Skip to main content
sharethis

สถาบันขงจื่อเป็นประเด็นโต้เถียงในอังกฤษ หลังจาก ริชี่ ซูนัค ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทอม ทูเกนดาต รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของอังกฤษ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีกำลังพิจารณาจะปิดสถาบันขงจื่อในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วอังกฤษ เหตุผลของการสั่งปิดสถาบันขงจื่อเกิดจากความกังวลว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้การเรียนการสอนภาษาจีนเป็นข้ออ้างในการขยายอิทธิพลอันไม่พึงประสงค์

 

4 พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา สถาบันขงจื่อเป็นประเด็นในการโต้เถียงของสาธารณะในอังกฤษ หลังจาก ริชี่ ซูนัค ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสหราชอาณาจักร ทอม ทูเกนดาต รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร ระบุว่า นายกรัฐมนตรีกำลังพิจารณาจะปิดสถาบันขงจื่อในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วสหราชอาณาจักร โดย ส.ส. อังกฤษส่วนใหญ่พร้อมสนับสนุนการผ่านกฎหมายเพื่อแบนสถาบันขงจื่อ ขณะนี้ เจ้าหน้าที่กำลังร่างกฎหมาย ดังกล่าว

ขณะที่ยังเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งซูนัคเคยสัญญาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ว่า จะปิดสถาบันขงจื่อทั้ง 30 แห่ง ในสหราชอาณาจักร โดยอ้างว่าสหราชอาณาจักรมีสาขาของสถาบันขงจื่อมากที่สุดในโลก และรัฐบาลอังกฤษให้งบประมาณช่วยเหลือด้านการเรียนการสอนภาษาจีนผ่านสถาบันเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริม "ซอฟพาวเวอร์ของจีน" และระบุว่า จีนเป็น "ภัยคุกคามอันดับหนึ่งของสหราชอาณาจักร และความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลกในศตวรรษนี้"

เหตุผลของการสั่งปิดสถาบันขงจื่อเกิดจากความกังวลว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้การเรียนการสอนภาษาจีนเป็นข้ออ้างในการขยายอิทธิพลอันไม่พึงประสงค์ รายงานสอบสวนชิ้นสำคัญของเฮนรี่ แจ็คสัน โซไซตี้ ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาพบว่า สถาบันขงจื่อไม่ใช่แม้แต่รูปแบบหนึ่งของ 'ซอฟพาวเวอร์' ตามที่ริชี่ ซูนัค กล่าวอ้าง แต่เป็นอิทธิพลแฝง ที่ชี้นำนโยบายและนักการเมืองของสหราชอาณาจักร รวมถึง เป็นตัวตั้งตัวตีในการเจรจาหุ้นส่วนธุรกิจและเทคโนโลยี

ทิศทางนโยบายภายใต้การนำของริชี่ ซูนัค ไม่ได้ต่างจากนายกรัฐมนตรีคนก่อนนัก ในสมัยรัฐบาลของลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีคนก่อนซึ่งดำรงตำแหน่งเพียงไม่กี่สัปดาห์ สภาอังกฤษได้มีการวางแผนเพื่อมอบอำนาจให้รัฐมนตรีสามารถยุบสถาบันขงจื่อได้ และในเดือน มิ.ย. มีการผ่านร่างแก้ไขกฎหมายอุดมศึกษา กำหนดให้มหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรมีหน้าที่ตรวจสอบแหล่งที่มาเงินทุนจากต่างประเทศ ที่มอบให้กับผู้ให้การศึกษาระดับอุดมศึกษา

บทบาทของสถาบันขงจื่อถูกตั้งคำถามในโลกตะวันตก ในสหรัฐอเมริกาพบว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สถาบันขงจื่อมีสาขาลดลงจาก 100 กว่าแห่ง เหลือเพียง 20 กว่าแห่ง จากจุดยืนต่อต้านจีนแข็งกร้าวในยุคโดนัล ทรัมป์ และการผ่านกฎหมายบีบให้สถาบันการศึกษาต้องเลือกว่าจะรับเงินอุดหนุนจากจีนหรือจากรัฐบาลกลาง เป็นต้น ในประเทศอื่นๆ พบการปิดสถาบันขงจื่อ ได้แก่ สวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์ ญี่ปุ่นรับมือด้วยการตรวจสอบแหล่งที่มาของเงินทุน ขณะที่เยอรมนีกระทรวงศึกษาธิการได้เรียกร้องให้ยุติความร่วมมือกับสถาบันขงจื่อ

ขณะที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังพิจารณาปิดสถาบันขงจื่อ ตามที่ริชี่ ซูนัค ให้คำมั่นสัญญาไว้ระหว่างหาเสียง แต่นักวิชาการบางส่วนก็ได้แสดงความกังวลต่อนโยบายดังกล่าว โดยแบ่งออกเป็น 4 คำถามที่เชื่อมโยงกัน ได้แก่ ข้อมูลประกอบการตัดสินใจเพียงพอที่จะสั่งปิดหรือไม่ อะไรคือทางเลือกทดแทนสำหรับการสอนภาษาจีน การสั่งปิดเป็นการตอบโต้เกินกว่าเหตุหรือไม่ และจำเป็นหรือไม่ในการประกาศให้จีนเป็นภัยคุกคามอย่างเป็นทางการ

ข้อมูลเพียงพอหรือไม่

ก่อนการเผยแพร่รายงานชิ้นสำคัญของเฮนรี่ แจ็คสัน โซไซตี้ นักวิชาการสามคน ได้แก่ เคเนท คิง, ซื่อหยวน ลี่, และชาร์ลส์ พาร์ตัน ได้ร่วมกันเขียนบนความลงในเว็บไซต์ของวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ ลอนดอน (LSE) โดยเห็นว่าการโต้เถียงเกี่ยวกับเรื่องสถาบันขงจื่อเกิดขึ้นจากกลุ่มล็อบบี้ที่ประกอบด้วย ส.ส. ประมาณ 20 คนในสหราชอาณาจักร ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับกลุ่มศึกษาวิจัยจีน (China Research Group) และกลุ่มพันธมิตรระหว่างรัฐสภาในประเด็นเกี่ยวกับจีน (IPAC) และยังไม่ได้มีการวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจสั่งปิดอย่างมากพอ​ ต่าง​จากสหรัฐ​อเมริกา​ที่ศึกษา​วิเคราะห์​เรื่อง​นี้​อย่างถี่ถ้วน​

ความกังวลว่าข้อมูลประกอบตัดสินใจไม่มากพออาจถูกปัดเป่าออกไปในระดับหนึ่ง หลังการเผยแพร่รายงาน 63​ หน้าของเฮนรี่ แจ็คสัน โซไซตี้ ที่ศึกษาสถาบันขงจื่อในมหาวิทยาลัย 8 แห่งอย่างเจาะลึก อย่างไรก็ตาม การสำรวจสถาบันขงจื่ออีก 22 แห่ง ยังเป็นเพียงการสำรวจแบบ "กว้างๆ" และยัง "ไม่ครอบคลุม" แม้จะพบพฤติกรรมน่าสงสัยและไม่พึงประสงค์หลายอย่าง

 

อะไรคือทางเลือกทดแทน

ขณะที่ริชี่ ซูนัค ยังรณรงค์หาเสียง และสัญญาว่าหากเป็นนายกรัฐมนตรีจะปิดสถาบันขงจื่อทั้งหมด เขาถูกวิจารณ์จากรานา มิตเตอร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์และการเมืองจีนสมัยใหม่ว่า แผนข้อเสนอของซูนัคยัง "คิดมาไม่ถี่ถ้วนพอ" เนื่องจากสหราชอาณาจักรต้องการคนรู้ภาษาจีนอย่างมาก เพื่ออ่านและเข้าใจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าจีนเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความก้าวหน้าของสหราชอาณาจักร ในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ความมั่นคง การทูต ไปจนถึงการค้าขาย

เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ ส.ส. อังกฤษ ได้เริ่มพูดคุยกับไต้หวันมาตั้งแต่เดือน ก.ย. เพื่อจัดการเรียนการสอนแทนภาษาจีนที่สถาบันขงจื่อ แนวโน้มเช่นนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน หลังปลายปีที่แล้วมีการลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อขยายการเรียนการสอนภาษาจีนกับไต้หวัน รายงานของ เฮนรี่ แจ็คสัน โซไซตี้ เห็นว่าสหราชอาณาจักรควรร่วมมือกับประเทศอื่นๆ ที่พูดภาษาจีน โดยเฉพาะไต้หวัน ในการพัฒนาโครงการสอนภาษาและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม

 

รุนแรงเกินความจำเป็นหรือไม่

แม้จะเห็นด้วยว่าสถาบันขงจื่อภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลจีนมุ่งโฆษณาชวนเชื่อ โดยปกปิดหรือบิดเบือนเรื่องเล่า โดยเฉพาะในประเด็นไต้หวัน ทิเบต และเทียนอันเหมิน แต่การปิดสถาบันขงจื่อทั้งหมดอาจเป็นมาตรการรุนแรงเกินไป เคเนท คิง, ซื่อหยวน ลี่, และชาร์ลส์ พาร์ตัน เห็น​ว่าแทนที่จะทำเช่นนั้น ควรมีการกำหนดเงื่อนไขอย่างรัดกุม และหากพบว่าละเมิดเงื่อนไขเหล่านี้จึงค่อยปิดสถาบันขงจื่อ

เงื่อนไขต่างๆ ที่เสนอโดย 3 นักวิชาการ ได้แก่ การเปิดเผยเนื้อหาสัญญาระหว่างสถาบันขงจื่อกับมหาวิทยาลัยเจ้าภาพทั้งหมดต่อสาธารณะเพื่อความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลทางการเงินทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ การจัดกิจกรรมต่างๆ ภายใต้กฎหมายของสหราชอาณาจักรทั้งหมด แทนที่จะเป็นกฎหมายของจีนอย่างที่เป็นอยู่ รวมถึง การแยกเจ้าหน้าที่และงานของสถาบันขงจื่อกับมหาวิทยาลัยออกจากกัน และห้ามแทรกแซงหรือร่วมงานกันเด็ดขาด  มีข้อยกเว้นให้ร่วมงานกันได้เฉพาะสำหรับการเรียนการสอนภาษาจีนเท่านั้น

 

จำเป็นต้องต่อต้านโจ่งแจ้งหรือไม่

ศาสตราจารย์สตีฟ ซาง ผู้อำนวยการของสถาบันจีน (China Institute) ที่วิทยาลัยบูรพคดีศึกษาและการศึกษาแอฟริกา มหาวิทยาลัยลอนดอน (SOAS) เห็นว่า "มุมมองของผมคือไม่ฉลาดที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรจะประกาศให้จีนเป็นภัยคุกคามอย่างเป็นทางการ เนื่องจากมันจะจุดชนวนให้เกิดบางรูปแบบของการตอบโต้จากรัฐบาลชาตินิยมสุดโต่งของสี [จิ้นผิง] ที่แปะป้ายว่ารัฐบาลใดๆ ก็ตามที่ทำเช่นนั้นถือเป็นการต่อต้านจีน"

"สิ่งที่เราหรือรัฐบาลต้องมีคือยุทธศาสตร์ต่อจีนที่เหมาะสม ยุทธศาสตร์ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผลประโยชน์ของเราต่างกันหรือบรรจบกับของจีนอย่างไร และทั้งหมดแล้วเรา สหราชอาณาจักรในฐานะสิ่งที่เราหวงแหนทั้งหมด ที่จริงแล้วถูกคุกคามโดยความมุ่งมั่นของสี [จิ้นผิง] ในการทำให้โลกปลอดภัยสำหรับระบอบอำนาจนิยมหรือไม่"

"ในแง่นี้ เราควรหาวิธีว่าจะปฏิสัมพันธ์กับจีนอย่างไรจึงจะดีที่สุด โดยตระหนักว่าแม้การทูตจะเป็นสิ่งที่ดีเมื่อหาข้อตกลงกับเพื่อน แต่มันเป็นสิ่งขาดไม่ได้เมื่อหาข้อตกลงกับฝ่ายที่อาจเป็นศัตรู หากเราไม่อยากลงเอยด้วยสงครามหายนะ"  สตีฟ ซาง กล่าว

 

 

 

เรียบเรียงจาก

Sunak's China institutes ban 'not thought through' as UK 'needs people who read Chinese'

https://www.express.co.uk/news/politics/1645560/Sunak-Chinese-Confucius-Institutes-ban-proposal-China-national-threat-expertise-vn

Ask the Experts: Are Confucius Institutes a threat to the UK’s national security?

https://blogs.lse.ac.uk/cff/2022/06/15/ask-the-experts-are-confucius-institutes-a-threat-to-the-uks-national-security/

An Investigation of China’s Confucius Institutes in the UK

https://henryjacksonsociety.org/publications/an-investigation-of-chinas-confucius-institutes-in-the-uk/

Ban on Chinese institutes at UK universities drawn up after Rishi Sunak's pledge to scrap them

https://www.telegraph.co.uk/news/2022/10/25/ban-chinese-institutes-uk-universities-drawn-rishi-sunaks-pledge/

Beijing-backed Chinese language schools in UK to be replaced with teachers from Taiwan

https://www.theguardian.com/world/2022/sep/18/beijing-backed-chinese-language-schools-in-uk-to-be-replaced-with-teachers-from-taiwan

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net