Skip to main content
sharethis

พรรคคอมมิวนิสต์จีนหวาดกลัวกระแสการต่อต้านของประชาชนที่ไม่พอใจต่อมาตรการล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้ มีการเปิดสายด่วนให้ประชาชนรายงานกันเอง หากพบเห็นการคุกคาม "ภัยความมั่นคง" อันรวมไปถึงการติดต่อกับต่างชาติ การระดมทุน การวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และการเห็นต่างทางการเมืองอย่างสันติ ฯลฯ พร้อมให้เงินรางวัล 10,000-100,000 หยวน

 

11 มิ.ย. 2565 สำนักข่าว RFA รายงานว่า กระทรวงความมั่นคงของรัฐ สาธารณรัฐประชาชนจีนได้เปิดบริการสายด่วน เพื่อให้ประชาชนรายงานกันเอง หากพบเห็นการคุกคาม "ภัยความมั่นคง" โดยคำนี้ถูกนิยามอย่างกว้างขวางว่าเป็นความผิดทางอาญา โดยหมายถึงการติดต่อกับต่างชาติ การระดมทุน การวิจารณ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และการเห็นต่างทางการเมืองอย่างสันติ

หากผู้ใดรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการคุกคามภัยความมั่นคง ไม่ว่าจะโดยใช้ชื่อจริงหรือโดยนิรนาม อาจได้รับเงินรางวัลตั้งแต่ 10,000-100,000 หยวนหรือมากกว่ากำหนดวงเงินนี้ ขึ้นอยู่กับคุณภาพและความสำคัญของ "ข้อมูล" คำสั่งนี้ถูกอนุมัติออกมาเมื่อ 6 มิ.ย. ที่ผ่านมา

แม้ในประกาศจะไม่ได้บอกว่ารัฐบาลอยากได้เบาะแสประเภทใดสำหรับสายด่วนดังกล่าว แต่คำสั่งนี้ระบุว่าการดำเนินครั้งนี้ "เป็นไปตาม" กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับปัจจุบัน ซึ่งกำหนดให้คำพูดและการกระทำที่อาจเป็นการแบ่งแยกดินแดน การก่อการร้าย การยุยงปลุกปั่น หรือการสมรู้ร่วมคิดกับต่างชาติ เป็นความผิดทางอาญา

ในฮ่องกง พรรคคอมมิวนิสต์จีนบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติมาตั้งแต่ 1 ก.ค. 63 อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามของพรรคคอมนิวนิสต์จีน นักกิจกรรมเพื่อประชาธิปไตย นักข่าวฝ่ายประชาธิปไตย และองค์กรพลเมือง ได้แก่ สหภาพแรงงาน และองค์กรสิทธิต่างๆ ตกเป็นเป้าหมายของการคุกคามจากกฎหมายฉบับดังกล่าว

ที่ฮ่องกงมีการเปิดสายด่วนให้ประชาชนร้องเรียนคำพูดและการกระทำภายใต้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเช่นกัน แม้ว่าการจับกุมหลายครั้งจะเกิดขึ้นหลังการประนามผ่านทางสาธารณะโดยสื่อที่เป็นกระบอกเสียงให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ตาม 

คำสั่งดังกล่าวระบุว่า ประชาชนสามารถร้องเรียนได้ผ่านทางโทรศัพท์ แจ้งร้องเรียนโดยตรงทางเว็บไซต์ เขียนเป็นจดหมาย หรือจะมาร้องเรียนด้วยตนเองก็ได้ ทั้งนี้ คำสั่งดังกล่าวระบุว่าจะไม่มีการให้เงินรางวัลแก่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และจะไม่มีการให้เงินรางวัลแก่ผู้ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายในการสืบสวนสอบสวนเรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว  

อย่างไรก็ตาม คำสั่งดังกล่าวยังกำหนดให้ตำรวจความมั่นคงยกระดับการดำเนินการผ่านช่องทางหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ผู้ให้บริการโทรทัศน์ สื่อกระแสหลัก และแพล็ตฟอร์มโซเชียลต่างๆ เพื่อ "เพิ่มความกระตือรือต้นของประชาชนและความริเริ่มในการรายงานการกระทำที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ" ด้วย

 

ความเห็นผู้เชี่ยวชาญ

เฉิน ต้าวหยิน นักรัฐศาสตร์ชาวจีนระบุว่า แม้ "จารกรรม" จะเป็นเป้าหมายบังหน้าของกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ และการเปิดรับแจ้งเบาะแสในครั้งนี้ แต่ที่จริงแล้วความเคลื่อนไหวในครั้งนี้ของรัฐบาลจีนเป็นเรื่องเกี่ยวกับการควบคุมการเมืองภายในเสียมากกว่า

"เอกสารฉบับนี้มุ่งเป้าไปที่การเพิ่มอำนาจการควบคุมภายในประเทศเสียมากกว่า" เฉินกล่าวกับ RFA "ที่ผ่านมา เราได้เห็นประชาชนออกมาต่อต้านมาตรการป้องกันและควบคุมโรคระบาดอย่างมากในเซี่ยงไฮ้ ซึ่งต่างไปจากอู่ฮั่น เซินเจิ้น ซีอาน และกระทั่งปักกิ่ง"

"เราอาจพูดได้ว่ามาตรการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นความรู้สึกไม่มั่นคงในกลุ่มผู้มีอำนาจ" เฉินกล่าว

"เป้าหมายของคำสั่งนี้คือการส่งเสริมให้ประชาชนต่อสู้กันเองและรายงานกันเอง ทำให้ระบอบมีเสถียรภาพเพิ่มมากขึ้น และรักษาการรวบอำนาจของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไว้ต่อไป" เฉินกล่าว

 

เฟิงชงอี้ รองศาสตราจารย์จากวิทยาลัยมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีซิดนีย์ ระบุว่าความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนดูเหมือนจะบ่งชี้ให้เห็นถึงแรงผลักดันครั้งใหม่เพื่อควบคุมสังคมให้อยู่ภายใต้ระบอบเผด็จเบ็ดเสร็จ ก่อนการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติครั้งที่ 20 ของพรรคคอมมิวนิสต์ในปีนี้

"สีจิ้นผิงอยากให้พาจีนออกจากการเป็นสังคมหลังระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จ กลับสู่การเป็นระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จอีกครั้ง ก่อนการประชุมสภานิติบัญญัติของพรรคคอมมิวนิสต์" รองศาสตราจารย์เฟิงบอกกับ RFA

 

อย่างไรก็ตาม เฟิงเห็นว่าประชาชนในปัจจุบันเชื่อฟังคำสั่งน้อยกว่าสมัยความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966-1976) ที่ฮ่องกง ตำรวจได้ปฏิบัติตามคำสั่งใหม่เมื่อต้น มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยปรับปรุงสายด่วนแจ้งเบาะแสภัยความมั่นคงให้ดียิ่งขึ้นด้วยเงินรางวัล ประชาสัมพันธ์ใหม่โดยเรียกช่องทางดังกล่าวว่าสายด่วน "ต่อต้านการก่อการร้าย" เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับประชาชนด้วยกันเองผ่านโทรศัพท์ ข้อความ หรือ WeChat มากขึ้น

เท็ดฮุย อดีตสมาชิกนิติบัญญัติฝ่ายประชาธิปไตย ระบุว่าการดำเนินการแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในฮ่องกง และเป็นการส่งสัญญาณว่าฮ่องกงกำลังกลายเป็นรัฐตำรวจ

"ตำรวจมีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ในครอบครองมากอยู่แล้ว เช่น การดักฟังการสื่อสาร และการสอดส่องบนโลกออนไลน์ และพวกเขายังคงเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่อต้านการก่อการร้ายมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง" ฮุยกล่าว "ค่าแรงและระดับกำลังพลกำลังเพิ่มขึ้นในภาพรวมของกรมตำรวจดทั้งหมดด้วย"

 

"ชัดเจนว่าฮ่องกงกลายเป็นรัฐตำรวจไปแล้ว เป็นเมืองที่ปกครองโดยตำรวจ ซึ่งเป็นการทำเกินกว่าเหตุไปแล้ว" ฮุยกล่าว

 

 

 

แปลและเรียบเรียงจาก

China sets up hotline with financial rewards for 'national security' tip-offs

https://www.rfa.org/english/news/china/security-hotline-06092022104154.html

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net