Skip to main content
sharethis

ครม. มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่เสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร ชี้ มีเนื้อหาคล้าย พ.ร.บ.คู่ชีวิต พร้อมผลักดันให้กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงพัฒนาสังคมฯ เดินหน้าศึกษาเพิ่มร่วมกับ ม.สุโขทัยฯ คาดแล้วเสร็จภายใน เม.ย. นี้

29 มี.ค. 2565 เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (29 มี.ค. 2565) ว่า ครม. มีมติไม่รับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ที่ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร และสภามีมติส่งต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้ ครม. นำไปพิจารณาภายใน 60 วัน โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฉบับสภาผู้แทนราษฎรคล้ายกับร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตที่เสนอโดยรัฐบาล นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ร่วมกันพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตของรัฐบาลประกอบผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) แล้วนำเสนอต่อ ครม. เพื่อผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว

ทั้งนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณารับหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ. (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... โดยเป็นร่างที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอ ซึ่งมีสาระเป็นการกำหนดให้ชาย หญิง หรือบุคคล 2 คน ซึ่งเป็นเพศเดียวกันสามารถหมั้นหรือสมรสกันได้ตามกฎหมาย ในเรื่องนี้ ครม. เห็นว่า มีหลักการใกล้เคียงกับร่างพระราชบัญญัติ คู่ชีวิต พ.ศ. ... และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.ฯ ที่ ครม. เห็นชอบไปแล้ว และครอบคลุมหลายมิติ โดยขณะนี้ ทางมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเติมตามที่คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรเสนอ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย. นี้

อย่างไรก็ตาม ไอลอว์ รายงานเพิ่มเติมว่ามติ ครม. ดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมตกไปในทันที ร่างกฎหมายดังกล่าวยังต้องเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระหนึ่ง ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2562 ข้อ 118 ที่มีใจความสำคัญว่า ตามที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังพิจารณาร่างกฎหมายในวาระหนึ่งว่าจะ “รับหลักการ” ร่างกฎหมายนั้นๆ หรือไม่ หากร่างกฎหมายนั้นเป็นร่างกฎหมายที่เสนอโดย ส.ส. หรือเสนอโดยประชาชน ครม. สามารถขอรับร่างพระราชบัญญัตินั้นไปพิจารณาก่อนสภาจะลงมติได้

การที่ ครม. จะนำร่างกฎหมายนั้นไปพิจารณาก่อนได้นั้น ต้องอาศัยเสียง "อนุมัติจากสภาผู้แทนราษฎร" หากสภาผู้แทนราษฎรอนุมัติ สภาก็จะรอการพิจารณาร่างกฎหมายนั้นไว้ แต่ไม่เกิน 60 วันนับแต่วันที่สภามีมติ เท่ากับว่าระหว่าง 60 วันนี้ ครม. สามารถนำร่างกฎหมายดังกล่าวไปศึกษา ไปให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นทางกฎหมายได้

หากสภาผู้แทนอนุมัติให้ ครม. นำร่างกฎหมายไปพิจารณาศึกษาก่อน 60 วันแล้ว สภาจะยังพิจารณาลงมติร่างกฎหมายนั้นต่อในวาระหนึ่งไม่ได้ ในทางปฏิบัติสภาก็จะพิจารณาร่างกฎหมายอื่นๆ ที่อยู่ในลำดับถัดไป เมื่อครบ 60 วัน ครม. ต้องนำร่างพระราชบัญญัติคืนประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีที่พ้นเวลา 60 วันไปแล้วประธานสภายังไม่ได้รับร่างกฎหมาย ให้ประธานสภาบรรจุร่างกฎหมายนั้นเป็นเข้าระเบียบวาระการประชุมเป็นเรื่องด่วน ซึ่งจะอยู่ลำดับต้นๆ และได้พิจารณาก่อนร่างกฎหมายอื่นๆ เท่ากับว่าท้ายที่สุดแล้ว เมื่อพ้นเวลา 60 วัน ร่างกฎหมายดังกล่าวก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้ง ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรก็จะพิจารณา อภิปรายร่างกฎหมาย และลงมติในวาระหนึ่ง ว่าจะรับหลักการร่างกฎหมายดังกล่าวหรือไม่

ขณะเดียวกัน ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่า ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งเเละพาณิชย์ ป.พ.พ.1448 หรือร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม กล่าวแสดงความเห็นภายหลังจากที่รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาแถลงต่อสื่อมวลชนเกี่ยวกับประเด็นร่างพ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติปัดตกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่ารัฐบาลกำลังดำเนินการ ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิตอยู่แล้ว ซึ่งมีหลักการใกล้เคียงกัน โดยให้กระทรวงยุติธรรมและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ร่วมกันศึกษาร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตของรัฐบาล พร้อมกับงานวิจัยของสุโขทัยธรรมาธิราช

ธัญวัจน์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม (Marriage) ไม่เท่ากับ ร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต (Civil Partnership) ในเนื้อหาสาระมันระบุไม่เท่ากันทั้ง สิทธิ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการ และไม่ได้เป็นหลักการเดียวกันทั้งคำนิยามและแนวทางการยกร่างกฏหมาย เป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง แต่จากการให้ข่าวต่อสื่อของโฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี ครม. เห็นว่ามีหลักการใกล้เคียงกัน ก็ต้องถือว่า ท่านไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องดังกล่าวเลย สะท้อนการต่อสู้ความเสมอภาคทางเพศอีกหลายประเด็นก็อาจจะเป็นปัญหาในอนาคต เพราะในความเป็นจริงแล้ว สมรสเท่าเทียมและคู่ชีวิตต้องแยกกันพิจารณา และด้วยอำนาจของคณะรัฐมนตรีก็สามารถมีมติรับหลักการทั้ง 2 ร่างได้ การปัดตก สมรสเท่าเทียม สะท้อนความไม่เข้าใจของคณะรัฐมนตรี

"มันสะท้อนความคิดของคณะรัฐมนตรี ครม. ที่มองว่ากลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่จำเป็นต้องมี สิทธิ์ ศักดิ์ศรี และสวัสดิการ เสมอภาคกับชายหญิงทั่วไปอย่างนั้นหรือ" ธัญวัจน์ กล่าว

ธัญวัจน์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้รับข้อความมากมายจากประชาชนที่ส่งเข้ามา ให้กำลังใจปลอบใจ แต่ความเสียใจนี้ไม่ได้เป็นของตนหรือพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่คือความเสียใจความผิดหวังของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ และคนทั่วประเทศ และตนคิดว่าเป็นเรื่องน่าอายมาก ที่นักการเมืองมีประวัติการปัดตกสมรสเท่าเทียม

"ขอสัญญาต่อจากนี้ การต่อสู้จะไม่ได้สิ้นสุดลง ร่างกฏหมาย สมรสเท่าเทียม สามารถเสนอสู่สภาใหม่ได้ และต้องต่อสู้ต่อไปเพื่อความเปลี่ยนแปลง เสียใจ ผิดหวังได้ แต่ต้องไม่หมดหวัง" ธัญวัจน์ กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net