Skip to main content
sharethis
  • รายงานของเฮนรี่ แจ็คสัน โซไซตี้ องค์กรศึกษาด้านนโยบาย ทั้งแบบเจาะข้อมูล 8 แห่ง และสำรวจแบบ "กว้างๆ" และยัง "ไม่ครอบคลุม" 22 แห่ง พบว่าจากสถาบันขงจื่อ 30 แห่งในมหาวิทยาลัยอังกฤษ มีเพียง 4 แห่งเท่านั้นที่ขอบเขตการทำงานจำกัดอยู่เพียงด้านการศึกษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
  • ที่เหลือพบทำกิจกรรมในการกำกับดูแลของเครือข่ายพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น ล็อบบี้ทางการเมือง จัดอีเวนต์ในสภา เผยแพร่แผ่นพับการเมือง บริจาคเงินให้นักการเมือง พาไปดูงานในจีน รวมถึง เป็นตัวตั้งตัวตีในการเจรจาหุ้นส่วนเทคโนโลยี ขยายเครือข่ายและให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ และขยายอิทธิพลเข้าไปในอุตสาหกรรมขั้นสูงของอังกฤษ
  • พบข้อโต้เถียงสถาบันขงจื่อต่างจาก 'British Council' ตั้งแต่ที่มาของรายได้และการเปิดพื้นที่ในนักเรียนวิจารณ์รัฐบาลของสหราชอาณาจักรได้อย่างตรงไปตรงมา ด้านนายกคนใหม่อังกฤษ ริชี่ ซูนัค จ่อปิดสถาบันขงจื่อ หลังเคยประกาศกร้าว "จีนเป็นภัยคุกคามอันดับหนึ่งของสหราชอาณาจักร"

อ่านรายงานวิจัยที่นี่

2 พ.ย.2565 รายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ออกมาเมื่อ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา เขียนโดย แซม ดันนิ่ง และแอนสัน กวอง ผู้จัดทำรายงานพบว่า สถาบันขงจื่อไม่ใช่รูปแบบหนึ่งของ 'ซอฟพาวเวอร์' แทนที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ที่ควรทำ คือการส่งเสริมวัฒนธรรมและภาษาจีน สถาบันขงจื่อกลับชี้นำนโยบายและนักการเมืองของสหราชอาณาจักร สถาปนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และเจรจาพูดคุยกับองค์กรที่สำคัญในสหราชอาณาจักร

สถาบันขงจื่อในสหราชอาณาจักรที่ผ่านมาได้รับงบประมาณจากแหล่งทุนของจีนเป็นเงินประมาณ 33 ล้านปอนด์ ส่วนใหญ่เป็นแหล่งทุนจากรัฐบาลและนักธุรกิจจีน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของสถาบันขงจื่อที่มีอย่างน้อย 200 คน และส่วนใหญ่มาจากจีน จะต้องได้รับการตรวจสอบประวัติทางการเมืองอย่างละเอียด และต้องปฏิญาณตนว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายของจีนขณะที่อยู่ในต่างประเทศ ในจำนวนนี้ 8 เปอร์เซ็นต์เป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์

รายงานฉบับนี้ศึกษาสถาบันขงจื่อ 8 แห่งโดยเจาะข้อมูลอย่างละเอียด พบว่าสถาบันขงจื่อเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับกรมการแนวร่วม (United Front Work Department) และกรมโฆษณาชวนเชื่อของพรรคคอมมิวนิสต์จีน บริจาคเงินให้แก่นักการเมืองอังกฤษและสนับสนุนการจัดกิจกรรมทางการเมืองในอังกฤษ รวมถึง สถาปนาความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ระหว่างมหาวิทยาลัยอังกฤษและมหาวิทยาลัยจีน และมีส่วนร่วมในการผลิตเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับจีน 

จากการสำรวจสถาบันขงจื่ออีก 22 แห่ง ซึ่งยังเป็นเพียงการสำรวจแบบ "กว้างๆ" และยัง "ไม่ครอบคลุม" พบว่ามีพฤติกรรมลักษณะเดียวกับสถาบันขงจื่อ 8 แห่งที่ถูกศึกษาอย่างเจาะลึก เช่น พบนักการเมืองรับเงินบริจาคจากสถาบัน พบการประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐบาลจีน การสร้างเครือข่ายธุรกิจ และให้คำปรึกษาธุรกิจแก่ภาคเอกชนอังกฤษ  ซึ่งอยู่นอกขอบเขตของการสอนภาษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม และถือเป็นการนำภาษาจีน วัฒนธรรมจีน และชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอังกฤษ มาเป็นฉากบังหน้าในการขยายอิทธิพลของจีน ในความเห็นของผู้จัดทำรายงาน

ตัวอย่างเช่น กรณีของมหาวิทยาลัยเอดินบะระในสก๊อตแลนด์ ในอดีตพบว่าสถาบันขงจื่อได้จัดกิจกรรม "ชุดการบรรยายธุรกิจ" โดยเชิญผู้นำในแวดวงธุรกิจมาบรรยาย เช่น อดีตประธานธนาคาร HSBC (ลอร์ดสตีเฟ่น กรีน) ผู้บริหารหัวเหว่ย (วิกเตอร์ จาง) และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมการแนวร่วมของจีน ซึ่งเป็นรองประธานกลุ่มสหพันธรัฐจีนทั้งปวงแห่งเพื่อนร่วมชาติไต้หวัน (All China Federation of Taiwan Compatriots) ซึ่งสนับสนุน "การกลับมารวมประเทศอย่างสันติ" กับจีน เป็นองค์กรของกรมการแนวร่วมของรัฐบาลจีนโดยตรง

ในปี 2560-2563 สถาบันขงจื่อในมหาวิทยาลัยเอดินบะระยังจัดเวทีประชุมขนาดใหญ่ในประเด็นโครงการยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นความริเริ่มด้านนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลจีน กอร์ดอน บราวน์ อดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร เป็นผู้กล่าวเปิดงานโดยระบุว่าการประชุมจัดขึ้นเพื่อเข้าใจสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อนโยบายของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง และวิธีการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อระบุว่าจะมีการจัดกลุ่มขึ้นภายในมหาวิทยาลัยเพื่อให้นักธุรกิจเข้าร่วมโครงการ

นอกจากนี้ยังพบอีกว่าสถาบันขงจื่อของมหาวิทยาลัยเอดินบะระเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผลักดันนโยบายในรัฐสภาของสก๊อตแลนด์ กลุ่มดังกล่าวมีทูตของจีนเป็นสมาชิก และการประชุมของกลุ่มในช่วงที่ผ่านมาจะเริ่มด้วยการ "อัพเดต" เกี่ยวกับกิจการต่างๆ ของจีนจากกงศุลจีนในเอดินบะระ แม้มหาวิทยาลัยเอดินบะระชี้แจงว่าการเข้าร่วมกับกลุ่มผลักดันนโยบายดังกล่าวเปิดกว้างให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าร่วมได้ทั้งหมดอย่างไม่มีข้อจำกัด และกงศุลใหญ่ของจีนจะมาเข้าร่วมประชุมเฉพาะโอกาสสำคัญเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ระหว่างปี 2562-2564 พบว่ากงศุลใหญ่ของจีนเข้าร่วมเกือบทุกครั้ง และร่ายอัพเดตเกี่ยวกับจีนอย่างยืดยาวในแต่ละครั้งด้วย

จากข้อค้นพบเหล่านี้ มหาวิทยาลัยเอดินบะระชี้แจงต่อผู้จัดทำรายงานว่าสถาบันขงจื่อและมหาวิทยาลัย "ยังคงเปิดให้มีการถกเถียงเกี่ยวกับจีนอย่างเปิดกว้างและวิพากษ์ รวมถึงพยายามส่งเสริมการเข้าถึงวัฒนธรรม การแลกเปลี่ยนความรู้ และการพูดคุยอย่างต่อเนื่อง" และ "ไม่มีการสูญเสียเสรีภาพทางวิชาการ หรือการห้ามปรามการถกเถียงทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระจากความสัมพันธ์ที่มหาวิทยาลัยมีกับสถาบันขงจื่อแต่อย่างใด" ทั้งนี้ "สัดส่วนรายของมหาวิทยาลัยเอดินบะระในภาพรวมที่ได้จากสถาบันขงจื่ออยู่ที่ประมาณ 0.04%"

ความแตกต่างจาก 'British Council'

การสำรวจสถาบันขงจื่อ 22 แห่งยังพบอีกว่าสถาบันขงจื่อยังมีความเชื่อมโยงกับสมาคมนักศึกษาและนักวิชาการจีน ซึ่งพบว่าเป็นองค์กรที่คอยจับตาดูพฤติกรรมนักเรียนจีนในต่างประเทศว่าต่อต้านรัฐบาลจีนหรือไม่ และถูกใช้เพื่อกำราบความเห็นที่เป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาลจีน

เพื่อชี้แจงต่อคำถามเกี่ยวกับความสองมาตรฐานของเนื้อหาในรายงาน ผู้จัดทำรายงานระบุว่าสถาบันขงจื่อต่างจากสถาบันสอนภาษาของอังกฤษ เช่น British Council เพราะรายได้ของ British Council มาจากการสอนและการจัดสอบ ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เปิดให้นักเรียนสามารถวิจารณ์รัฐบาลของสหราชอาณาจักรได้อย่างตรงไปตรงมา ต่างจากสถาบันขงจื่อของจีนที่ได้งบประมาณจากรัฐบาล ทั้งยังไม่เปิดพื้นที่ให้วิพากษ์วิจารณ์ และนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวโดยการอนุมัติจากหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน

การนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวส่งผลให้สถาบันขงจื่อเป็นอุปสรรคขัดขวางสหราชอาณาจักรในการเข้าใจจีน แทนที่จะส่งเสริมความเข้าใจร่วมกันตามที่กล่าวอ้างอยู่ในภารกิจของสถาบันขงจื่อ ตัวอย่างเช่น ในการจัดอีเวนต์และการพูดปาฐกถาหลายร้อยครั้งในอังกฤษของสถาบันขงจื่อ พบว่าน้อยมากที่พูดถึงกลุ่มชาติพันธุ์กว่า 100 ล้านคนที่ถูกละเมิดสิทธิประเทศจีน เช่น ชาวอุยกูร์ และชาวทิเบต หรือข้อมูลเกี่ยวกับไต้หวันและฮ่องกงก็ไม่ได้ถูกนำเสนออย่างตรงไปตรงมา

ผู้จัดทำรายงานให้ความเห็นว่าแม้สถาบันขงจื่อจะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีนในสหราชอาณาจักร และแม้สถาบันขงจื่อบางแห่งจะไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับโครงการขยายอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน อย่างไรก็ตาม สถาบันขงจื่อหลายแห่งกลับใช้โอกาสที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังปรับตัวเข้ามาขยายอิทธิพล โดยเอาการเรียนภาษาจีนเป็นฉากบังหน้า ผู้จัดทำมีการยกคำพูดของเจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับสถาบันขงจื่อมาอ้างอิงในรายงานด้วยว่า "เมื่อใช้ข้ออ้างการสอนภาษาจีน ทุกอย่างจะดูฟังขึ้นและมีเหตุผล"

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย รายงานฉบับนี้เสนอว่ารัฐบาลควร (1) ผ่านกฎหมายเพื่อถอดถอนสถาบันขงจื่อออกจากสหราชอาณาจักรทั้งหมด (2) สอบสวนกระบวนการรับคนเข้าทำงานของสถาบันขงจื่อโดยทันทีว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ (3) แก้ไขกฎหมายเสรีภาพการแสดงออกในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้การเข้าร่วมหุ้นส่วนกับต่างชาติ สงวนไว้ซึ่งเสรีภาพการแสดงออกและเป็นไปตามกฎหมายความเท่าเทียมต่างๆ  (4) จัดสรรงบประมาณ 5 ล้านปอนด์แก่มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักร เพื่อศึกษาเกี่ยวกับจีน และอิทธิพลของจีนในสหราชอาณาจักร รวมถึงร่วมมือกับชาติที่พูดภาษาจีนชาติอื่นๆ เช่น ไต้หวัน เพื่อพัฒนาโครงการภาษาและวัฒนธรรมต่างๆ 

ผู้จัดทำรายงานระบุอีกว่า หากขงจื่อยังมีชีวิตอยู่ จะต้องต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างรุนแรงแน่นอน โดยเฉพาะคำสอนที่ว่า "ในการบริหารรัฐบาลของคุณ มีความจำเป็นใดที่คุณต้องฆ่าหรือ" การใช้ชื่อของขงจื่อเพื่อฟอกขาวภาพลักษณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และปูทางเข้ามาในสถาบันการศึกษาของสหราชอาณาจักรที่มีไว้เพื่อการศึกษาค้นคว้าอย่างอิสระถือเป็นการกระทำที่มีลักษณะบ่อนทำลายและไม่อาจยอมรับได้ และจะต้องมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด

ที่ผ่านมา สถาบันขงจื่อเป็นประเด็นในการโต้เถียงของสาธารณะในอังกฤษ หลังจากริชี่ ซูนัค ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร ขณะที่ยังเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่ง เขาเคยสัญญาเมื่อ ก.ค. 65 ว่าจะปิดสถาบันขงจื่อทั้ง 30 แห่งในสหราชอาณาจักร โดยอ้างว่าสหราชอาณาจักรมีสาขาของสถาบันขงจื่อมากที่สุดในโลก และรัฐบาลอังกฤษให้งบประมาณช่วยเหลือด้านการเรียนการสอนภาษาจีนผ่านสถาบันเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริม "ซอฟพาวเวอร์ของจีน" ในสมัยรัฐบาลของลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนก่อนซึ่งดำรงตำแหน่งเพียงไม่ปี่สัปดาห์ สภาอังกฤษได้มีการวางแผนเพื่อมอบอำนาจให้รัฐมนตรีสามารถยุบสถาบันขงจื่อได้

หลังจากซูนัคเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปลาย ต.ค. ที่ผ่านมา ทอม ทูเกนดาต รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร ระบุว่านายกรัฐมนตรีกำลังพิจารณาจะปิดสถาบันขงจื่อในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร โดย ส.ส. อังกฤษส่วนใหญ่พร้อมสนับสนุนการผ่านกฎหมายเพื่อแบนสถาบันขงจื่อในสหราชอาณาจักร ขณะนี้ เจ้าหน้าที่กำลังร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้นายกรัฐมนตรีริชี่ ซูนัค ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ขณะหาเสียง โดยระบุว่าจีนเป็น "ัภัยคุกคามอันดับหนึ่งของสหราชอาณาจักร และความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลกในศตวรรษนี้"

แปลและเรียบเรียงจาก : 

  • An Investigation of China’s Confucius Institutes in the UK https://henryjacksonsociety.org/publications/an-investigation-of-chinas-confucius-institutes-in-the-uk/
  • An Investigation of China’s Confucius Institutes in the UK 12th October 2022 By Sam Dunning and Anson Kwong  https://henryjacksonsociety.org/wp-content/uploads/2022/10/Confucius-Institutes-in-UK.pdf
  • Confucius Institutes in universities ‘part of Party’s propaganda system’, think tank finds, Louisa Clarence-Smith, October 9, 2022  https://news.yahoo.com/confucious-institutes-universities-part-party-200202283.html
  • Ban on Chinese institutes at UK universities drawn up after Rishi Sunak's pledge to scrap them https://www.telegraph.co.uk/news/2022/10/25/ban-chinese-institutes-uk-universities-drawn-rishi-sunaks-pledge/
  • MPs Will Back Promise to Shut Confucius Institutes, UK’s China Watchers Tell Sunak https://www.theepochtimes.com/mps-will-back-promise-to-shut-confucious-institute-uks-china-watchers-tell-sunak_4818750.html
  • Rishi Sunak 'looking to close' Confucius Institutes across UK universities https://www.thenational.scot/news/23094268.rishi-sunak-looking-close-confucius-institutes-pose-threat-civil-liberties/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net