Skip to main content
sharethis

ผลการวิเคราะห์ข้อมูล IQAir ของกรีนพีซในปี 2564 พบมลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 29,000 ราย ใน 31 จังหวัดของไทย ชี้ผู้เสียชีวิตเหตุเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ มีมากกว่าจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้ยาเสพติด และการฆาตกรรมรวมกัน

2 มิ.ย. 2565 จากการวิเคราะห์ข้อมูล IQAir ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าในปี 2564 ฝุ่น PM2.5 เป็นตัวการที่อาจก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยราว 29,000 ราย อีกทั้งรายงานยังพบว่าจำนวนผู้เสียชีวิตที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศต่อประชากรในประเทศไทยในปีที่ผ่านมามีจำนวนมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้ยาเสพติด และการฆาตกรรมรวมกัน

"ในปี 2564 มลพิษทางอากาศอาจเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรอันดับต้น ๆ ในประเทศไทยและความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ต่อปีนั้นสูงกว่าค่าแนะนำที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดไว้อย่างมาก ความมุ่งมั่นและเจตจำนงที่จะทำตามคำมั่นสัญญาของรัฐบาลคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้อากาศสะอาด รวมถึงยุทธศาสตร์และมาตรการการปฎิบัติตามค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO ภายใต้กรอบเวลาดำเนินการที่ชัดเจน" อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าว

ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM2.5 ประจำปี 2564 รายจังหวัดของประเทศไทย อยู่ในระดับสูงเกินค่าแนะนำคุณภาพอากาศขององค์การอนามัยโลกถึง 4 เท่า โดยหากความเข้มข้นของค่า PM2.5 ในประเทศไทยเป็นไปตามค่าแนะนำคุณภาพอากาศของ WHO จำนวนผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากมลพิษ PM2.5 จะมีแนวโน้มลดลงถึงร้อยละ 77

รายงานระบุว่า ปี 2564 ความเข้มข้นของค่าฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ทุกเดือน โดยเฉลี่ยสูงกว่าค่าแนะนำคุณภาพอากาศเฉลี่ยรายปีของ WHO และสูงจากค่าเฉลี่ยรายปีของค่าแนะนำของ WHO ถึง 9 เท่าในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่มีมลพิษทางอากาศรุนแรงที่สุดในรอบปี นอกจากนี้ รายงานยังพบอีกว่า มลพิษทางอากาศอาจมีส่วนทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 4,400 คนในเขตเมืองเมื่อปีที่ผ่านมา และอาจทำให้ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ สูงขึ้นร้อยละ 13  เมื่อเทียบกับการที่พื้นที่ดังกล่าวมีอากาศที่สะอาดบริสุทธิ์

ขณะเดียวกัน จากทุกจังหวัดที่ทำการศึกษา พบว่าระดับมลพิษทางอากาศมีมากที่สุดอยู่ในจังหวัดแพร่ ทางภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย โดยค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของฝุ่น PM2.5 ต่อปีในจังหวัดดังกล่าวเกินเกณฑ์ค่ามาตรฐาน PM2.5 ของประเทศไทย และเกินเกณฑ์ค่าแนะนำขององค์การอนามัยโลกมากกว่า 6 เท่า อีกทั้งบางจังหวัดในประเทศไทยยังไม่มีสถานีวัดคุณภาพอากาศเพียงพอที่จะรวมเข้าไปอยู่ในการศึกษาวิจัยนี้ได้

ทั้งนี้ มลพิษทางอากาศยังถือเป็นปัจจัยเสี่ยงสูงสำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมีนาคม ซึ่งมีสัดส่วนคิดเป็นเกือบร้อยละ 50ของการรับสัมผัสฝุ่น PM2.5 ตลอดทั้งปี โดยในช่วงเวลา 3 เดือนนี้ สภาพอากาศ ไฟป่า และการเผาในพื้นที่การเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ทำให้มลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้น นอกเหนือจากการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการจราจรบนท้องถนน อุตสาหกรรม และกิจกรรมการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ  

"เราต้องการให้รัฐบาลปลดระวางการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่น ๆ แล้วเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ยั่งยืนและเป็นธรรม และจัดการแก้ไขหมอกควันพิษข้ามแดน รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มลพิษทางอากาศเป็นฆาตกรเงียบ และเราไม่สามารถเพิกเฉยได้อีกต่อไป” ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย


หมายเหตุ

[1] รายละเอียดของระเบียบวิธีวิจัยซึ่งใช้ในการประเมินจำนวนการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่มีสาเหตุเกิดจากการสัมผัสฝุ่น PM2.5 สั่งสมเป็นเวลานานสามารถดูได้ที่ https://act.gp/38Gy9Ct การประเมินดำเนินการโดยใช้การวัดคุณภาพอากาศระดับภาคพื้นดินในปี 2564 ร่วมกับตัวเลขสถิติประชากรในแต่ละพื้นที่กับข้อมูลด้านสาธารณสุขทั่วประเทศของไทย จากนั้น ก็นำแบบจำลองความเสี่ยงทางวิทยาศาสตร์มาใช้กับข้อมูลเหล่านี้เพื่อประเมินผลกระทบต่อสุขภาพในเชิงปริมาณจากการสัมผัสฝุ่นพิษ PM2.5 ในแต่ละสถานที่ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net