็นจำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ แทนที่จะคำนวณแบบปี 40 ที่แยกกันขาดชัดเจน นำจำนวนคะแนนบัญชีมาหาร 100 เพื่อคิดคำนวณ ส.ส. เฉพาะแบบบัญชีรายชื่อ 

ทั้งหมดนี้ คือ การไม่คิดออกแบบระบบเลือกตังจากหลักวิชา หรือระบบการเมือง
แต่พวกผู้มีอำนาจในปัจจุบัน หมกมุ่นอยู่แต่การเอาชนะ การสืบทอดอำนาจ การสกัดขัดขวางพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง การให้พรรคใดพรรคหนึ่งได้ประโยชน์ 


เรื่องถึงมาอีรุงตุงนัง ต้องมาเถียงกันเรื่อง “หาร 500/หาร 100” ต้องมาตะแบงตะแคงแคะ หาช่องหารูหาตัวอักษร เพื่อจะแถไถออกไปให้ได้ 

ถ้าผู้มีอำนาจกลัวเพื่อไทยจะแลนด์สไลด์แต่แรก กลัวตัวเองจะไม่ได้เป็นรัฐบาลต่อ ก็ไม่ต้องไปสั่งให้แก้กลับไปเป็นแบบ 40 

แต่นี่แก้แล้ว เกิดอาการผิดคิว เกิดอาการกลัว หรือพึ่งคิดได้ ก็จะมาแก้กลับ ด้วยวิธีการเอาสูตรพิสดารหาร 500 มาใช้ 

โดยส่วนตัว ผมยังคงยืนยันตามเดิมว่า…

ผมสนับสนุนให้ประเทศไทยใช้ระบบเลือกตั้งแบบ MMP เยอรมัน 

แต่ในเมื่อวันนี้ รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญให้กลับไปคล้ายแบบ 40 แล้ว ก็ต้องเดินหน้าต่อไป ต้องแยกแบบแบ่งเขตกับบัญชีออกจากกัน แบบแบ่งเขต  400 คน ใครชนะเขตนั้น ก็ได้เป็น ส่วนแบบบัญชีก็ต้องเอาคะแนนบัญชีมาใช้ 100 หาร

ไม่ใช่ต้องมาเถียงกันเรื่องหาร 500 หรือ หาร 100 อีกแล้ว 

มิเช่นนั้น ระบบเลือกตั้งประเทศไทยจะยุ่งเหยิงอีรุงตุงนังไปอีก เอาแพะมาชนแกะผสมปนเปจนยุ่งไปหมด จะใช้ MMP ก็ไม่ใช้ จะใช้ 40 ก็ไม่ใช้ 

นับตั้งแต่เลือกตั้งปี 48 50 54 62 เราเปลี่ยนระบบเลือกตั้งมาทุกครั้ง ทั้งหมดนี้ เปลี่ยนเพราะ พวกยึดอำนาจประชาชนกลัวตัวเองเสียอำนาจ หมกมุ่นอยู่กับการคิดหาวิธีไม่ให้พรรคที่ได้อันดับหนึ่งได้เป็นรัฐบาล

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net