Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร' เผยเตรียมเข้าพบอัยการพรุ่งนี้ พนง.สอบสวนนัดส่งสำนวน-ส่งตัวพิจารณาสั่งฟ้อง คดี ม.116 จากกรณีการจัดรายการ Clubhouse เมื่อปี 64 ยันเพียงแสดงความเห็นทางกฎหมายว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ม.112 พร้อมขอ 'เศรษฐา-ภูมิธรรม-ทวี' สั่งการให้ พนง.สอบสวน “สอบสวน” จริงๆ มิใช่ดำเนินคดีตามน้ำอย่างปราศจากดุลพินิจเสียที

8 ม.ค.2567 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า วันอังคารที่ 9 ม.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด อาคารกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง นัดหมาย ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า อดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ไปที่สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เพื่อส่งสำนวนและส่งตัวให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลต่อไป จากกรณีการจัดรายการ Clubhouse เมื่อปี 2564

ปิยบุตร โพสต์อธิบายเพิ่มเติมผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล' ในหัวข้อ "แม้เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว การดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวนก็ยังคงเหมือนเดิม" โดยระบุว่า คดีดังกล่าวมาจากการที่ณฐพร โตประยูร แจ้งความหรือร้องทุกข์กล่าวโทษ กับ สน.นางเลิ้ง ข้อกล่าวหาในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 116 โดยอ้างว่าตนกระทำการยุยง ปลุกปั่น จากกรณีจัดรายการใน Clubhouse เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 

ปิยบุตร ระบุถึงการจัดรายการดังกล่าว ตนแสดงความเห็นทางกฎหมายว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 ศาลไทยก็เคยตัดสินมาแล้ว แต่อาจไปเข้าองค์ประกอบความผิดฐานอื่นแทน ตลอดทั้งรายการ ไม่มีข้อความใดเลยที่ส่อให้เห็นว่าผมยุยงให้คนออกไปทำการ ตรงกันข้าม ตนบอกว่าตนไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้ด้วยซ้ำ แต่เมื่อในทางกฎหมาย ไม่เข้า มาตรา 112 ก็คือไม่เข้า ส่วนจะไปเข้าความผิดฐานอื่น ก็พิจารณากัน

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ยังเรียกร้องไปถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเมืองให้รัฐบาลชุดนี้ และ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้ นี่ไม่ใช่กรณีของตนเท่านั้น ยังมีอีกหลายกรณีที่เป็นเช่นนี้ ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง สั่งการให้พนักงานสอบสวนกลับมาเป็นพนักงานสอบสวนที่ต้อง “สอบสวน” จริงๆ มิใช่ดำเนินคดีตามน้ำอย่างปราศจากดุลพินิจ แค่สั่งการให้พนักงานสอบสวนใช้มาตรฐานเท่าเทียมกันในทุกคดี คดี 112/116 ต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนคดีอื่นๆ ทำ “กระบวนการยุติธรรม” ให้ “ยุติธรรม” เสียที

โดยมีรายละเอียดที่ปิยบุตรโพสต์ดังนี้

แม้เปลี่ยนรัฐบาลแล้ว การดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวนก็ยังคงเหมือนเดิม

เมื่อเดือนเมษายน ปีที่แล้ว ช่วงการรณรงค์หาเสียง อยู่ดีๆ ก็มีหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน ลงชื่อ พ.ต.ท.สำเนียง โสธร รองผู้กำกับ (สอบสวน) สน.นางเลิ้ง เรียกให้ผมไปรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 116

ผมไปรายงานตัวตามนัดหมาย วันที่ 17 เมษายน 2566 จึงได้ทราบว่า ผู้ที่มาแจ้งความหรือร้องทุกข์กล่าวโทษ คือ นายณฐพร โตประยูร โดยอ้างว่าผมกระทำการยุยง ปลุกปั่น จากกรณีจัดรายการใน Clubhouse เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564

สืบเนื่องจากช่วงนั้น มีบุคคลเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำ ผมจึงจัดรายการ เพื่อให้ความรู้ประชาชน โดยผมได้พูดถึงกรณีในประเทศสเปน ที่มีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์ ศาลตัดสินอย่างไร กรณีประเทศไทย ที่ผ่านมา คดีทำนองนี้ ศาลตัดสินอย่างไร และผมแสดงความเห็นทางกฎหมายว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป อาญา มาตรา 112 ศาลไทยก็เคยตัดสินมาแล้ว แต่อาจไปเข้าองค์ประกอบความผิดฐานอื่นแทน ตลอดทั้งรายการ ไม่มีข้อความใดเลยที่ส่อให้เห็นว่าผมยุยงให้คนออกไปทำการ ตรงกันข้าม ผมบอกว่าผมไม่เห็นด้วยกับการกระทำเช่นนี้ด้วยซ้ำ แต่เมื่อในทางกฎหมาย ไม่เข้า 112 ก็คือไม่เข้า ส่วนจะไปเข้าความผิดฐานอื่น ก็พิจารณากัน

การไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันนั้น ทำให้ผมสูญเสียเวลาในการรณรงค์หาเสียง ต้องยกเลิกการปราศรัยไปหลายเวที ผมขอเลื่อนนัดออกไป พนักงานสอบสวนก็ไม่ยอม อ้างว่า พรรคก้าวไกลมีคนหาเสียงได้มากมาย ขาดผมไปสักคน คงไม่เป็นไร

ผมได้พูดกับพนักงานสอบสวนว่า พนักงานสอบสวนมีอำนาจในการพิจารณาว่าการกระทำที่ถูกกล่าวหานั้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่? พนักงานสอบสวนมิใช่คนส่งจดหมายหรือคนส่งของที่ใครๆมาแจ้งความแล้ว ตนเองไม่ต้องทำอะไร นอกจากพิมพ์ตัดแปะ ออกหมายเรียก แล้วก็พิมพ์ตัดแปะเป็นสำนวนสั่งฟ้องส่งไปยังพนักงานอัยการ โดยไม่ใช้ดุลพินิจพิจารณาใดๆ

พนักงานสอบสวน เป็นต้นธารของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีอำนาจในการพิจารณาว่า เรื่องใดพอจะเข้าองค์ประกอบความผิด สมควรออกหมายเรียก ออกหมายจับ หรือทำสำนวนส่งไปยังพนักงานอัยการ พนักงานสอบสวนมิควรทำตนเป็นพนักงานส่งเอกสารไปให้อัยการ พอเห็นว่าเรื่องไหนเป็น “ของร้อน” เป็นเรื่องนโยบาย เป็นเรื่องการเมือง ก็ปิดสมองการใช้ดุลพินิจ ออกหมาย ทำสำนวน ส่งให้อัยการทุกกรณี

ลองพิจารณาดูสถิติก็ได้ คดีความผิดตาม ป อาญา มาตรา 112 หรือมาตรา 116 ที่พัวพันกับการเมือง พนักงานสอบสวนส่งเรื่องต่อให้อัยการทั้งหมด สุดท้าย พอไปถึงชั้นศาล มีจำนวนมากที่ศาลยกฟ้อง

ผมยังเปรียบเทียบให้พนักงานสอบสวนและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่นั่งกันอยู่ในห้องฟังว่า ลองสมมติเอากรณีที่ผมถูกกล่าวหานี้ ตั้งเป็นโจทย์ตุ๊กตา เป็นข้อสอบ ในวิชากฎหมายอาญา วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระดับปริญญาตรี แล้วลองใช้สมองจินตนาการ นั่งไทม์แมชีน กลับไปเป็นนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ พวกท่านทั้งหลายจะตอบข้อสอบข้อนี้อย่างไร ร้อยทั้งร้อย ก็จะบอกว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ไม่ออกหมายเรียก ไม่ทำสำนวนสั่งฟ้อง

แต่ทำไม พอยิ่งโตเป็นผู้ใหญ่ มีหน้าที่การงาน มีอำนาจ กลับไม่คิดถึงหลักการ หลักกฎหมายที่ถูกต้องที่ร่ำที่เรียนมา

ไหนตอนสัมภาษณ์เข้าเรียน ตอนเรียน ทุกคนต่างก็พูดพร่ำกันว่า ต้องการเรียนกฎหมายเพื่อผดุงความยุติธรรม แล้วทำไม พอเติบโต มีอำนาจหน้าที่ เลือกที่จะผดุงตำแหน่ง กันแทน

การ Follow ตามน้ำของพนักงานสอบสวน ไม่เพียงแต่จะทำให้ประชาชนที่กลายมาเป็นผู้ต้องหา ต้องเสียเวลา เสียเงินทองในการต่อสู้คดี และพนักงานอัยการ ศาล ก็ต้องเสียเวลาในการทำคดีจำพวกนี้เท่านั้น แต่มันยังเปิดทางให้พวก “นักร้อง” มีงานทำ คอยกลั่นแกล้งคนอื่นในนามของกระบวนการยุติธรรมอีกด้วย

.

จากวันที่ผมไปรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก วันนี้ เวลาผ่านไป เกือบ 9 เดือน

วันนี้ ประเทศไทยได้รัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยแล้ว

เป็นพรรคเพื่อไทยที่ประกาศอย่างขึงขังในช่วงการรณรงค์หาเสียงว่า จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม และยืนยันว่า ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายกำหนดความผิดก็ได้ แต่ให้ไปแก้ไขที่กระบวนการเอา

เป็นพรรคเพื่อไทยที่คนของตนเองจำนวนไม่น้อย ต่างก็เคยประสบปัญหา “นิติสงคราม” ถูกฝ่ายตรงข้ามเอากระบวนการทางกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตน

เป็นพรรคเพื่อไทยที่เคยได้ชื่อว่าอยู่ “ฝ่ายประชาธิปไตย”

แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไขใดๆเลย

วันก่อน พนักงานสอบสวนเคยปฏิบัติต่อคดี 112/116 อย่างไร วันนี้ ก็ยังคงปฏิบัติตามเดิม

วันก่อน พนักงานสอบสวนทำตนเป็นคนส่งหมาย ส่งสำนวน โดยไม่ใช้ดุลพินิจเลย วันนี้ ก็ยังคงทำแบบเดิม

พรุ่งนี้ เวลา 10.00 น. พนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง นัดหมายผมไปที่สำนักงานคดีอาญากรุงเทพใต้ เพื่อส่งสำนวนและส่งตัวผมให้พนักงานอัยการพิจารณาสั่งฟ้องต่อศาลต่อไป

ผมขอเรียกร้องไปถึง คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คุณภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการเมืองให้รัฐบาลชุดนี้ และ พ.ต.ท.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องเหล่านี้

นี่ไม่ใช่กรณีของผมเท่านั้น ยังมีอีกหลายกรณีที่เป็นเช่นนี้

ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมือง

ที่หาเสียงไว้ ยังไม่ได้ทำ ยังทำไม่ได้ หลายเรื่อง ด้วยข้อจำกัดนานัปการที่นำมากล่าวอ้าง

แต่เรื่องนี้ ไม่ได้ยากอะไรเลย ไม่ต้องใช้งบประมาณ ไม่ต้องชนกับระบบราชการ ไม่ต้องแสวงหาความร่วมมือจากพรรคอื่น ไม่ต้องตรากฎหมายใหม่ ไม่ต้องแก้ไขกฎหมายเดิม

แค่สั่งการให้พนักงานสอบสวนกลับมาเป็นพนักงานสอบสวนที่ต้อง “สอบสวน” จริงๆ มิใช่ดำเนินคดีตามน้ำอย่างปราศจากดุลพินิจ

แค่สั่งการให้พนักงานสอบสวนใช้มาตรฐานเท่าเทียมกันในทุกคดี คดี 112/116 ต้องได้รับการปฏิบัติเหมือนคดีอื่นๆ

ทำ “กระบวนการยุติธรรม” ให้ “ยุติธรรม” เสียทีครับ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net